เรื่องราวการณ์ปฏิวัติโลกของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ที่จะไม่มีเหมือนหวนกลับคืนวันวานอีกต่อไป

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าถึงเรื่องราวเหตุการณ์หลายๆเหตุการณ์ในโลกที่เกิดขึ้นจริง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แต่ทุกอย่างนั้นล้วนทำให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่อ และโซเชียลมีเดียเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปมากแค่ไหน โดยเฉพาะคนที่เกิดในช่วงปี 1980 ขึ้นไป เพราะเราจะมีภาพเปรียบเทียบที่ชัดเจนก่อนหน้าที่โลกจะมีอินเทอร์เน็ต และหลังจากที่เราขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้แล้วอย่างทุกวันนี้

ลองคิดดูเล่นๆก็ได้ว่าถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนย้อนกลับไปแต่ละยุคแล้ว ชีวิตเราไม่เคยลำบากขึ้นเลยซักนิด เช่น สมัยนี้เวลาเราจะคุยแบบได้ยินเสียงกับใครซักคน เราก็แค่กดโทรผ่านไลน์หาอีกคนนึง ซึ่งก็ฟรีไม่เสียเงินซักกะบาท แต่ถ้าให้ลองนึกย้อนกลับไปซักสิบปีก่อนในวันที่มือถืออย่างดีก็มีแค่ระบบ GSM การจะโทรหากันทีก็ต้องกดเบอร์โทรหากันแล้วก็เสียกันนาทีละ 3บาท แถมดีไม่ดีถ้าเป็นโทรทางไกลก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีกด้วยซ้ำ

เห็นมั้ยครับว่าชีวิตเรานั้นสะดวกสบายเพิ่มขึ้นมากขนาดไหน

ทีนี้ลองมาคิดย้อนกลับไปอีกหน่อยก็จะพบว่าก่อนหน้าจะมีมือถือ เราทั้งสองฝ่ายต้องโทรหากันผ่านโทรศัพท์บ้านเท่านั้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ต้องพร้อมที่จะอยู่หน้าโทรศัพท์กันทั้งคู่ แถมยังต้องลุ้นไม่ให้ในเวลานั้นมีใครในบ้านใช้โทรศัพท์อยู่ ไม่งั้นก็ต้องรอจนกว่าสายจะว่างถึงจะโทรหากันได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วบ้านทั่วไปก็จะมีแค่เบอร์เดียวเท่านั้น

พอย้อนกลับไปอีกก่อนจะมีโทรศัพท์บ้านทุกบ้าน โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่แทบทั้งหมู่บ้านจะมีโทรศัพท์แค่เครื่องเดียว จะคุยกับญาติพี่น้องต่างจังหวัดทีก็ต้องโทรให้คนที่เป็นเจ้าของบ้านนั้นไปตามตัวมารอคุย แล้วก็นัดเวลาที่จะโทรหาอีกรอบ จากนั้นก็ถึงจะคุยกันได้ แถมคุยนานก็ไม่ได้เพราะปลายทางก็จะคิดเวลาเป็นนาที

เห็นมั้ยครับว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมากแค่ไหน ใครที่บอกว่าชีวิตมันลำบากขึ้นทุกวันๆ ลองคิดย้อนกลับไป 30ปีก่อนดูนะครับ ว่าช่วงเวลานั้นกับตอนนี้ตอนไหนกันแน่ที่คุณลำบากกว่ากัน

ยกตัวอย่างมามากพอแล้ว ทีนี้กลับมาที่เนื้อหาในเล่มมีทั้งหมด 11บท ผมขอสรุปย่อๆให้เข้าใจประมาณนึงเพื่อให้คนที่สนใจไปหามาอ่านเต็มๆเล่มแล้วกันนะครับ

