สรุปหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด The Are of Thinking Clearly 2 เขียนโดย Rolf Dobelli สำนักพิมพ์ WE LEARN จากเพจ อ่านแล้วเล่า

สรุปหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด หรือ The Are of Thinking Clearly 2 เล่มนี้อ่านจบมาจะเดือนเพิ่งจะได้มีเวลาหยิบขึ้นมาสรุปให้เพื่อนๆ ในอ่านแล้วเล่าได้อ่านต่อ ก่อนจะสรุปหนังสือเล่มนี้ให้ฟังก็ต้องบอกเลยว่า นี่เป็นหนังสืออีกเล่มที่ดีมาก ช่วยเปิดโลกไอเดียให้กว้างขึ้น บวกกับยังเป็นคู่มือในการใช้เป็น Reference ชั้นดีเวลาจะทำแคมเปญการตลาด เพราะบางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เราคิดอยู่แล้วแต่ไม่เคยมีข้อมูลใดมาซัพพอร์ท ดังนั้นใครที่เป็นนักการตลาด คนทำธุรกิจ หรือคนโฆษณา ผมแนะนำเต็มที่ว่าคุณควรอ่านหนังสือเล่มนี้และมีติดไว้ทั้งที่บ้านกับที่โต๊ะทำงาน เพราะถ้าคิดไอเดียไม่ออกหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด The Are of Thinking Clearly 2 เล่มนี้จะเป็นเครื่องกู้ชีพไอเดียชั้นดีของคุณแน่นอน

ผมขอหยิบบางบทบบางตอนในเล่มที่คิดว่าน่าสนใจเอามาสรุปเล่าให้คุณฟัง เพื่อที่จะได้กระตุกเรียกน้ำย่อยคุณให้สั่งอ่านระหว่างช่วงหยุดยาวสงกรานต์ปีนี้ไปด้วยกันครับ

Willl Rogers Phenomenon เพิ่มยอดขายโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มย

บทนี้ว่าด้วยเรื่องของการเล่นกับบตัวเลข หรือสับขาหลอกในทางสถิติหรือข้อมูล เช่น ถ้าคุณมีพนักงานขายสองกลุ่ม กลุ่มนึงทำผลงานได้ดี อีกกลุ่มทำผลงานได้ด้อยกว่ากลุ่มแรก การจะทำให้ผลงานโดยรวมดีขึ้นโดยที่คุณไม่ต้องพยายามผลักดันพนักงานขายให้เหนื่อยขึ้นนั้นง่ายมาก ก็แค่สลับเอาคนที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดของกลุ่มแรก แต่ยังทำผลงานโดยรวมได้ดีกว่าพนักงานในกลุ่มที่สอง ทีนี้ค่าเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มหลังก็จะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยที่กลุ่มแรกก็ยังคงเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้ดีที่สุดเหมือนเดิม

ดังนั้นถ้าใครเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของกิจการต้องดูทั้งภาพรวมและภาพลึก ระวังจะถูกลูกน้องใช้วิธีสลับตัวผู้เล่นไปมาเพื่อให้ผลงานของทีมที่เคยแย่กลับมาดีขึ้นได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลยตามหลักของ Will Roger Phenomenon โดยไม่รู้ตัวนะครับ

Information Bias เรามักเชื่อข้อมูลที่คุ้นเคย

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ก็ล้วนหนีคำว่าอารมณ์ไม่ได้ และนั่นก็ทำให้หลายครั้งเรามักเผลอเข้าข้างความคุ้นเคยโดยไม่รู้ตัว กับข้อมูลหรือ Data ที่ใช้ในการตัดสินใจก็เช่นกัน จากการสอบถามนักศึกษากลุ่มนึงว่า คิดว่าประเทสใดใหญ่กว่ากัน ระหว่างประเทศที่คุ้นเคย กับประเทศที่ไม่คุ้นเลย

