สรุปหนังสือ NO FILTER โนฟิลเตอร์ ไม่มีใครเหมือนอินสตาแกรม The Inside Story of Instagram จุดกำเนิด ประวัติ เรื่องราวบริษัท Instagram หรือ IG

สรุปหนังสือ NO Filter ไม่มีใครเหมือนอินสตาแกรม The Inside Story of Instagram เรื่องราวเบื้องลึกสุดใจของอินสตาแกรม แอปพลิเคชั่นที่พลิกโฉมโลกธุรกิจ เซเลบริตี และวัฒนธรรมร่วมสมัยของเราไปตลอดกาล หนังสือที่จะพาคุณไปรู้จักประวัติ Instagram หรือ IG หนึ่งในแอปถ่ายรูปที่ดังที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ยุคดิจิทัล

ใครจะไปคิดว่าแอปถ่ายรูปแอปนี้จะส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตมนุษยชาติมากขนาดนี้ เราเกิดธุรกิจใหม่ๆ มากมายบน IG หรือแม้แต่ธุรกิจเดิมที่มีมาก่อน IG ต่างก็หาทางปรับตัวให้เข้ากับแพลตฟอร์มนี้

เราคงเคยได้ยินคำว่า Instagrammable ที่หมายถึงการออกแบบสินค้า หรือสถานที่ ให้เหมาะกับการถ่ายแล้วแชร์ลง IG ได้ดียิ่งขึ้น

ก่อให้เกิดเทรนด์ Cafe Hopping ที่คนรุ่นใหม่นิยมแวะไปร้านกาแฟใหม่ๆ คาเฟ่เก๋ๆ เป็นประจำ ไปแล้วก็ไปถ่ายรูปกันพัลวัน จากนั้นก็ค่อยๆ เอารูปมาโพสลงโซเชียลมีเดียยาวทั้งเดือนไป

หลายคาเฟ่ร้านตกแต่งดีถ่ายรูปสวย แต่กาแฟไม่ได้เรื่อง ขนมไม่เอาไหน เปิดได้ไม่นานก็ปิดไป จริงแล้วคำนี้มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งคนญี่ปุ่นนั้นชื่นชอบการใช้ Instagram อย่างมาก ด้วยวัฒนธรรมของการไม่ค่อยนิยมเปิดเผยตัวตน ทำให้โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ไม่ประสบความสำเร็จ ณ ดินแดนแห่งนี้เท่าไหร่นัก

แต่กับ Instagram นั้นเป็นคนละเรื่อง ด้วยการที่แพลตฟอร์มนี้บังคับให้เราใช้ภาพเล่าเรื่องเป็นหลัก เราไปเจออะไรก็ถ่าย เห็นอะไรน่าสนใจก็แชร์ ทำให้สินค้าอย่างขนมไอศกรีมบางชนิดเริ่มออกแบบให้เหมาะกับการถ่ายรูปลง Instagram ยิ่งขึ้น

ส่งผลไปถึงยอดขายที่มีคนแห่กันมาซื้อเพื่อถ่ายรูปมากกว่ากินถล่มทลาย และนั่นก็คือวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า Insta-bae อ่านว่า อินซุตะบาเอะ

มันคือเรื่องเดียวกับ Instagrammable เทรนด์การดีไซน์เพื่อให้ลูกค้าอยากหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย ใส่ฟิวเตอร์ แล้วแชร์ลง IG จนทำให้คนอยากมาถ่ายรูปตาม

สินค้าบางอย่างเน้นปริมาณเยอะมากๆ จนดูโอเวอร์ทะลัก เหตุผลไม่ใช่ด้วยการกิน แต่ด้วยการทำให้การถ่ายรูปลง Instagram นั้นได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ ผู้ติดตามมากกว่าอาหารที่ดูปกติทั่วไปนั่นเอง

