สรุปหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs Walter Isaacson เขียน สำนักพิมพ์ Nation Books รวมเรื่องราวของ สตีฟ จ็อบส์ ชายผู้สร้าง Apple และ iPhone

สรุปหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs ที่เขียนโดย Walter Isaacson เล่มนี้เป็นหนังสือที่ได้มานานมาก แต่ก็เชื่อว่าเก่ามากจนบางคนแปลกใจตอนที่ผมหยิบมาอ่าน

ส่วนหนึ่งเพราะช่วงนี้ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับ Apple หลายเล่ม ทั้งชีวประวัติ Tim Cook หนังสือ เรียบง่ายเป็นบ้า คนที่เคยทำงานกับ Steve Jobs เลยทำให้รู้สึกว่าอยากหยิบหนังสือที่เกี่ยวกับ Apple ทั้งหมดมาอ่าน อยากเข้าใจ AppleVerse ว่าอาณาจักร จักรวาลแอปเปิลยุคก่อนและหลัง Steve Jobs นั้นเป็นอย่างไร

ภาพรวมหนังสือเล่มนี้แม้ดูหนาจนตีหัวแตกสู้โจรได้ แต่กลับอ่านสนุก อ่านจบได้ไว โดยไม่รู้สึกว่าความหนาเป็นอุปสรรคแต่อย่างไรเลย

สิ่งแรกที่เพิ่งรู้จากหนังสือเล่มนี้คือแม่แท้ๆ ของ Jobs ไม่ได้อยากยกลูกให้คนอื่นเลี้ยง แต่ด้วยความไม่พร้อมในเวลานั้น จึงทำให้ต้องยก Jobs ให้คนอื่นไปก่อน แต่ก็ยังไม่ยอมเซ็นยกลูกให้ เพราะคิดว่าในอนาคตจะขอกลับมาเลี้ยงเอง

ความ Craft ใน Detail ของ Jobs น่าจะได้มาจากพ่อเลี้ยงของเขา พ่อกับ Jobs เคสสร้างรั้วด้วยกัน พ่อบอก Jobs ว่า เราต้องใส่ใจแม้ด้านหลังของรั้วให้สวยงาม แม้จะไม่มีใครเห็น แต่เราคนทำรู้ มันคือความภูมิใจของคนเป็นช่างฝีมือที่ได้สร้างสิ่งที่สวยงามที่สุดที่ตนเองจะทำได้

เลยทำให้เข้าใจว่าทำไม Jobs ถึงจู้จี้จุกจิกกับความสวยงามในตัวเครื่อง ในจุดที่ไม่มีใครเห็นนอกจากช่างที่แกะเครื่องออกมา เหมือนที่ Jobs ชอบพูดว่า ช่างไม้ที่ดีจะเลือกไม้ที่ดีและสวยงามแม้จะเป็นส่วนหลังตู้ที่ไม่มีใครมองเห็นตลอดอายุการใช้งานก็ตาม

Blue Box สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกระหว่าง Steve Jobs กับ Steve Wozniak

Photo: https://en.wikipedia.org/wiki/Blue_box

Blue Box เจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้สำหรับลักลอบโทรทางไกลฟรี เป็นสิ่งที่ทำให้ Jobs กับ Wozniak เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน จนกลายเป็นรากฐานของการก่อตั้งบริษัท ​Apple ที่ยิ่งใหญ่ในที่สุด

เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาทางเทคนิคจนสามารถผลิตขายได้จริง มันคือการเปลี่ยนจากสิ่งประดิษฐ์ของเล่น ให้กลายเป็นนวัตกรรมทำเงินจริงได้

พ่อของ Steve Wozniak เคยไม่พอใจ Steve Jobs ที่มีส่วนแบ่งกับลูกชายตัวเองมากเกินไป นั่นก็คือ 50/50 เพราะพ่อของ Wozniak มองว่า Jobs ไม่ได้ลงมือประดิษฐ์อะไรเลย มีแต่ลูกชายตัวเองเท่านั้นที่เป็นคนลงมือทำ

พ่อของ Steve Wozniak เคยพูดกับ Jobs ตรงๆ ต่อหน้า ทำเอา Jobs น้ำตาตกร้องให้ในทันที จนทำให้ Jobs ต้องบอกว่า ถ้า 50/50 ไม่ได้ก็เอาไปทั้งหมดเลยแล้วกัน

