สรุปหนังสือ HAPPY CITY เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง Transforming our living through urban design สำนักพิมพ์ broccoli

ถ้าให้สรุปหนังสือ HAPPY CITY เปลี่ยนโฉมชีวิตการออกแบบเมือง เล่มนี้แบบสั้นๆ ก็คงบอกได้ว่าหลักใหญ่ใจความของเล่มนี้คือ เมืองที่มีความสุขคือเมืองที่ทำให้คนรู้สึกมีอิสระในการเข้าถึงทุกสิ่งที่ต้องการหรือจำเป็นในชีวิตประจำวันได้แบบง่ายๆ และที่ง่ายที่สุดของมนุษย์เราก็คือการเดิน ยิ่งเราสามารถเดินไปถึงสถานที่ๆ เราต้องการได้ง่ายมากเท่าไหร่ ชีวิตเราก็จะยิ่งมีความสุขเพราะความเรียบง่ายยิ่งกว่าการมีบ้านหลังใหญ่หรือรถคันโตมากเท่านั้น

แต่ถ้าให้สรุปต่ออีกหน่อยให้ยาวขึ้นคือการที่เมืองๆ หนึ่งจะเป็นเมืองที่มีความสุขได้ ไม่ได้วัดจากแค่ความร่ำรวยของผู้คนที่อยู่อาศัยภายในเมือง แต่วัดจากการที่คนในเมืองสามารถเดินทางไปไหนมาไหนตามต้องการได้อย่างสะดวกสบายมากแค่ไหน

เราสามารถเดินจากบ้านไปยังร้านอาหารที่เราชอบได้มั้ย เดินไปร้านขายของชำเพื่อซื้อของกินของใช้ที่ต้องการได้หรือเปล่า หรือเราสามารถเดินไปทำงานหรือปั่นจักรยานไปทำงานได้อย่างปลอดภัยมั้ย หรือเราสามารถได้พบปะผู้คนรอบตัว มีเพื่อนเป็นคนแปลกหน้า รู้จักกับเพื่อนบ้าน และสามารถสังสรรค์กับคนในละแวกบ้านได้บ้างหรือเปล่า

ปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เรามีความสุขโดยไม่จำเป็นต้องร่ำรวย เพราะเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร มันเป็นเรื่องที่เกิดอยู่ในใจเราเอง แต่ความร่ำรวยนั้นแตกต่างไป เราจะรวยได้ก็ต่อเมื่อคนอื่นจน ดังนั้นต่อให้นักการเมืองพยายามทำให้เราทุกคนรวยขึ้น แต่ถ้าเราทุกคนรวยขึ้นพร้อมกันถ้วนหน้าก็จะไม่มีใครรู้สึกว่าตัวเองรวยขึ้นเลยครับ

ดังนั้นถ้านักการเมืองคนไหนหาเสียงด้วยการบอกว่าประเทศนี้จะปราศจากคนจน ผมอยากให้คุณตั้งคำถามสงสัยไว้ได้เลยว่านักการเมืองคนนั้นจะทำได้อย่างไร ขนาดอเมริกาว่าเป็นประเทศเสรียังเต็มไปด้วยคนว่างงานและคนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองยากจนอยู่มากมาย ดังนั้นถ้าเราจะเลือกนักการเมืองคนไหน พยายามเลือกคนที่จะหาทางทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยการทำให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ได้อย่างเท่าเทียมจะดีกว่าครับ

หนังสือ HAPPY CITY เล่มนี้พูดถึงเมือง Bogota ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย เมืองนี้นายกเทศมนตรีเดิมทีประกาศว่าจะทำให้ชาวเมืองมีความสุขเพิ่มขึ้น ด้วยการพยายามเอารถยนต์ส่วนบุคคลออกไปจากถนนให้มากที่สุด เขาจะทำให้ชาวเมืองมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วยการจะทำให้คนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้สะดวกสบายขึ้นมาก ด้วยบริการขนส่งมวลชนสาธารณะ และก็การเพิ่มเส้นทางจักรยานมากมายที่ทำให้เราสามารถปั่นจักรยานไปทำงานได้สบายๆ นั่นเอง