Kevin Systrom & Mike Krieger สอง Founder ผู้ก่อตั้ง Instagram

ทีแรก Instagram จะไม่ได้ชื่อนี้ แต่เกือบจะใช้ชื่อว่า Scotch ชื่อเดียวกับเหล้าสก๊อตนี่แหละครับ เพราะ Kevin Systrom เป็นคนชอบดื่มเหล้าที่หลากหลายมาก(แต่ไม่ได้ขี้เมานะ) แอปแรกที่เขาทำชื่อว่า Burbn มาจากเหล้า Bourbon แถมยังไม่ได้เป็นแอปที่เน้นการถ่ายรูปแต่อย่างไร

ในตอนนั้น Burbn เป็นแอปที่เอาไว้บอกให้เพื่อนๆ รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน หรือกำลังจะไปทำอะไรที่ไหน เพื่อให้เพื่อนในวงได้รู้แล้วก็ตามมาแจมกัน (ดูทรงแล้วน่าจะเป็นแอปหาเพื่อนกินเหล้านะครับ) แล้วในตอนนั้นการอัปรูปก็ยังไม่ง่ายแบบ Instagram ทุกวันนี้ ต้องอัปผ่าน Gmail อีกที ซึ่งเป็นอะไรที่ยุ่งยากวุ่นวายมาก

หลังจากทำแอป Burbn ได้ไม่นาน ก็เริ่มเข้าตานักลงทุนที่สนใจหาแอปพันล้านใหม่ๆ ตอนยุคแอปบูม หลังจากทำ Burbn เสร็จ Kevin Systrom เริ่มคิดได้ว่า เขาต้องทำการโฟกัสจุดขายหลักของแอป เลือกว่าจะเก่งแค่อย่างเดียวให้สุด แล้วก็ตัดส่วนประกอบอื่นๆ ทิ้งไปให้กลายเป็นแค่สิ่งไม่สำคัญ

ซึ่งจะว่าไปหลักการ Focus Strategy ก็เหมือนกับที่ Google ใช้กับธุรกิจหลัก

ตอน Google ถือกำเนิดเวลานั้น Yahoo ยังคงใหญ่กว่ามาก และ Search Engine ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของเว็บใหญ่อย่าง Yahoo เพราะการค้นหาเว็บอื่นเพื่ออกนอกเว็บหลักไม่ใช่กลยุทธ์หลักของธุรกิจ Portal website

แต่ Google คิดต่าง เขาไม่ต้องการให้คนอยู่กับเว็บเขานานๆ แต่เขาต้องการให้คนเจอคำตอบที่ใช่แล้วออกไปให้ไวที่สุด เพื่อที่วันหน้าคนคิดอะไรไม่ออกก็จะวนกลับเข้ามาที่ Google เองอีกครั้ง

Google จึงไม่ต้องทำคอนเทนต์หรือเนื้อหาใดๆ เอง แต่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการส่งคนออกไปยังเนื้อหาที่ผู้คนต้องการแทน

จากการโฟกัสนั้นทำให้ Google กลายเป็นเว็บที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด จนแซงหน้า Yahoo ได้ในที่สุดครับ ในจุดนี้เองก็เหมือนกับที่ Kevin Systrom ผู้ก่อตั้ง Instagram เลือกว่าจะให้แอปตัวเองเก่งแค่อย่างเดียว ไม่ต้องพยายามเก่งทุกอย่างจนไม่เก่งอะไรสักอย่าง

พวกเขาจึงเลือกที่จะไม่พัฒนาแอปเดิมอย่าง Burbn ที่ตั้งต้นไว้ แต่เลือกจะพัฒนาแอปใหม่ทิ้งของเดิมไปอย่างสิ้นเชิง

จากการปัดแนวนอน สู่การไถแนวตั้ง

ทีแรกแอป Instagram จะใช้วิธีการเลื่อนดูรูปแนวนอน ชอบรูปไหนก็กดถูกใจรูปนั้น อารมณ์คล้ายๆ การเล่น Tinder นี่แหละครับ แต่ด้วยความที่พวกเขาชอบ Twitter มาก ก็เลยปรับแนวทางของฟีดใหม่ให้เป็นไถลงตรงๆ แทน

