สรุปหนังสือ China Endgame อ่านเกมสามก๊ก จีน สหรัฐ รัสเซีย
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศ จีน สหรัฐ และรัสเซีย ดูจะส่งผลต่อโลกทั้งใบมากกว่าที่คิด ทั้งในระยะสั้น ไปจนถึงระยะยาวหลายสิบปีข้างหน้า
หนังสือ China Endgame เล่มนี้เล่าให้เห็นภาพผ่านการเปรียบเปรยผ่านเรื่องสามก๊กที่เราคนไทยคุ้นเคย หรืออย่างน้อยบรรดาคนที่ใฝ่รู้ทั้งหลาย ผู้บริหารทุกคนต้องเคยอ่านเรื่องสามก๊กมาไม่น้อยกว่าหนึ่งรอบ
ส่วนตัวผมไม่เคยอ่านฉบับหนังสือ เคยแต่อ่านในฉบับการ์ตูนที่ยาวกว่า 30-60 เล่ม บอกได้คำเดียวว่ายิ่งอ่านยิ่งสนุก ยิ่งเข้าใจความแยบคายในกลยุทธ์การรบ เข้าใจว่าจะรบชนะไม่ได้วัดกันแค่จำนวนกำลังพล หรือความเก่งกาจของขุนพลแม่ทัพนายกองเท่านั้น แต่ยังวัดถึงความอึด การปรับตัว การคิดค้นสิ่งใหม่ การทูต หรือแม้แต่ขวัญกำลังใจของประชาชนผู้ไม่ได้ออกไปรบเองด้วยซ้ำ
ที่ผู้เขียน คุณอาร์ม ตั้งนิรันดร เลือกเล่าสถานการณ์การเมืองโลกผ่านเรื่องสามก๊ก เพราะบอกว่ามีความคล้ายกันระหว่าง สหรัฐ จีน และรัสเซียอย่างไม่น่าเชื่อ
ศึกระหว่างก๊กโจโฉ ก๊กเล่าปี่ และก๊กซุนกวนเมื่อหลายพันปีก่อนนั้นเหมือนกับสถานการณ์ของสามประเทศใหญ่ในวันนี้มาก
มันคือการร่วมมือกันของสองก๊อกรอง เพื่อเอาชนะก๊กใหญ่ เพียงแต่สองก๊กรองนั้นก็มีเป้าประสงค์ในแบบของตัวเอง ปากบอกจะร่วมด้วย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยได้ช่วยอะไรกันมาก
เลยมักเป็นการช่วยดู ช่วยสนับสนุน แต่ไม่ช่วยลงมือลงแรงอย่างสุดตัวเท่าไหร่ ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องราวสามก๊กเป็นอย่างไร แนะนำให้ไปหาอ่านเต็มๆ รับรองไม่ผิดหวังครับ
หนังสือเล่มนี้เล่าตั้งแต่ผลกระทบของสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ดูจะกระทบต่อภาพลักษณ์จีนในระดับโลกมากพอควรทีเดียว
สะท้อนให้เห็นถึงเกาะใต้หวัน ที่จีนก็จ้องจะเอาคืนตาเป็นมัน ส่วนใต้หวันก็ชัดเจนว่าเป็นอิสระจากจีน แต่ก็ไม่ได้ประกาศเอกราชออกมาตรงๆ แม้คนใต้หวันจะไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจีน รู้สึกว่าตัวเองคือคนใต้หวัน แต่ก็ยอมรับว่าเป็นลูกหลานชาวจีน น่าสนใจว่าในอนาคตคนรุ่นใหม่จะผลักดันทิศทางของใต้หวันไปทางไหน ไปจนถึงจีนยุคใหม่จะมองใต้หวันอย่างไร แต่นั่นคงต้องหลังจากสีจิ้นผิง ผู้นำคนปัจจุบันที่ต่ออายุการเป็นประธานาธิบดีของตัวเองออกไปอีกสิบปีครับ
ความน่าสนใจของใต้หวันคือเป็นผู้กุมอำนาจเทคโนโลยีโลก เพราะบริษัท TSMC ผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่งของโลกในยุคเศรษฐกิจเทคโนโลยี กลายเป็นพื้นที่ทางยุทธ์ศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ไม่อาจปล่อยจีนให้ครอบครองหรอครองงำเกาะเล็กๆ บนแผนที่โลกใบนี้ได้
เรื่องราวที่น่าสนใจอีกในหนังสือเล่มนี้คือ อาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ
อาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ การระงับธุรกรรมทางการเงิน
อย่างที่เรารู้กันว่าเศรษฐกิจโลกวันนี้ผูกโยงใยกันอย่างมาก และเงินก็คืออาวุธหลักของโลกที่แข่งขันกันทางเศรษฐกิจมากกว่าอาวุธ