ผลปรากฏว่านักศึกษาส่วนใหญ่เลือกตอบว่าประเทสเพื่อนบ้านที่คุ้นเคยนั้นมีขนาดใหญ่กว่ามาก ซึ่งก็ตรงกับคำตอบที่แท้จริงดังนั้น แต่ในขณะเดียวันเมื่อเอาคำถามเดียวกันไปถามกับนักศึกษาที่ประเทศอื่น ประเทสที่ไม่คุ้นกับทั้งสองประเทสเลย ผลปรากฏว่าคำตอบส่วนใหญ่นั้นไม่มีส่วนใหญ่ กลายเป็นตอบแบบกระจายออกไปใกล้เคียงกัน

การทดลองในครั้งนี้บอกให้รู้ว่าคนเรามักเลือกตอบตามความคุ้นเคยกันทั้งนั้น นั่นบอกให้รู้ว่าหลายครั้งเรามักเข้าข้างข้อมูลที่คุ้นเคยโดยไม่รู้ตัว ถ้ารู้แบบนี้แล้วนักการตลาดที่ดีต้องรู้จักตรวจสอบ Bias หรืออคติของตัวเองให้บ่อยมากที่สุด เพราะไม่อย่างนั้นคุณออาจจะเผลอเข้าข้างความคุ้นเคยจนอาจพลาดการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ไปอย่างน่าเสียดาย

Clustering Illusion ภาพวงตาว่าด้วยแบบแผน

นี่คือหลักการเบื้องหลังว่าทำไมคนเรามองขึ้นไปบนพระจันทร์จึงมักบอกว่าเห็นกระต่ายบนนั้น นั่นก็เพราะเรามักมองหาแบบแผนของความคุ้นเคยมาเป็นคำตอบแรกสุด จะว่าไปก็คล้ายกับหลักการก่อนหน้าที่ว่าไป แต่สิ่งนึงที่เรามักเกิดขึ้นกับตัวบ่อยๆ ในเรื่องนี้นั่นก็คือเรื่องการเห็นผีเพราะเรามักมองอะไรเห็นเป็นรูปแบบแผนของใบหน้ามนุษย์อยู่เป็นประจำ

ครั้งนึงผมเคยไปเดินบนถนนย่านช้อปปิ้งสตรีทที่โอซากา เลยมีโอกาสได้เห็นนิทรรศการภาพถ่ายสิ่งของรอบตัวที่ดูเป็นใบหน้ามนุษย์ในอารมณ์ต่างๆ

ตั้งแต่ปลั๊กไฟที่ดูเหมือนหน้ามนุษย์ตกใจไปจนถึงแอ่งน้ำขังที่ดูคล้ายกับ ดา และ ปาก ของมนุษย์

หรือตัวอย่างที่ดูใกล้ตัวเรามากที่สุดก็คงเป็นรูปพระจันทร์ยิ้มที่เราเคยเห็นกันอยู่เรื่อยๆ บนฟ้ายามค่ำคืนในบางช่วง นั่นแหละครับคือความหมายหลักของหลักการ Clustering Illustion ที่กำลังพูดถึง

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่ามนุษย์นั้นมี Bias Pattern โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว(ส่วนใหญ่จะไม่รู้) โชคดีว่าเราอยู่ในยุค Data และ AI นั่นหมายความว่าเราสามารถเอาเครื่องจักรหรือโปรแกรมต่างๆ มาช่วยเราค้นหา Pattern ที่แท้จริงโดยลด Bias ของมนุษย์ให้น้อยที่สุด

ตัวอย่างหนึ่งของบทนี้ที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการทดลองโยนเหรียญหัวก้อยแล้วพบว่ามีการออกหัวติดต่อกันสามครั้ง และก้อยติดต่อกันสามครั้ง เมื่อถามผู้เข้าร่วมการทดลองว่าคิดว่าครั้งต่อไปเหรียญที่โยนจะออกหัวหรือก้อย คนส่วนใหญ่ตอบอย่างฟันธงมั่นใจว่าต้องออกหัวอย่างแน่นอน เพราะ Pattern ก่อนหน้าคือออกหัวแล้วสาม ออกก้อยแล้วสาม มันต้องออกหัวแน่ๆ ในครั้งหน้าเพราะมันมีรูปแบบที่ชัดเจน