ส่วนที่ Instagram บังคับให้เราต้องถ่ายรูปเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสในช่วงแรก ไม่ใช่เพราะความเก๋ ไม่ใช่เพราะดีไซน์ แต่เป็นเพราะข้อจำกัดทางเทคโนโลยีในเวลานั้น ที่ไม่สะดวกต่อการสร้างขนาดรูปภาพหลายๆ แบบแล้วจะโหลดใช้งานได้เร็วได้ พวกเขาจึงต้องสร้างกรอกกติกาการใช้งาน Instagram ขึ้นมาใหม่ ซึ่งแอปถ่ายรูปมากมายเวลานั้นไม่บังคับว่าต้องโพสรูปภาพเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสเท่านั้น

หลังจากใช้กฏการโพสแบบสี่เหลี่ยมจตุรัสมานานจนคิดว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุด เคยมีคนเสนอให้สองผู้ก่อตั้งเปิดให้ผู้ใช้งานโพสรูปแนวตั้งหรือแนวนอนได้บ้าง แต่ก็ถูกปฏิเสธไป

จนทีมงานเริ่มเห็นเทรนด์บางอย่าง เริ่มเห็นว่ามีคนพยายามโพสรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งแนวนอน และแนวตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งพวกเขาต้องเอาภาพไปแต่งจากแอปอื่น ด้วยการใส่กรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาวที่ด้านบนและด้านล่างของรูป เพื่อทำให้คนดูรู้สึกว่าภาพนี้มันคือภาพมุมกว้างที่ให้อีกอารมณ์นึง

เมื่อทีมงานเริ่มเห็นเทรนด์แบบนั้นจากเพื่อนรอบตัว ก็เลยลองดึงข้อมูลการโพสส่วนหนึ่งมาประเมินว่าเทรนด์การโพสสี่เหลี่ยมผืนผ้านี่กำลังเป็นที่นิยมจริงไหม

จาก Data พบว่ามีมากถึง 20% ที่โพสแบบนั้น และนั่นก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Instagram เลิกบังคับให้ต้องโพสเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสเท่านั้น เปิดกว้างต่อสี่เหลี่ยมที่หลากหลายทั้งความกว้างและยาวยิ่งขึ้นครับ

ชื่อ Instagram มาจาก Instant + Telegram

จาก Burbn แอปแชร์กิจกรรมที่กำลังทำ หรือกำลังจะทำให้เพื่อรู้ มาสู่แอปที่เน้นการแชร์รูป ก็อาจจะหมายถึงสิ่งที่กำลังทำกิจกรรมอยู่ตอนนั้นก็เป็นได้ครับ

ซึ่งความพิเศษของ Instagram คือ Filter ที่สร้างโดยช่างภาพมืออาชีพจริงๆ จากเดิมต้องเอาไปแต่งใน Photoshop ให้วุ่นวาย ก็ทำให้มันสำเร็จรูปพร้อมใช้ ผลคือใครๆ ก็ถ่ายรูปสวยได้ง่ายๆ แค่มี iPhone + IG ถือว่าเป็นหนึ่งแอปที่กระตุ้นให้ iPhone ขายดีก็ว่าได้

ที่มาของชื่อ Instagram มาจาก Instant ที่หมายถึงทันที ได้ทันที กับ Telegram การส่งโทรเลข

เอาจริงๆ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม Gram ถึงมาจากโทรเลข และโทรเลขสำคัญอย่างไร ส่วนหนึ่งอาจเพราะแอปนี้อัพโหลดรูปภาพได้ไวกว่าแอปถ่ายรูปอื่นๆ ในช่วงเวลานั้นมาก เหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้ไม่ใช่ Technology แต่อย่างไร แต่มาจาก Psychology ล้วนๆ ครับ

Psychology-Driven Experience คนไม่ชอบรอ งั้นเอาการรอไปซ่อนไว้ที่คน

เป็นเรื่องธรรมดาที่เราไม่ชอบการรอ โดยเฉพาะจากการโหลด ถ้าใครยังจำได้สมัยก่อนกว่าจะโหลดอะไรจากอินเทอร์เน็ตล้วนใช้เวลานานมาก ล็อคอินไปแล้วกว่าจะโหลดอีเมลผ่านต้องใช้เวลาอีกหลายวินาทีเลย

