สรุปรีวิวหนังสือ สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 34 หนุ่มเมืองจันท์ สำนักพิมพ์ มติชน เข็มทิศธุรกิจ ไอเดียการตลาด

สรุปรีวิวหนังสือ สิ่งที่เคยมอง แต่ไมเ่คยเห็น ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ เล่มที 34 ของพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ ส่วนตัวในฐานะแฟนหนังสือชุดนี้ บอกได้คำเดียวว่าไม่ผิดหวังเหมือนเดิม หนังสือเล่มนี้เปรียบได้กับเข็มทิศการทำธุรกิจสำหรับผม และในฐานะนักการตลาดก็เปรียบได้กับกลยุทธ์เคล็ดลับการตลาดมากมาย ที่ให้ไอเดียและ Inspire มากมายตลอดเวลา

คอนเซปหลักของหนังสือเล่มนี้คือชวนคุย ชวนคิด ชวนตั้งคำถาม เพราะเราส่วนใหญ่มักมองข้ามหลายๆ สิ่งตรงหน้าอยู่ตลอดเวลา เรามักจะมองหาอะไรสักอย่างที่อยู่ข้างหน้าไกลๆ จนลืมชื่นชมสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไป ก็เหมือนกับสิ่งที่เรามองผ่านข้ามมันไป แต่เราไม่เคยมองเห็นความสวยงามของสิ่งนั้นจริงๆ เสียที

เปรียบได้กับแม้คนที่อยู่ข้างๆ เราจะพูดอะไรให้เราฟัง พยายามบอกอะไรให้เรารู้ แต่หูเราก็มักจะไม่ได้ยินหรือเหม่อลอยออกไปไกลยังที่อื่น ใครที่โดนคนข้างๆ ทักอยู่บ่อยๆ ว่า “ยังฟังอยู่ไหมเนี่ย?” นั่นแสดงว่าคุณอยู่ในภาวะเดียวกับชื่อหนังสือเล่มนี้เลยครับ คืออาการฟังแต่ไม่ได้ยินนั่นเอง

ผมขอหยิบบางเรื่อง บางราว บางแง่ บางมุม ที่ผมชอบเป็นพิเศษในหนังสือเล่มนี้มาเล่าให้ฟังแล้วกันครับ

แค่ทำผิดไม่ได้หมายความว่าเลวเสมอไป

บทนี้พูดถึงพระอาจารย์พรหม ผู้ที่เข้าไปเทศให้นักโทษฟัง ท่านบอกว่านักโทษที่ท่านเจอล้วนรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองทำทั้งนั้น เพียงแต่พวกเขาจะไม่ได้แสดงออกแบบนั้นกับคนทั่วไป แต่จะบอกเฉพาะคนที่รู้สึกสนิทและไว้ใจมากเท่านั้นจริงๆ

ดังนั้นเวลาเราเห็นใครที่ทำผิดแล้วรู้สึกเหมือนไม่สำนัก รู้สึกเหมือนแกร่ง รู้สึกเหมือนกร่าง บางครั้งอาจเป็นแค่ว่าเขาต้องสร้างเกราะที่ดูแข็งแรงภายนอก เพื่อเอาไว้ปกป้องความรู้สึกผิดบาปหรืออ่อนแอของตัวเองข้างในครับ

พระอาจารย์พรหมจึงถามว่าแต่คนละมีชีวิตความเป็นมาอย่างไรบ้าง และก็ให้เล่าเรื่องราวดีๆ ที่เคยทำในชีวิต วันที่เคยช่วยเหลือคนอื่น วันที่เคยทำดี ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ล้วนทำดีมากกว่าทำไม่ดีทั้งนั้น

อ่านถึงตรงนี้จึงทำให้ได้แง่คิดว่า บางครั้ง บางเหตุการณ์ บางการกระทำ หรือบางผลลัพธ์ที่สุดโต่ง อาจทำให้เราเกิดอคติได้โดยไม่รู้ตัว