บทที่ 1 กว่าจะหาโทรศัพท์ได้ ต้องใช้ทั้งหมู่บ้าน…

จริงๆไม่ใช่ทั้งหมู่บ้านหรอกครับ แทบจะเป็นทั้งประเทศมากกว่า เรื่องคือมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า อิวานนา ทำโทรศัพท์มือถือตัวเองหายในปี 2006 โดยลืมไว้ที่หลังรถแท็กซี่ในกรุงนิวยอร์ก แต่พอเธอสืบจนรู้ตัวว่ามีใครคนนึงเก็บไปได้และส่งข้อความว่าขอโทรศัพท์คืน กลับถูกด่าและเหยียดหยามว่าไม่มีวันได้คืนหรอกชาตินี้ ทำเอาเพื่อนของเธอที่ชื่อว่า อีวาน โมโหจนสร้างบล็อคขึ้นมาเพื่อให้คนช่วยกันตามหาคนที่เอาโทรศัพท์ของ อิวานนา เพื่อนเค้าไป

ไปๆมาๆมีคนเข้ามาที่บล็อคนี้กว่าหนึ่งล้านคน จนกลายเป็นประเด็นออกข่าวช่องต่างๆ และในที่สุดก็กลายเป็นการช่วยกันตามหาโทรศัพท์เครื่องนี้จากคนทั้งประเทศ และในที่สุดคนที่เก็บได้แต่ไม่ยอมคืนก็โดนจับ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้ทุกคนในประเทศช่วยกันทวงคืนโทรศัพท์เครื่องนึงได้

บทที่ 2 ชุมชนหัวหอกของผู้แบ่งปัน…

พูดถึงเรื่องของเวปแชร์ภาพชื่อดังอย่าง Flickr ว่าเป็นการรวมตัวกันของคนที่ชื่นชอบในการถ่ายรูป ที่ต่างร่วมกันเอาภาพมาแบ่งปันกันและกันโดยไม่ได้นัดหมาย และตัวเวป Flickr ก็สร้างระบบ Tag ขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกจัดหมวดหมู่ภาพของตัวเอง โดยผลที่ตามมาก็คือง่ายต่อการค้นหาของสมาชิกคนอื่นที่กำลังหาภาพที่ตัวเองต้องการ  ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายในงานพาเหรดนางเงือกของเมืองเล็กๆเมืองหนึ่ง ที่ชาว Flickr เอาภาพมาเทรวมกันแบ่งปันบนเว็บกว่า 3,000 ภาพ ซึ่งถ้าต้องจ้างช่างภาพไปถ่ายจะต้องใช้ทรัพยากรทั้งเงินและเวลาในการจัดการมากขนาดไหน

แต่ Flickr ไม่ต้องใช้เลยเพราะแต่ละคนที่เป็นช่างภาพมีแรงจูงใจของตัวเองที่จะถ่ายและจะเอาภาพมาแชร์อวดกันและกันบน Flickr อยู่แล้ว และยังรวมไปถึงในกรณีระเบิดที่เกิดขึ้นในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2005 ที่หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่นานก็มีคนร่วมเอาภาพและข้อมูลมาแบ่งปันกันบนวิกิพีเดีย จากนั้นก็มีคนอีกมากมายร่วมมาอัพเดทข้อมูลแบ่งปันกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพเหตุการณ์ หรือแม้แต่การประกาศตามหาคนหาย เราจะเห็นว่าการแบ่งปันกันเกิดขึ้นมากมายของกลุ่มคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นมาก ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาทำให้เราเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น

บทที่ 3 ทุกคนคือสื่อ…

ใช่ครับ ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือมีกล้องที่มีคุณภาพดีพอ เราทุกคนก็กลายสื่อแต่ไม่ได้เงินค่าวิชาชีพนี้

เพราะเราทุกคนสามารถแบ่งปันข้อมูลต่างๆไม่ว่าจะเป็น ภาพ เสียง วีดีโอ เพลง ข้อเขียน บทความ หรืออะไรก็ตามที่เราอยากจะสื่อสารมันออกมาให้คนอื่นหรือโลกรู้ และทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นจากอินเทอร์เน็ตที่หลังจากทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อ ก็คือทำให้ผู้มีอาชีพสื่อหลายๆคนนั้นที่ปรับตัวตามไม่ทันต้องล้มตายกันไปทางวิชาชีพ

ถ้าจะว่าผมพูดแรงเกินไปก็ลองคิดดูแล้วกันว่าไม่กี่ปีที่ผ่านมามีหนังสือปิดตัวไปกี่หัว หนังสือพิมพ์ยุบตัวไปกี่ฉบับ ยังไม่นับบรรดาช่องรายการต่างๆที่สู้ต้นทุนไม่ไหวจนต้องปิดตัวไปมากมาย นี่คือผลกระทบของการลดต้นทุนในการเผยแพร่ข้อมูลในอดีตที่แทบจะกลายเป็นศูนย์ในทุกวันนี้