ยิ่งกับแอปถ่ายรูปก็เช่นกัน แอปถ่ายรูปพวกนี้เกิดขึ้นมาตอน iPhone บูม ตอนยุค Internet 3G เป็นหลัก ในยุคนั้นการอัปโหลดรูปภาพยังไม่ได้รวดเร็วทันใจในระดับเสี้ยววินาทีอย่างทุกวันนี้ สมัยก่อนกว่าจะอัปโหลดรูปภาพแต่ละที ต้องใช้เวลาหลายวินาทีทีเดียวครับ

ผู้ก่อตั้ง Instagram จึงได้ไอเดียลดเวลาการรอ ด้วยการปล่อยให้คนได้ทำอะไรรอระหว่างอัพโหลด ระหว่างที่ผู้ใช้แอปเลือกรูปที่จะโพสแล้ว แล้วก็กำลังเลือก Filter อยู่นั้น ระบบของ Instagram ก็อัพโหลดรูปดังกล่าวขึ้นไปรอตั้งแต่ตอนนั้น กว่าผู้ใช้งานจะเลือก Filter ที่โดนใจได้ และกว่าที่จะปรับแต่งรายละเอียดของ Filter ที่เลือกให้ได้ดั่งใจที่สุด ต่างก็ใช้เวลาไปหลายวินาที ไปจนถึงหลักนาที เมื่อผู้ใช้เลือกทุกอย่างลงตัว ภาพดังกล่าวก็อัพโหลดขึ้นระบบเรียบร้อยแล้ว

ส่งผลให้การอัพโหลดรูปด้วย Instagram ถือเป็นอะไรที่รวดเร็วที่สุดในบรรดาแอปถ่ายรูปเวลานั้น

แอปอื่นรอผู้ใช้กดโพสค่อยอัพโหลด แต่ Instagram ไม่รอ เพราะรู้ว่าส่วนใหญ่ถ้าเลือกรูปแล้วก็ไม่ค่อยเปลี่ยนใจหรอก แล้วระหว่างรอเลือกฟิลเตอร์ก็นาน ทำไมเราไม่เอาเวลานานตรงนั้นมาอัพโหลดรูปรอหละ

แล้วก็ยกฟิลเตอร์ให้ทำงานบนเซิฟเวอร์แทน ด้วยการเคลือบ Filter ที่ตั้งค่าไว้บนเซิฟเวอร์แค่นี้ ก็ทำให้ User Experience การใช้ Instagram แซงหน้าทุกแอปถ่ายรูปในเวลานั้น

แต่ทั้งหมดนี้ Kevin Systrom ไม่ได้คิดค้นมาเองทั้งหมด แต่มาจากตอนที่เขาไปฝึกงานที่ Google ในส่วนของ Gmail เขาพบว่าที่ Gmail ทำงานได้รวดเร็วแซงหน้าคู่แข่งผู้ให้บริการอีเมลรายอื่นๆ เพราะทันทีที่เราพิมพ์ชื่อ Email ของเราเสร็จ ระบบก็ทำการโหลดข้อมูลรอระหว่างที่เราพิมพ์พาสเวิร์ดเรียบร้อยแล้ว

นี่เป็นกลยุทธ์ลดการรอที่ฉลาดหลักแหลมมาก ในเมื่ออย่างไรคนก็ไม่ชอบรอ ถ้าอย่างนั้นเรามาหาว่าระหว่างที่รอเรามีอะไรให้คนทำไปพลางๆ เพื่อลดเวลาที่คนต้องรู้สึกรอจริงๆ ได้บ้างดีกว่าครับ

