แม้จะผ่านมา 4 ปี แต่ก็ยังไม่เก่าเลย เนื้อหาและประเด็นในเล่มยังเต็มไปด้วยความสดใหม่ และเข้ากับยุคสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ

ไม่ว่าจะเรื่อง พินัยกรรมออนไลน์เมื่อชีวิตจริงเราออฟไลน์จากโลกนี้ไปแล้ว

ในยุคที่ email และ social media ของเราแต่ละคนเต็มไปด้วยข้อมูลมากมาย ถ้าเปรียบให้เห็นภาพง่ายๆก็เหมือนกับแฟ้มเอกสาร สมุดจดข้อความ และอัลบั้มรูปทั้งหลาย ที่คนในครอบครัวเราคงอยากเก็บรักษาต่อไว้ หรือไม่ก็ปิดการใช้งานไปไม่ได้เปิดรับเพื่อนใหม่ให้ดูแปร่งๆ

ทาง Facebook และ google ก็มีนโยบายให้ญาติครอบครัวสามารถส่งเอกสารยืนยันการเสียชีวิต เพื่อให้คนที่อยู่ไกล้ชิดได้ไกล้ชิดกับผู้ตายได้เป็นครั้งสุดท้าย

แล้ว digital assets ทั้งหลายของเราล่ะ จะส่งต่อให้กับคนที่ยังอยู่เป็นมรดกบ้างได้หรือไม่ กฏหมายควรปรับตัวยังไง หรือธุรกิจเห็นช่องทางโอกาสตรงไหนบ้าง

น่าคิดต่อเหมือนกันนะครับ

ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจคือ การซื้อขายสินค้าดิจิทัลมือสองเป็นไปได้มั้ย?

สินค้าดิจิทัลมือสองก็เช่น เพลง ภาพยนตร์ หนังสือ หรืออื่นๆทั้งหมดที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ไม่มีตัวตนจริงให้จับต้อง เหมือนแผ่นซีดีจริงๆ แผ่น blu ray จริงๆ หรือหนังสือเล่มจริงๆล่ะ ถ้าวันนึงที่เราไม่ต้องการแล้ว หรือมีความจำเป็นต้องขายเอาเงิน เราจะขายมันได้มั้ย?

เวปไซต์ ReDigi เลยเกิดขึ้นมาทำหน้าที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับประกาศขายสินค้าดิจิทัลมือสองเหล่านี้ โดยมีหลักเกณฑ์ง่ายๆว่า ถ้าคุณขายเพลง mp3 ซักเพลง เพลงจากเครื่องคุณจะถูกก็อปไปที่เครื่องคนซื้อ และเพลงในเครื่องคุณก็จะถูกระบบลบทิ้งไป

เป็นไงครับ หลักการก็ฟังดูง่ายๆอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ติดกฏหมายตรงที่ว่ายังไงก็ยังมีการก็อปหรือทำซ้ำเกิดขึ้นอยู่ดี ความเป็นดิจิทัลก็ไม่ได้สะดวกสบายอย่างที่คิดเสมอไปเห็นมั้ยครับ

หรือกฏหมายควรต้องปรับตัวให้เข้ากับชีวิตรูปแบบใหม่ให้มากขึ้นกันแน่
(อัพเดทตรงส่วนนี้ผมคิดว่า เรื่องนี้จะจัดการได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ครับ)

แล้วเมื่อเราใช้ชีวิตกับโซเชียลมีเดียมาก จนแยกกันไม่ได้ จนทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า คลั่งตัวเลข จากไลก์หรือแชร์จากเพื่อนเรา ทำให้หลายคนกังวลก่อนจะโพสว่าจะมีใครไลก์มั้ย หรืออาจเสียความมั่นใจหลังโพสว่าทำไมไม่มีใครไลก์เลย ความคิดเห็นเราห่วยมากเลยหรอ

นาย เบน กรอสเซอร์ (Ben Grosser) ก็เกลียดตัวเลขแบบนี้มาก เลยสร้างส่วนเสริมของ Facebook (Add-on) ที่ชื่อว่า Facebook Demetricator สำหรับโปรแกรมเล่นเวปในคอมเราว่าไม่ให้โชว์ตัวเลขการไลก์ใดๆ หรือแชร์ใดๆ ให้เราต้องกังวลใจอีกต่อไป จะกี่แชร์ก็แค่มีคนแชร์ จะกี่ไลก์ก็แค่มีคนไลก์