แต่ก่อนการจะสื่ออะไรออกไปได้จำเป็นต้องมีต้นทุนทั้งนั้น ไม่ว่าจะผ่านการพิมพ์ ผ่านช่วงเวลาในการออกอากาศ ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้แหละที่ทำให้เกิดผู้มีวิชาชีพสื่อขึ้นมาเพื่อคัดกรองข้อมูลที่เห็นว่าน่าจะคุ้มค่าที่สุด ได้รับความสนใจมากที่สุด และเกิดประโยชน์ที่สุด จากข้อจำกัดของทรัพยากรที่เป็นตัวกลางของสื่อ แต่ทุกวันนี้ข้อจำกัดนั้นหมดไป เพราะทันทีทีใครก็ตามที่มีสมาร์ทโฟนกดถ่ายรูป ภาพนั้นก็สามารถแบ่งปันให้เพื่อนๆเค้าเห็นได้ และถ้าภาพนั้นน่าสนใจมากเพียงพอ มันก็จะสามารถทำให้ทุกคนบนโลกเห็นได้เหมือนกัน นี่แหละครับอินเทอร์เน็ตทำให้เราทุกคนกลายเป็น “สื่อ” ไปแล้ว

บทที่ 4 เผยแพร่ก่อนคัดกรอง…

จะบอกว่าเป็นผลมาจากบทที่ 3 ที่ว่า..ทุกคนคือสื่อ ในเมื่อทุกคนคือสื่อทีนี้ใครอยากจะโพสหรือแชร์อะไรออกไปก็ได้ แต่ปัญหานึงทีคนยุคเก่าหน่อยไม่เข้าใจคือ ทำไมเด็กวัยรุ่นหลายคน หรือคนรุ่นใหม่บางคน ถึงเลือกจะโพสคลิปที่ดูไม่มีสาระ หรือดูเป็นเรื่องส่วนตัวออกมาบนออนไลน์เป็นประจำ

นั่นก็เพราะว่าคนรุ่นใหม่นี้เคยชินกับการใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียในการคุยกับเพื่อนเหมือนกับในยุคที่เราคุยประชุม 3 สายกับเพื่อน ในตอนนั้นที่เราก็คุยเรื่องบ้าบอทุกอย่าง เรื่องที่ดูไร้สาระทุกอย่าง และเรื่องที่ดูน่าจะเป็นความลับของกันและกันทุกอย่าง

และในวันนี้ที่คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ทำอะไรผิดจากที่ผู้ใหญ่อย่างเราเคยทำๆกันเมื่ออดีต เพียงแต่ความเคยชินในการสื่อสารของเค้าก็คือการใช้โซเชียลมีเดีย หรือสื่อต่างๆบนอินเทอร์เน็ตในการสื่อสารกับเพื่อนเฉพาะกลุ่มของเค้านั่นเอง ปัญหาคือมันดันตั้งค่าสาธารณะเป็นปกติ และเด็กเหล่านี้ก็มองว่านี่มันพื้นที่ของเค้า เหมือนเค้ากำลังคุยเรื่องนี้กันในแมคโนดัล

ปัญหาคือเราต่างหากที่ไปยุ่งกับเรื่องของเค้า ดังนั้นปัญหาที่น่าจะตามมาก็คือการกังวลถึงเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าครับ ที่น่าจะต้องมีการสอนเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักปกป้องตัวเองในเรื่องนี้

บทที่ 5 เมื่อแรงจูงใจส่วนตัวมาบรรจบกับการผลิตร่วมกัน

…พูดถึง Wikipedia เว็บสารานุกรมของโลกก็ว่าได้ ที่เปิดให้คนทุกคนบนโลกสามารถมาช่วยกันเขียนแบ่งปันความรู้ได้อย่างเสรีเต็มที่บนเว็บนี้