ตอนนั้นรัสเซียไม่กลัวถูกคว่ำบาตรเท่าไหร่ เพราะมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 630,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยลำพองใจใส่ศึกเต็มที่ แต่หารู้ไม่ว่าเจอสหรัฐแก้เกมใหม่ด้วยการทำให้เงินทุกดอลลาร์ที่รัสเซียมีไม่สามารถใช้งานได้
จากเงินที่มีมูลค่า กลายเป็นกระดาษเช็ดก้นดีๆ เท่านั้นเอง ผลคือรัสเซียเกิดการชะงักทางเศรษฐกิจ ธนาคารรัสเซียเองก็ถูกตัดออกจากระบบการเงินโลกที่ชื่อว่า SWIFT นี่เลยเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจแบบที่ใครเจอก็มีแต่ตาย
แต่นั่นเป็นเพราะว่าเงินดอลลาร์สหรัฐถูกใช้เป็นเงินกลางของโลกในวันนี้ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ บนโลกโดยเฉพาะจีนเริ่มกังวลว่า ถ้าวันนึงตัวเองถูกระงับการใช้ดอลลาร์สหรัฐที่ตัวเองมีขึ้นมา จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติขนาดไหน
ประเทศอื่นๆ ก็คิดไม่พ้นกัน เริ่มมองหาตัวเลือกอื่นนอกจากการสะสมเงินดอลลาร์ไว้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแล้ว
และนั่นก็ทำให้ทั่วโลกต่างเริ่มมองหาทางลดการสำรองเงินดอลลาร์ลง ย้ายไปสำรองสิ่งอื่นที่คงมูลค่าได้ และมีเสถียรภาพมากพอ
ยุคของการสร้างซัพพลายเชนใหม่
จากปัญหาสงครามรัสเซียยูเครน ปัญหาการล็อกดาวน์ในประเทศจีนตามนโยบาย Zero Covid ส่งผลให้วงจรการผลิตทั่วโลกต้องหยุดชะงักอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ขนาดผมเองที่สั่งซื้อรถยนต์ไฟฟ้า Tesla เมื่อต้นปี 2022 ก็ยังโดนปัญหาการส่งมอบที่เลื่อนไปไม่น้อยกว่าครึ่งปี ส่วนที่กระทบกันถ้วนหน้าทั่วโลกคือวิกฤตพลังงานเมื่อประเทศทางยุโรปรวมกับคว่ำบาตรทางการค้า ไม่รับซื้อพลังงานจากรัสเซียอีกต่อไป
แต่นั่นก็ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานไปทั่วยุโรป อังกฤษค่าไฟแพงเป็นประวัติการณ์ ราคาน้ำมันโลกพุ่งกระฉูดขึ้นอีกครั้ง หลายๆ สินค้าที่เคยคิดและออกแบบจากประเทศต้นทางอย่างอเมริกา แล้วส่งไปผลิตที่จีนก็ไม่สามารถผลิตหรือส่งออกมาวางขายได้ ด้วยการที่โรงงานต้องปิดๆ เปิดๆ เมื่อเจอคนติดเชื้อ ทั้งหมดนี้ทำให้บรรดาประเทศต่างๆ และบริษัททั่วโลกเริ่มคิดวางแผนสร้างซัพพลายเชนของตัวเองใหม่ครับ
เพราะไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจกับธุรกิจก็จะไม่มีเสถียรภาพ และการที่รื้อซัพพลายเชนใหม่ให้อยู่ประเทศเดียวกัน หรือใกล้กันได้มากที่สุดก็จะยิ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน หรือในการสร้างนวัตกรรมจนเอาชนะคู่แข่งได้มาแล้ว
สงครามโดรน DJI กับ 3D Robotics
เมื่อไม่กี่ปีก่อนบริษัทผู้ผลิต Drone มีสองบริษัทไล่กวดกันมา บริษัทแรกคือ 3D Robitics ฝั่งสหรัฐอเมริกา อีกบริษัทคือ DJI ที่เราคุ้นหูกันจากฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ครับ
ทีแรกใครๆ ก็บอกว่า 3D Robotics ฝั่งอเมริกาน่าจะเป็นผู้นำในตลาด Drone ทั่วโลกแน่ เพราะฝั่งอเมริกานั้นเก่งกว่า DJI มาก แต่ปัญหาคือคนคิดอยู่อเมริกา คนทำอยู่ต่างประเทศอย่างจีน ปัญหาที่ตามมาคือคิดเกิดช่องว่างหรือ Gap ระหว่างการเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้จริงครับ