Instagram ได้เกิด เพราะได้ Influencer ที่ดีผลักดัน

Instagram น่าจะเป็นแอปแรกๆ ที่ทำแคมเปญการตลาดผ่าน Influencer Marketing โดยที่คำนี้ในเวลานั้นยังไม่มีใครรู้จัก เริ่มตั้งแต่การที่เขาได้ Jack Dorsey มาร่วมลงทุนตอนเริ่มต้นเป็นเงิน 25,000 ดอลลาร์ แต่สิ่งที่มีค่ากว่านั้นคือตอนที่ Jack Dorsey ได้แชร์โพสจาก Instagram ลงบน Twitter ส่งผลให้ผู้คนที่ติดตามเขามากมายรู้จักแอปถ่ายรูปน้องใหม่รายนี้ และเพิ่มจำนวนผู้เข้าใช้งานถล่มทลาย

จากนั้น 2 Founder ก็ได้ชักชวนบรรดาช่างภาพมืออาชีพที่มี Twitter Account ให้มาเป็นผู้ใช้ Instagram กลุ่มแรก หลังจากได้สร้าง Filter มากมายจากช่างภาพมืออาชีพเสร็จแล้ว ส่งผลให้การที่กลุ่มช่างภาพมืออาชีพใช้งานแอปถ่ายรูปนี้เป็นกลุ่มคนแรกๆ เป็นการสร้างแนวทางการเล่นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้แทนที่จะเป็นอย่างอื่น

เพราะเมื่อคุณเข้ามาใช้งานครั้งแรก คุณย่อมจะดูก่อนว่าเขาทำกันอย่างไร เล่นกันแบบไหน เมื่อคุณเห็นคนมากมายถ่ายรูปสวยด้วย Instagram คุณก็จะเริ่มพยายามถ่ายรูปให้ดี เลือกฟิวเตอร์ให้สวย แล้วก็โพสลง IG จากนั้นก็แชร์ออกไปยังโซเชียลมีเดียอื่นๆ ครับ

Justin Bieber Effect เซิฟเวอร์ Instagram ล่มเพราะบีเบอร์โพส

ปรากฏการเซิฟเวอร์ล่ม เป็นอะไรที่เจอได้บ้างในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ Tech Startup อย่าง Twitter เองก็เคย และ Instagram เองก็เป็นบ่อยๆ ซึ่งในตอนแรก Instagram ยังคงใช้เซิฟเวอร์แค่ตัวเดียวที่มีที่ทำงาน เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่ยังมีจำนวนไม่มากนัก

แต่ Jack Dorsey เริ่มต้นแชร์โพสจาก Instagram ไปยัง Twitter ของตัวเอง ส่งผลให้มีคนดังคนอื่นๆ ตามเข้ามาลองเล่นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้ ซึ่งคนที่ทำให้เกิดปัญหาเซิฟเวอร์ล่มบ่อยๆ จริงๆ ก็คือ Justin Bieber ครับ

ตอน Justin Bieber สมัครและใช้งาน Instagram ครั้งแรก โพสแรกของเขาทำเอา Server Instagram แทบล่มในทันที เพราะเมื่อผู้ติดตาม Twitter ของ Justin Bieber เห็นว่าศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบเล่นโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหม่ ก็ส่งผลให้ผู้คนมากมายแห่กันเข้ามาติดตามเขาในช่องทางนี้เช่นกัน

หนังสือเล่มนี้บอกว่า IG ของ Justin Bieber ในเวลานั้นมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 50 คนต่อนาที ส่งผลให้ทางทีมงาน Instagram ต้องแบ่ง Server ไว้สำหรับดูแล Account Justin Bieber ครึ่งนึงในเวลานั้น และก็ต้องมีทีมงานที่คอยไว้ Monitor เมื่อ Justin Bieber เข้ามาโพส Instagram ด้วย

เพราะเคยมีครั้งหนึ่งระหว่างที่ Mike Krieger กำลังสัมภาษณ์ผู้สมัครงานคนสำคัญ เขาก็ต้องขอตัวลุกขึ้นไปรีเซ็ตเซิฟเวอร์ชั่วคราวเพราะล่มจาก Justin Bieber เขามาเล่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