เพราะการปั่นจักรยานทำให้เราสามารถเดินทางในระยะ 10-20 กิโลเมตรได้สบายๆ ดังนั้นระยะทางเท่านี้ก็เพียงพอที่เราจะเดินทางจากบ้านไปถึงออฟฟิศได้ไม่ยาก เอาง่ายๆ จากบ้านผมที่อยู่กัลปพฤกษ์ว่าชานเมืองแล้วยังอยู่ห่างจากสยามใจกลางเมืองแค่ 15 กิโลเมตรโดยประมาณเท่านั้นเอง

ยังไม่พูดถึงการเพิ่มระบบขนส่งมวลชนสาธารณะด้วยรถราง รถรางช้าๆ ธรรมดานี่แหละครับเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการเพิ่มความสุขของคนเมืองได้อย่างรวดเร็วและราคาถูกมากๆ

ก็เพราะระบบรถรางเองนั้นแทบไม่ต้องลงทุนสร้างอะไรมาก แค่เดินสายไฟด้านบนให้พร้อม เอาถนนคืนมาหนึ่งเลน จากนั้นก็วางรางบนถนนลงไป ง่ายๆ เท่านี้ก็สามารถเกินขนวนรถรางได้สบาย ทำให้ผมนึกถึงเมื่อครั้งยังไปเที่ยวฮ่องกงเลย

ระบบรถรางเค้าเรียบง่ายมาก แอร์ไม่ต้องมีก็ได้ แถมค่าโดยสารก็ถูก ไม่ต้องก่อสร้างอะไรยุ่งยากที่ต้องใช้งบประมาณมากมายครับ

แต่หัวใจสำคัญของการเลือกที่จะเป็นเมืองที่ HAPPY CITY คือ การที่คุณจะต้องเลือกระหว่าง “คน” หรือ “รถยนต์” อย่างชัดเจน ซึ่งไม่มีทางสายกลางให้ทั้งสองอย่างเดินหน้าไปพร้อมกัน

เพราะถ้าคุณเลือกรถยนต์นั่นหมายถึงคุณต้องสละพื้นที่บนถนนให้กับเอกสิทธิ์บางกลุ่มคนที่มีความสามารถเป็นเจ้าของรถเท่านั้น ทั้งที่ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้ และเจ้ารถยนต์นี่แหละที่ทำให้เกิดการดึงภาษีไปใช้อย่างไม่เป็นธรรม เพราะถนนเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องใช้งบประมาณทั้งการสร้างและดูแลมหาศาล แต่กลับมีแค่บางคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถใช้งานเจ้าถนนนี้ได้

เมืองที่ดีคือการลดพื้นที่สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลแล้วไปเพิ่มพื้นที่ให้กับการเดินทางแบบสาธารณะแทน ไม่ว่าจะการเพิ่มรถเมล์ รถราง หรือระบบขนส่งมวลชนแบบไหนก็ตาม และก็เอาถนนไปเพิ่มทางเดินเท้าที่ปลอดภัย เพิ่มพื้นที่สาธารณะ บวกกับไปเพิ่มเส้นทางจักรยานให้คนสามารถเดินทางไปไหนได้ง่ายๆ โดนไม่มีปัญหาเรื่องติดขัดจากรถติดแหง๊กไปไหนไม่ได้ครับ

แต่เดิมทีประวัติของถนนก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อรถยนต์ด้วยซ้ำ แต่เกิดมาเพื่อคนเดินเท้าหรือคนขี่ม้า ในช่วงแรกที่มีรถยนต์เข้ามาในเมืองถูกมองว่าเป็นของอันตราย ต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่เกิน 10 ไมล์ต่อชั่วโมง และในยุคนึงต้องมีคนถือธงเดินนำหน้ารถยนต์เพื่อบอกให้ผู้คนระวังตัวด้วย

แต่ก็นั่นแหละครับเกมนี้ถูกแก้ด้วยนายทุนและนักการตลาด ที่ค่อยๆ สร้างกรอบความคิดใหม่ว่าจริงแล้วถนนเป็นพื้นที่เอกสิทธิ์ของรถยนต์ไม่ใช่ที่ๆ คนจะมาเดินตามใจได้เหมือนเดิมนะ

พวกเขาอ้างเรื่องความปลอดภัยของคนเลยจากรถยนต์เลยเสนอให้แบ่งทางเดินเท้าที่เราเรียกว่าฟุตบาท กับถนนที่เป็นของรถยนต์เท่านั้น และพอมีถนนที่เป็นของรถยนต์เท่านั้นแหละก็ทำให้รถยนต์เร่งความเร็วขึ้นทุกวัน และก็ทำให้รถยนต์ขายดิบขายดีเพราะมีความต้องการเพิ่มขึ้น