นี่แหละครับ Human Bias ที่มนุษย์เราพยายามหาข้อสรุปหรือรูปแบบตายตัวให้กับทุกอย่างโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นนักการตลาดที่ฉลาดต้องรู้เท่าทันถึงข้อด้อยนี้ในตัวเองให้เจอบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นแล้วคุณอาจจะเผลอสร้าง Pattern ที่มี Bias ของตัวเองขึ้นมาจนทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้อย่างน่าเสียดายก็เป็นได้ครับ

The Law of Small Numbers อย่าตัดสินใจภาพรวมด้วยข้อมูลน้อยนิด

หลักการนี้คล้ายกับบทก่อนหน้าตรงที่ว่ามนุษย์เรามักรีบด่วนสร้างข้อสรุปให้เสร็จที่สุดเมื่อค้นพบแบบแผนบางอย่าง เช่น ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งค้นพบว่า ร้านที่ขายดีมักเป็นร้านขนาดเล็กมากกว่าร้านขนาดใหญ่ ก็เลยรีบเร่งสร้างร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กมากมายทั่วประเทศ

แต่เมื่ออีกทีมหนึ่งเริ่มทำการสำรวจข้อมูลใหม่กลับได้ข้อสรุปอีกแบบว่า แท้จริงแล้วร้านขนาดใหญ่ต่างหากที่ทำกำไรต่อพื้นที่ได้มากกว่า คำถามคือคุณคิดว่าทีมรีเสิร์จไหนผิด?

คำตอบคือผิดทั้งคู่โดยไม่ตั้งใจครับ

เพราะในการสำรวจหรือเก็บหาข้อมูลส่วนใหญ่ เรามักใช้ข้อมูลจำนวนน้อยมาสร้างสมมติฐานว่านี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่เหมือนกันหมด หรือที่เรามักเผลอหลวมตัวเรียกว่า Insight นี่แหละครับ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายก็ต่างสร้างข้อสรุปจาก้อมูลอันน้อยนิดทั้งคู่ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเราควรจะต้องหาข้อมูลให้ได้มากทที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วก็ต้องหาข้อมูลในหลายๆ ด้านเอามาพิสูจน์ทำซ้ำว่าเป็นจริง

เพราะ Insight ที่แท้จริงคือสิ่งที่ต้องมีรูปแบบชัดเจนเป็น Pattern และสามารถเกิดซ้ำทำซ้ำได้ ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นแค่การ Pickup Cherry ในภาษาคนทำ Data คือเลือกแค่บางอย่างที่โดดเด่นออกมาโดยไม่ได้สนใจว่ามันจะเป็น Insight ที่แท้จริงกับคนส่วนใหญ่ที่เราอยากรู้หรือไม่ครับ

Volunteer’s Folly ปล่อยให้คนดังเป็นอาสาสมัคร ส่วนคนไม่ดังส่งเงินไปบริจาคดีกว่า

เราส่วนใหญ่มักชื่นชอบการได้แบ่งเวลางานเพื่ออาสาไปทำงานอาสาสมัคร เพราะคิดว่านั่นคือหนทางช่วยโลกที่ดีที่สุดที่ตัวเองจะให้ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า คนที่ลงไปทำงานด้านอาสาสมัครแล้วเวิรร์คนั้นคือคนดัง คนที่ใครๆ ก็รู้จัก และใครๆ ก็ให้ความสนใจ หาใช่คนธรรมดามนุษย์เดินดินกินข้าวแกงอย่างไรไม่

เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่า เมื่อคนดังมาเป็นอาสาสมัครสักครั้ง สื่อต่างงๆ จะให้ความสนใจแล้วกลายเป็นภาพข่าวมากมายให้คนทั่วไปที่ไม่เคยรูหรือหลงลืมไปกลับมาสนใจอีกครั้ง

