มนุษย์เรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่รู้ว่าการเรียนรู้คือ “อะไร” และควรเรียนรู้ “อย่างไร” สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ การเข้าใจผิดว่า “การท่องจำคือการเรียนรู้”

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยกล่าวไว้ว่า “หากผมมีเวลาแก้ไขปัญหา 20 วัน ผมจะใช้เวลา 19 วันเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจปัญหานั้น”

เพื่อนที่ช่วยให้เราเรียนรู้ คือเพื่อนที่กล้าวิจารณ์เราในแง่ลบ

รู้ให้รอบให้ลึกก่อนจะลงมือทำ Auguste Rodin ประติมากรชื่อดังบอกว่า ก่อนที่จะลงมือสร้างสรรค์ผลงานจริง เขาจะวาดภาพของประติมากรรมนั้นมานับไม่ถ้วน วาดเพื่อให้มือนั้นเข้าใจอย่างแท้จริงว่าจะสร้างงานชิ้นนั้นขึ้นมาได้อย่างไร

เป็นการทำให้สมองคิดทำความเข้าใจงานชิ้นนั้นที่จะสร้างในหลายๆมิติ จนออกมาเป็นผลงานชิ้นเอก The Thinker ที่โด่งดังระดับโลกจนถึงวันนี้ ที่ใช้เวลาสร้างสรรค์กว่า 20 ปี จากการสเก็ตซ์ภาพไปเรื่อยๆ

ถ้าลองมาไล่ดูภาพสเก็ตซ์ของเค้าจากวันแรกจนกลายเป็นชิ้นงานสุดท้าย คุณจะเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลย

คนส่วนใหญ่นั้นแปลก อายที่จะให้คนอื่นรู้ว่าเราไม่รู้ มากกว่าอายที่จะไม่รู้จริงๆ “ความไม่รู้” ไม่ใช่เรื่อง “น่าอาย” เพราะเราทุกคนล้วนเริ่มต้นด้วยจาก “ความไม่รู้” ทั้งนั้น และอีกเหตุที่สำคัญคือต่อให้เราเรียนรู้และฉลาดมากแค่ไหน ก็หนีความไม่รู้ไม่พ้นทั้งสิ้น

พอเรารู้เรื่องหนึ่ง เราก็จะพบว่าเรายังไม่รู้อีกเรื่องหนึ่ง การเรียนรู้เลยเหมือนการเดินทางสำหรับผม เหมือนยิ่งลึกลงไปในความรู้ เรากลับพบว่าเรายังมีอะไรที่ไม่รู้มากกว่าที่เคยรู้มาทั้งนั้น

อย่าอายในความไม่รู้ จงกล้าที่จะไม่รู้และอยากเรียนรู้ถ้าอยากเก่ง

โสกราตีส นักปรัญชาในสมัยกรีกโบราณกล่าวถึง “การตระหนักในความไม่รู้” ว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้ารู้คือข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย” โสกราตีสไม่กลัวที่จะยอมรับว่าตัวเอง “ไม่รู้” และด้วยความไม่รู้ของเค้านี้ต่างก็ทำให้ผู้รู้ทั้งหลายในยุคนั้นต้องสับสนจนสั่นคลอนกันยกใหญ่ จนต้องบังคับให้โสกราตีสห้ามตั้งคำถามกับเรื่องใดทั้งสิ้น และโสกราตีสก็เลือกที่จะดื่มยาพิษตายแทน

แต่ความรู้ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับการลงมือทำ เพราะ “สิ่งที่รู้” เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกหรือตัวเราเองได้ หากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ต้อง “ลงมือทำ” ให้เป็นจริง

เพราะถ้าเราไม่ทำต่อให้รู้มากแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์

อย่ากลัวที่จะล้มเหลว เพราะผู้ยิ่งใหญ่อัจฉริยะทั้งหลายต่างล้มเหลวมากกว่าคุณหลายพันหลายล้านเท่า อย่างผู้พันแซนเดอร์ส ลุงหน้ายิ้มใจดีผู้ก่อตั้ง KFC ที่มีสาขาทั่วโลก รู้มั้ยครับว่าเค้าเคยถูกปฏิเสธการเซ็นสัญญาถึง 1,009 ครั้ง ก่อนจะได้เซ็นสัญญาทางธุรกิจ และตอนนั้นผู้พันแซนเดอร์สก็อยู่ในวัย 62

ลองถามตัวคุณเองดูซิว่าตัวคุณในปีนี้อายุเท่าไหร่ แล้วคุณล้มเหลวมามากเท่าผู้พันแซนเดอร์สหรือยังถ้าจะบ่นว่าทำไมถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ

ผมมีสมการง่ายๆที่จะเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตมาบอก ล้มเหลวให้มากขึ้นเป็นสองเท่า ถ้าอยากประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

หรือบางครั้งเราก็จะเป็นต้องหลอกตัวเองว่าทำได้ ในเรื่องที่มันยากจนไม่น่าจะมีมนุษย์คนไหนทำได้ เหมือนที่ Steve Jobs มักมอบหมายงานที่ยากไม่น่าเชื่อว่าจะมีใครทำได้ให้ทีมเป็นประจำ และเค้าก็มอบมันให้พร้อมกับความเชื่อมั่นว่าทุกคนในทีมนั้นทำได้ จนสุดท้ายแม้จะทำไม่ได้ตามเป้าสูงยิ่งที่วางไว้ในตอนแรก มันก็จะไปได้ไกลมากพอจนคนอื่นไม่เชื่อว่าเราจะทำกันได้

สิ่งนี้เรียกว่าความจริงที่ถูกบิดเบือน หรือ Reality Distortion Field ผมเคยโดนบ่อยๆสมัยหัวหน้าเก่าคนนึงให้งานยากๆทำ แล้วก็ตบไหล่ผมพร้อมประโยคประจำว่า “เธอน่ะทำได้” และสุดท้ายผมก็ทำมันได้จริงๆหลายครั้งครับ

ความจริงไม่สำคัญเท่าความคิด ถ้าเราคิดว่าได้มันก็จะหาทางทำให้มันเป็นไปได้ แต่ถ้าเราคิดว่ามันไม่ได้เราก็จะเลิกคิดหาทางให้มันเป็นไปได้

บริษัท SpaceX ของ Elon Musk ที่เป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตยานอวกาศแบบใช้แล้วใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งกว่า 60 ปีที่ผ่านมาทั้ง NASA และรัสเซียก็ไม่มีชาติไหนทำได้ ทั้งที่สองหน่วยงานนี้มีงบประมาณมหาศาลกว่าบริษัทน้องใหม่ด้านอวกาศอย่าง SpaceX มากนัก แต่ก็กลับไม่เคยมีชาติไหนทำได้

ที่ Elon Musk ทำให้ SpaceX สามารถหาวิธีนำยานอวกาศกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้หลายรอบจนสามารถลดต้นทุนมหาศาลได้นั้นเพราะความล้มเหลวเป็นพันๆครั้งจนเจอครั้งที่ใช้ได้ จนสามารถเอามาต่อยอดได้เรื่อยๆ

วันนี้ SpaceX เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้สัญญาว่าจ้างขนส่งสินค้าไปยังอวกาศให้กับ NASA เป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านเหรียญ

ต้องขอบคุณความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้

เรื่องที่น่าเสียดายที่สุดของการเรียนรู้คือเมื่อเราแก่ตัวลงเรามักจะปิดตัวเองจากการเรียนรู้ ทั้งจากประสาทสัมผัสทั้งหลายที่เสื่อมลงตามกาลเวลา และที่หนักหนากว่าคือการหลงคิดไปเองว่าตัวเองรู้ดีอยู่แล้วจนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ จนทำให้พลาโอกาสดีๆที่จะได้เก่งขึ้นถ้ายอมเปิดใจเรียนรู้กันไม่น้อยครับ

สุดท้ายแล้วการที่คุณจะเป็นคนเก่ง คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างบนโลก แต่คุณแค่ต้องรู้ในสิ่งที่คุณอยากเก่งให้ลึกและเชี่ยวชาญจนยากจะหาใครแทนได้บนโลกนี้

คุณต้องเรียนรู้ที่จะรู้ว่าอะไรที่คุณจำเป็นต้องรู้ และอะไรที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้ ทีนี้คุณก็จะมีโฟกัสมากขึ้น คุณก็จะคมขึ้น แล้วโอกาสดีๆต่างๆก็จะเข้ามาหาคุณเอง

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 30 ของปี 2019

สรุปหนังสือ เป็นคนเก่งไม่ต้องรู้มาก แต่ต้องรู้จริง
HOW TO STUDY LIKE A GENIUS
คนสำเร็จไม่ต้องเรียนรู้ทุกสิ่ง แต่จงเรียนรู้สิ่งที่จำเป็น
โชบยองฮัก เขียน
อรจิรา สุริยนนท์รินท์ แปล
สำนักพิมพ์ Amarin How > To

20190516

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/