สุดท้าย Steve Wozniak ไม่เห็นด้วยกับพ่อ และเห็นด้วยกับ Jobs เขามองว่าถ้าเขาไม่มี Jobs เขาก็เป็นแค่นักประดิษฐ์คนหนึ่งเท่านั้นเอง

เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงส่วนผสมของ Business Partner ว่าต้องต่างกันอย่างไรจึงจะลงตัว แต่ละคนควรเสริมจุดอ่อนของอีกฝ่าย คนหนึ่งเก่งสร้าง คนหนึ่งเก่งขาย จึงจะไปได้รุ่ง

Communication is King ขายดีต้องขายเป็น

Photo: https://allaboutstevejobs.com/bio/key_people/mike_markkula

Mike Markkula นักลงทุนคนแรกของ Apple เป็นคนที่สอนให้ Jobs เข้าใจความสำคัญเรื่องการสื่อสาร หรือ Communication อย่างมาก

เขาบอกว่าของดีแค่ไหนก็ไร้ค่า ถ้าไม่รู้จักวิธีเล่าหรือนำเสนอให้ดี คนส่วนใหญ่ตัดสินจากหน้าปก ดังนั้นถ้าทำของดีออกมาแล้ว ต้องรู้จักวิธีทำการตลาดให้ดี การสร้างแบรนด์ให้ดี และการสื่อสารให้ดีครับ

Apple ไม่ได้ขโมย แต่ Xerox เปิดบ้านให้ Apple เข้ามาค้นหาของดีด้วยตัวเอง

Photo: https://www.digibarn.com/collections/screenshots/xerox-star-8010/

ที่ผมเคยได้ยินมาว่า Apple เข้าไประบบ User Interface แบบ icon ที่สวยงามใช้งานง่ายของ Xerox และเม้าส์นั้นดูเหมือนจะไม่จริงเสียทีเดียว

เพราะหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs เล่มนี้บอกให้รู้ว่า ที่จริงแล้วทาง Xerox ต่างหากที่เปิดบ้านเชื้อเชิญทีมงาน Apple เข้าไปคุ้ยหาของดี

เพราะตอนนั้นทาง Xerox อยากลงทุนกับ Apple ตัวแทบสั่น Steve Jobs จึงยื่นข้อเสนอว่าขอดูของดีใน Xerox หน่อยว่ามีอะไรดีพอที่เราจะให้คุณเข้ามาร่วมลงทุนด้วยไหม

จนกระทั่ง Steve Jobs เข้ามาเจอระบบ UI ที่ทำให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ง่ายแบบไม่เคยมีมาก่อน ก็เลยทำให้เกิดไอเดียในการพัฒนา OS ตัวใหม่ที่ดีกว่าของ Xerox เดิม จนทำให้กลายเป็นรากฐานของการใช้งานคอมพิวเตอร์จนถึงทุกวันนี้

สมัยก่อนเราต้องพิมพ์โค้ดเพื่อสั่งการคอมพิวเตอร์ทีละบรรทัด บอกเลยว่าต้องจำโค้ดหรือคำสั่งอะไรๆ เยอะมาก ไม่ง่ายแบบคอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันจริงๆ ครับ

ความหมกมุ่นใน Typography ของ Steve Jobs นำมาสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมออกแบบสิ่งพิมพ์

ใครที่เคยดูภาพยนต์ชีวประวัติ Steve Jobs น่าจะเคยเห็นว่าเขาให้ความสำคัญกับ Font หรือ Typography มากขนาดไหน ในวันที่คนรอบตัวสงสัยว่าจะต้องมี Font ให้เลือกมากมายหลายแบบไปทำไม จะมีสักกี่คนที่สนใจอยากเลือก​รูปแบบตัวหนังสือของคอมพิวเตอร์ที่ตัวเองใช้งาน

แต่ในท้ายที่สุดแล้วสิ่งนั้นทำให้ Apple ก้าวมาเป็นผู้ในนำอุตสาหกรรมออกแบบสิ่งพิมพ์ในที่สุด ด้วยความที่มี Font ให้เลือกหลายกหลายกว่าคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น นักออกแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ จึงบอกกันปากต่อปากว่าต้อง Apple เท่านั้น