แต่ถ้าคุณเป็นคนธรรมดาการที่คุณลงไปทำงานอาสาสมัคร 1 วันเต็มอาจไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่นัก แต่ในขณะเดียวกันถ้าคุณไปทำงานหาเงินหนึ่งวันแล้วมอบเงินจากการทำงานด้วยเวลาเท่ากันไปบริจาค เงินจำนวนนั้นจะสามรถจ้างคนที่ต้องการเงินไปทำงานอาสาสมัครได้มากกว่าที่คุณเสียเวลาลางานหนึ่งวันเพื่อช่วยโลกครับ

ดังนั้นข้อสรุปง่าย คือ ทำงานให้ดีแล้วส่งเงินไปบริจาค เก็บเวลาของตัวเองไว้หาเงินส่งไปช่วยเขาแทน วิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่ช่วยโลกและช่วยทุกฝ่ายได้ดีที่สุดครับ (แต่ส่วนตัวผมคิดว่าคุณน่าลงไปเป็นอาสาสมัครสักครั้งนะ เพราะคุณจะได้เข้าใจว่าหน้างานมันเหนื่อยยากเพียงไหน เพื่อท่คุณจะได้รู้สึกว่าขอทำงานในห้องแอร์สบายๆ แล้วส่งเงินไปบริจาคดีกว่าครับ)

Introspection Illusion เราควรเป็นศัตรูกับความคิดตัวเอง

ถ้าถามว่าเราควรเป็นศัตรูกับความคิดตัวเองบ้างก็ตอบได้ว่า เพราะหลายครั้งหรือแทบทุกครั้งเราทุกคนมักหลงรักในความคิดของตัวเองโดยไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัวก็ตาม

ยอมรับว่าผมเองก็เป็นคนนึงที่มักเผลอตัวเป็นแบบนั้น แต่ก็จะพยายามตั้งสติกลับมาทุกครั้ง แต่ในหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด The Art of Thinking Clearly 2 มีคำอธิบายอย่างดีและวิธีแก้ดีๆ ให้เราดังนี้ครับ

หนังสือเล่มนี้บอกว่าเรามักมีระดับการเถียงสู้กับคนที่คิดไม่ตรงกับเราสามขั้น

  1. สันนิฐานว่าอีกฝ่ายไม่รู้เหมือนกับเรา หรือมีข้อมูลไม่มากเท่าไหร่ เป็นการสร้างเหตุผลความชอบธรรมให้กับความคิดเราอย่างแนบเนียนว่าคนอื่นนั้นผิดแต่เราถูก เราก็จะคิดเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าเรามีข้อมูลเหมือนเราหรือรู้เท่าเรา เขาก็คงจะไม่เห็นต่างกับเราแบบนี้แน่นอน เรียกได้ว่ายังมี Bias แบบดีอยู่
  2. สันนิฐานว่าอีกฝ่ายรู้แต่ไม่เข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจ สรุปง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือคิดว่าอีกฝายโง่นี่แหละครับ เพราะในระดับแรกคือแค่ไม่รู้ แต่ในตอนนี้คือรู้แล้วแต่ไม่เข้าใจ เราก็เลยสร้างเหตุผลดีๆ มาสนับสนุนความคิดเราว่า เพราะอีกฝ่ายนั้นโง่กว่าเรา หรือไม่ฉลาดเท่าเรา ไม่อย่างนั้นก็คงจะเข้าใจเหมือนที่เราเข้าใจไปแล้ว
  3. สันนิฐานว่าอีกฝ่ายมุ่งร้ายหรือเสียผลประโยชน์ อันนี้คือเหตุผลการเข้าข้างตัวเองขั้นสุด คือตั้งป้อมสู้กันชัดเจนว่าที่เขาขัดเรานั้นเป็นเพราะเขากำลังเสียผลประโยชน์จากความคิดเรา หรือจากสิ่งที่เรารู้ เราก็เลยยึดเอาเรื่องนี้เป็นเหตุผลว่านี่แหละหนาทำไมเขาถึงต้องขัดความคิดเรานักหนา

