สรุปหนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 3 The Little Book of Business 3 ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ เจ้าของเพจ Trick of the Trade

สรุปหนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน เล่ม 3 เขียนโดนพี่ปิ๊ก เจ้าของเพจ Trick of the Trade ผู้มากประสบการณ์ในแวดวงการจัดการธุรกิจ จากทั้งธุรกิจตัวและ และจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทน้อยใหญ่มากมาย หนังสือเล่มนี้เหมือนรวบรวมเอาประสบการณ์ทั้งหลายมาให้เราได้อ่านเพื่อปรับใช้กับธุรกิจตัวเอง และที่สำคัญคือหลายบทถ้ารู้เร็ว สามารประหยัดค่าโง่ได้เป็นล้านสำหรับเจ้าของธุรกิจครับ

แม้ส่วนตัวผมกับพี่ปิ๊ก ผู้เขียนหนังสือจะเจอกันค่อนข้างบ่อย แต่ก็ยังมีบางประเด็นในหนังสือที่น่าสนใจ เลยขอหยิบมาเล่าสู่กันฟังสั้นๆ เพื่อกระตุ้มต่อมน้ำลายคุณให้ไปซื้อหามาอ่านเป้นเจ้าของสักเล่มครับ

1. จงเต็มที่กับงาน แม้ยังไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้อะไร

สำหรับคนทำธุรกิจเกี่ยวกับการตลาด บอกได้เลยว่าประเด็นนี้เหมือนกับการสร้าง Business Branding เลยครับ

เหมือนตรงไหน เพราะการทำแบรนด์เหมือนกับการทำบุญ เหมือนตรงที่ทำตอนนี้ยังไม่เห็นผลทันที ต้องหมั่นทำสะสมไปเรื่อยๆ ถึงเวลาแต้มบุญจะมีมากพอช่วยให้เราแคล้วคลาด จากวิกฤตบางอย่างในอนาคตได้บางส่วน และแต้มบุญจากการทำแบรนด์ยังช่วยให้เราทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

เช่น ลูกค้าเริ่มคุ้นแล้วว่าเราเป็นใคร เราทำอะไรได้ มันทำให้เรามีภาษีมากกว่าบริษัทอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่คุ้น ไม่รู้จักมาก่อน

ดังนั้นถ้าคุณยังสะสมบุญธุรกิจผ่านการทำแบรนด์ไม่มากพอ อย่ารีบถามหาผลบุญนะครับ และถ้าอดใจอดทนทำการตลาดสร้างแบรนด์ไม่ได้ ก็อย่าเสียเวลาอย่าเสียเงินทำดีกว่า เพราะมันจะเซ็งทั้งสองฝ่าย คนเสียเงินแบบคุณก็เซ็ง คนทำการตลาดที่รับเงินคุณมาก็เซ็ง

ปล. ส่วนตัวผมไม่รับทำการตลาดสร้างแบรนด์ให้ลูกค้ากลุ่มนี้เลย

2. Social media เป็นแหล่งเติมพลังและสูบพลังในเวลาเดียวกัน

หลายคนติดกับดักโซเชียลมีเดีย เปิดเข้าเฟซหรือไอจีแต่ละที ทำไมชีวิตเพื่อนเรามันดี๊ดีจังเลยนะ คนนั้นได้งานนี้ คนนี้ได้งานนั้น คนนั้นประสบความสำเร็จจนมีเงินซื้อไอ้นั่น(ซูเปอร์คาร์) ส่วนอีกคนทำไมอยู่ดีๆ มันซื้อบ้านราคาหลายสิบล้านทั้งที่ไม่กี่ปีก่อนยังตามหลังเราอยู่เลยหละ

โซเชียลมีเดียทำให้เรามีเพื่อนบ้านเยอะขึ้น ทำไมผมถึงพูดถึงเพื่อนบ้านหรอครับ?

