สรุปหนังสือ Think Like Amazon คิดอย่าง Amazon สำนักพิมพ์ Amarin How-to สรุป 50 หลักคิดพลิกธุรกิจเหลือ 10 วิธีคิดที่คนทำธุรกิจต้องรู้

สรุปหนังสือ Think Like Amazon คิดอย่าง Amazon เล่มนี้ไม่ได้บอกเรื่องเทคนิคแต่บอกถึงหลักคิด 50 ข้อของ Amazon ที่ทำให้จากร้านหนังสือออนไลน์ธรรมดากลายเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ E-Commerce ที่ใหญ่ระดับโลกที่มีทุกสิ่งให้เลือกสรรจริงๆ

อ่านจบมานานเพิ่งมีเวลามาสรุปให้เป็นเรื่องเป็นราว ออกมาเป็น 10 ข้อหลักคิดการทำงานของ Amazon ที่ผมชื่นชอบและอยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

1. Digital Transformation เป็นเรื่องของ Mindset

คำนี้เรามักได้ยินกันบ่อยและได้ยินมานาน แต่ในความเป็นจริงแล้วน้อยองค์กรมากที่สามารถทำ Digital Transformation ได้จริงๆ เพราะองค์กรส่วนใหญ่โฟกัสผิดจุดคิดว่าเทคโนโลยีชั้นดีและใหม่ล่าสุดจะเข้ามาช่วยยกระดับดิจิทัลของบริษัทได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Digital Transformation เป็นเรื่องของ Mindset ว่าเราจะทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมได้อย่างไร นั่นก็คือการปรับเปลี่ยนหรือรื้อ Process ของการทำงานใหม่ บางตำแหน่งอาจไม่จำเป็นต้องมีต่อไปก็กล้าตัด บางตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ต้องกล้าจ้าง จากนั้นค่อยมาคิดหาทางว่าเราจะต้องเอาเทคโนโลยีแบบไหนเข้ามาใช้บ้าง การทำ Digital Transformation จึงจะประสบความสำเร็จครับ

2. เลือกทางยาวแทนที่ทางสั้น

เวลา Amazon จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่างจะไม่เลือกแผนงานหรือสิ่งที่สามารถทำสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น พวกเขาจะเลือกแผนงานหรือโครงการที่ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 7 ปีขึ้นไปเท่านั้น เหตุผลเพราะยิ่งยากคู่แข่งยิ่งน้อย คนส่วนใหญ่มักเลือกเส้นทางง่ายๆ ทำสำเร็จได้ไวๆ แต่สุดท้ายก็พบว่าเต็มไปด้วยคู่แข่งมากมายที่ไล่บี้ตามกันมา

แต่พอเราเลือกเส้นทางยากๆ ที่ต้องใช้เวลากว่า 7 ปีจึงจะประสบผลสำเร็จ ย่อมทำให้มีคู่แข่งน้อยรายที่จะกล้าลงแข่งในเกมการลงทุนระยะยาวขนาดนี้ แล้วพอเราเริ่มทำได้ดีจนคู่แข่งสนใจก็ผ่านระยะเวลามามากพอแล้ว นั่นหมายความว่าเราสะสมความได้เปรียบอยู่มากพอที่จะเป็นกำแพงให้คู่แข่งไม่อยากจะเข้ามาแย่งเราไปในท้ายที่สุด

3. AWS จุดเริ่มต้นจากความต้องการระบบดีๆ ไว้ใช้เองจนเอามาแบ่งขาย

หลายครั้งธุรกิจดีๆ ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจอยากทำธุรกิจ แต่เกิดจากการพบว่าไม่มีใครในตลาดทำตอบความต้องการของตัวเองได้ในตอนนั้น จึงต้องทำขึ้นมาเองและพบว่ามีคนอื่นอยากได้เหมือนกันจนค่อยๆ ขยายและกลายเป็นธุรกิจใหม่ในที่สุด