ครั้งแรกที่เวปนี้ตั้งขึ้นไม่ได้จะมีรอดและรุ่งได้แบบนี้นะครับ เพราะแรกเริ่มเดิมทีมันชื่อว่า nupedia เป็นเว็ปที่ตั้งใจจะให้บรรดากูรู ผู้รู้ นักวิชาการ มาช่วยกันเขียนบทความ ความรู้ดีๆ แล้วเปิดให้คนทั่วโลกเข้าถึงฟรีๆได้เสมือนสารานุกรมชื่อดังอย่าง Britanica

ที่เป็นหนังสือรวมความรู้จากทั่วโลกเล่มหนาๆที่ออกวางขายปีละครั้งในราคาแพงๆ แต่เว็บ nupedia ไปไม่รอดเพราะมันถูกจำกัดด้วยขั้นตอนเหมือนเวลาทำหนังสือสารานุกรมดั้งเดิม มันถูกจำกัดแค่คนกลุ่มนึงเท่านั้นที่จะเขียนลงไปในเว็บไซต์ได้ จนผู้ก่อตั้งเปลี่ยนความคิดมาลองทำ wikipedia ที่ลองเปิดให้ใครก็ได้เข้ามาเขียนความรู้ในเรื่องไหนก็ได้ที่ตัวเองมี จากไอเดียที่คิดว่าจะทำเล่นๆแต่ไปๆมาๆกลายเป็นแหล่งความรู้ฟรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แล้วก็มีความน่าเชื่อถือจนสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ สิ่งที่อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดขึ้นได้ก็คือการรวมกลุ่มของคนที่สนใจที่จะแบ่งปันความรู้จากทั่วโลกสามารถมาร่วมมือกันทำให้เกิดแหล่งความรู้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้

แม้ว่าเมื่อดูจากข้อมูลเบื้องลึกของผู้ร่วมเขียนแล้วจะพบว่า มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีส่วนร่วมในการเขียนและแก้ไขอย่างจริงจัง โดยคนส่วนมากอาจจะมาแค่ร่วมแก้ไขคำผิด หรือเขียนเพิ่มเติมเล็กน้อยเพียง 2-3 ครั้ง แต่ด้วยคนส่วนน้อยที่กลับมีส่วนร่วมมากที่สุดเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้ wikipedia อยู่และโตได้มาจนถึงทุกวันนี้

บทที่ 6 การเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มและความท้าทางเชิงสถาบัน…

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง spotlight จะเข้าใจบทนี้ได้ดีขึ้นมาก เพราะบทนี้เป็นเรื่องของชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันต่อต้านพระที่ล่วงละเมิดทางเพศเด็กมานานหลายสิบปีในอเมริกา แต่ทางองค์กรศาสนาหรือศาสนจักรนั้นเพิกเฉยไม่สนใจเสียงของชาวบ้านมาได้ทุกครั้ง

แต่ในครั้งล่าสุดนั้นเมื่อมีอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ใช่ เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ชาวบ้านรวมตัวรวมกลุ่มกันได้มากกว่าแค่ในท้องถิ่นของตัวเองแต่ยังสามารถรวมตัวกับผู้ที่มีปัญหาพระล่วงละเมิดทางเพศเด็กในท้องถิ่นอื่นๆทั่วโลกได้ด้วย จนรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า VOTF ย่อมาจาก Voice of the Faithful (เสียงของผู้เปี่ยมศรัทธา) จนทำให้ศาสนาจักรต้องสะเทือนเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงที่จริงจังไปถึงคริสตจักร และจนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตเรื่องก็คงจะเงียบหายไปอีกเหมือนที่เคยเป็นมา

บทที่ 7 เร็วขึ้นและเร็วขึ้น…

เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้การสื่อสารและเชื่อมต่อกันเร็วขึ้นและเร็วยิ่งขึ้นกว่าที่เคย ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หลายอย่าง

ย้อนกลับไปดูยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นของธรรมดาสามัญอย่างทุกวันนี้ ในตอนนั้นฝรั่งเศษเองก่อนจะถูกเยอรมันบุกยึดได้ ทางฝรั่งเศษมีรถถังที่ดีกว่ารถถังเยอรมันมากนัก แถมจำนวนก็มีมากกว่า แต่อะไรล่ะที่ทำให้ฝรั่งเศษถึงถูกบุกยึดโดยเยอรมันได้แบบสายฟ้าแลบ นั่นก็เพราะ “วิทยุสื่อสาร”

