ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ

หนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 หรือชื่อเล่มคือปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบเล่มนี้ทำให้ผมนึกถึงคำหนึ่งที่คนแวดวงโฆษณาและการตลาดชอบใช้กัน นั่นก็คือคำว่า Storytelling

Storytelling น่าจะเป็นคำที่เป็นกระแสในบ้านเราเมื่อสัก 4 ปีก่อน ซึ่งหลักใหญ่ใจความก็คือถ่ายเล่าเรื่องที่แบรนด์อยากพูดนักการตลาดอยากบอกออกไปอย่างไรให้คนบนออนไลน์ไม่กด Skip ad หรือเลื่อนฟีดโฆษณาของแบรนด์ให้ผ่านไปอย่างรวดเร็วท่ามกลาง Content ที่มีให้เสพย์มากมายไม่รู้จบ

เช่นเดียวกันระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมคิดว่า หนังสือ ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ หรือ ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 เล่มนี้น่าจะได้รับนิยามใหม่ว่า Businesstelling หรือเป็นหนังสือที่สามารถเล่าเรื่องธุรกิจที่คนนอกเคยคิดว่าน่าเบื่อและเข้าใจยาก ให้กลายเป็นอ่านสนุกและน่าติดตามได้ในแบบที่วางไม่ลงเลยจริงๆ

ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยรู้จักคุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มาเป็นการส่วนตัว แต่ผมแอบเป็นติ่งตามหนังสือแกมาตั้งแต่เริ่มแรกแล้วก็คิดว่า “ทำไมหนังสือเล่มนี้อ่านสนุกจัง” จนทำให้ผมต้องไปกด See First เพจ 8 บรรทัดครึ่งไว้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จนเร็วๆ นี้ผมเพิ่งได้มีโอกาสจัดคลาสสอนออนไลน์ร่วมกับเพจ 8 บรรทัดครึ่ง ของคุณต้องจนได้พบกันเป็นการส่วนตัวครั้งแรกก็ยิ่งรู้สึกประทับใจมากเป็นพิเศษ

Data-Driven Marketing การตลาดวันละตอน 8 บรรทัดครึ่ง

เพราะระหว่างคลาสที่ผมบรรยายเรื่อง Data-Driven Marketing ไป คุณต้องก็สามารถจับประเด็นบางอย่างเสริมเข้าไปให้น่าสนใจยิ่งขึ้น หรือหยิบประสบการณ์ของตัวเองแชร์เพิ่มเข้ามาให้เนื้อหามีมิติมากขึ้น และนั่นก็ทำให้ผมรู้ว่าคนที่จะสามารถทำแบบนี้ได้ต้องไม่ใช่แค่อ่านเยอะ แต่ต้องผ่านประสบการณ์มาเยอะยิ่งกว่าครับ

เพราะจากประสบการณ์การเป็นนักเขียน เริ่มทำเพจ เขียนคอนเทนต์ และก็อ่านมาเยอะเหมือนกัน ผมพบนักเขียนอยู่สองประเภท 1 ฟังเค้ามาเขียน กับ 2 ฟังแล้วเอาของตัวเองมาเขียน

แบบแรกเราจะเห็นอยู่เต็มไปหมด อ่านแล้วรู้สึกเหมือนไม่จบไม่สุด เหมือนมันยังต้องมีอีกนิด หรือตรงนั้นมันหมายความว่ายังไงนะ แล้วในบริบทบ้านเรามันเป็นแบบไหน เหมือนมันยังค้างๆ คาๆ เคยเป็นแบบนี้มั้ยครับ

กับนักเขียนแบบที่สองคือ คนที่ทั้งอ่าน แล้วเอามาประยุกต์ใช้ แล้วก็อาจจะเอาเรื่องทั้งหมดพลิกและบิดบริบทใหม่ใส่เข้าไป จนบางครั้งเนื้อหาเดิมอาจเหลือไม่ถึงครึ่ง เพราะถูกนักเขียนคนนั้นหยิบมาแต่แก่นบางส่วน แต่เนื้อหาทั้งหมดถูกประกอบขึ้นมาใหม่ในสไตล์ของตัวเอง

คุณต้อง กวีวุฒิ แห่ง 8 บรรทัดครึ่งเป็นแบบนั้น หลายหัวข้อเป็นเรื่องที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง แต่เรากลับไม่เคยได้รู้ถึงในแง่มุมเหล่านี้ที่ถูกเล่าผ่านธุรกิจพอดีคำมาบ้างเลย และนั่นก็เลยทำให้เนื้อหาของธุรกิจพอดีคำนั้นอิ่มกำลังดี ไม่น้อยไปจนไม่อิ่ม และไม่มากไปจนชวนหัว แถมรสชาติก็กำลังดีไม่คำใหญ่แต่ไร้รส ทำให้นึกถึงเวลาไปกิน Chef Table แม้อาหารจะมาแค่เมนูละนิดแค่ประมาณคำนิดๆ แต่กลับรู้สึกฟินกำลังดีเลยจริงๆ

หลายเรื่องหลายบทในเล่มผมขอไม่เล่าสรุปเหมือนหนังสือเล่มอื่น เพราะทุกบทนั้นพอดีคำแล้วจริงๆ กลัวว่าถ้าหยิบมาอย่างละนิดอย่างละหน่อย ก็จะเสียรสชาติความอร่อยของธุรกิจพอดีคำครับ

แต่ไหนๆ อ่านแล้วเล่า ก็มีจุดตั้งต้นที่การสรุปหนังสือ ดังนั้นผมขอสรุปสั้นๆ ทิ้งท้ายให้ว่าถ้าคุณกำลังสงสัยว่า Agile อย่างไรถึงจะดี เราจะทำให้คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างไร การจะคิดให้ต่างต้องเป็นแบบไหน แล้วในยุค Data หรือ Digital Transformation นั้นอุปสรรคอะไรที่ขวางกั้นมันเหลือเกิน

แต่บอกไว้ก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ให้เนื้อหาเชิงเทคนิค แต่เป็นการให้เนื้อหาเชิงความคิด สร้าง Mindset และ Inspiration เพื่อให้คุณได้เริ่มทำอย่างถูกต้อง

สุดท้ายนี้ถ้าให้แนะนำผมว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนที่เป็นลูกน้อง หรือคนที่ยังต้องมีหัวหน้า ที่บอกว่าเหมาะก็เพราะว่าผมอยากให้คุณซื้อไปให้หัวหน้าได้อ่านจะได้เข้าใจมุมมองของลูกน้องที่อยากเห็นองค์กรก้าวหน้าแบบคุณครับ

ส่วนคนไหนที่เป็นหัวหน้าแล้วอยากจะพาทีมและองค์กรก้าวหน้าก็ควรอ่าน แต่ก่อนเปิดอ่านผมอยากให้คุณบอกตัวเองก่อนว่า คุณต้องเปิดใจยอมรับข้อบกพร่องของตัวเองให้ได้ก่อนนะ เพราะหลายเรื่องมันก็บังเอิญโดนการกระทำที่เราอาจไม่ตั้งใจให้มันเป็นเรื่องราวแบบในเล่มนี้จริงๆ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 16 ของปี 2020

ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4 ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ

สรุปหนังสือ ปล่อยใจคิดไม่ติดกรอบ
ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 4
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน
สำนักพิมพ์ Matichonbook

20200429

อ่านสรุปหนังสือธุรกิจพอดีคำเล่มอื่นต่อ > คลิ๊กที่นี่

สนใจสั่งซื้อหนังสือธุรกิจพอดีคำลำดับที่ 4 > https://bit.ly/2YfdZI8

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/