เป็นอย่างไรครับกับความ Bias ของมนุษย์เรานั้นช่างมีเหตุผลหลักแหลมและน่าเชื่อถือมาสนัสนุนได้ดีเป็นประจำเลย

ดังนั้นเราต้องพยายามรู้เท่าทันตัวเองให้บ่อยขึ้นนะครับ ถ้าเมื่อไหร่เราเผลอคิดว่าเขาโง่ที่ไม่เข้าใจความคิดเรา บางทีความคิดเราอาจจะไม่ดีจริงๆ จนเข้าไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงเชื่อว่ามันดี และในขณะเดียวกันเขาก็อาจจะคิดว่าคุณไม่ฉลาดเท่าเขา หรืออาจจะคิดว่าคุณช่างน่าสงสารที่ไม่มีข้อมูลสำคัญเหมือนกับที่เขามีก็เป็นได้

Bloodletting Effect รู้ว่ามันใช้ไม่ได้แต่ตอนนี้มันไม่มีอะไรที่ใช้ได้

หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นถึงความขลาดและเขลาของมนุษย์ไปพร้อมกัน เพราะชื่อหลักการนี้มาจากวิธีการรักษาของแพทย์แต่โบราณที่ใช้กันมายาวนานกว่าสองพันปี

คุณอาจจะเผลอคิดว่ามันต้องดีแน่ๆ ไม่อย่างนั้นผู้คนโดยเฉพาะคนที่เป็นแพทย์คงไม่ยึดถือเป็นแนวทางรักษาคนไข้มานานกว่าสองพันปีแน่นอน

แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เลยครับ เพราะหลังๆ บรรดาแพทย์เริ่มรู้แล้วว่าวิธีการรักษาด้วยวิธีนี้ ซึ่งก็ถือวิธีการเจาะระบายเลือดออกจากร่างกายเพื่อรักษานั้นไม่ได้ช่วยให้คนป่วยหรือคนไข้หายดีขึ้นกว่าการนอนเฉยๆ อยู่บ้านแต่อย่างไร

คำถามสำคัญคือ แล้วทำไมในเมื่อรู้ว่าวิธีการรักษาด้วยการเจาะระบายเลือด หรือการปรับสมดุลของเหลวที่สืบทอดกันมานานจึงยังคงใช้กันมายาวนานกว่าสองพันปีหละ!

นั่นก็เพราะว่าแพทย์ส่วนนใหญ่ยังคงไม่มีวิธีการอื่นในการรักษา เรียกได้ว่าแม้วิธีการเจาะระบายเลือดนั้นจะเป็นวิธีที่แย่ท่สุด แต่มันก็ไม่มีตัวเลือกอื่นใดในการจะรักษาคนใข้ตอนนั้น ครั้นจะให้บอกคนไข้ว่า หมอเองก็ไม่มีทางใดจะช่วยได้ แล้วพวกหมอเหล่านั้นในช่วงเวลานั้นจะทำมาหากินกันอย่างไรต่อไปจริงไหมครับ

จนกระทั่งไม่กี่ร้อยปีก่อนมนุษย์เราเพิ่งค้นพบวิธีการรักาาแบบใหม่ๆ ตามหลักวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้วิธีการรักาาด้วยการเจาะระบายเลือดหรือปรับสมดุลของเหลวในร่างกายที่ทนใช้กันมานานกว่าสองพันปีของแพทยืทั่วโลกทั้งหลาย ได้เจอวิธีการหรือเครื่องมือใหม่ๆ ในการรักษา และคนไข้ก็ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจาะระบายเลือดเพื่อรักษาที่ไม่ได้ผลอีกต่อไป

Non-Invented-Here Syndrome อคติจากการลงมือทำ

จริงๆ เรื่องนี้ไม่ได้ใหม่มากสำหรับคนที่สนใจและตามอ่านหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเป็นประจำแบบผม จริงๆ จะเรียกหลักการนี้ว่า Ikea Effect ก็เป็นได้ เพราะหลักการสำคัญคือมนุษย์เรานั้นมักให้ความสำคัญกับอะไรก็ตามที่เราเป็นผู้ลงมือทำมันขึ้นมา หรือเรียกได้ว่าใช้ความพยายามกับของสิ่งนั้นลงไป