แก้ปัญหาง่ายๆ ถ้าไม่มีคนไลก์หรือไลก์น้อยแล้วเครียด ก็เอามันออกไปซะไอ้ตัวเลขบ้าๆที่ไม่มีผลกับเงินในกระเป๋าเรา

และอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจในเล่มจนอยากเล่าก็คือ“ความจำ”

ผู้ใหญ่หลายคน มักชอบต่อว่าคนรุ่นใหมา หรือเด็กสมัยนี้ว่า เล่นเนต ใช้แต่มือถือ จะยิ่งทำให้ความจำไม่ดีบ้าง สมองไม่ทำงานบ้าง หรือเรียกง่ายๆว่า “โง่” บ้างนั่นเอง

เพราะคิดว่าการที่เอะอะอะไรก็กูเกิ้ลๆ หรือเซฟใส่มือถือ ถ่ายรูปเก็บไว้นั้น จะทำให้สมองเราทำงานน้อยลง จนเราแทบไม่ได้ใช้สมองอะไรเลย นี่คือความคิดของคนรุ่นเก่าหลายคนที่คิดแบบนี้ และตัวผมก็ได้ยินแบบนี้บ่อยๆ

แม้ผมจะเริ่มแก่หัวหงอกจนไม่มีใครด่าแบบนี้ แต่ก็รู้สึกหงุดหงิดแทนเด็กรุ่นใหม่ที่ต้องโดนปรามาสแบบนี้ทุกที ครั้นจะหาเหตุผลมาตอบโต้ได้ก็ไม่เคยมี ได้แต่นั่งเงียบๆแล้วก้มหน้าโพสโดยตั้งไม่ให้ใครเห็นเพื่อระบายออกไปคนเดียว

แต่มาวันนี้ผมมีเหตุผลโต้แย้งแลวครับ พบว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้สมองเสื่อม ความจำสั้น แบบที่คนรุ่นเก่าว่า แม้คนรุ่นใหม่จะจำไม่ได้ว่าสิ่งนี้คืออะไร แต่คนรุ่นใหม่รู้ว่าจะไปหาคำตอบของสิ่งนี้ได้ที่ไหน และนี่ก็มีชื่อเรียกว่า Transactive Memory หรือการฝากความจำนั่นเอง

เหมือนเวลามีคนถามผมเรื่องนึง แล้วผมตอบไม่ได้ทันที แต่ผมพอรู้ว่าสิ่งที่เค้าถามนั้นมันอยู่ไหนหนังสือเล่มไหนที่เคยอ่าน ผมก็แค่ไปหยิบหนังสือเล่มนั้นมาเปิดตอบเค้า หลักการมันก็ง่ายๆแบบนั้นแหละครับ

วิธีการใช้ความจำที่เปลี่ยนไปของคนสมัยใหม่ ก็คล้ายกับ “ของที่ระลึก” ของคนสมัยเก่า ตรงที่ว่าถ้าไม่เห็นก็นึกไม่ออก แต่ถ้าเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่า พวงกุญแจนี้ได้มาจากไหน ไปมาเมื่อไหร่ ไปกับใครบ้าง และมีเรื่องประทับใจอะไรที่อยากเล้า บวกกับมีเรื่องอะไรที่อยากเม้าส์อีกรอบ

สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะคนรุ่นใหม่ ขอเพียงเข้าใจกันและกัน อย่าติดอยู่กับวันที่คุ้นชินของตัวเอง มองโลกให้เป็นปัจจุบัน ไม่มีอะไรล้าหลัง ไม่มีอะไรล้ำหน้า แล้วเรื่องราวต่างๆรอบตัวก็จะกลายเป็นอะไรที่น่าสนใจให้เราได้เรียนรู้อีกเยอะเลยครับ

เพราะโลกเปลี่นนไปทุกวัน อย่าไปยึดติดกับวันวานไม่ว่าจะคนรุ่นไหน

ผมคิดว่าผมคงหลวมตัวหลวมใจกลายเป็นแฟนอีกคนที่ติดตามงานเขียนของ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล แล้วล่ะ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 28 ของปี 2018

วันพรุ่งนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon

20180308

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/