เพราะทุกครั้งที่ Bieber โพส Instagram ออกไปยังโซเชียลมีเดียของตัวเอง ส่งผลให้มีคนเข้ามาสมัครและใช้งาน Instagram พร้อมกันมหาศาลจนเกินกว่า Server จะรองรับได้นั่นเองครับ

ทาง Instagram เลยเลือกว่าจะจัดการกับปัญหาเซิฟเวอร์ไม่พอที่จะรองรับผู้ใช้งานจาก Influencer อย่างไร พวกเขาเกือบจะซื้อ Server ใหม่ แต่สุดท้ายเลือกที่ย้ายไปใช้ Amazon Web Service ในที่สุด

ดูเหมือน AWS จะเป็น Solution สำหรับธุรกิจ Startup ที่ต้องการ Scale ไวๆ จริงๆ

หลังจากนั้นไม่นานทาง Justin Bieber รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญต่อ Instagram เลยยื่นข้อเสนอกลับไปทาง Kevin Systrom & Mike Krieger สอง Founder ผู้ก่อตั้ง Instagram ว่า ถ้าอยากให้เขาใช้งานต่อไป ก็ต้องเลือกระหว่างจะยอมให้เขาเข้ามาลงทุนด้วย หรือไม่ก็จ่ายเงินให้เขาเล่นต่อ

ทาง 2 Founder ไม่เลือกทั้งสองอย่าง ทาง Justin Bieber ก็เลยหยุดเล่น Instagram ในทันที แต่หลังจากนั้นไม่นาน Bieber ก็ต้องกลับมาใช้งาน Instagram อีกครั้ง เพราะแฟนสาวหรือแฟนเก่าของเขาอย่าง Selena Gomez เขามาใช้งานแพลตฟอร์มนี้ ส่งผลให้ Instagram ได้ 2 Mega Celebrity ที่คอยโปรโมทให้คนรู้จัก Instagram ฟรีๆ ตลอดเวลา

และเมื่อ Instagram เริ่มดังและโตมากจนถึงจุดหนึ่ง ก็ถึงจุดที่เป็นที่หมายตาของยักษ์ใหญ่

Facebook เข้าซื้อ Instagram แบบให้อิสระในการทำงานต่อไป เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เป็นดีลแรกของประวัติศาสตร์ก็ว่าได้ ที่บริษัทหนึ่งเข้าซื้อด้วยข้อเสนอที่ว่า ให้อิสระในการทำงานและบริหารงานต่อไป จนกลายเป็นมาตรใหม่ของการดีล ที่ตอน Amazon ซื้อ Whole Food Market ก็บอกว่าเหมือน Instagram Deal นี่แหละ

เป็นที่รู้กันว่าเทรนด์ตอนซื้อบริษัทตอนนั้น ซื้อเพราะแค่อยากซื้อมาเก็บไว้ก่อน ยังไม่มีแผนจะทำอะไรชัดเจน แต่ก็ไม่อยากปล่อยไปเฉยๆ ซื้อแล้วก็ให้อิสระแก่ผู้ก่อตั้งหรือทีมงานชุดเดิมเต็มที่ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ให้วุ่นวาย ทำงานกันไปแบบเดิมก่อน ผ่านไปสักระยะแล้วค่อยมาดูกันใหม่

ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของ Mark Zuckerberg กับ Kevin Systrom คือ พวกเขาเคยรู้จักกันตั้งแต่สมัยยังเรียน ตอนที่ Mark เพิ่มเริ่มสร้าง Facebook หรือ TheFacebook.com ในวันนั้น เขาเคยขอให้ Kevin Systrom สร้างระบบการอัพโหลดรูปภาพที่มากกว่าหนึ่งให้เขาหน่อย

ตอนนั้นผู้ใช้งานยังคงมีได้แค่รูปภาพเดียว เรียกได้ว่าโลกมันกลมจริงๆ การทำดีกับใครไว้ก่อน ดูจะเป็นผลดีมากกว่าเสียในอนาคตครับ

