สรุปหนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน Poor Economics อยากสู้กับความจนต้องเริ่มจากการเข้าบริบทของความจนที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ สนับสนุนโดยเงินติดล้อ

หนังสือเศรษฐศาสตร์ความจน หรือ Poor Economics ที่สนับสนุนการแปลโดยเงินติดล้อเล่มนี้ทำให้เข้าใจว่าเหตุใดคนจนถึงจนอย่างลึกซึ้งขึ้น เพราะผู้เขียนเข้าไปคลุกคลีใช้ชีวิตกับคนจนหลายทวีปทั่วโลกเป็นเวลานานนับสิบปี ทำให้เข้าถึงบริบทของความจนด้วยว่าเหตุใดทำไมถึงยังจน ทำไมถึงไม่สามารถหลุดพ้นกับดักความยากจนแล้วขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้

หนังสือเล่มนี้บอกว่าคนส่วนใหญ่เห็นใจคนจนกันทั้งนั้น แล้วเราต่างก็พยายามช่วยแก้ปัญหาความยากจนไม่ว่าจะผ่านโครงการกำจัดความจน เป็นศัตรูกับความจน หรือประกาศสงครามกับความจนต่างๆ นาๆ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ทำให้รู้ว่าถ้าเราแก้ปัญหาโดยไม่เข้าใจบริบทรอบข้างอย่างรอบด้าน และไม่เข้าใจต้นตอของความจนว่าทำไมโลกเราถึงยังมีคนจนอยู่มากมายนับพันล้านคน ทั้งๆ ที่โลกใบนี้ก็มีทรัพยากรเหลือมากมาย เรามีอาหารล้นเหลือที่ต้องทิ้งมหาศาล แล้วเหตุใดคนจนถึงยังไม่หายไปจากโลกนี้เสียที

ดังนั้นถ้าเราพยายามแก้ปัญหาโดยไม่เข้าใจปัญหา ก็เท่ากับว่าเรากำลังแก้ปัญหาอย่างผิดจุด ทำให้แก้เท่าไหร่ความจนก็ไม่หายไป ดังนั้นต้องขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ช่วยเปิดโลกความจนให้คนอย่างผมได้เข้าใจว่าทำไมคนเราถึงยังจนแต่กับบางคนกลับมีล้นเหลือเสียเหลือเกิน

หนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนเล่มนี้มี 10 บท ผมขอไล่เรียงสรุปทีละบทแบบสั้นๆ ไปให้คุณได้เข้าใจบริบทความจนไปพร้อมกันนะครับ

1. อย่าพูดถึงคนจนนับล้าน ให้เล่าผ่านคนจนแค่คนเดียว

จากการทดลองพบว่าเมื่อหน่วยงานองค์กรต่างๆ ต้องการเงินบริจาค ถ้าพวกเขาใช้โบชัวร์แผ่นพับ หรือสื่อโฆษณาที่บอกว่ามีคนอดอยากนับล้านบนโลก แล้วอยากให้คุณช่วยบริจาค ผลปรากฏว่าโฆษณาแบบนั้นกลับเรียกเงินบริจาคได้แค่ 1.16 ดอลลาร์ครับ

แต่กับโบชัวร์อีกแบบที่เล่าผ่านเด็กผู้หญิงอายุ 7 ขวบที่กำลังอดอยากปากแห้ง กลับสามารถดึงเงินผู้ใจบุญออกมาบริจาคได้เฉลี่ยถึง 2.83 ดอลลาร์ นั่นก็สรุปได้ว่าเมื่อพูดถึงคนจำนวนมากตั้งแต่หน้าแรกจะทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกท้อและสามารถช่วยเหลือได้เพราะเกินกว่ากำลังของตัวเอง

แต่เมื่อพูดผ่านคนๆ เดียวที่ดูน่าสงสาร กลับทำให้เรารู้สึกว่าเราสามารถช่วยเหลือเค้าได้ เรารู้ว่าเรากำลังช่วยเหลือคนๆ นี้อยู่ แม้คนๆ นี้อาจจะมีหรือไม่มีตัวตนก็ตาม ดังนั้นสรุปได้ว่าถ้าอยากได้เงินบริจาคให้คนทำดีเพื่อคนจนมากขึ้น ก็จงทำให้มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือ Make it Personal ครับ

2. คนจนอดอยากปากแห้งจริงหรือ?

เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่เราส่วนใหญ่เคยเชื่อกันว่า คนจนมักเป็นคนไม่มีจะกิน หรือถ้ามีกินก็มีกินไม่อิ่มท้องอดมื้อกินมื้อกันไป แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจนส่วนใหญ่ไม่ได้ถึงขนาดอดอยากปากแห้งขนาดนั้น พวกเขาสามารถเข้าถึงอาหารที่ให้พลังงานได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตและทำงานในแต่ละวัน จนถึงขั้นสามารถหาซื้ออาหารที่ให้พลังงานเกินความจำเป็นได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจนคือเมื่อพวกเขามีเงินมากขึ้นพวกเขาไม่ได้เอาเงินไปซื้ออาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้น หรือไปซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพร่างกายหรือสมองในระยะยาว แต่พวกเขามักเลือกที่จะเอาเงินไปใช้กับอาหารที่มีรสชาติดีขึ้นแทนเสียมากกว่า เช่นเอาไปกินชา กาแฟ น้ำตาล เค้ก

สรุปได้ว่าแม้จะยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ถึงขนาดมีอาหารไม่พอประทังชีวิต แต่ในชีวิตคนจนส่วนใหญ่ไม่ใช่แบบนั้น พวกเขาแค่ไม่รู้ว่าควรกินอย่างไรถึงจะดี หรือควรงดเรื่องรสชาติอาหารที่สิ้นเปลืองเงินแต่ให้พลังงานเท่าเดิม แล้วเอาไปใช้กินอาหารที่ทำให้ได้พลังงานเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้ทำงานให้มากขึ้นแทนดีกว่าครับ

ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องความจนให้หมดไป ต้องเริ่มจากการให้ความรู้และกึ่งบังคับ หาทางทำให้คนได้กินอาหารที่ดีต่อชีวิตในระยะยาว กินอะไรตอนเด็กแล้วจะส่งผลให้เพิ่มรายได้ตอนโต หรือพ่อแม่ควรกินอะไรเสริมตั้งแต่ตอนที่ลูกยังอยู่ในท้อง เพราะไม่ใช่แค่คนจนแต่คนส่วนใหญ่ก็มักห้ามปากได้ยาก แต่เมื่อคนจนมีรายได้น้อยมากทำให้รายได้ที่ควรจะเก็บเอาไว้ทำอย่างอื่นถูกเอามาหมดกับการกินเน้นรสชาติเพื่อเพิ่มความสุขแบบเฉพาะหน้า ก็จะทำให้ยากที่จะหลุดจากกับดักความจนครับ

3. ปัญหาสุขภาพของคนจนต้องแก้ที่กายหรือแก้ที่ใจ?

บทนี้มีการพูดถึงเรื่องมุ้งกันยุงในอีกแง่มุมที่น่าสนใจ เพราะถ้าคนจนคนไหนใช้มุ้งกันยุงก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตไม่น้อยเลยทีเดียว นั่นก็เพราะถ้าคนจนใช้มุ้งกันยุงก็จะทำให้ลดอัตราการป่วยลงไปได้มาก พอลดการป่วยก็เท่ากับว่าสุขภาพแข็งแรงดีเป็นส่วนใหญ่ ก็สามารถทำงานหาเงินได้มากขึ้นกว่าคนที่ป่วยเพราะยุงนั่นเอง

ระบบน้ำปะปาก็เป็นปัญหาหลักที่คนจนต้องเจอ คนจนจำนวนมากต้องป่วยเพราะโรคที่มากับน้ำไม่สะอาดทั้งที่คนในเมืองหรือชนชั้นกลางจะไม่มีวันประสบพบเจอปัญหาแบบนี้เลย ดังนั้นการหาแหล่งน้ำสะอาดให้คนจนสามารถเข้าถึงได้แบบคนทั่วไปชนชั้นกลาง จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความจนได้ดีมากเลยทีเดียวครับ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของสาธารณสุขหรือระบบโรงพยาบาลการดูแลสุขภาพของรัฐเพื่อคนจน ต้องบอกว่าที่คนจนไม่ชอบไปโรงพยาบาลรัฐนั้นเพราะเขารู้สึกว่าหมอหรือเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยเอาใจใส่ ทำให้คนจนมักเลือกที่จะหอบเงินอันน้อยนิดไปหาหมอในโรงพยาบาลเอกชน

เพราะโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีการบริการที่ดูแลเอาใจใส่ทุกคนเป็นอย่างดี ทั้งที่โรคเดียวกันอยู่เฉยๆ ก็หาย แต่พอคนจนเข้าใช้บริการสาธารณสุขของรัฐก็จะรู้สึกว่าไม่ได้รับการรักษาใดๆ แต่กับโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องทำยอดก็จะมีการคุยถามไถ่ตรวจโน่นนี่นั่น บางทีก็สั่งยาโน่นนี่นั่นมาให้กินนิดหน่อย วิตามินบ้างอะไรบ้าง เพียงเท่านี้ก็ทำให้คนจนรู้สึกดีว่ายังมีใครที่ห่วงใยใส่ใจสุขภาพพวกเค้าอยู่ แม้จะต้องจ่ายไม่น้อยเลยก้ตาม

และอีกปัญหาหนึ่งของสาธารณสุขของหน่วยงานรัฐทั่วโลกก็คือการที่เจ้าหน้าที่ไม่อยู่ที่สถานีอนามัยที่ควรจะอยู่ ทำให้พอคนจนไปหาแล้วไม่ค่อยเจอก็รู้สึกไม่อยากไปเมื่อเจ็บป่วยครั้งหน้า ดังนั้นการจะแก้ปัญหาคนจนเรื่องสุขภาพคือต้องเอาใจใส่คนจนและปฏิบัติกับเขาเสมือนเป็นโรงพยาบาลเอกชนทั่วไป

4. คนจนด้อยการศึกษา หรือไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะได้อะไร?

ปัญหาหนึ่งที่ภาครัฐทั่วโลกพยายามแก้ไขคือพาการศึกษาให้เข้าถึงคนจนอย่างเท่าเทียม แต่ปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้คือการที่คนจนไม่รู้ว่าเรียนจบสูงไปแล้วจะอย่างไร? งานดีๆ แถวบ้านก็ไม่มีให้ทำ ถ้าต้องให้ลูกเรียนจบแล้วไปทำงานต่างถิ่นเข้าเมืองถึงเวลานั้นก็แก่ตัวมากแล้ว แล้วลูกจะยังกลับมาดูแลหรือเปล่า

ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาของคนจนไม่ใช่แก้ด้วยการเพิ่มโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา แต่เป็นการสร้างงานดีๆ ใกล้บ้านที่ต้องใช้ความรู้จากการศึกษา แล้วคนจนจะรู้ว่าพวกเขาจะต้องส่งเสียลูกทุกคนให้เรียนไปทำไม

ก็คุณลองนึกดูซิว่าถ้าเรียนไปแล้วรอบหมู่บ้านมีแต่เรือกสวนไร่นา สู้ไม่เรียนแล้วออกมาทำนาเลยดีกว่าเพราะความรู้ในห้องเรียนไม่ได้มีประโยชน์ต่อชีวิตเขาที่อยู่แถวนั้นเลย

แล้วปัญหาเรื่องการศึกษาก็อยู่ที่ Mindset พ่อแม่ด้วย เมื่อพ่อแม่ที่มีลูกมากมักเลือกที่จะทุ่มทุนให้การศึกษากับลูกแค่คนเดียวได้เรียนให้มากที่สุด เพราะคาดหวังว่าลูกคนเดียวคนนี้จะเป็นควาหวังของทั้งบ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าพ่อแม่กระจายการศึกษาลงไปยังลูกทุกคนเท่าๆ กัน แม้จะไม่ได้เรียนสูงมากทุกคน แต่ก็ยังมีความรู้มากพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของทั้งบ้านดีขึ้นได้

ความ Bias ของครูเองก็มีผลต่อการศึกษาของเด็ก มีการทดลองพบว่าถ้าครูรู้ว่าเด็กคนนี้มาจากครอบครัวที่จน เค้าจะให้คะแนนที่ต่ำกว่าโดยไม่ตั้งใจ แต่พอให้ปิดชื่อเด็กในการตรวจข้อสอบ กลับพบว่าคะแนนที่ได้มาสูงเท่ากับค่าเฉลี่ยของเด็กทั้งห้อง

สรุปได้ว่าไม่ใช่คนจนด้อยการศึกษา แต่เพราะเขาไม่รู้ว่าเรียนสูงไปแล้วจะอย่างไร และอาจจะถูก Bias จากครูหรือผู้ใหญ่ก็ได้ว่าเด็กคนนี้เรียนไปก็ไม่ฉลาดหรอก

5. เพราะมีลูกมากถึงจน หรือเพราะจนถึงต้องมีลูกมาก?