สมัยผมทำ Graphic Design ก็เคยได้ยินพี่ๆ พูดกันปากต่อปากว่า ทำงานออกแบบต้อง Mac​ ถึงจะดี แต่ก็ไม่รู้ทำไม

เห็นไหมครับความหมกมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีคนใส่ใจน้อยมากๆ กลับทำให้ Apple ได้ตลาด Niche ที่ทรงพลังมากๆ ไปในท้ายที่สุด

ถ้าใครเคยใช้ทั้งสองระบบปฏิบัติการเหมือนผมจะรู้สึกเลยว่า เวลาเปิด Windows ทีแรกรู้สึกตัวหนังสือมันอ่านแล้วขัดใจไม่เหมือน Mac เอาเสียเลย

นี่แหละครับคือการใส่ใจในรายละเอียด สิ่งที่คุณทำอย่างปราณีตในวันนี้ สุดท้ายมันจะส่งผลให้คนที่ใส่ใจเหมือนคุณในเรื่องนั้นต้องเลือกคุณ เพราะไม่มีใครใส่ใจเหมือนคุณและคนกลุ่มนี้นั่นเอง

สรุปสั้นๆ ได้ว่า จับตลาดที่ Niche แต่มีความเหนียวแน่นให้ได้

Photo: https://www.businessinsider.com/john-sculley-interview-steve-jobs-apple-ceo-podcast-success-how-i-did-it2017-8

Jobs เคยอยากได้คนจาก IBM มาร่วมงานจนตัวสั่น ตอนที่ Jobs ต้องการหา CEO มาแทนตัวเอง ก่อนจะเจอ John Sculley เขาเคยพยายามติดต่อคนจาก IBM คนหนึ่งและก็ทุ่มข้อเสนอมหาศาล

ข้อเสนอที่ว่าคือเงินเดือนปีละ 1,000,000 ดอลลาร์ในตอนนั้น พร้อมกับการันตีโบนัสอีกปีละ 1,000,000

แต่ Jobs ก็ถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดีว่า เขาเลือกที่จะเป็น IBM มากกว่าจะเป็น Apple บริษัทที่ถูกมองว่าเป็นโจรสลัดและไปขโมย UI จาก Xerox มา

Jobs ไม่ได้ถูกไล่ออกจาก Apple (ตรงๆ) แต่เลือกลาออกด้วยตัวเอง

ที่เคยได้ยินมาว่า Jobs ถูก Apple ไล่ออกนั้นกลายเป็นว่าเจ้าตัวขอลาออกมาตั้งบริษัทใหม่ด้วยตัวเอง

หลังจาก Jobs ถูกปลดจากตำแหน่งบริษัทหลักในบริษัท ก็ถูกย้ายไปดูแลส่วนที่ไม่ได้สำคัญกับธุรกิจ Apple จริงๆ เอาง่ายๆ คือถูกย้ายไปดองนั่นแหละครับ

ทาง Jobs เลยเลือกที่จะขอลาออกไปตั้งบริษัทใหม่ ใช้คำว่า “ขอลาออก” เพื่อให้บอร์ดอนุมัติด้วยนะครับ

ตอน Jobs ตั้งบริษัท NEXT เขาคลั่งเรื่องดีไซน์มาก พยายามออกแบบเคสให้มีขนาดลูกบากศ์เป๊ะๆ ทั้งที่มีความเป็นจริงแล้วทำยากมาก และก็ยังจ้างดีไซน์เนอร์ที่ออกแบบพีระมิดแก้วหน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ มาออกแบบบันใดลอยให้ จนกลายเป็น Signature สำคัญในร้าน Apple Store ทุกวันนี้

Next เองก็เคยเกือบจะจบดีลกับ IBM มาก่อน ขนาดเป็นคู่ปรับทางธุรกิจกับ Steve Jobs สมัยอยู่ Apple หนักมาก แต่จะเห็นว่าในโลกธุรกิจนั้นไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรที่แท้จริง มีแต่การหาผลประโยชน์ร่วมกันให้ได้