และไม่พอแค่เท่านั้น ทางผู้ผลิตรถยนต์ก็ร่วมมือกันตั้งสมาคมเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ด้วยการรณรงค์ให้คนเดินข้ามถนนตรงทางม้าลายเท่านั้น แล้วก่อนจะข้ามก็ต้องดูสัญญาณไฟให้เรียบร้อยด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มีกลยุทธ์เบื้องหลังคือการเพิ่มความสามารถของรถยนต์ออกมามากขึ้น ทำให้คนซื้อรถรู้สึกสะดวกสบายสามารถเหยียบได้เต็มที่เท่าที่จ่ายไป และทางสมาคมนี้ยังมีการรณรงค์ด้วยการทำแคมเปญให้การข้ามถนนนอกทางม้าลายเป็นเรื่องที่น่าละอายต่อสังคม เป็นอย่างไรครับกับกลยุทธ์การทำให้ถนนเป็นของรถยนต์ และทำให้คนขับรถยนต์รู้สึกว่าตัวเองสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วถนนที่กว้างขวางและใช้ทรัพยากรไปมากมายกลับถูกสงวนไว้ให้กับเจ้าของรถยนต์ซึ่งเป็นแค่คนส่วนน้อยในเมืองเท่านั้นครับ

ทางนายกเทศมนตรีเมือง Bogota ที่เลือกว่าจะคืนพื้นที่สาธารณะและท้องถนนให้กับผู้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีรถยนต์ จึงได้ริเริ่มที่จัดวัน Car Free Day หรือวันที่ปลอดรถยนต์บนถนนเมื่อปี 2000 แน่นอนว่าในวันแรกที่จัดงานนี้เกิดปัญหาหน้างานมากมาย ไม่ว่าจะรถเมล์ถูกเบียดไปด้วยผู้คน ระบบขนส่งมวลชนไม่พอ หรือแท็กซี่หายากมากในเช้าวันนั้น แต่ในขณะเดียวกันทางเมือง Bogota บางคนก็เรียนรู้ที่จะเคลื่อนที่จากบ้านไปสู่โรงเรียนที่ออฟฟิศด้วยวิธีการใหม่ๆ บางคนค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ บางคนปั่นจักรยานไป บางคนไถสเก็ตไป หรือบางคนกระทั่งใช้ Roller blade เดินทางไปทำงานด้วยซ้ำครับ

แต่ผลตอบรับก็ดีมาก ชาวเมือง Bogota ต่างโหวตว่าอยากให้จัดงานแบบนี้อีกในปีถัดๆ ไป และในปีถัดๆ ไปก็ค่อยดีขึ้น จนกระทั่งพวกเขาเริ่มอยากจะรณรงค์ไม่ให้ใช้รถยนต์ส่วนตัวในชั่วโมงเร่งด้วยในปีหลังๆ ด้วยซ้ำ

ดังนั่นเมืองที่มีความสุขคือเมืองที่ผู้คนส่วนใหญ่ (แน่นอนว่าหมายถึงคนจนกับคนชนชั้นกลาง) สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามต้องการโดยไม่เสียเวลามากเกินไป และตัวแปรที่สองของเมืองที่มีความสุขคือการลดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ออกไป แล้วก็หันไปเพิ่มร้านค้าปลีกหรือธุรกิจรายย่อยให้กระจายไปเต็มเมือง

เดิมทีเราเชื่อว่าเมื่อเกิดห้างสรรพสินค้าสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ จะทำให้เกิดการจ้างงานมากมายที่จะกระจายออกมาเป็นภาษีคืนสู่ชุมชนใช่มั้ยครับ

แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่าจากข้อมูลที่พวกเขามือกลับพบว่าห้างใหญ่นั้นไม่ได้จ้างงานคนมากพอเมื่อเทียบกับขนาดของพื้นที่ๆ ใช้ไป รวมถึงเมื่อเทียบต่อพื้นที่แล้วห้างใหญ่เหล่านั้นก็ไม่ได้จ่ายภาษีให้เมืองอย่างมากพอ เมื่อเทียบกับการเอาพื้นที่เหล่านั้นไปทำให้เกิดคอมมูนิตี้ที่เต็มไปด้วยร้านค้าเล็กๆ มากมายอย่างเทียบไม่ได้ครับ