เรามักมีภาพจำในหัวกันว่าคนที่มีลูกมากมักเป็นคนจน หรือแม้แต่คนจนมักท้องก่อนวัยอันควร บางคนเรียนไม่ทันจบก็รีบท้องออกมาแล้ว

แต่ถ้าคุณเข้าใจบริบทว่าทำไมคนจนถึงมีลูกมากแล้วจะรู้ว่า การมีลูกมากเป็นการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงของคนจน เพราะเขาคาดหวังว่าน่าจะมีลูกสักคนหรือสองคนจากหลายคนที่มีที่จะใจดีพอช่วยเลี้ยงดูเขายามแก่ไข้

แต่กับคนชนชั้นกลางหรือคนที่ฐานะรวยมักมีลูกน้อยก็เพราะพวกเขางานยุ่งและมีสิ่งเร้ามากมายในชีวิต จนทำให้การมีลูกไม่ใช่เรื่องจำเป็น และเขาก็คิดว่าไม่ต้องมีลูกเพื่อลงทุนเสมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยามแก่ แต่สู้เก็บเงินตั้งแต่ตอนนี้เอาไว้ใช้ตอนแก่เลยจะดีกว่า

ส่วนคนจนที่มีลูกไวมากๆ จนทำให้คนเมืองมากมายแปลกใจ บางคนไม่ทัน 20 ก็อุ้มลูกแล้วนั่นไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาใจแตก หรือไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิด แต่เพราะเขาประเมินแล้วว่าการมีลูกตอนนี้กับผู้ชายคนนี้น่าจะเป็นการลงทุนที่ดีที่สุดในเวลานั้น

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็น่าสนใจตรงที่ผู้หญิงที่เลือกจะมีลูกไวเพราะอยากออกจากบ้าน เบื่อที่จะเป็นคนใช้ภายในบ้านเวลาที่มีใครใช้ให้ทำโน่นนี่นั่นอยู่คนเดียว เรื่องนี้มักจะเกิดขึ้นกับลูกสาวคนเล็กที่ต้องการเป็นอิสระจากคนในครอบครัว อย่างน้อยก็ขอไปเสี่ยงเอาดาบหน้า ดีกว่ามีชะตากรรมที่แน่นอนว่าต้องการเป็นแจ๋วในบ้านแน่ๆ

ดังนั้นคนจนจึงเป็นคนที่คิดรอบคอบไม่น้อยก่อนจะมีลูก เค้ามองว่าลูกคือการลงทุนอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เพราะมีลูกมากจึงจน แต่เพราะจนจึงต้องกระจายความเสี่ยงลงทุนในลูกมากมายหลายคนครับ

ส่วนการคุมกำเนิดของผู้หญิงจะสูงขึ้นมากถ้าพวกเขาไปหาเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวโดยไม่มีสามีตัดสินใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีสามีไปด้วยก็จะห้ามปรามด้วยเหตุผลที่พอจะเดากันออกได้ไม่ยากจริงมั้ยครับ

ละครหลังข่าวก็สามารถเปลี่ยนแปลงจำนวนเด็กแรกเกิดในประเทศได้ดีกว่าแคมเปญโฆษณาคุมกำเนิดจากภาครัฐเป็นไหนๆ ที่ประเทศบราซิลในช่วงหนึ่งจำนวนเด็กแรกเกิดลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นก็เพราะมีละครหลังข่าวที่ชูภาพผู้หญิงที่มีอิสระไม่มีลูก สามารถใช้ชีวิตได้ดีกว่าผู้หญิงที่มีลูกกระเตงอย่างเห็นได้ชัดเลยทีเดียว

ส่วนพื้นที่ของประชากรก็ส่งผลต่อเพศของเด็กที่เกิดอย่างชัดเจน ที่ประเทศจีนถ้าพื้นที่ไหนเหมาะแก่การปลูกชาก็จะมีเพศหญิงสูงกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด เพราะพื้นที่นี้ต้องการแรงงานผู้หญิงที่มีมือเล็กและเรียวมาช่วยเก็บใบชาครับ