เจ้าสิ่งนี้แหละที่ทำให้บรรดารถถังเยอรมันที่น้อยกว่าและไม่แกร่งเท่ารถถังฝรั่งเศษ สามารถรวมตัวกันเพื่อทำภาระกิจร่วมกันได้จนกลายเป็นกลุ่มก้อนรถถังทีทรงพลังกว่า เมื่อเทียบกับฝรั่งเศษที่มีรถถังที่ดีกว่าก็จริง จำนวนมากกว่าก็จริง แต่ก็อยู่อย่างโดดเดี่ยวและไม่รวมพลังกัน ทำให้ง่ายต่อการถูกโจมตีและก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด

ในเรื่องราวเดียวกันที่เกิดขึ้นก็คือการปฏิวัติในซาอุ หรือที่เรียกว่า Arab spring ที่เป็นการปฏิวัติที่รวดเร็วผ่านทวิตเตอร์ จากกลุ่มคนไม่กี่คนกลายเป็นคลื่นมหาชนจนปฏิวัติประเทศได้ นี่แหละครับความเร็วในการสื่อสารและเปลี่ยนข้อมูลที่เร็วขึ้น ผลที่ตามมาคือปฏิกิริยาที่เร็วขึ้นตามไปด้วย ตั้งแต่การสงคราม ศาสนา หรือองค์กรยักษ์ใหญ่ใดๆก็ตาม

บทที่ 8 การแก้ปัญหาเขาควายทางสังคม…

พูดถึง Meetup แพลตฟอร์มที่ทำให้คนที่มีความสนใจสิ่งเดียวกัน ได้มารวมตัวกันง่ายขึ้น เพื่อจะได้เจอกันในโลกจริง

จากความตั้งใจแรกเริ่มเดิมทีของผู้สร้างมีทอัพนั้นคือต้องการที่จะให้คนที่เคยออกมาสังคมกันในวันก่อน ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งนึง ไม่ว่าจะเป็นชมรมโบว์ลิ่ง หรือสันทนาการอื่นๆที่เคยมีแต่ลดน้อยหายไปเมื่อสังคมเมืองโตขึ้น แต่พอมีทอัพเริ่มเปิดใช้งานกลายเป็นว่ากลับมีแต่กลุ่มแปลกประหลาดอย่างไม่น่าเชื่อมารวมตัวกันในมีทอัพมากมาย

เช่น กลุ่มแม่มด กลุ่มสแลชด็อท ลัทธินอกรีต ผีดูดเลือด หรือแม้แต่กลุ่มคนที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า

ทั้งหมดนี้ทำให้เราพบว่าอินเทอร์เน็ตนั้นทำให้กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องแปลกๆที่เคยเป็นเรื่องลับๆเมื่อก่อน และมีต้นทุนในการรู้จักกันสูง เช่น อาจจะเป็นกลุ่มผู้ชายที่ชอบใส่กางเกงในเซ็กซี่ของผู้หญิง เพราะการจะหาคนที่ชอบในเรื่องนี้ในอดีตนั้นยากถึงยากมากๆ ถ้าเราไม่ไปบังเอิญเห็นหนุ่มคนในมีของกางเกงในสีชมพูปลิ้นออกมาเวลาก้มถ่ายเอกสาร แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตและมีทอัพทำให้กลุ่มคนที่มีความสนใจแปลกๆพวกนี้ได้รวมตัวกันง่ายขึ้น

ถ้าจะบอกว่าอินเทอร์เน็ตทำให้กำเนิดคนที่ชอบอะไรประหลาดๆคงไม่ถูก ต้องบอกว่าอินเทอร์เน็ตทำให้คนที่ชอบอะไรประหลาดๆอยู่แล้วเหมือนกันมาเจอกันได้ง่ายขึ้นมากกว่า

บทที่ 9 ปรับเครื่องมือของเราให้เข้ากับโลกใบเล็ก…

กับทฤษฏีหกช่วงคน Six Degree of Separation ใครจะเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามบนโลกใบนี้สองคน ต่อให้อยู่คนละทวีปซีกโลก คนที่พูดกันคนละภาษา คนที่ชีวิตนี้ไม่เคยไปเหยียบประเทศของกันและกันมาก่อน ก็สามารถรู้จักกันได้กับคนที่ตัวเองรู้จักเพียง 6 ช่วงคนเท่านั้น