ส่วนใครไม่ดีก็ไม่ใช่ว่าต้องทน แค่เอาตัวออกห่างและไม่ต้องไปยุ่งกับเขาอีก

หลังจากที่ Instagram ถูก Facebook ซื้อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแล้ว พวกเขาก็ได้เรียนรู้กลยุทธ์การเติบโต หรือ Growth Hacking Strategy ที่ Facebook เคยผ่านมา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับ Instagram ของตัวเอง

ตั้งแต่กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอย่างก้าวกระโดดด้วยการ Tag

ตอน Facebook เปิดให้ผู้ใช้ทำการ Tag เพื่อนในรูปภาพผ่านอีเมลได้ เพื่อนที่ถูกแท็กก็จะสงสัยว่ามีใครโพสอะไรถึงเราบน Facebook ในวันนั้น พวกเขาก็อดทนที่จะไม่ดูไม่ได้ จนต้องสมัครใช้งาน Facebook เพื่อจะเข้ามาดูรูปดังกล่าว

และนั่นก็ทำให้จำนวนผู้ใช้งาน Facebook เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากกลยุทธ์ Tag Strategy ครับ

หรืออีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Facebook คือ พวกเขาไม่จ่ายเงินจ้างดารา คนดัง หรือ Celebrity ให้ใช้งาน Facebook ตรงๆ แต่จะจ่ายเป็น Advertising Credit ที่ให้ดาราที่ทำเพจในเวลานั้นสามารถเอาไปซื้อโฆษณาใน Facebook เพื่อโปรโมทอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการ

จะหนังใหม่ เพลงใหม่ อะไรก็ได้

เรียกได้ว่าเป็น Win Win Strategy ที่กลับมาสร้าง Ecosystem ให้ Facebook แข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ

Insight จาก Data เมื่อทีมงาน Instagram พบ

เป็นช่วงท้ายของสรุปหนังสือเล่มนี้แล้วครับ เมื่อทีมงานของ Instagram พบ Insight น่าสนใจบางอย่างจาก Data ที่มีความผิดปกติในการใช้งานเกิดขึ้น เลยขอหยิบมาเล่าให้ฟังกัน

  1. จำนวนผู้ใช้ดรอปลงมาก แต่ Connect รายชื่อเพื่อนจาก Facebook ไม่ได้ ที่ประเทศฝรั่งเศสทีมงาน Instagram พบว่าอยู่ดีๆ จำนวนผู้ใช้งานใหม่ก็ลดลงอย่างน่าแปลกใจ จนสืบสาวพบว่ามาจากปัญหาการนำเข้า Email list จากระบบ Facebook Friend ส่งผลให้ผู้ใช้งานไม่สามารถเชิญเพื่อนๆ ให้เข้ามาเล่นด้วยกันได้
  2. มีการโพสและลบถี่ๆ จำนวนมากกับผู้ Instagram ที่อินโดนีเซีย ทีมงานวิเคราะห์จะคอยติดตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้คนอยู่เสมอ และก็เจอกลุ่มก้อนแปลกๆ ที่ดูผิดปกติอย่างน่าสงสัย คือผู้ใช้งาน Instagram ในอินโดนีเซียมีการโพสพร้อมกันเป็นจำนวนมาก แล้วก็ลบโพสจำนวนมากที่เพิ่งโพสไปไม่นานเช่นกัน ทีแรกทีมงานนึงว่าถูก Spam​โจมตี แต่พอลงไปดู Context of Data จึงได้พบว่ามันคือพฤติกรรมของการใช้ Instagram เพื่อขายของออนไลน์ แม่ค้าจะโพสรูปสินค้าที่ตัวเองจะขายลงไปพร้อมๆ กันจำนวนมากเหมือนกับตั้งร้านขายของในตลาดนัด จากนั้นของชิ้นไหนมีคนซื้อแล้วก็จะทำการลบโพสนั้นออก ก็เหมือนกับการหยิบของออกจากชั้นวางของ เรียกได้ว่าถ้าดูแค่ Data เราจะพลาด Insight เราจึงต้องเข้าไปทำความเข้าใจ Context ก่อนตัดสินใจทุกครั้งไปครับ