ข้อสรุปสุดท้ายในบทนี้ก็น่าสนใจตรงที่เค้าค้นพบว่า ผู้หญิงเมื่อมีเงินจะใช้เงินกับคนในครอบครัวมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้ชายส่วนใหญ่จะใช้เงินส่วนเกินที่หาเพิ่มมาได้ไปกับความสุขส่วนตัวไม่ว่าจะเหล้า บุหรี่ หรืออื่นๆ ก่อนจะมาถึงครอบครัวครับ

ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากให้ประชากรคุมกำเนิดดีขึ้น เริ่มจากสร้างละครเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของประชากรในประเทศใหม่ว่ามีลูกน้อยหรือแค่สองคนซิดี แล้วก็หาหลักประกันยามแก่ให้กับประชาชนได้รู้ว่าเกษียณไปแล้วพวกเขาจะไม่อดตาย ก็จะทำให้อัตราการเกิดลดลงอย่างเห็นได้ชัดครับ

6. คนจนบริหารการเงินไม่เป็นจริงหรือ?

คนส่วนใหญ่ชอบคิดว่าคนจนมักบริการเงินไม่เป็นเลยทำให้ต้องจน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจนเก่งในการบริหารความเสี่ยงนะครับ เพราะพวกเขามักเลือกที่จะลงทุนกระจายความเสี่ยงมากมายแต่ไม่ใช่ด้วยตัวเงิน แต่เป็นด้วยการกระจายเวลาการทำงาน ทำโน่นนิด ทำนี่หน่อย ถ้าเราเห็นคนต่างจังหวัดจะเห็นว่าอะไรที่ทำแล้วได้เงินพวกเขาทำหมด เพียงแต่มันได้เงินเล็กๆ น้อยๆ ไม่พอจะเป็นกอบเป็นกำให้หลุดพ้นความจนนั่นเอง

แล้วการทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อยๆ ก็ทำให้พวกเขาขาดความเชี่ยวชาญในอะไรบางอย่าง ก็เลยทำให้ยากที่จะหลุดพ้นกับดักความยากจนไปได้เช่นกัน

และอีกเกร็ดความรู้ของบทนี้เรื่องการกระตุ้นให้คนจนทำประกันสุขภาพมากขึ้นด้วยแบบสอบถามก็น่าสนใจครับ

เค้าค้นพบว่าคนจนที่ถูกนำเสนอให้ทำประกันสุขภาพมักมองข้ามไม่ใส่ใจหาเงินมาซื้อ แต่พอให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพก็ทำให้อัตราการขายประกันสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นผมว่านี่เป็นศาสตร์ของการขายหรือ Sale Strategy ทำให้คนอยากได้จนต้องร้องขอ ไม่ใช่เอาของไปอ้วนวอนให้คนอยากซื้อโดยที่เจ้าตัวยังไม่อยากได้

7. Micro Finance เปลี่ยนโลกได้จริงหรือ?

ในฐานะคนที่พอรู้เรื่องธนาคารกรามีนมาก่อนก็คิดว่า Micro Finance หรือ Nano Finance นั้นเปรียบเสมือนยาวิเศษที่ช่วยให้คนจนสามารถเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้ แต่ในอีกบริบทหนึ่งหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนก็บอกให้รู้ว่า Micro Finance นั้นไม่ได้ช่วยเปลี่ยนโลกให้ไร้จนได้มากอย่างที่โฆษณาไว้

เพราะด้วยเงินกู้ที่ให้จำนวนน้อยมากๆ มากจนยากที่จะยกระดับชีวิตได้จริงๆ เปรียบเสมือนคนจนเป็นคนกำลังจมน้ำ แล้ว Micro Finance ก็เปรียบเสมือนแผ่นโฟมบางๆ ที่พอให้คนจนได้ประคองไม่จมน้ำแต่ก็ยังต้องตะเกียกตะกายด้วยหยาดเหงื่อแรงกายมหาศาลอยู่ดี

เพราะการจะยกระดับชีวิตได้ต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งที่จะทำให้ก้าวผ่านกับดักความยากจน แต่ปัญหาต่อมาคือการปล่อยกู้ให้คนจนก็มีต้นทุนสูงอีกในการติดตาม ทำให้ธนาคารจำนวนมากมองผ่านคนที่ต้องการทุนอย่างแท้จริงกลุ่มนี้ไป