เพราะกว่าจะบินไปบินมาคุยกัน กว่าจะรู้ข้อจำกัดของการผลิต ก็มีรอบระห่างของการปรับปรุงแก้ไข ผิดกับทาง DJI ที่แม้เริ่มต้นจะสู้ไม่ได้ แต่ได้เปรียบตรงอยู่ใกล้กันมากระหว่างผู้คิดค้นกับผู้ผลิต ผลคือทำให้นวัตกรรมมีการปรับปรุงแก้ไขไปได้เร็กว่า
สุดท้ายแล้ว DJI จึงกลายเป็นผู้นำตลาด Drone ทั่วโลกแบบที่เราคิดถึงเบอร์สองไม่ออกในวันนี้ และนั่นก็ดูจะเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ ประเทศเริ่มดึงการผลิตกลับเข้ามาในประเทศตัวเองแทนที่จะส่งออกไปยังประเทศอื่นที่มีค่าแรงถูกกว่า
เพราะเป็นที่รู้กันว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีมูลค่ามหาศาลนั้นไม่ค่อยได้สร้างงานจริงๆ มากเท่ากับอุตสาหกรรมการผลิตแบบเก่าหรอก
แต่ประเทศนั้นต้องการความได้เปรียบในการอยู่ใกล้กันของนักคิด กับนักทำ เพื่อให้เกิดการปรับปรุงรวดเร็วพอที่จะช่วงชิงความเป็นเจ้าตลาดเหมือนที่ DJI ทำมาแล้วครับ
บทสรุปทิ้งทาย แล้วประเทศเราวางแผนชาติไปทางไหน ?
ผู้เขียน คุณอาร์ม ตั้งนิรันดร ตั้งคำถามไว้ยังหน้าสุดท้ายของหนังสือ Endgame China เล่มนี้ว่า
“30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและธุรกิจไทยใช้ยุทธศาสตร์เกาะโลกโต เพราะเป็นยุคฟ้าเปิด” เอาง่ายๆ คือเราโตตามโลก แต่ปัญหาตอนนี้คือเศรษฐกิจโลกไม่ได้โตวันโตคืนแบบวันวาน
แล้วเราจะทำอย่างไรในยุคฟ้าปิด ยุคที่เกิดภาวะวิกฤตเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ยุคที่โควิดระบาดแบบไม่มีวันจบ และก็น่าจะเกิดสายพันธุ์ใหม่ไปจนถึงโรคใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ
ยุคที่เกิดสงครามจริงๆ ได้ และเราก็เห็นแล้วว่าแค่ความตึงเครียดระหว่างไม่กี่ประเทศนั้นส่งผลต่อวงจรการผลิตและเศรษฐกิจทั่วโลกมหาศาล
ทั้งหมดนี้น่าคิด และน่าคิดต่อว่า เราจะใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางภาวะที่โลกดูจะตึงเครียดขึ้นทุกวัน เราจะยังใช้ชีวิตและทำงานแบบเดิมได้หรือไม่? เรามีความสามารถในการแข่งขันเท่ากับคู่แข่งแล้วหรือเปล่า?
หรือเราจะรออาศัยใบบุญจากภาคการท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ท่ามกลางความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติที่มากขึ้นทุกวัน ท่ามกลางการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนก่อให้เกิดภาพเสียบนโซเชียลอยู่เรื่อยๆ แถมหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไรกับเรื่องนี้
หรือเราจะเลือกหลบหนีจากระบบเศรษฐกิจโลก เข้าสู่การสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรงจากภายใน แต่ปัญหาคือเราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น?
หรือตัวเราเองจะอยู่อย่างไรให้ได้ในโลกใบใหม่ ใบที่เต็มไปด้วยความยาก ความท้าทาย และดูเหมือนอะไรที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องยากในวันวาย จะกลายเป็นเรื่องเล็กในวันหน้า เพราะเรายังมีปัญหาใหม่และปัญหาใหญ่ที่เราไม่รู้จักรออยู่ในอนาคตครับ
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 42 ของปี 2022
สรุปหนังสือ CHINA ENDGAME อ่านเกมสามก๊ก จีน สหรัฐ รัสเซีย
อาร์ม ตั้งนิรันดร เขียน
สำนักพิมพ์ Bookscape
อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/china/
สนใจสั่งซื้อทางออนไลน์ > https://www.naiin.com/product/detail/564779