สรุปหนังสือ No Filter The Inside Story of Instagram ไม่มีใครเหมือนอินสตาแกรม ประวัติ Instagram

สรุปหนังสือ NO FILTER โนฟิลเตอร์ ไม่มีใครเหมือนอินสตาแกรม The Inside Story of Instagram จุดกำเนิด ประวัติ เรื่องราวบริษัท Instagram หรือ IG

จากจุดกำเนิด Burbn แอปบอกเพื่อนว่าตัวเองทำอะไรอยู่ มาสู่ Focus Strategy ว่าแอปเราจะเก่งแค่เรื่องเดียว นั่นก็คือการถ่ายรูปอย่างไรให้ดูมืออาชีพ นั่นก็คือด้วย Filter ที่ทำให้รูปถ่ายมือถือสวยขึ้น 8 ระดับ

จากนั้นก็ใช้ Influencer Marketing ด้วยการคัดกลุ่มช่างภาพมืออาชีพมาเป็นผู้ใช้กลุ่มแรก เพื่อสร้าง Standard ของแพลตฟอร์มนี้ให้กับคนใหม่ที่เข้ามารู้ว่าจะต้องเล่นมันอย่างไร

จนมาสู่การมี Celebrity ยักษ์ใหญ่เข้ามาเล่นจนเซิฟเวอร์ล่มบ่อยๆ และก็นำไปสู่การเป็นดีลแรกในประวัติศาสตร์ ที่ Facebook ขอเข้ามาซื้อเฉยๆ แต่ไม่ทำอะไร ปล่อยให้ทำงานกันเองเหมือนเดิมต่อไป และก็เริ่มมีดีลแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ จนถูกเรียกว่าเป็น Instagram Deal

ท้ายที่สุดนำมาสู่ทางแยกใหม่ เมื่อสองผู้ก่อตั้งเลือกที่จะลาออกจาก Instagram เพราะ Mark Zuckerberg ดูเหมือนจะไม่ได้สนับสนุนให้ Instagram เป็นอิสระจาก ​Facebook อย่างแท้จริงอีกต่อไป

และดูเหมือนประโยคที่ว่า ถ้าใครจะมาฆ่าเรา เราจะต้องฆ่าตัวเองก่อนของพี่มาร์ค ก็จะไม่จริงอย่างที่พูดเมื่อดูจากท้ายที่สุดแล้วยังคงต้องการให้ Facebook อยู่ยงคงกระพันไม่ยอมปล่อยให้ตายง่ายๆ ครับ

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สนุกมาก เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัลที่ควรค่าแก่การศึกษา ถ้าใครอยากรู้ว่าแอปถ่ายรูปแอปนี้กลายเป็นขวัญใจมหาชนได้อย่างไร ทั้งหมดไม่มีคำว่าบังเอิญ ไม่มีคำว่าฟลุ๊ค มีแต่ความทุ่มเทอย่างหนัก แก้ปัญหารายวันไปเรื่อยๆ เพื่อกรุยทางให้เป็นแอปถ่ายรูปอันดับหนึ่งของโลกก็ว่าได้ครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 28 ของปี

สรุปหนังสือ NO FILTER โนฟิลเตอร์ ไม่มีใครเหมือนอินสตาแกรม The Inside Story of Instagram จุดกำเนิด ประวัติ เรื่องราวบริษัท Instagram หรือ IG

สรุปหนังสือ NO FILTER โนฟิลเตอร์ ไม่มีใครเหมือนอินสตาแกรม
The Inside Story of Instagram
เรื่องราวเบื้องลึกสุดใจของอินสตาแกรม แอปพลิเคชันที่พลิกโฉมโลกธุรกิจ เซเลบริตี และวัฒนธรรมร่วมสมัยของเราไปตลอดกาล
Sarah Frier เขียน
วรุตม์ มานพพงศ์ แปล
สำนักพิมพ์ Be(ing)

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/category/startup/

สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/3p0oyL5

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/