เพราะสมัยก่อนเรามักเปรียบเทียบตัวเองกับแค่เพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงาน หรือเพื่อนที่โรงเรียน แต่วันนี้พอเราอยู่ในยุคอินเทอร์เน็ต ยุคโซเชียลมีเดีย เราสามารถเข้าไปเห็นชีวิตใครก็ได้ ก็เปรียบกับเรามีคนทั่วโลกเป็นเพื่อนบ้าน รู้จักตัวเขาได้โดยไม่ต้องรู้จักบ้าน

แต่กลายเป็นว่ายิ่งดูไปเราก็ยิ่งรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า ทำไมชีวิจเรามันน่าเวทนากว่าชาวบ้านเสียจริง

ทั้งที่ความจริงแล้วชีวิตเราอาจจะดีกว่าปีก่อนมากแล้ว เพียงแต่เราเอามาตรฐานที่สูงเกินไปมาเทียบกับตัวเอง จึงทำให้ตัวเองรู้สึกดูด้อยค่าได้

และนั่นก็คือการโดนโซเชียลมีเดียสูบพลังไปจนท้อแท้ไม่อยากทำอะไร ทางที่ดีคือเลือกติดตามเฉพาะเพื่อนที่สำคัญไว้ ใครไม่สำคัญก็ไม่ต้องรับแอดเฟรน ใครจำเป็นต้องรักษาสถานะความเป็นเฟรนบนโซเชียลก็เลือก Unfollow จะได้ไม่ต้องเห็นโพสทั้งหมดก็ได้ครับ

สรุปง่ายๆ คือเล่นโซเชียลให้เป็น อย่าปล่อยให้โซเชียลมันเล่นเรา ไม่รู้ว่าส่วนหนึ่งของการซึมเศร้าง่าย คือเราเอาตัวเองไปเทียบกับคนที่ประสบความสำเร็จง่ายไป จนพาลให้เราท้อแท้ไม่อยากใช้ชีวิตแล้วหรือเปล่านะ

3. ไม่ใจร้อนและโลภกับทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา เพราะไม่ใช่ทุกโอกาสจะเหมาะกับเรา ส่งต่อให้คนอื่นบ้างก็ได้

จริงมากครับ โดยเฉพาะมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ เวลาเราทำอะไรได้ดีสักหน่อย มักจะมีคนอยากเข้ามาบอกว่า “สนใจทำอะไรร่วมกันไหม?” ทั้งที่ในความเป็นจริง ที่เจอส่วนใหญ่จำนวนมาก ทำอะไรร่วมกันไหมที่ว่าคือเราทำ เขาช่วยอะไรนิดหน่อย แต่ส่วนแบ่งส่วนใหญ่กลายเป็นเขาที่ได้มากกว่า

ชั่งใจกับโอกาสนั้นให้ดี อย่ามองแค่ผลตอบแทนระยะสั้น ให้มองผลผูกพันธ์ระยะยาว ปฏิเสธบางโอกาสที่คิดว่าไม่ดีในระยะยาวไปจะปลอดภัยและสบายใจกว่า ที่สำคัญคือรู้จักสร้างโอกาสที่จะทำให้ได้มาซึ่งโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติม นั่นก็คือการให้กับคนอื่น หรือการทำการตลาดสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจเราครับ

4. สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าจัดซื้อ อยากชนะตั้งแต่ในมุ้ง ต้องมีจัดซื้อเทพๆ ในบริษัท

ข้อนี้เรียกว่าเปิดโลกผมเลย ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าฝ่ายจัดซื้อจะช่วยให้ธุรกิจกำไรได้โดยไม่ต้องทำอะไร ซึ่งพอคิดตามสักหน่อยก็ใช่โดยไร้ความสงสัย เพราะจัดซื้อที่ดี ทำให้เราได้สินค้าหรือบริการที่ดีเท่าเดิม แต่ราคาที่ถูกลง หรือเงื่อนไขที่สะดวกกับธุรกิจเรามากขึ้น