แค่ทำผิดใช่ว่าจะเป็นคนเลวโดยเนื้อแท้ สิ่งสำคัญคือการไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนเลวโดยเนื้อ ต้องรู้จักให้อภัยชีวิต มองที่ภาพรวม อย่าโฟกัสแค่รอยเปื้อนบนเสื้อขาว มันจะทำให้เสื้อที่สะอาดส่วนใหญ่ กลายเป็นเสื้อสกปรกไร้ค่าได้ง่ายๆ ด้วยความคิดเรา

ธุรกิจมีมากกว่าคำว่ากำไร

เรื่องราวของ “ร้านน้องแอม” ร้านข้าวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร้านนี้เปิดมานานกว่า 30 ปี มีกับข้าวหลายสิบอย่าง แต่ความน่าสนใจคือร้านนี้มักจะถามนักศึกษาที่เป็นลูกค้าว่า “ข้าวพอไหม?” เป็นประจำ

ถ้าไม่พอก็จะตักเพิ่มให้ และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือเจ้าของร้านจะจำได้ว่าลูกค้าคนไหนเคยสั่งอะไรประมาณไหน แล้วถ้าช่วงไหนอยู่ดีๆ สั่งกับน้อยลงแต่ขอเพิ่มข้าวมากกว่าทุกวัน เขาจะรู้สึกว่านักศึกษาลูกค้ารายนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่

เจ้าของร้านจึงเดินเข้าไปถาม เข้าไปพูดคุย และก็ได้รู้ปัญหาของนักศึกษาลูกค้าแต่ละคน สิ่งที่ร้านนี้ทำให้คือตักกับให้เท่าเดิมโดยไม่คิดเงินเพิ่ม หรือบางคนถึงขนาดได้กินข้าวร้านนี้ฟรี นับเป็นทุนการศึกษารูปแบบหนึ่ง

ส่งผลให้บางคนที่ไม่มีเงินวันนั้น สามารถเรียนจบด็อกเตอร์วันนี้ได้ แล้วก็กลับมาตอบแทนคืนทุนการศึกษากันอีกครั้ง

นี่คือการมองนักศึกษาว่าไม่ใช่แค่ลูกค้า แต่เป็นลูกหลาน เพราะธุรกิจไม่ได้มีแค่กำไร แต่มันมีความสุขอยู่ในธุรกิจได้เช่นกันครับ

Ownership Strategy กลยุทธ์กินแบ่งไม่กินรวบ

เป็นเรื่องราวของร้าน ถูก ดี มีมาตรฐาน ร้านสะดวกซื้อป้ายสีแดงในเครือเดียวกับร้านสะดวกซื้อ CJ และ คาราบาวแดงครับ

กลยุทธ์ของเขาน่าสนใจตรงที่มีสองส่วน ส่วนแรกคือเขาขยายสาขาได้เร็วมาก ด้วยกลยุทธ์เน้นกินแบ่งไม่กินรวบ

ก็ด้วยการไปชวนร้านโชว์ห่วยเดิมมาเข้าร่วมกับ ถูก ดี มีมาตรฐาน เหมือนกับป้ายเชลล์ชวนชิม หรือแม้ช้อยนางรำ หรือชื่อร้านเดิมก็ยังอยู่ แต่มีป้าย ถูก ดี มีมาตรฐาน สีแดงสดใหญ่ๆ กำกับไว้ข้างๆ ให้รู้ว่าร้านสะดวกซื้อนี้ใช้ระบบและมาตรฐานของบริษัทใหญ่นะ ซึ่งทางบริษัทก็จะเข้ามาช่วยตกแต่งร้านให้ดูดีมีมาตรฐาน

ติดไฟสว่างๆ เยอะๆ ทำให้ดูสะอาด จากนั้นก็เอาสินค้าเข้ามาวางและคอยเติมให้ ที่สำคัญคือเอาระบบเครื่องบันทึกการขาย POS เข้ามาใช้ เพื่อทำให้เจ้าของร้านและบริษัทสามารถวางแผนการบริหารจัดการได้ดีขึ้นจาก Data