เช่น พ่อครัวมือใหม่หลายคนมักชื่นชมกับอาหารรสชาติแย่ๆ ของตัวเองจนออกนอกหน้า บอกกับคนอื่นว่าอร่อยบ้าง พอกินได้บ้าง พอเพื่อนๆ คนรอบตัวบอกไม่ก็ทำหน้าไม่เข้าใจว่ามันไม่อร่อยตรงไหนกัน

แล้วเมื่อในการทดลองได้ทำการเอาอาหารที่เจ้าตัวทำนั้นไปเก็บไว้สักสัปดาห์ จากนั้นก็เอามาอุ่นให้เจ้าตัวได้ทานอีกครั้งแบบไม่รู้ว่าอาหารจานนั้นเป็นฝีมือของตัวเองเมื่อสัปดาห์ก่อน

ผลคือเจ้าตัวได้ชิมไปคำเดียวก็ถุยทิ้งออกมาทันที พร้อมกับถามว่าอาหารรสชาติห่วยๆ จานนี้ใครมันจะไปกินได้ลงคอ

จนพอได้ฟังเฉลยถึงกับหน้าเสียเมื่อรู้ว่านี่คืออาหารจานเก่งที่เรามั่นใจว่ารสชาติดี หรืออาจจะพอกินได้เมื่อสัปดาห์ก่อน พอไม่รู้ว่าอาหารจานนี้ตัวเองเป็นคนทำ Bias หรืออคติจากการลงมือทำก็หายไป กลายเป็นกล้าพูดตามใจคิดออกมาดังๆ ว่า ม้าไม่แด๊ก เอาเสียเลย

ดังนั้นพอรู้แบบนี้ก็พยายามระวังตัวเองที่จะไม่ Bias กับอะไรก็ตามที่ตัวเองเป็นคนทำมันลงไปนะครับ ให้คิดถึงเคสการทำอาหารรสชาติแสนแย่แต่เรายังรู้สึกว่ามันพอกินได้ที่เล่าไป ไม่อย่างนั้นคุณอาจจะต้องเสียใจอย่างน่าเสียดายในภายหลังก็เป็นได้ครับ

Default Effect เลือกจากค่ากลางหรือสิ่งที่คุ้นตา

รู้มั้ยครับว่ารถยนต์สีไหนที่ขายดีที่สุด? คำตอบคือสีเทา นั่นก็เพราะเป็นสีที่โฆษณาของรถยนต์ส่วนใหญ่เลือกใช้รถยนต์สีนั้นในภาพและหนังโฆษณานั่นเองครับ

ส่วนรถยนต์สีอื่นที่ขายดีก็เป็นไปตามภาพจำจากสื่อต่างๆ ที่เห็น เรื่องนี้เลยบอกให้รู้ว่าค่ามาตรฐานมาจากสิ่งที่คนเราเห็นบ่อยๆ ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าอยากให้รถยนต์สีใดขายดีต้องทำโฆษณาด้วยรถยนต์สีนั้น

เรื่องนี้ยังเคยมีการทดลองเรื่องการหักเงินเดือนส่งเข้ากองทุนบำนาญ ผลปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีการปรับการเลือกกองทุนที่ลงทุนในเงินบำนาญแต่อย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่เลือกปล่อยไปตามค่าตั้งต้น

และการจะเข้าร่วมกับกองทุนบำนาญก็เช่นเดียวกัน คนส่วนใหญ่ก็เลือกออมหรือไม่ออมตามค่าตั้งต้นมาตรฐานที่แต่ละบริษัทกำหนดให้ เช่น ถ้าบริษัทเลือกให้พนักงานไม่ออมเป็นอัตโนมัติ พนักงานส่วนใหญ่ก็จะเลือกไม่ออม หรือถ้าบริษัทไหนเลือกส่งเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 5% ในกองทุนที่เสี่ยงต่ำแต่ให้ผลตอบแทนน้อย พนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรนั้นก็จะเลือกตามนั้น