ส่วน Micro Finance หรือ Nano Finance ที่ออกกฏว่าต้องกู้เป็นกลุ่มถึงจะได้รับเงินก็กลายเป็นอุปสรรคสำหรับบางคน บางคนไม่ได้สนิทหรือมีเส้นสายกับใครเลยก็กลายเป็นการกดดันให้เขาต้องออกไปใช้เงินกู้นอกระบบที่ทั้งโหดและแพงนั่นเองครับ

แล้วการที่ต้องจ่ายคืนทุกสัปดาห์ตามกฏของ Micro Finance ก็กลายเป็นอุปสรรค ทำให้คนจนไม่สามารถทุ่มลงทุนระยะยาวที่ต้องใช้เวลาในการผลิดอกออกผลออกมา ทำให้พวกเขาไม่สามารถก้าวกระโดดให้พ้นความยากจนได้ ด้วยจำนวนเงินที่น้อย แล้วก็ติดกับว่าต้องทยอยจ่ายทุกสัปดาห์ ทำให้พวกเขาทำได้แค่กู้ให้มีชีวิตรอดไปวันๆ ยากที่จะหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้จริงๆ ครับ

8. คนจนออมเงินไม่เป็น หรือเราไม่เข้าใจวิธีการออมของคนจน?

บริบทเรื่องการออมเงินของคนจนในหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนเล่มนี้ก็น่าสนใจครับ คนทั่วไปมักคิดไปเองว่าคนจนออมเงินไม่เป็น และไม่เคยออมเงินก็เลยต้องจนอยู่แบบนั้น

แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจนเก่งมากในเรื่องการออมเงินและบริหารจัดการเงินอันน้อยนิดที่ตัวเองมีอยู่ ลองมาดูกันดีกว่าว่าด้วยเงื่อนไขของความจนพวกเขาจึงต้องสร้างสรรค์วิธีการออมในแบบที่คนไม่จนไม่เข้าใจ

ออมผ่านอิฐทีละก้อน

คนจนคงยากที่จะสามารถเก็บเงินได้มากพอจนสร้างหรือซื้อบ้านได้สักหลัง เพราะคนจนนั้นมีเรื่องมากมายในแต่ละวันที่คอยดึงเงินออกจากกระเป๋าพวกเขาอยู่เรื่อยๆ

พวกเขาจึงเลือกที่จะเอาเงินน้อยนิดที่มีไปใช้กับสิ่งที่จะเป็นเป้าหมายที่ดีในอนาคตอย่างเรื่องการมีบ้านของตัวเองสักหลัง

แน่นอนว่าพวกเขาไม่สามารถหาเงินก้อนมาพอจะสร้างบ้านได้ทีเดียวจบ พวกเขาจึงเลือกที่จะเอาเงินส่วนเกินจากการกินใช้ในแต่ละวันอันน้อยนิดมาซื้ออิฐทีละก้อน ปูนทีละถุง และก็หน้าต่างทีละบาน แม้อาจจะไม่ได้บ้านทั้งหลังในคราวเดียว แต่นานวันเข้าทั้งหมดก็สามารถประกอบเป็นบ้านหนึ่งหลังได้

เป็นอย่างไรล่ะครับกับวิธีการออมของคนจน

บางคนก็รู้ว่าตัวเองคงไม่สามารถหาเงินก้อนผ่านการออมของตัวเองมาเป็นสินสอดให้ลูกได้ ก็เลยใช้วิธีไปกู้เงินก้อนมาฝากธนาคารทิ้งไว้ให้ลูก แล้วก็ยอมจ่ายดอกแพงๆ จากเงินกู้นอกระบบออกไป เพราะนั่นคือวิธีที่พวกเขาจะสามารถมีเงินก้อนที่ต้องการได้ และกับการยอมจ่ายดอกเบี้ยราคาแพงเพราะความจนนั้นทำให้ยากที่จะออมได้เงินก้อนจริงๆ

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาเรื่องการออมของคนจน อาจจะต้องมีสถาบันใดเข้ามาช่วยเรื่องทำให้การฝากเงินวันละนิดๆ แต่มีวินัยต้องทำทุกวันเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก บางพื้นที่ของโลกคนจนนั้นมีบริการรับฝากเงินรายวัน แถมที่สำคัญคือคนจนต้องเสียค่าบริการในการฝากเงินนั้นด้วยนะ