และร้านค้าเล็กๆ ก็มีข้อดีของมันนั่นคือการทำให้ผู้คนในละแวกนั้นสามารถเข้าถึงอาหารสินค้าที่ตัวเองต้องการได้ไม่ยาก แถมยังทำให้ผู้คนในละแวกบ้านเกิดความสัมพันธ์กันอีก ซึ่งทั้งหมดนั้นจะนำมาซึ่งการเป็นเมืองที่มีความสุขหรือ HAPPY CITY ก็คือเมืองที่ผู้คนมีความสุขนั่นเองครับ

เพราะความเหงานั้นเป็นอัตรายกว่าที่คิด เพราะคนที่ไร้เพื่อนหรือขาดการเข้าสังคมมีแนวโน้มจะมีอายุสั้นกว่าคนที่มีเพื่อนมากหรือได้เข้าสั่งคมบ่อยๆ การเข้าสังคมทำให้เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งนั่นก็ตอบกับธรรมชาติของมนุษย์เราที่เดิมทีเราเป็นสัตว์สังคมอยู่แล้ว ดังนั้นยิ่งเราเข้าสังคมมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความสุขและอายุยืนมากเท่านั้น

หนังสือ HAPPY CITY เล่มนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มนุษย์เราต้องเข้าสังคมวันละ 6-7 ชั่วโมงถึงจะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดีได้ แต่น่าเสียดายที่คนเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ เพราะคนจำนวนไม่น้อยต้องใช้เวลาไปกับการเดินทางมากกว่าวันละ 2 ชั่วโมงด้วยซ้ำครับ

ที่เราต้องเดินทางมากขึ้นก็เพราะเราถูกโฆษณาหล่อหลอมว่าการมีบ้านชานเมืองหลังใหญ่จะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วการมีบ้านหลังใหญ่หรือรถคันใหม่นั้นกลับไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากมากและนานขนาดนั้น เพราะมนุษย์เราเก่งในการปรับตัว จากบ้านหลังใหญ่ไม่นานก็กลายเป็นบ้านหลังเดิมที่เราเริ่มเคยชินกับมัน การมีรถคันใหม่ก็เหมือนกันเป็นอะไรที่แปบเดียวเราก็ไม่ได้มีความสุขหรือตื่นเต้นที่ได้ขับมันอีกต่อไป

แต่ความทุกข์จากรถติดและทรมานบนท้องถนนต่างหากครับที่จีรัง เราไม่สามารถปรับตัวเข้ากับรถติดได้ดีอย่างที่เราคิดไว้ ดังนั้นการมีบ้านหลังใหญ่ที่ไกลเมืองอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีต่อชีวิตการเป็นคนเมืองแต่อย่างไรครับ

สู้คุณมีบ้านที่อยู่ในเมืองแต่หลังเล็กหรืออาจจะเป็นแค่คอนโดอพาร์ทเมนต์ยังดีเสียกว่า เพราะถ้าคุณสามารถเดินทางไปไหนมาไหนตามต้องการได้ง่ายๆ เพียงเท่านี้คุณก็จะเป็นคนที่ชีวิตดี๊ดีและมีความสุขมากกว่าคนขับรถหรูคันโตแต่ต้องติดบนถนนเป็นชั่วโมงๆ เป็นไหนๆ ครับ

และทั้งหมดนี้ก็คือการสรุปหนังสือ HAPPY CITY โดยอ่านแล้วเล่า อ่านจบแล้วคุณอาจรู้สึกเหมือนผมว่า บางทีเราน่าจะขายบ้านชานเมืองไปอยู่บ้านเล็กๆ ในเมืองแล้วสะดวกต่อการเดินทางแทนน่าจะดีกว่านะ

สรุปหนังสือ HAPPY CITY เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง Transforming our living through urban design สำนักพิมพ์ broccoli

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 23 ของปี 2020

สรุปหนังสือ HAPPY CITY
Transforming Our Living Through Urban Design
เปลี่ยนโฉมชีวิตด้วยการออกแบบเมือง
Charles Montgomery เขียน
พินดา พิสิฐบุตร แปล
สำนักพิมพ์ broccoli

20200616

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/design/

สนใจสั่งซื้อ > https://bit.ly/HappyCityBroccoli

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/