อ่านนวัตกรรมทางความคิดที่ไม่มีวันหมดอายุ

เล่มนี้ได้มาจากงานหนังสือครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี สังเกตุเห็นว่ามติชนเริ่มทำหนังสือแนวนี้เพิ่มขึ้นเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านหน้าใหม่ เป็นหนังสือในแนวที่อ่านง่ายๆ เป็นตอนสั้นๆ อ่านฆ่าเวลาก็ดี อ่านเอาเกร็ดความรู้ก็ได้ แต่ที่ผมว่าดีมากก็คือหนังสือแบบนี้แหละที่จะพานักอ่านหน้าใหม่ให้กลายเป็นนักอ่านหลายหน้าในเวลาไม่นาน เพราะผมเองก็เป็นคนนึงที่ไม่เคยคิดอ่านหนังสือ จนมาเจอหนังสือสไตล์นี้ของอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ จนกลายมาเป็นหนอนหนังสือคนนึง

เล่าเรื่องของผมเยอะแล้วกลับมาที่หนังสือบ้าง ผู้เขียนใช้หลักคิดแบบ Design Thinking มาสอดแทรกอย่างแนบเนียนในเรื่องเล่าในเล่ม น่าจะเพราะคนเขียนจบทางด้านนี้มาโดยเฉพาะและยังทำงานเป็นนักนวัตกรรมในองค์กรใหญ่อย่าง ปตท. มากกว่า 10 ปี ในหลัก Design Thinking ที่ผู้เขียนพยายามเน้นย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งคือหัวข้อ “Empathy” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า”

ความเข้าอกเข้าใจลูกค้า ก็คือนวัตกรรมที่แท้จริง เพราะนวัตกรรมโดยแท้จริงแล้วไม่ใช่เทคโนโลยี ไม่ใช่ AR ไม่ใช่ 4.0 แต่คือการเข้าอกเข้าใจคนอย่างแท้จริง ยิ่งถ้าเราลองไปเป็นเค้าได้จะยิ่งดี

ผมเล่าเรื่องที่ผู้เขียนยกตัวอย่างให้ฟังในเล่มที่จะทำให้เราเข้าใจว่าความเข้าอกเข้าใจที่แท้จริงคืออะไร..

ณ ริมแม่น้ำแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของไทย(ตรงนี้ผมดัดแปลงเองให้ตัวเองอินขึ้น)

มีบ้านหลังน้อยกับสาววัยกลางคนอาศัยอยู่

นักวิจัย 3 กลุ่มออกสำรวจข้อมูล ด้วยหวังว่าจะสร้าง “นวัตกรรม” ให้คนแถบนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เมื่อนักวิจัยทั้ง 3 กลุ่มได้พบกับหญิงสาวจึงถามว่า

“ที่แถบนี้ต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น?”

หญิงสาวตอบอย่างไม่ลังเล

“สะพาน”

นักวิจัย “กลุ่มแรก” ดีใจมาก ได้ “ตำตอบ” แล้วจึงรีบกลับไปที่ศูนย์วิจัย

ระดมสมองกันยกใหญ่ “เราจะสร้างสะพานอย่างไรได้บ้าง?”

สะพานคอนกรีต สะพานไม้ สะพานแขวน สะพานเหล็ก หรือสะพานควาย…

สุดท้าย คิดคำนวนแล้วตกลงใจที่จะสร้าง “สะพานแขวน” เป็นของขวัญให้แก่หญิงสาว

นักวิจัยอีก 2 กลุ่ม ยังไม่ได้กลับมาที่ศูนย์วิจัย

ถามต่อ “ทำไมคุณอยากได้สะพานล่ะ?”

“ฉันอยากจะข้ามไปที่ฝั่งนู้น” หญิงสาวตอบ

นักวิจัย “กลุ่มที่ 2” ได้ยินดังนั้น จึงรีบกลับมาที่ศูนย์วิจัย และระดมสมอง “จะข้ามแม่น้ำไปฝั่งนู้นอย่างไรได้บ้าง?”

เรือ แพ เครื่องบิน เจ็ตสกี ชุดว่ายน้ำ…สะพาน

สะพานเป็นเพียงหนึ่งใน “ทางเลือก” แต่ยังไม่ใช่ “คำตอบ”

คำถามเพียงหนึ่งประโยคว่า “ทำไมล่ะ?” ได้เผย “ความเป็นไปได้” อีกมากมายให้แก่หญิงสาว

เอ๊ะ แล้วนักวิจัยกลุ่มสุดท้ายล่ะ เขารออะไรกันอยู่ ยังไม่กลับมาซักที

ครับ พวกเขายังอยู่เพื่อถามหญิงสาวอีกหนึ่งคำถาม “ไม้ตาย”

“ทำไมคุณถึงอยากจะข้ามไปฝั่งนู้นล่ะ?”

หญิงสาวอึ้ง เงียบไปพักนึง พลันตอบด้วยเสียงสะอื้นในลำคอว่า..

“คุณแม่ฉันป่วย ฉันมีงานต้องทำฝั่งนี้ อยากจะไปดูแลท่านให้ได้มากกว่านี้”

นักวิจัยกลุ่มสุดท้ายฟังเช่นนั้นก็กลับมาที่ “ศูนย์วิจัย”

“เราจะทำให้หญิงสาวดูแลครอบครัวที่ห่างไกลได้อย่างไรบ้าง?”

รถพยาบาลเคลื่อนที่ โทรศัพท์เห็นหน้ากัน หุ่นยนต์ดูแลคนชรา กล้องวงจรปิดติดตามตัว

“สะพาน” คงจะไม่ใช่ “คำตอบ” ที่ดีที่สุดอีกต่อไป

เพียงแค่เราเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น ถามว่า “ทำไม?” ให้มากขึ้น เราก็จะเข้าใจถึงความต้องการเบื้องลึกของคำตอบเบื้องต้นนั้น

เปรียบกับเวลาทำงาน เวลามีบรีฟมาบอกว่าลูกค้าอยากได้ไวรัล ไวรัล และไวรัล (ผมเชื่อว่าแทบทุกคนที่ทำโฆษณามักจะได้ยินประโยคนี้ไม่น้อยกว่า 3ล้าน8แสนครั้งในแต่ละปี) ผมอยากให้เราลองตั้งคำถามย้อนกลับไปถามให้ลึกขึ้นว่า ทำไม ทำไม และ ทำไม อย่างน้อย 3 ครั้ง แล้วคุณจะเข้าใจเหตุผลของปัญหานั้นมากขึ้น

หนังสือเล่มนึงที่ชื่อว่า..เอ่ออออ จำไม่ได้ว่า Lean Start Up หรือ From Zero to One เหมือนกัน คุ้นๆว่าจะเป็นหนึ่งสองเล่มนี้แหละ พูดถึงการทำงานหรือแก้ปัญหาด้วยการถามว่า “Why” ถึง 5 ครั้งอย่างน้อย เราก็จะเข้าใจถึงต้นตอปัญหานั้น แล้วก็จะแก้ไขมันได้อย่างเด็ดขาด

เพราะ “นวัตกรรม” ทุกอย่างในโลกนี้เริ่มต้นจาก “การเข้าใจผู้ใช้งาน” อย่างแท้จริง

Why I read this book?

ก็ผมว่าหน้าปกมันสวยดีน่ะ 555

อ่านเมื่อปี 2017

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/