ไม่ว่าคุณจะคิดว่าคุณทำได้หรือคิดว่าคุณทำไม่ได้ คุณก็ถูกเสมอ

Whether you think you can, or you think you can’t. You’re right. ประโยคนี้เป็นของ Henry Ford ในหนังสือเล่มนี้จะมีคำว่า “สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน” ของ Steve Jobs ที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ มันหมายถึง Jobs มักกระตุ้นลูกทีม พาร์ทเนอร์ และคนรอบข้างเสมอด้วยประโยคทำนองว่า “คุณทำมันได้ แต่ต้องพยายามให้มากกว่านี้หน่อย”

ซึ่งเรื่องทั้งหลายที่ Jobs ขอนั้นดูจะเป็นไปไม่ได้เสมอเมื่อคิดในทางปกติ แต่พอพวกเขาลองกลับไปคิดใหม่ในแบบที่ Jobs ว่า ก็มักจะทำได้อย่างที่ Jobs ต้องการ หรือต่อให้ทำไม่ได้ก็ยังเจอทางใหม่ที่ทำให้ได้มากกว่าที่เคยคิด

ส่วนตัวผมก็ชอบประโยคนี้ครับ และมักใช้กระตุ้นทีมประจำ ไปจนถึงกระตุ้นตัวเองด้วย

เพราะถ้าเราคิดว่าเราทำไม่ได้ เราจะหยุดคิดที่จะหาทางทำมันให้ได้ แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำมันได้ เราจะเริ่มคิดในมุมใหม่ว่าเราจะทำมันอย่างไรให้ได้ การจะทำเรื่องนี้ให้ได้เราจะต้องทำอะไรบ้าง

เหมือนกับการตั้งเป้าไปดวงจันทร์ แม้จะผิดหวังแต่ก็ยังอยู่ท่ามกลางดวงดาว

ตอนแคมเปญโฆษณาชุด Think Different จะออก Steve Jobs อยากได้ภาพคานธีปั่นได้ที่ Time Inc. เป็นเจ้าของ และผู้ถ่ายภาพเองก็ไม่ยินยอมให้เอาภาพนี้ไปใช้เพื่อการพาณิชย์ แต่จนแล้วจนรอดด้วยความอยากได้ของ Jobs ก็ทำให้เขาได้มาจนได้

เขาเริ่มจากการพยายามติดต่อตรงหา CEO Time Inc. ในเวลานั้น จนขอภาพนั้นมาใช้จนได้ และก็ขอภาพของ John Lennon จาก Yoko Ono มาจนได้

ต้องยอมรับในความพยายามที่จะทำให้ได้ของ Steve Jobs จริงๆ ดังนั้นเวลาคุณทำอะไรไม่ได้ หรือยังไม่สำเร็จ ให้ถามตัวเองว่าเราพยายามกับมันมากพอหรือยัง ถ้ายังให้ถามตัวเองต่อว่า แล้วมันมีทางใดบ้างที่เรายังไม่ได้ทำแต่น่าจะทำให้สำเร็จได้

Steve Jobs ไม่ได้สร้าง Pixar ขึ้นมาจากศูนย์ แต่ซื้อมาจาก Lucas

Photo: https://www.macrumors.com/2016/11/23/steve-jobs-to-pixar-and-beyond/

บริษัทสร้างแอนิเมชั่นที่โด่งดังระดับโลกอย่าง Pixar ที่ผมเคยเข้าใจว่า Steve Jobs สร้างขึ้นมาจากศูนย์ ความจริงแล้วซื้อต่อ BU หนึ่งมาจาก Lucas Film ที่โด่งดัง (ผู้สร้าง Star Wars) เอาในส่วนของเทคโนโลยีมาต่อยอดสู่การสร้าง 3D Animation เรื่องแรกของโลกอย่าง Toy Story ครับ

จากนั้นเมื่อ Pixar เริ่มดังจากผลงาน Steve Jobs ก็พยายามสร้างแบรนด์ของ Pixar ให้ดังไม่แพ้กับ Disney ที่เป็นผู้ร่วมผลิตในครั้งนั้นด้วย