ดังนั้นบริษัทใครอยากโตในปีหน้า อย่าลืมมองหาจัดซื้อเก่งๆ ซึ่งเก่งๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเคี่ยวๆ นะครับ เก่งในการเจรจาต่อรอง เก่งในการจัดซื้อจัดจ้างให้เราลดต้นทุนได้มากที่สุด

จะเห็นว่าการทำธุรกิจนอกจากจะมีเรื่องการขายให้เก่ง ทำการตลาดให้ดีแล้ว ยังมีเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนให้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยจริง

5. 6 ประเภท Toxic Customer และวิธีการรับมือ

บทนี้เป็นอีกบทหนึ่งที่ผมชอบ พี่ปิ๊กสรุปมาให้เราเห็นภาพง่ายๆ ว่า ลูกค้าแบบไหนที่ควรถอยห่าง ส่วนถ้าถอยไม่ได้ต้องสู้ ก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสู้รับมือลูกค้าประเภท Toxix Customer นิดนึงครับ

  1. เอาแต่ได้ ดูแล้วถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าสำคัญ (ซึ่งก็ไม่น่าใช่) ตัดได้ก็ตัดไป อย่าเสียเวลาทำธุรกิจกับคนแบบนี้เยอะ
  2. ไม่เคยพอ ถ้ารู้ว่าไม่เคยพอเรื่องอะไร สามารถเตรียมสิ่งนั้นไว้ล่วงหน้าได้ก็จะช่วยลดปัญหาไปได้มาก
  3. รอไม่เป็น กลุ่มนี้ไม่ยาก บอกให้จัดเจนว่าถ้าอยากเร็วมีค่าใช้จ่ายเพิ่มยังไง (อันนี้ผมก็ทำ)
  4. เห็นใครดีกว่าไม่ได้ อยากได้สิทธิพิเศษ แต่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าพิเศษกับเรา แบบนี้ผมเคยเจอ ก็บอกเงื่อนไขไปว่าถ้าอยากได้สิทธิพิเศษต้องทำอย่างไร มีต้นทุนค่าใช้จ่ายแบบไหนที่เขาต้องรับ สุดท้ายส่วนใหญ่ยอมถอยหมด มีน้อยรายมากที่พร้อมสู้เพื่อให้ได้สิทธิ์นั้น
  5. ไม่ตัดสินใจ อันนี้อาจต้องช่วยเขาตัดสินใจหน่อย แต่ถ้าตัดสินใจไม่ได้สักที ก็ปล่อยไปก่อน ไว้คิดออกมาไหร่ค่อยมารับออเดอร์
  6. เน้นราคาถูก กลุ่มนี้ต้องทำให้เห็นว่าถ้ายอมจ่ายแพงกว่าจะได้สิทธิพิเศษอย่างไร

เป็นบทที่ดีและมีประโยชน์มากๆ ใครทำธุรกิจต้องเอา 6 ข้อนี้เก็บไว้เป็น Checklist ได้เลยครับ

6. วิชาโทรโข่ง Crisis Management

เป็นเรื่องของชายคนหนึ่งที่เป็นลูกค้าคอมพิวเตอร์บริษัทหนึ่ง พบว่าสินค้ามีปัญหา พอติดต่อขอแก้ไขตามเงื่อนไขที่บริษัทรับประกัน กลายเป็นว่าไม่ได้รับความสนใจ และไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ลูกค้ารายนี้จึงเอาโทรโข่งไปพูดประจานบริษัทนี้ที่หน้าตึก

ปรากฏว่าไม่กี่ชั่วโมงมีผู้คนให้ความสนใจมากมาย และภายในวันนั้นก็ได้รับการเปลี่ยนสินค้าใหม่ พนักงานที่ดูแลรับผิดชอบสินค้าบอกว่า “ไม่เห็นต้องทำแบบนี้ก็ได้”