ถ้าไม่มีเงินพอจะปรับปรุงร้านให้เข้าตามมาตรฐาน ถูก ดี มีมาตรฐาน ทางบริษัทก็จะติดต่อธนาคารให้มาช่วยปล่อยกู้ให้อีกแรง ซึ่งแต่ละร้านที่บริษัทเลือกคือวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วว่าร้านนี้มีโอกาสที่จะขายดีได้ถ้าทำตามมาตรฐานของเขา

ซึ่งทาง ถูก ดี มีมาตรฐาน ก็บอกว่ากำไรที่ได้แบ่งให้เจ้าของ 85% ส่วน ถูก ดี มีมาตรฐาน จะรับที่เหลือ 15% ไป

นี่คือกลยุทธ์การกินแบ่งไม่กินรวบ ให้เจ้าของร้านอยู่ได้ก่อน ที่เหลือบริษัทค่อยเอาและยังเป็นส่วนน้อย ทำให้มีหลายร้านอยากขอเข้าร่วมกับ ถูก ดี มีมาตรฐาน ส่งผลให้พวกเขาสามารถขยายสาขาได้เร็วมาก มากกว่าร้านสะดวกซื้อแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เน้นการกินรวบมากว่ากินแบ่งครับ

ความน่าสนใจที่สองของบทนี้คือ ตอนที่บริษัทจะทำร้าน ถูก ดี มีมาตรฐาน ให้เกิดได้ ต้องมาการทดลองทำด้วยตัวเองก่อน เอาง่ายๆ คือหาที่เปิดร้านของตัวเอง เอาของมาลงเอง แล้วก็เอาพนักงานของตัวเองมาขายเอง

หลังจากทดสอบแล้วว่าเวิร์คก็มีร้านโชว์ห่วยเข้ามาขอร่วมกับบริษัทเอง และนั่นก็คือตอนที่ความน่าสนใจเกิด

บริษัทเปิดโอกาสให้พนักงานเป็นเจ้าของร้าน ใครพนักงานร้านไหนอยากได้ร้านไหนก็ยินดียกให้ลาออกแล้วเอาร้านไปเลย

พนักงานทุกคนโอเค จากลูกจ้างกลายเป็นเจ้าของธุรกิจ ผลปรากฏว่ายอดขายเพิ่มขึ้นทันที โดยไม่ได้มีการทำอะไรที่แตกต่างจากเดิมแม้แต่น้อย

นี่คือพลังของความเป็นเจ้าของ ที่อยากเห็นร้านของตัวเอง ธุรกิจของตัวเองดีกว่านี้

เพราะเขาเชื่อว่ามันดีกว่านี้ได้ แต่ตอนเป็นลูกจ้างอาจจะไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนอกจากทำงานให้ดีตามมาตรฐาน แต่พอเป็นของตัวเองแล้วจึงอยากทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งเห็นยิ่งอยากทำ และนี่ก็คือพลังของความเป็น Ownership ครับ

ความไม่แน่นอนในชีวิต กระตุ้นให้คนรวยใช้เงินง่ายขึ้น

หนังสือสิ่งมี่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น เล่มนี้มี Consumer Insight การใช้เงินที่น่าสนใจมาแชร์กัน เขาบอกว่าแน่นอนว่าโควิดทำให้คนจำนวนมากประสบปัญหาด้านการเงิน บ้างก็ไม่กล้าใช้เงินที่มี หรือที่หนักกว่านั้นคือไม่มีเงินให้ใช้

ปัญหานี้เกิดกับกลุ่มคนรวยเช่นกัน การใช้เงินที่เคยง่ายก็สะดุดไป เพราะไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเมื่อไหร่ ถ้าใช้เงินวันนี้ไปแล้ววันหน้าจะเหลือให้ใช้ไหม แต่ในขณะเดียวกันกลับมีคนรวยอีกกลุ่มที่ใช้เงินมือเติบยิ่งกว่าเดิม

กลุ่มแรกคือ New Wealth หรือคนรวยหน้าใหม่ คนกลุ่มนี้ชอบใช้เงินเพื่อแสดงถึงฐานะความร่ำรวยของตัวเอง ใช้เพื่อให้เกิดการยอมรับโดยไวในวงสังคมว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จแล้วนะ

