สรุปหนังสือชีวประวัติ Tim Cook อัจฉริยะผู้พาแอปเปิลสู่อนาคตใหม่ CEO Apple คนปัจจุบันต่อจาก Steve Jobs สำนักพิมพ์ซีเอ็ด

สรุปหนังสือ Tim Cook อัจฉริยะผู้พาแอปเปิลสู่อนาคตใหม่ ชายผู้หลายคนตั้งคำถามในวันที่เขาถูกแต่งตั้งให้เป็น CEO Apple แทน Steve Jobs ว่าจะทำให้บริษัทที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ดับหรือไม่ แต่เวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาก็เพียงพอที่จะพิสูจน์แล้วว่า วันนี้ Apple ยิ่งใหญ่ไม่น้อยกว่าวันที่ Steve Jobs อยู่ ถ้าไม่นับเรื่อง Design & Innovation ที่ยังไม่ถูกใจสาวก Apple ทุกคน แต่ถ้าดูในมุมของยอดขายกับมูลค่าของบริษัท บอกได้เลยว่ายิ่งใหญ่กว่าตอนที่ Steve Jobs ยังคุมบังเหียนอยู่มากครับ

Steve Jobs เลือก Tim Cook ไม่ใช่เพราะเขาเหมือนที่ Jobs เป็น แต่กลับกัน เขาเลือก Cook เพราะ Cook ทำได้ดีในสิ่งที่ Cook เป็น Jobs มองเห็นว่า Cook จะพา Apple ให้ยิ่งใหญ่ได้อย่างไรเมื่อเขาต้องจากไป

เอาเข้าจริงแล้ว Tim Cook เองก็ทำหน้าที่เหมือนเป็น CEO Apple อยู่กลายๆ ตั้งแต่วันที่ Steve Jobs อยู่ หลายคนรู้ว่าเขาทำหน้าที่บริหารจัดการทุกอย่างในบริษัทแทน Steve Jobs ที่ชอบทำในสิ่งของการสร้าง Products หรือ Marketing มากกว่า

ดังนั้นวันที่ Jobs รู้ว่าจะจากไป จึงวางให้ Cook จึงได้รับตำแหน่งที่ตัวเองรับผิดชอบจริงๆ เสียที

สิ่งหนึ่งที่ Cook ทำได้ดีมากๆ จนทำให้ Apple ยิ่งใหญ่ได้คือการบริหารจัดการทรัพยากรและการผลิต การบริหารจัดการสต็อกสินค้าไม่ให้บวมหรือขาดแบบวันวาน

เชื่อไหมว่าสมัยก่อน Apple มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการสินค้าหนักมาก ตอนปี 1993 ทาง Apple เคยคาดการณ์ยอดขาย Power Book ผิด จนส่งให้เหลือสต็อกมากมายค้างในโกดัง ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของบริษัทมหาศาล

Apple จึงจำฝังใจจากคาดการณ์ยอดขายที่มากเกินไปแล้วเอามาใช้ในปี 1995 แต่ก็กลับสร้างความเสียหายให้ Apple อีกด้านที่น่าเสียดาย

ในปี 1995 Apple เปิดตัว Power Mac กลับมียอดจองยอดซื้อถล่มทลาย แต่ทีมงานกลับคาดการณ์ยอดขายไว้ต่ำมาก จนทำให้ไม่มีสินค้าพอขายกับความต้อการลูกค้าในเวลานั้น ด้วยยอดจองเครื่อง Power Mac 150,000 เครื่อง แต่กลับมีเครื่องส่งถึงมือลูกค้าน้อยมาก และหลังจาก Tim Cook เข้ามาปัญหาดังกล่าวจึงหมดไปครับ

Apple เริ่มมาปรับวิธีการผลิตสินค้าเป็นแบบ Just in time คือคาดการณ์ยอดขายล่วงหน้าแบบแม่นยำมากๆ และก็ผลิตแค่เท่าที่จะต้องขายจริงในระยะเวลา 14 วันเท่านั้น

ว่ากันว่าสินค้าของ Apple นั้น ทันทีที่ถูกส่งถึงหน้าร้าน ก็สามารถระบายออกได้ภายในระยะเวลาแค่ 1 สัปดาห์ เรียกได้ว่าขายคล่องยิ่งกว่านมสดเสียอีก

ซึ่งเจ้าเทคนิคการผลิตแบบ Just in time ก็ไม่ได้มาจากไหนไกล แต่มาจาก Toyota ครับ ที่เดิมทีก็อาจจะเรียกกันว่าการผลิตแบบ LEAN ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีที่มาจากร้านสะดวกซื้อซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็กแห่งหนึ่ง

เดิมทีร้านสะดวกซื้อมีพื้นที่จำกัดมาก แต่กลับมีสินค้าต้องเอามาวางขายเยอะชิ้นเกินพื้นที่หน้าร้าน