แต่เจอลูกค้ารายนี้ตอบกลับทำนองว่า “แล้วทำไมตอนพูดดีๆ ไม่ฟัง ต้องให้มาพูดใส่โทรโข่งให้คนอื่นฟัง ถึงจะยอมฟังใช่ไหม?ไ

จำเอาไว้นะครับว่า ทำธุรกิจแล้วต้องรักษาสัญญาหลังการขาย ไม่อย่างนั้นคุณอาจเจอโทรโข่งลูกค้า มาพูดประจานบนออนไลน์ให้เสียภาพลักษณ์ที่สั่งสมมาก็เป็นได้ครับ

7. ลูกค้าไม่คิดเยอะ

พี่ปิ๊กเล่าในหนังสือวิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอนเล่ม 3 ว่า ครั้งหนึ่งตอนจะออกสินค้าไอศกรีมไฟเขียว เหลือง แดง พอทีมงานร่างแบบออกมาไปคุยกับฝ่ายผลิตพบว่ายากจะทำให้ผลิตได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำ

ทางทีมงานก็พยายามคิดอยู่นานมาก แต่ก็คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรให้ผลิตได้ในราคาที่ต่ำพอที่เด็กๆ ประถมเป้าหมายหลักจะเอาค่าขนมมาซื้อได้

จนกระทั่งได้ลงไปถามเด็กประถมกลุ่มเป้าหมาย ให้ช่วยวาดไฟเขียวไฟแดงให้ดูหน่อย พบว่าไฟเขียวไฟแดงในความคิดของเด็กๆ นั้นไม่ซับซ้อน ไม่มีรายละเอียด มีแค่ส่วนหลักๆ ก็คือสามสีเท่านั้น

ไม่ต้องมีกรอบ ไม่ต้องมีสายไฟ ไม่ต้องมีโครงเหล็กแต่อย่างไร

จากการถามความคิดลูกค้าเด็กประถมครั้งนั้น ทำให้สามารถผลิตไอศกรีมไฟเขียวไฟแดงได้สำเร็จในต้นทุนที่กำหนดไว้ และท้ายที่สุดก็สามารถสร้างยอดขายได้มากมาย ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ลงไปถามลูกค้า เอาแต่คิดเองเออเองกันในบริษัท เราจะไม่มีทางเข้าใจเลยว่า ลูกค้าคนจ่ายเงินต้องการแค่ไหนหรือคิดอย่างไรกันแน่ครับ

ต่อไปนี้เลิกคิดเองเออเองแทนลูกค้า หมั่นลงไปถามลูกค้าให้มากๆ นะครับ

8. วิธีล้วงข้อมูลคู่แข่งอย่างสง่างาม

บทนี้ดี เลอค่า แต่ไม่อยากเล่า แนะนำว่าต้องอ่านทั้งหมดเอง แล้วจะรู้ว่าการล้วงข้อมูลคู่แข่งแบบถูกต้องนั้นไม่ยากอย่างที่คิดครับ

9. Stay Interview สัมภาษณ์ตอนอยู่ เพื่อช่วยกันทำให้บริษัทดีขึ้น

ปกติแล้วการสัมภาษณ์จะมีแค่ก่อนรับเข้าทำงาน กับบางบริษัทจะมีสิ่งที่เรียกว่า Exist Interview กันบ้างครับ

แต่ประเด็นคือพอคนจะออกแล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะบอกตรงๆ หรือระบายออกทุกอย่างแบบสาดเสียเทเสียหรอก

บางคนรู้สึกว่า “กูไปหละ เรื่องของพวกมึง พูดไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น เปลืองน้ำลาย” ทำให้การทำ Exist Interview อาจไม่ได้ผลที่ดีอย่างตั้งใจหรือฟังๆ เขามาเท่าไหร่นัก

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้คือการสัมภาษณ์ระหว่างยังทำงานด้วยกัน Stay Interview คือสิ่งที่บริษัททั้งหลายควรทำให้บ่อย