แต่อันนี้ผมรู้อยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูดถึง

แต่ที่น่าสนใจที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคือ กลุ่มคนรวยที่รีบเอาเงินมาใช้เพราะไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่

ด้วยเจ้าเชื้อโควิดทำให้หลายคนเสียชีวิตไปในช่วงเวลาสั้นๆ แถมวันตายก็ไม่ได้ไปงานศพเพื่อรดน้ำจากลากัน จึงทำให้คนรวยๆ หลายๆ คนคิดว่าถ้าเราต้องตายไปโดยไม่ได้ใช้เงินที่สะสมมามากมายไปบ้าง คงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย

ทำให้คนรวยเหล่านี้ใช้เงินซื้อโน่นนี่นั่นที่เป็นความฝันของตัวเองมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมายอดขายเรือยอชต์หรือเครื่องบินส่วนตัวขายดีขึ้นมาก

เพราะคนรวยเหล่านี้เลือกจะใช้เงินเพื่อความสุขของตัวเอง จากที่วันวานเคยมีความสุขเมื่อเงินในบัญชีเพิ่มขึ้นครับ

โควิดเข้ามาก็ทำให้นิยามความสุขของคนเราเปลี่ยนไป แต่ท้ายที่สุดคือเราต้องการความสุข ส่วนจะเป็นความสุขรูปแบบไหน ก็ขอแค่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนส่วนตัวผมว่าก็น่าจะเพียงพอครับ

แต้มแลกบุญ 063 931 6340 มูลนิธิกระจกเงา

เรื่องสุดท้ายที่ประทับใจของหนังสือสิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น เล่มนี้คือ นวัตกรรมทำบุญ เป็นเรื่องราวที่สรุปสั้นๆ ได้ว่า มูลนิธิกระจกเงา เปิดให้เราทุกคนร่วมทำบุญได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท แค่สละแต้มที่ควรได้จากร้านสะดวกซื้อ 7-11 หรือ 7-Eleven ด้วยการบอกเบอร์โทรศัพท์ของมูลนิธิกระจกเงาแทน นั่นก้คือ 063 931 6340

ผมประทับใจมากเพราะเหมาะกับคนขี้เกียจสมัครสมาชิกใดๆ อย่างผมมาก ทุกครั้งพนักงานถามผมมักตอบว่า “ไม่สมัครครับ” หรือ “ไม่สะสมครับ” แต่ต่อจากนี้ไปผมจะท่องจำเบอร์ของมูลนิธิกระจกเงาเบอร์นี้ให้ขึ้นใจ

เพื่อที่ว่าแต้มของผมจะกลายเป็น้ำสักขวด นมสักกล่อง หรือขนมจีบซาลาเปาสักชิ้น ให้กับเด็กๆ ในมูลนิธิกระจกเงา ให้เค้าได้อิ่มท้องไปอีกวันครับ

สรุปรีวิวหนังสือ สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น

สรุปรีวิวหนังสือ สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 34 หนุ่มเมืองจันท์ สำนักพิมพ์ มติชน เข็มทิศธุรกิจ ไอเดียการตลาด

หนังสือเล่มนี้เปรียบได้กับเข็มทิศธุรกิจ เต็มไปด้วยวัตถุดิบดีๆ ทางการตลาด เป็นหนังสือที่อ่านแล้วได้หยุดคิด และฉุกคิดเป็นประจำ เป็นหนังสือชุดหนังสือที่ผมแนะนำให้คนทำธุรกิจทุกคนต้องอ่านให้ครบทุกเล่มครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 20 ของปี

สรุปรีวิวหนังสือ สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ 34
หนุ่มเมืองจันท์
สำนักพิมพ์ มติชน

อ่านสรุปหนังสือชุดฟาสต์ฟู้ดธุรกิจในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/หนุ่มเมืองจันท์/

สั่งซื้อออนไลน์ > https://click.accesstrade.in.th/go/WxNI22nc

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/