จากเดิม Disney มองว่า Pixar เป็นผู้คนทำ แต่ไม่ใช่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์แบบ Disney แต่เมื่อผลงานชี้ชัดแล้วว่าไม่ใช่อย่างนั้น ​Steve Jobs จึงมองว่าการทำให้แบรนด์ Pixar เป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน Animation จะสำคัญต่อธุรกิจในระยะยาวขนาดไหน

มันจึงเป็นการฟาดฟันกันว่าชื่อแบรนด์ใครจะอยู่หน้า แบรนด์ใครจะอยู่หลัง ตัวหนังสือจะเล็กใหญ่ต่างกันขนาดไหน

เห็นพลังของคำว่าแบรนด์หรือยังครับ นี่คือเหตุผลว่าทำไม Pixar กับ Apple จึงเป็นแบรนด์ระดับโลกได้ด้วยวิสัยทัศน์ของ Steve Jobs

ตัดสินใจใน 30 นาที ถ้าบริษัทอื่นใช้เวลาหลายเดือน

บริษัทยิ่งใหญ่ยิ่งอุ้ยอ้าย ขั้นตอนเยอะ พิธีการช้า ส่งผลให้ยิ่งใหญ่ยิ่งยากจะปรับตัวได้เร็ว แต่ที่ Apple ในยุค Steve Jobs ไม่

ในปี 1998 ตอนที่ Jony Ive ออกแบบ iMac เพิ่มอีก 4 สี รวมเป็น 5 สี ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะผลิตทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่อทุกส่วนอย่างมาก ทั้งโรงงาน การสต็อก และจัดการสินค้า และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าบริษัททั่วไปกว่าจะอนุมัติเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาหลายเดือน

แต่ที่ Apple ไม่ ตอนนั้น Steve Jobs เดินเข้ามาแล้วเห็นว่าสวยดี ก็บอกทุกคนทันทีว่า “ทำทั้งหมดเลย”

นี่คือการตัดสินใจเรื่องใหญ่ในเวลา 30 นาที ทำให้ Apple เป็นอะไรที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็ส่งผลต่อวิธีการรื้องานทั้งหมดที่เคยทำมาอย่างยาวนาน เพราะเห็นว่าตอนนี้มีวิธีที่ดีกว่าครับ

ตอนที่ Apple จะเปิดตัว Apple Store ครั้งแรก หลังจากการวางแผนมาอย่างยาวนาน และเริ่มสร้างไปจนจะเสร็จใกล้ถึงวันเปิดตัวแล้ว มีพนักงานคนหนึ่งมาบอกว่าเราควรต้องปรับเปลี่ยนผังร้าน เพราะเราเจอวิธีใหม่ที่ดีกว่า

ตอนแรกที่เขาบอก Jobs เขาโดนด่าอย่างแรง บอกว่าเราทุ่มเทกับมันมามากแล้ว แล้วจะมาเปลี่ยนตอนนี้ได้ไง และมันก็ใกล้จะถึงกำหนดวันเปิดตัวแล้ว

แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาที ระหว่างขับรถ Jobs ก็ครุ่นคิดตามที่พนักงานคนนั้นพูด สุดท้าย Jobs ก็ตัดสินใจที่จะเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด แม้จะทำให้การเปิดตัวร้านต้องเลื่อนออกไปอีกหลายเดือนจากกำหนดเดิม

Jobs บอกว่าเรามีโอกาสแค่ครั้งเดียวที่จะทำให้ถูกต้อง บริษัทอื่นคงเลือกที่จะมองข้ามไปแล้วทำออกมาก่อน แล้วค่อยไปหาทางแก้ทีหลัง

แต่กับ Jobs ไม่ เขาเลือกที่จะรื้อใหม่หรือเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด เพราะถ้านั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ควรทำ เขาจะไม่ปราณีกับอะไรทั้งสิ้น

iPhone หรือ Jesus Phone โทรศัพท์อะไรแพงเป็นบ้า ใครจะซื้อ?