มันคือการถามพนักงานว่าตรงไหนที่ดี ตรงไหนที่ยังไม่ดี ตรงไหนที่อยากทำเพิ่ม และผมก็เอามาต่อยอดใช้กับพนักงานในการตลาดวันละตอนทันทีนั่นก็คือการถาม 3 คำถาม

  1. อะไรที่บริษัทน่าจะทำในปีหน้า
  2. อะไรที่ตัวเองอยากจะทำในปีหน้า
  3. และอะไรที่บริษัทควรหยุดทำได้แล้ว

ข้อสุดท้ายผมเพิ่มมาเอง เพราะผมมีประสบการณ์ว่า การทำเพิ่มไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เผลอทำให้สิ่งที่ทำได้ดีอยู่แล้วแย่ลงอีกด้วยครับ

ถ้าจะเพิ่มงานต้องลดงานบางส่วนลง หรือไม่ก็หาคนมารับผิดชอบงานนั้นเพิ่ม อย่าสักแต่ว่าเพิ่มงานไปเรื่อยๆ จนลืมดูว่าลูกน้องเราถืออะไรในมือบ้าง และถ้าเราเป็นเค้าเราจะทำงานให้ออกมาดีได้หรือไม่

10. ทุกความสำเร็จประกอบด้วยอะไรบ้าง

ผมขอเลือกข้อนี้มาเป็นข้อปิดท้าย คิดว่าจบที่ 10 ข้อคิดที่ได้จากหนังสือวิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอนจะดูเท่ห์กว่าเป็นเลข 11, 12 หรือ 13

ซึ่งในข้อนี้ก็ประกอบด้วยข้อย่อยๆ มากมาย อย่างการทำสิ่งนั้นได้สม่ำเสมอ ต่อเนื่องยาวนาน

เคล็ดลับความสำเร็จก็ง่ายๆ แค่นี้เองครับ ทำมันไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือใคร ทำมันให้ดีไปเรื่อยๆ จนผู้คนรู้จักและจดจำได้ ชีวิตคือการทำสะสมผลลัพธ์ในระยะยาว เทียบกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้นร้อยเมตร พวกนี้ดังไว ไปไว

อยากประสบความสำเร็จในชีวิตและธุรกิจให้ได้ ต้องอดทนทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นะครับ

ทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะไม่เป็นที่ถูกใจคนอื่น การทำงานไม่ใช่การทำเพื่อเอาใจใคร หรือตัดสินใจบางอย่างเพียงเพราะต้องการให้เป็นที่ถูกใจคนอื่น

คนส่วนใหญ่เลือกตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ขัดใจคนอื่น ผลคือออกมาไม่ดี สุดท้ายทุกคนก็ไม่แฮปปี้ นี่คือสิ่งที่ไม่ควรทำในการทำธุรกิจครับ

สรุปหนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน เล่ม 3

ยังคงเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ดีๆ เคล็ดลับการทำธุรกิจดีๆ จากผู้มากประสบการณ์อย่างพี่ปิ๊ก เจ้าของเพจ Trick of the Trade ใครทำธุรกิจอยู่ต้องรีบหามาอ่าน ถ้าไม่อยากพลาดเสียค่าโง่หลายล้าน ทั้งที่ถ้าแค่รู้ก็ป้องกันได้

ส่วนใครที่กำลังคิดจะทำธุรกิจยิ่งต้องอ่าน จะได้เอามาใช้ปูพื้นฐานสร้างธุรกิจตัวเองให้แน่นตั้งแต่วันแรกครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 41 ของปี

สรุปหนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน เล่ม 3
The Little Book of Business 3
ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์
เจ้าของเพจ Trick of the Trade
สำนักพิมพ์อะไรเอ่ย

อ่านสรุปหนังสือเล่ม 1 ต่อ

สนใจสั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ > https://www.facebook.com/trickofthetrade/posts/673046784188144

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/