เป็นหนังสือที่รวมเรื่องราวความคิดเบื้องหลังงานออกแบบระดับโลก ที่ไม่ใช่แค่แรงบันดาลใจเบื้องหลังงานออกแบบแต่ละชิ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นวิทยาศาสตร์หรือภูมิความรู้เบื้องหลังของงานออกแบบชิ้นนั้นด้วย

ชื่อหนังสือเลยเป็นการเล่นคำให้พ้องกับการออกเสียงว่า Design มาเป็น De+Science ที่บอกให้รู้ว่าในเบื้องหลังนั้นมีวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่

ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คอนเซ็ปต์คาร์ของเบนซ์ ที่มีชื่อว่า Bionic Car ที่ดูจากหน้าตาอาจจะประหลาดจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเบนซ์ เพราะมองแล้วเหมือนปลามากกว่า

แต่ก็ใช่ครับ Bionic Car รถยนต์ต้นแบบของเบนซ์รุ่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากปลา แล้วก็ไม่ใช่ปลาธรรมดาด้วยนะครับ แต่เป็นปลาบ็อกซ์ฟิช Boxfish ที่อาศัยอยู่ในแนวประการังแถบแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

โดยปลาสายพันธุ์นี้ก็จะรูปเหลี่ยมๆตามชื่อ อ่านถึงตรงไหนหลายคนอาจมีคำถามว่า ในเมื่อเจ้าบ็อกซ์ฟิชหน้าตารูปทรงดูเหลี่ยมๆเหมือนลูกเต๋า ทำไมถึงเอามาใช้ออกแบบเป็นรถต้นแบบของเบนซ์ซะล่ะ อย่างเบนซ์ควรต้องเป็นปลาฉลามที่ดูปราดเปรียวดุดัน หรือมีระดับกว่านี้รึเปล่า

แต่อย่างที่บอกครับว่าเบื้องหลังการออกแบบของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้อ้างอิงอยู่กับความสวยงาม แต่อ้างอิงอยู่กับวิทยาศาสตร์หรือเหตุและผลซะมากกว่า เพราะเจ้าปลาบ็อกซ์ฟิชนี้ธรรมชาติของมันนั้นสามารถว่ายหลบหลีกสิ่งกีดขวางตามประการัง และดงสาหร่ายได้คล่องแคล่วว่องไวมาก ไม่ว่าจะหาอาหารหรือหลบศัตรูก็สามารถทำได้ดีกว่าปลาสวยๆเป็นไหนๆ

และเมื่อไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่สมัยนี้ที่กว่าครึ่งของประชากรบนโลกอาศัยกระจุกรวมกันอยู่ในเมืองหลวงเป็นหลัก และอยู่กันมากๆรถก็ต้องเต็มท้องถนน ดังนั้นรถที่สามารถหลบหลีกซอกแซกได้ดีกว่า ก็ย่อมเป็นรถที่ใช้งานได้ดีกว่าในเมืองตามวิธีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่บอกมา

เป็นดีไซน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์จริงๆเห็นมั้ยครับ

หรือขอพูดถึงงานออกแบบรถยนต์อีกรุ่นที่ชื่อว่า BMW Lovos ที่เป็นรถต้นแบบเหมือนหลุดมาจากไหนก็ไม่รู้ และก็ไม่ได้อยู่ในนิยามของคำว่ารถยนต์ที่คนทุกวันนี้มามาก่อนเลย ถ้าไม่เชื่อ ลองหลับตาแล้วนึกภาพตามผมแบบนี้นะครับ

รถยนต์ปกติแล้วจะมีพื้นผิวที่เรียบมันวาว แทบทั้งคันแทบจะราบเรียบเสมอกันไม่ค่อยมีจุดที่สะดุดหรือโดดเด้งออกมาใช่มั้ยครับ แต่เจ้า BMW Lovos คันนี้กลับไม่เหมือนรถยนต์ต้นแบบไหนๆที่เคยมีมา เพราะมองเผินๆแล้วกลับเหมือนเกล็ดปลาที่ชี้ออกมาจากพื้นผิวเต็มคันไปหมด ลองนึกถึงภาพของตาสับปะรดที่มีขนๆยื่นออกมาก็ได้ครับ

แล้วไอ้เจ้าเกล็ดๆที่ยื่นออกมาจากตัวรถก็ไม่ใช่อะไรที่ไหน แต่เป็นแผงโซลาเซลล์ที่ Anne Foschner ผู้ออกแบบรถยนต์ต้นแบบคันนี้บอกไว้ว่า บรรดาแผงโซลาเซลล์ที่เหมือนเกล็ดปลายื่นออกมาจากตัวรถกว่า 240 ชิ้นนี้ จะปรับองศาตัวเองให้สามารถรับแสงแดดได้ดีที่สุด เพื่อมาเป็นพลังงานในขณะที่รถกำลังวิ่งไปพร้อมๆกัน

โอ้โห จินตนาการสุดยอดมากๆครับ รถพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่สามารถวิ่งไป แล้วก็ชาร์ตไฟไปด้วยในเวลาเดียวกันได้

แม้ตัวรถ Lovos จะไม่สามารถเป็นจริงได้ในวันนี้ และอนาคตอันใกล้ แต่นั่นก็สามารถทำให้งานนี้เป็นที่พูดถึงต่ออีกมากมาย สามารถเป็นตัวอย่างและจุดแรงบันดาลใจให้กับการผลิตรถยนต์ในอนาคตได้

สิ่งที่โลดแล่นอยู่ในจินตนาการโดยไม่ได้ถูกสร้างจริงใช่ว่าจะไร้ความหมาย

เพราะบางทีการพยายามคิดถึงความเป็นจริงมากเกินไปนั่นแหละ เป็นเครื่องกีดขวางความเป็นจริงอย่างที่สุด

หนังสือเล่มนี้ยังเต็มไปด้วยงานออกแบบที่แผงแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ไว้อีกมาก อย่าให้คุณได้ลองหามาอ่านดูจริงๆครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 78 ของปี 2018

สรุปหนังสือ DeScience
งานออกแบบที่แอบอัจฉริยะของวิทยาศาสตร์ไว้เบื้องหลัง
อาจรงค์ จันทมาศ เขียน
สำนักพิมพ์ abook

20180613

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/