ตอนที่ iPhone เปิดตัวครั้งแรกนั้นถูกผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายแสดงความเห็นว่าไม่น่าจะมีใครซื้อหรอก เพราะราคาเปิดตัวก็ปาไป 500 กว่าดอลลาร์แล้ว ถือว่าแพงมาก แถมยังเป็นโทรศัพท์ที่ไม่มีคีย์บอร์ด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของโทรศัพท์ยุคนั้นด้วย

ยุคที่ BB หรือ Black Berry ครองเมือง ยุคที่ Nokia เองก็เพิ่มแป้นพิมพ์เข้ามาในโทรศัพท์แล้ว

แต่กลายเป็นว่า iPhone ครองส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดหลังจากนั้นไม่นาน

ดังนั้นการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน ไม่แปลกที่จะถูกมองว่าไม่มีทางรอดหรือประสบความสำเร็จได้ ถ้าเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นดีก็ลุยทำไป แล้วรอดูว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรดีกว่าครับ

แล้วทำไมคุณปล่อยให้ลูกค้าอ่านฟรีมาหลายปีโดยไม่เก็บ Data ?

Steve Jobs กับการเริ่มต้น Digital Business ตอนที่เขาชักชวนบรรดาบริษัทสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทหนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ ให้เอาคอนเทนต์ บทความ หรือข่าวตัวเองมาลงขายใน iTune แบบที่ Apple ทำกับค่ายเพลงไปแล้ว

ในตอนนั้น Steve Jobs ขอค่าส่วนแบ่งรายได้ 30% ก็เหมือนกับที่ iTune และ App Store ทำ แต่ทางบรรดาบริษัทสำนักพิมพ์ต่างก็เรียกร้องขอ Customer Data ที่สมัครสมาชิกจาก Steve Jobs ด้วย

Steve Jobs บอกว่าเขาให้ไม่ได้ และไม่ให้ เพราะ Apple ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลของลูกค้ามาก ถ้าลูกค้าไม่ได้แจ้งว่าจะให้ข้อมูลกับทางสำนักพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษร ก็จะไม่มีการส่งต่อหรือมอบดาต้าใดๆ ให้กับสำนักพิมพ์เป็นแน่

ทางสำนักพิมพ์ต่างๆ ดูเหมือนจะลังเลที่จะเข้าร่วมกับ iTune ในเวลานั้น แต่สุดท้ายเจ้าพ่อวงการสื่อคนหนึ่งก็ตอบตกลง เพราะก็เข้าใจว่าถ้าเขาเป็น Steve Jobs เขาก็คงไม่มีวันยอมเป็นแน่

Steve Jobs ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาพวกคุณให้คนอ่านของคุณฟรีมานานหลายปี แล้วทำไมถึงไม่คิดจะเก็บ Data ข้อมูลลูกค้าหรือบัตรเครดิตแต่แรก ทำไมถึงเพิ่งมาคิดได้ตอนที่เราทำ

แต่ทาง Steve Jobs ก็ไม่ปิดกั้นถ้าทางสำนักพิมพ์ต่างๆ จะชักชวนให้คนไปสมัครหรือให้ดาต้ากับทางสำนักพิมพ์ต่อแต่อย่างไร

เป็นอย่างไรครับกับการมองเกม Digital Business ที่ขาดของ Steve Jobs ตั้งแต่วันนั้น ที่มองว่าใครกุมข้อมูลลูกค้ามากกว่าคนนั้นชนะ และก็ดูเหมือน Apple จะยังเป็นผู้ชนะในเกมดาต้ายุค Privacy Era ด้วย

สรุปหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs

หนังสือเล่มนี้แม้จะผ่านมาร่วมสิบปี แต่ก็ยังอ่านสนุก อ่านได้แล้วความรู้และมุมมองใหม่ๆ อยู่เลย ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเรื่องราว Steve Jobs ที่เราเคยรู้หรือได้ยินมา ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพิ่มจะยิ่งเข้าใจ Steve Jobs มากขึ้น แนะนำให้ทุกคนที่อยากจะเก่งขึ้นไม่ว่าจะด้านไหน หาหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs ที่เขียนโดย Walter Isaacson มาอ่านกัน เหมือนที่ผมเพิ่งอ่านไปครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 31 ของปี

สรุปหนังสือชีวประวัติ Steve Jobs สตีฟ จ็อบส์
Walter Isaacson เขียน
สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการ
ณงลักษณ์ จารุวัฒน์ และคณะ แปล
สำนักพิมพ์ Nation Books

อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ Steve Jobs และ Apple ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/tag/apple/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/