เช่น ฝากวันละ 10 บาททุกวันเป็นเวลา 100 วันเพื่อให้มีครบ 1,000 บาท แต่เวลาฝากจนครบกำหนดก็ถอนออกมาได้ไม่เต็มพัน เพราะต้องเสียค่าบริการในการฝากหรือสร้างวินัยให้พวกเขานั่นเอง

และคนจนก็ไม่ได้ออมเพื่อหวังผลในระยะยาวหรือยามชราแก่เกษียณ แต่พวกเขาออมโดยมีวัตถุประสงค์ที่ต้องใช้เงินกับของบางอย่างที่ไม่อาจซื้อในครั้งเดียวได้ ดังนั้นถ้าธนาคารใดสามารถสร้างบัญชีการออมแบบมีเป้าหมายก็จะสามารถเข้าถึงเงินของคนจนมากมายที่อยากออมแต่ไม่มีใครมองได้สบายเลยทีเดียว

9. คนจนมักเป็นผู้ประกอบการ เพราะความชอบหรือเพราะไร้โอกาสเข้าถึงงานดีๆ?

เรามักเห็นว่าคนจนมักออกมาทำโน่นนี่นั่นด้วยตัวเองอยู่เป็นประจำ บ้างก็เปิดร้านของชำ บ้างก็ปลูกผักผลไม้ บ้างก็ขายลูกชิ้นทอด ทำให้เรามักเห็นภาพว่าคนจนคือคนเก่งที่มาพร้อมกับจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ

แต่ในความเป็นจริงแล้วคนจนจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยากเป็นผู้ประกอบการหรอกครับ แต่เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงงานดีๆ ได้แบบคนชนชั้นกลางทั่วไปต่างหาก

นั่นก็เลยทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนสร้างโอกาสที่จะมีรายได้ของตัวเองเข้ามา เพราะหนังสือเล่มนี้บอกว่าธุรกิจของคนจนนั้นไม่ได้สร้างตำแหน่งงานใดๆ ขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ เท่ากับว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ประกอบการก็เพื่อจะได้มีเงินจ้างตัวเองให้มีรายได้นั่นเองครับ

ทำให้แม้จะมีผู้ประกอบการจำนวนมากแต่เศรษฐกิจก็ไม่โต เพราะธุรกิจนั้นเล็กมากเกินไปแถมยังได้เงินน้อย ทำให้ขยายธุรกิจก็ยาก ขาดทั้งทุน ขาดทั้งโอกาส สรุปได้ว่าคนจนต้องเป็นผู้ประกอบการเพราะหางานไม่ได้นั่นเอง

ดังนั้นรัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องสร้างงานดีๆ ขึ้นมารอบๆ สังคมของคนจน เพราะงานประจำนั้นส่งผลต่อความมั่นคงของจิตใจอย่างมาก เมื่อเรารู้ว่าอย่างไรทุกเดือนก็มีเงินเข้ามามีข้าวกินอิ่มท้อง พวกเขาก็จะกล้าฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้นจนมีแนวโน้มจะหลุดพ้นจากความจนได้ไม่ยากครับ

10. ถ้าการเมืองดีความจนก็จะไม่มีหรือลดลง

บทสรุปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองในบ้านเรา แต่หนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนเล่มนี้บอกให้รู้ว่าเงินบริจาคกว่า 87% นั้นสูญหายไปเพราะการโกงกินหรือคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ต่างๆ

คุณลองคิดดูซิว่าถ้าคนขับรถบรรทุกติดสินบนเล็กน้อยให้เจ้าหน้าที่เพื่อจะได้สามารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ ถนนหลวงที่สร้างมาด้วยงบหลายพันหรือหมื่นล้านก็จะต้องพังเสียหายเพราะเงินไม่กี่บาทได้ง่ายๆ เลยครับ

แถมการโกงกินเรื่องถนนนั้นก็มีแง่มุมน่าสนใจ ผู้รับเหมาไม่สามารถโกงกินเรื่องระยะทางความยาวได้เพราะมันตรวจสอบได้ง่ายๆ แต่พวกเขาเลือกที่จะไปโกงกินกับความหนาของถนนที่มองไม่เห็น ซึ่งทำให้นานวันเข้าก็ถูกฝนชะล้างจนพังเสียหายง่ายกว่าปกติ คิดๆ ไปก็เหมือนถนนในบ้านเราไม่น้อยเหมือนกันนะครับ ไม่รู้ว่าทั้งบางทั้งจ่ายมาให้บรรทุกเกิน จนกลายเป็นถนนพังเร็วคุณสอง เห็นต้องคอยซ่อมคอยเทหน้าถนนใหม่ทุกปีเป็นประจำ