ทางร้านจึงต้องจัดสรรพื้นที่ขายให้พอดีกับสินค้าแต่ละชนิดที่ขายดีตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น ช่วงกลางวันกับกลางคืนก็อาจมีการสลับสินค้ากัน เพราะข้อมูลการขายแตกต่างกัน ส่วนช่วงวันธรรมดากับวันหยุดก็อาจสลับสินค้ากันอีก

ทั้งหมดนี้เป็นการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างพื้นที่ที่มีจำกัด ให้สามารถขายได้เกิดกำไรสูงสุด และแนวคิดนี้ก็ถูกเอามาปรับใช้กับอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน ถ้าต้องใช้ก็ค่อยผลิต ไม่จำเป็นต้องผลิตสต็อกทิ้งเอาไว้เยอะๆ แล้วมาลุ้นว่าเมื่อไหร่จะขายได้แทนครับ

แต่เบื้องหลังความสำเร็จของ Apple ที่สามารถทำการผลิตสินค้าแบบ JIT หรือ Just In Time ได้ก็เพราะมีบริษัทผู้ผลิตเบื้องหลังที่ชื่อว่า Foxconn ที่เราหลายคนคงรู้จักบริษัทนี้เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นระหว่าง ​Apple กับ Foxconn มาจาก Tim Cook นี่แหละ เริ่มจากคอมพิวเตอร์ iMac และสาเหตุที่ Apple เลือก Foxconn ไม่ใช่เพราะราคาถูกอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่เลือกเพราะ Flixibility หรือความคล่องตัวที่สูงมาก ซึ่งนั่นกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญของ Apple ต่อๆ มา บอกได้เลยว่าถ้าไม่มี Foxconn คอยผลิตทุกสิ่งของ Apple ให้ ก็ยากที่ Apple จะยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ครับ

เพราะน้อยคนจะรู้ว่าจริงๆ แล้วโทรศัพท์มือถือ iPhone นั้นประกอบด้วยมือคนมากกว่าเครื่องจักร การจะประกอบโทรศัพท์ให้สำเร็จนั้นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมหาศาล ซึ่งทาง Foxconn เองก็มีความสามารถในการจ้างคนหลายพันคนในเวลาชั่วข้ามคืนได้สบายๆ ถ้าจำเป็นต้องทำนอนค้างคืนที่โรงงานเพื่อทำงานโต้รุ่งก็สามารถทำได้ นั่นคือสิ่งที่ Apple ไม่สามารถทำได้ในประเทศอเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ในโลกครับ

พอไม่มีงานให้ทำทาง Apple ก็ไม่ต้องมือเปื้อนเลือดในการรับผิดชอบคนงานจำนวนมากที่ระดมมาเพื่อผลิตสินค้าเฉพาะกิจบางอย่าง ก็ปล่อยให้ Foxconn ไปจัดการ จะไล่ออกหรือโยกไปทำงานอะไรก็แล้วแต่ ฟังดูโหดร้าย แต่โลกธุรกิจที่การแข่งขันสูงมันก็โหดร้ายแบบนี้แหละครับ

ส่วนถ้าถามว่า Foxconn นั้นคล่องตัวสูงหรือ Flexibility ขนาดไหน เอาง่ายๆ ตอน iPhone รุ่นแรกกำลังจะวางขายในปี 2007 ตอนนั้น Steve Jobs พบปัญหาว่าเมื่อเขาใส่โทรศัพท์มือถือต้นแบบไว้ในกระเป๋ากางเกงคู่กับกุญแจและเหรียญ กลายเป็นว่าหน้าจอโทรศัพท์มือถือ iPhone ต้นแบบที่ใช้วัสดุอย่างพลาสติกกลับดูน่าเกลียดมากๆ

ทาง Steve Jobs จึงสั่งให้แก้ไขเรื่องนี้ซะ เปลี่ยนหน้าจอมาเป็นกระจกทันที ในฝ่ายการผลิตก็ไปหากระจอกันรอยขีดข่วนสูงอย่าง Gorilla Glass มา ส่วนทาง Apple ก็จัดส่งกระจกที่ว่านี้ให้โรงงาน Foxconn แล้วก็สั่งให้คนงานจัดการแก้ไขหน้าจอ iPhone ใหม่หมดใยระยะเวลาไม่กี่วัน

อีกหนึ่ง Case ที่อธิบายถึงจุดแข็งของ​ Foxconn ได้เป็นอย่างดีคือตอนที่วิศวกรฝ่ายออกแบบของ Apple เกิดปวดหัวกับปุ่มเล็กๆ ปุ่มหนึ่ง เพราะเจ้าปุ่มนี้ยังไม่ได้ผ่านการทดสอบเลยว่าจะสามารถกดใช้งานจริงได้ขนาดไหน ซึ่งถ้าสั่งผลิตแล้วเกิดตัวปุ่มมีปัญหาพัง ก็เท่ากับว่าต้องตามเก็บสินค้ามาแก้ไขหลายแสนหลายล้านชิ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล

ปกติแล้วการออกแบบปุ่มต้องผ่านการทดสอบว่าสามารถกดได้จริงกี่ครั้ง มากพอที่จะผ่านมาตรฐานการใช้งานปกติ แต่ปัญหานี้ทาง Foxconn ก็สามารถจัดการให้ Apple สบายใจได้โดยไว ด้วยการสั่งให้พนักงานลุกขึ้นมาทำการกดปุ่มทั้งวันซ้ำๆ โดยไม่ต้องไปทำอย่างอื่น จนมั่นใจว่าเจ้าปุ่มเล็กๆ นั้นถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีและจะไม่พังเสียหายโดยง่ายครับ

จากจุดนี้ทำให้ผมคิดว่า อนาคตของงานจะมีสองแบบ งานที่ AI ทำได้ดีกว่ามนุษย์ กับงานที่ไม่คุ้มให้ AI ทำ ให้มนุษย์ทำคุ้มกว่า มนุษย์จำนวนไม่น้อยจะต้องมาทำงานแบบนี้ แบบที่ต้องกดปุ่มกระทันหัน แบบที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าแบบทันควัน

ส่วนมนุษย์กลุ่มที่น้อยมากๆ ก็จะอยู่เหนือ AI และเหนือมนุษย์ที่ต้องทำงานแทน AI อีกทีครับ

เพราะ Apple เคยสร้างโรงงานล้ำสมัยที่มีสายพานการผลิตเครื่อง Macintosh ที่ Bay Area ในตอนนั้นเขากะว่าจะต้องมีการผลิตอย่างถล่มทลาย เลยสร้างโรงงานทันสมัยที่พร้อมปั๊มเครื่อง Macintosh ได้จำนวนมากๆ ออกมา

แต่ว่ายอดขายกลับไม่ได้เป็นดังคาด และปัญหาสำคัญหนักกว่านั้นคือมันสามารถผลิตได้แต่เครื่อง Macintosh ที่ถูกกำหนดมาเท่านั้น มันไม่สามารถปรับตัวไปผลิตเม้าส์ หรือเครื่อง Apple II ที่ขายดีในเวลานั้นได้ ซึ่งนี่ผิดกับโรงงานมนุษย์บวกเทคโนโลยีของ Foxconn ที่มีคนเป็นหัวใจหลักในการผลิต ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือก็เข้ามาช่วยให้งานแต่ละส่วนเสร็จได้เร็วขึ้นครับ

ในงาน WWDC2014 ทาง Apple ภายใต้การนำของ Tim Cook ก็ได้เปิดตัวภาษาใหม่ที่ชื่อว่า Swift ทำให้การเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก ที่สำคัญคือยังทำเป็น Open Source ให้ใครๆ เอาไปพัฒนาต่อยอดด้วย เพราะ Tim Cook มองว่าภาษาที่สำคัญที่สุดของโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ภาษาพูด แต่เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ หรือภาษาโปรแกรม ถ้าใครเข้าใจภาษานี้ก็จะสามารถสื่อสารกับคนทุกภาษาที่ใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ได้สบาย จนทำให้เป็นข้อได้เปรียบอย่างมากครับ

เรื่องตลกส่งท้าย หนังสือเล่มนี้บอกให้รู้ว่า Steve Jobs ไม่ชอบโลโก้รีไซเคิลเอาเสียเลย เขาถึงขนาดปฏิเสธไม่ยอมให้โลโก้ดังกล่าวปรากฏบน iPhone เพราะความไม่เข้ากันของมัน นี่คือความเป็น Perfectionist ของ Steve Jobs ที่ก่อร่างสร้าง Apple มา และวันนี้ก็เป็น Tim Cook ที่นำพาบริษัทแห่งนี้กลายเป็นบริษัทเอกชนอันดับหนึ่งของโลกในแบบที่ Steve Jobs คงเกินคาดไม่น้อยครับ

สรุปหนังสือชีวประวัติ Tim Cook อัจริยะผู้พาแอปเปิลสู่อนาคตใหม่

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้รู้จัก Tim Cook ผู้กุมบังเหียนบริษัท Apple ในฐานะ CEO ต่อจาก Steve Jobs ผู้สร้างและเป็นตำนานได้อย่างไร้ข้อกังขาอีกต่อไป เขาสามารถพา Apple มาอยู่ในจุดสูงสุดแทบทุกด้านจนยากจะหาบริษัทไหนในโลกเทียบได้

เหลือแค่ว่าอนาคตถัดจากนี้ของ ​Apple ก้าวต่อไป จะออกไปทางไหน ในเมื่อตัวเองก็ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เข้าจะก้าวผ่านความยิ่งใหญ่ของตัวเองไปสู่ในยุคใหม่ ยุคแห่งเทคโนโลยีเข้าถึงทุกซอกมุมในชีวิตได้อย่างไร ต้องคอยติดตามกันครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 25 ของปี

สรุปหนังสือ Tim Cook อัจฉริยะผู้พาแอปเปิลสู่อนาคตใหม่
Leander Kahney เขียน
ชัชวนันท์ สันธิเดช เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ ซีเอ็ด

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับ Apple ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/tag/apple/

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://click.accesstrade.in.th/go/RtI9hUQf

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/