เช่น ผมน่าจะรู้จักกับบารัคโอบามาได้ เพียงแค่ผมหาคนที่ผมรู้จักมาหนึ่งคนและคิดว่าคนๆนี้น่าจะรู้จักคนที่รู้จักกับโอบามาไปเรื่อยๆ ภายใน 6 ช่วงคนรู้จักของคนรู้จักของผมก็จะสามารถทำให้ผมรู้จักกับโอบามาได้ เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ทฤษฏีแต่เป็นสิ่งที่เคยมีนักวิชาการลองพิสูจน์มาแล้ว(และผมก็จำไม่ได้แล้วว่าอ่านมาจากหนังสือเล่มไหน น่าจะเป็นเล่มนึงของ Malcolm Gladwell มั้งครับ)

มีแพลตฟอร์มนึงที่น่าสนใจที่ชื่อว่า Dodgeball ที่เป็นระบบที่จะบอกว่าในที่ๆคุณกำลังจะไปนั้นมีเพื่อนของคุณกำลังอยู่ที่นั่นมั้ย และถ้าไม่มีเพื่อนคุณอยู่ซักคนระบบก็จะบอกว่ามีเพื่อนของเพื่อนคุณอยู่ที่นั่นมั้ย

สมมติว่าคุณกำลังไปบาร์ที่นึงเพื่อไปหาเบียร์เย็นๆซักแก้วดื่มหลังเลิกงาน แต่กลับไม่มีเพื่อนไปด้วยเลยซักคน คุณเลยลองเข้าระบบ Dodgeball เพื่อบอกว่าคุณกำลังจะไปที่นั่น จากนั้นระบบก็จะแจ้งกลับมาว่ามีเพื่อนคุณคนไหน หรือเพื่อนของเพื่อนคุณคนไหนกำลังดื่มอยู่ที่นั่น และระบบก็จะแจ้งไปยังเพื่อนคุณหรือเพื่อนของเพื่อนคุณเหมือนกันว่า คุณกำลังจะไปที่บาร์นั้น ทีนี้คุณและเพื่อนของเพื่อนคุณก็จะได้รู้จักกันผ่านเพื่อนคุณที่เสมือนว่ามาด้วยกันและแนะนำให้คุณสองคนรู้จักกัน เห็นมั้ยครับว่าอินเทอร์เน็ตทำให้โลกเราเล็กลงแบบทับซ้อนกันมากจนเราคิดไม่ถึงขนาดไหน

บทที่ 10 ความล้มเหลวคือต้นทุน…

พูดถึงเรื่องของระบบปฏิบัติการ Linux ที่หลายคนน่าจะคุ้นหู ส่วนคนที่ทำงานด้าน IT โดยตรงต้องคุ้นเคยเป็นอย่างดี

Linux ผ่านการล้มเหลวในแบบที่ล้มเร็วและลุกเร็วมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการพัฒนามันขึ้นมา ด้วยเป็นระบบปฏิบัติการแรกๆที่เปิด open-source ให้โปรแกรมเมอร์ใครก็ได้มาร่วมกันพัฒนามันขึ้นมาเพื่อให้คนทั่วโลกได้ใช้งานกันฟรีๆ ในยุคนั้นเป็นยุคที่ไมโครซอร์ฟวินโดวส์ 95 ครองเมือง แรกเริ่มเดิมทีมันก็จะดูง่อยๆหน่อยกับ Linux แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีคนนับล้านมาช่วยกันพัฒนาและเปิดให้คนต่อมาได้เห็น source code ที่คนก่อนหน้าพัฒนาเพื่อทำให้มันดียิ่งขึ้นอีก วันนี้ unix กลายเป็นหนึ่งในระบบมาตรฐานของเซิฟเวอร์หลายแห่งบนโลก ไม่ใช่ microsoft ที่ผู้ขาดระบบปฏิบัติการอีกต่อไป

สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไปคือการรวมตัวของคนหมู่มากที่จะทำในสิ่งที่ล้มเหลวแล้วและล้มเหลวอีก และการล้มเหลวทุกครั้งนั้นก็จะสามารถกลับมาลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งสะสมยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆทีละนิด ที่ผมบอกว่าบริษัทใหญ่ๆนั้นไม่สามารถทำได้เพราะบริษัทหรือองค์กรถูกออกแบบมาให้ไม่ผิดพลาด ไม่ล้มเหลว มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลงาน ผิดกับการระดมมวลชนที่อาจจะไม่ได้เข้ามาพัฒนาระบบ Linux ทุกวัน แต่ผลงานของเค้าเพียงหนึ่งครั้งในหนึ่งปีอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล

แถมที่สำคัญ Linux สามารถเกิดขึ้นได้โดยแทบไม่ต้องใช้เงินซักแดงจ้างโปรแกรมเมอร์ซักคนให้มาออกแบบ เพราะทุกคนร่วมกันลงแรงด้วยกันบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

บทที่ 11 สัญญา เครื่องมือ และข้อต่อรอง…

ว่าด้วยเรื่องของสูตรที่จะทำให้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มคนเพื่อมาทำอะไรร่วมกันประสบความสำเร็จได้นั้นต้องประกอบด้วย 3 ข้อนี้ คือ

ต้องมีสัญญาใจร่วมกันว่าเราจะทำเพื่ออะไร เพื่อรวมกลุ่มคนที่สนใจในสิ่งเดียวกันให้มารวมกลุ่มกันได้

จากนั้นจึงเป็นเรื่องของเครื่องมือว่า เครื่องมือแบบไหนที่จะสามารถทำให้สัญญานั้นเป็นจริงขึ้นได้ บล็อคมั้ย วิกิพีเดียมั้ย หรือโซเชียลมีเดียมั้ย เพราะแต่ละคำสัญญาก็ต่างต้องการเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายที่ต่างกัน และสุดท้ายคือข้อต่อรอง

ข้อต่อรองที่ว่าจะช่วยกันปกป้องให้สิ่งนั้นไม่พังหายไปได้ง่ายๆ เช่น วิกิพีเดียเองก็มีข้อต่อรองว่าใครๆก็สามารถเขียนทับแก้ไขของใครๆก็ได้ แต่เช่นกันคนอื่นก็สามารถมาแก้ของคุณได้ และเค้าก็สามารถย้อนกลับไปดูเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่คุณจะแก้ไขได้ รวมถึงสมาชิกวิกิพีเดียที่มีส่วนร่วมขั้นสูงสามารถเป็นผู้ตัดสินใจได้ในกรณีที่เกิดเกรียนเข้ามาป่วน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตเราที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไปตั้งแต่อินเทอร์เน็ตเข้ามาเป็นส่วนนึงในชีวิตเราอย่างแยกไม่ออก

โดยเฉพาะในวันที่เรากำลังจะเข้าสู่สังคม Cashless Society นั่นหมายความว่าเราต้องพร้อมเชื่อมต่อเข้าระบบตลอดเวลา เพราะไม่งั้นร้านค้าก็ไม่สามารถเข้าถึงกระเป๋าเงินเราบนออนไลน์ได้ ขอบคุณอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น

เมื่อมองย้อนกลับไปถึงอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน อินเทอร์เน็ตในวันนี้ทำให้เราไม่ต้องพกแถบกระดาษแม่เหล็กจดเบอร์โทรศัพท์เพื่อนอีกต่อไป ทำให้เราไม่ต้องคอยนั่งเฝ้าโทรศัพท์ตอนสองทุ่มเวลานัดคุยกับแฟน ทำให้เราสามารถเล่นเกมส์ได้โดยไม่ต้องต่อเข้ากับทีวีแย่งกับที่บ้าน และที่สำคัญทำให้เราได้รู้จักกับคนอีกมากมายบนโลกที่สนใจในเรื่องเดียวกัน และทำให้เราได้รู้จัคนหน้าตาดีข้างบ้านแม้เราจะไม่กล้าเข้าไปทักเลยซักครั้งในชีวิตจริง..ขอบคุณอินเทอร์เน็ตครับ


Here Comes Everybody พลังกลุ่มไร้สังกัด

Clay Shirky เขียน
สฤณี อาชวานันทกุล แปล

สำนักพิมพ์ มติชน

อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/