แต่การจะลดการโกงก็ทำได้ง่ายมากกว่าที่คิด แค่ทำให้งบประมาณที่ถูกส่งมอบหรือเงินบริจาคที่ได้รับไปนั้นโปร่งใส ด้วยการออกประกาศทางหนังสือพิมพ์ทำให้ตรวจสอบได้ง่าย เมื่อคนเห็นแล้วว่ามีเงินเข้ามาเท่าไหร่ พอตอนตรวจสอบรับกลับไม่ตรงตามที่ประกาศไว้ ผลคือก็ไม่มีใครกล้าโกง เพราะถ้าโกงก็เท่ากับว่าโกงเห็นๆ เลยทีเดียว

จะโกงได้ต้องไม่เห็น ต้องหมั่นทำให้เห็นนะครับจะได้ไม่กล้าโกง

ส่วนบทสรุปส่งท้ายของหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจนเล่มนี้ก็น่าสนใจ

เพราะคนจนจึงไม่มีใครอยากเข้ามาดูแลเอาใจใส่ ทำให้คนจนมีเรื่องและปัญหามากมายที่ต้องจัดการแก้ไขด้วยตัวองตลอดเวลา ผิดกับคนที่มีเงินมักจะมีตัวช่วยในการตัดสินใจดีๆ ออกมาปกป้องมากมาย ทำให้คนรวยสามารถตัดสินใจและเข้าถึงทางเลือกที่ดีได้ง่ายกว่าคนจนอย่างมาก

ทั้งที่คนจนต่างหากที่ต้องการการปกป้องดูแลและชี้นำเพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากจนมากขึ้น คนจนทั้งขาดโอกาสในการเข้าถึงงานที่ดี ทำให้ไม่เห็นว่าเรียนดีไปแล้วจะช่วยอะไรชีวิตได้ การเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีก็ไม่ได้รับการเอาใจใส่ แถมการเข้าถึงน้ำปะปาที่สะอาดก็ยากส่งผลให้สุขภาพคนจนย่ำแย่จนต้องเสียเงินกับหมออยู่ตลอดเวลา อีกทั้งความรู้ต่อการกินก็ไม่ได้สู้กับคนรวย ทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้นก็ไม่ได้เอาเงินไปใช้กับอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการทำงานจริงๆ แต่เอาเงินไปลงกับอาหารที่มีรสชาติดีขึ้นเสียมากกว่า

ทั้งหมดนี้จึงเป็นกับดักของความจนที่ทำให้เข้าใจว่าทำไมลงทุนลงแรงไปเท่าไหร่ก็ไม่หมดไปจากโลกเสียที

เพราะถ้าเราแก้ปัญหาโดยไม่เข้าใจปัญหา ก็เท่ากับว่าเราไม่ได้ทำให้ปัญหาดีขึ้น ดีไม่ดีอาจแย่ขึ้นอีกด้วยครับ

สุดท้ายหนังสือเล่มนี้สนับสนุการแปลโดยบริษัทเงินติดล้อ บริษัทที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจดีที่จะช่วยคนในในประเทศไทย ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ จึงอยากให้คนไทยที่มีความรู้ดีและเลือกอ่านหนังสือดีๆ ได้เข้าถึงโลกของคนจนที่แท้จริง เผื่อว่าเราจะช่วยกันแก้จนให้ลดลงจากประเทศไทยกันได้มากกว่านี้ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 44 ของปี 2020

สรุปหนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน Poor Economics อยากสู้กับความจนต้องเริ่มจากการเข้าบริบทของความจนที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ สนับสนุนโดยเงินติดล้อ

สรุปหนังสือ เศรษฐศาสตร์ความจน Poor Economics
ทลายมายาคติฝังลึกเกี่ยวกับความยากจน จากผลการวิจัยสะท้านโลกของสองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี 2019
Abhijit Banerjee และ Esther Duflo เขียน
ฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ แปล
สำนักพิมพ์ SALT
สนับสนุนการแปลโดย เงินติดล้อ

20201105

สนใจสั่งซื้อหนังสือเศรษฐศาสตร์ความจน > https://bit.ly/2UwKvlP

อ่านสรุปหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/economy/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/