เพราะเคยมีการทดลองให้บริษัทหนึ่งเลือกค่าตั้งต้นของการส่งเงินเข้ากองทุนสำลองเลี้ยงชีพเป็นสูงสุด และเลือกกองทุนที่มีควาเสี่ยงสูงสุดแต่ผลตอบแทนก็สูงสุดตาม ผลลัพธ์ที่ได้คือคนส่วนใหญ่ในบริษัทดังกล่าวก็ปล่อยไปตามนั้น มีน้อยคนมากที่มาขอปรับสัดส่วนหรือเปลี่ยนกองทุนเป็นความเสี่ยงต่ำกว่านี้ เห็นหรือยังครับกับ Power of Default

มนุษย์เรานี่ช่างขี้เกียจเหลือเกิน!

และก็มีถึงประเด็นสุดท้ายที่คิดว่าน่าสนใจจนโดดเด่นในหนังสือเล่มนี้ครับ

Deformation Professionnelle คนที่ใช้ค้อนย่อมเห็นทุกอย่างเป็นตะปู

นี่คือปัญหาของผู้เชี่ยวชาญมากๆ ด้านใดด้านหนึ่ง ที่มักจะคิดว่าปัญหาทุกอย่างบนโลกสามารถแก้ได้ด้วยสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญ เช่น คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ก็มักจะคิดว่าทุกปัญหาในโลกสามารถแก้ได้ด้วยการเขียนโปรแกรมสักอย่างขึ้นมา จะเป็นแอปหรือเป็นเทคโนโลยีใดๆ ล้วนการใช้ Coding เพื่อ Create new World ได้

เรื่องนี้เนื้อหาในเล่มพูดเปรียบกับเทียบหมอ ถ้าเราไปเจอหมอที่เก่งด้านใดด้านหนึ่งมากๆ ทางคุณหมอผู้เชี่ยวชาญก็มักจะเสนอทางเลือกใหห้รักษาผ่านวิธีการที่เจ้าตัวถนัดเพราะทำมานานหลายสิบปี

ดังนั้นคำแนะนำจึงเป็นพยายามมองหาความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนในหลายๆ ด้าน เราจะได้เห็นวิธีการแก้ปัญหาเดียวกันในหลากหลายแง่มุม จากนั้นเราก็ค่อยมาพิจารณาทางเลือกทั้งหมดที่มีว่าตกลงทางเลือกไหนกันแน่ที่เหมาะสมกับเรามากที่สุดครับ

สรุปส่งท้ายหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด The Are of Thinking Clearly 2

ก็ยังย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นหนังสือที่ดีมากและอยากแนะนำให้เพื่อนๆ นักการตลาด และเจ้าของธุรกิจทุกรายได้อ่านกันอย่างน้อยหนึ่งรอบ ถ้าให้ดีควรมีติดไว้ทั้งที่บ้านและที่โต๊ะทำงาน ถ้าให้ดีกว่านั้นควรซื้อแจกพนักงานในองค์กรคุณทุกคน เพราะทุกคนจะได้ตัดสินใจแบบไม่พลาดในเรื่องง่ายๆ จนไม่ต้องมานั่งพูดบ่อยๆ เมื่อปัญหาเกิดว่า รู้งี้

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 6 ของปี 2021

สรุปหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด The Are of Thinking Clearly 2 เขียนโดย Rolf Dobelli สำนักพิมพ์ WE LEARN จากเพจ อ่านแล้วเล่า

สรุปหนังสือ 52 วิธีตัดสินใจให้ไม่พลาด The Art of Thinking Crearly 2
Rolf Dobelli เขียน
อรพิน ผลพนิชรัศมี แปล
สำนักพิมพ์ WE LEARN

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/behaviour-economics/

สนใจสั่งซื้อออนไลน์ > https://click.accesstrade.in.th/go/YZogMBAn

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/