AWS หรือระบบ Amazon Web Service ที่เป็น Cloud แรกๆ ของโลกที่ใครๆ ก็นิยมใช้กันก็เริ่มจากปัญหาแบบเดียวกัน คือทีมงานข้างในต้องการระบบที่ดีที่ยืดหยุ่นขยายดปรับแต่งได้ตลอดเวลา เพื่อตอบรับกับการเติบโตของ Amazon เองที่เดี๋ยวโตเดี๋ยวลดแต่พบว่าเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่มีตอนนั้นไม่ตอบโจทย์

พวกเขาเลยสร้างระบบ Cloud Service ส่วนกลางที่ให้ทุก Unit ในองค์กรเข้ามาสร้างระบบของตัวเองอีกทีนึงจนกลายเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้งานได้ง่ายและทำงานได้จริง จนเมื่อมีกำลังมากพอก็เลยเปิดขายให้คนนอกที่สนใจได้มาเช่าใช้บริการบ้าง จนไม่นานธุรกิจ AWS ก็มีกำไรแซงหน้าธุรกิจหลักอย่าง Amazon.com ไปได้เรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ทำรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ ซึ่งเกิดจากความไม่ตั้งใจแค่อยากทำให้ทุกคนในองค์กรได้ใช้ระบบ Cloud ดีๆ ที่ตอบโจทย์ทุกคนอีกทีเท่านั้นเอง

4. จงคิดหาทางฆ่าธุรกิจตัวเองอยู่เสมอ

หลักคิดนี้ฟังดูแปลกแต่บอกได้เลยว่าอ่านแล้วชอบมาก เพราะคนเรามักหวงธุรกิจตัวเองว่าคนอื่นจะมาแข่ง มาแย่ง มาฆ่า จนลืมไปว่าสุดท้ายแล้ววงจรธุรกิจมันก็เป็นเช่นนั้นแล

ที่ Amazon เลยมีวิธีการคิดกลับด้านว่าในเมื่อวันนึงเราต้องถูกคนอื่นมาฆ่า มาโค่น หรือกำจัดเราไป พวกเขาเลยจัดการประชุมระดับผู้บริหารให้ช่วยกันคิดว่างสร้างธุรกิจใหม่ที่จะฆ่าธุรกิจเดิมของตัวเองขึ้นมา แล้วก็รีบทำตามนั้นเพื่อจะได้ก้าวข้ามสิ่งเดิมที่เคยเป็นและไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า

ต่อไปนี้ผมจะเริ่มคิดหาทางกำจัดธุรกิจเดิมของตัวเองปีละครั้ง เราจะฆ่าตัวเราเองก่อนที่ใครจะมาฆ่าเราในอนาคตครับ

5. กำหนดเป้าหมายระยะยาวไว้ให้มาก แต่เริ่มลงมือทำแผนระยะสั้นไม่กี่อย่างแต่สำคัญเพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายใหญ่

หลายครั้งเรามักมีเป้าหมายสิ่งที่ต้องทำมากเกินไปในระยะสั้น แล้วเราก็มักจะมีเป้าหมายในระยะยาวที่ใฝ่ฝันน้อยเกินไป หลักคิดของ Amazon นั้นกลับด้านจากที่คนส่วนมากทำ เพราะเค้าจะมีเป้าหมายในระยะยาวหลายๆ อันแต่ไม่ทำทันในทันที แต่เลือกกำหนดเป้าหมายระยะสั้นไม่กี่อันที่สามารถทำได้จริงและเกิดผล และเป้านั้นต้องเป็นไปเพื่อให้เข้าใกล้เป้าหมายระยะยาวมากขึ้น

นี่แหละครับคือหัวใจของคำว่ากลยุทธ์ การเลือกที่จะทำ และเลือกที่จะไม่ทำ ดังนั้นจงเลือกที่จะไม่ทำให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เอาทรัพยากรที่มีไปทุ่มทำให้กับสิ่งที่จะสำคัญต่อเป้าหมายระยะยาวจริงๆ ครับ

6. นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ คือการทำให้สิ่งนั้นเป็นธรรมดาสามัญ

เรื่องนี้ฟังดูแล้วอาจจะขัดกับสามัญสำนึกของคนส่วนใหญ่ ใช่ครับ ตัวผมเองก็เป็นแบบนั้นตอนอ่านเจอครั้งแรก แต่พออ่านข้างในเนื้อหาและเข้าถึงบริบทจึงเข้าใจว่า แท้จริงแล้วนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้จะกลายเป็นกติกาใหม่ของตลาดทั้งหมดที่ทุกคนล้วนต้องทำตาม

คิดง่ายๆ ก่อน Apple จะทำ iPhone ออกมาในตอนนั้นโทรศัพท์หน้าจอสัมผัสก็มีมาก่อนแต่ไม่เคยเป็นที่ยอมรับสำหรับคนหมู่มาก แต่พอ iPhone ออกมากลายเป็นว่านี่คือสิ่งที่ใครๆ ก็อยากได้อยากมีกัน

และนับจากวันแรกที่ iPhone ออกวางขายคู่แข่งแบรนด์อื่นๆ มากมายก็พยายามทำหน้าจอสัมผัสแบบ Multi-touch ของตัวเองออกมาแต่ไม่เคยให้ User Experience ได้เทียบเท่าหรือใกล้เคียง iPhone เลย

แต่นานวันเข้าเทคโนโลยีก็ไล่ตามผู้นำทางนวัตกรรม แต่เห็นไหมครับว่าเพราะ iPhone แท้ๆ ทำให้โทรศัพท์ทุกรุ่นในวันนี้ล้วนใช้งานแบบ Multi-touch ได้อย่างสะดวกง่ายดายเสมือน iPhone ในวันแรกมาก

กับ Amazon คือการสร้างระบบส่งสินค้าแบบเหมาส่งที่ดูเหมือนจะฟรีแถมยังสามารถส่งได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน สิ่งนี้ทำให้คู่แข่งต้องไล่ตามให้ทันไม่อย่างนั้นผู้คนก็จะหนีไปซื้อของกับ Amazon หมด

และ ​Amazon เองก็พยายามที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ของการช้อปปิ้งซื้อสินค้าด้วยการคาดการณ์ว่าเราน่าจะกำลังอยากได้สินค้าแบบไหนอยู่ พวกเขาจะนำสินค้าไปวางไว้ให้คุณล่วงหน้าที่หน้าประตูบ้านก่อนที่คุณจะคิดออกว่าคุณจะต้องการมันแล้วกดสั่งซื้อภายในเวลา 1-2 วัน เรียกได้ว่านี่คือ Game Changer ที่แท้จริงที่ทำให้คู่แข่งต้องวิ่งไล่ตามแบบหัวหมุนครับ

7. รักที่จะล้มเหลว

หลักคิดข้อนี้ของ Amazon คือการที่พวกเขารักที่จะล้มเหลวอยู่เป็นประจำ แต่ทุกครั้งที่ล้มเหลวพวกเขาจะล้มไปข้างหน้า ล้มเพื่อเรียนรู้และลุกขึ้นมาวิ่งใหม่ จากนั้นก็อาจจะล้มอีกหลายครั้งมากมายแต่มันก็ทำให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าจุดเริ่มต้นมากขึ้นทุกวัน

หลายคนอาจไม่รู้ว่าสิ่งประดิษฐ์มากมายของ Amazon ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่พวกเขาไม่กลัวและไม่อายที่จะบอกว่านี่คือความล้มเหลวเพราะพวกเขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำ เช่น ตอน Amazon ออกโทรศัพท์มือถือที่ชื่อว่า​ Fire Phone ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบ Kindle แต่พวกเขาก็ได้เรียนรู้ที่จะสร้างเป็น Kindle ขึ้นมา

ส่วนก่อนจะมี Alexa พวกเขาก็มี Dash Botton ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ก็นั่นแหละครับทุกครั้งที่พวกเขาล้มเหลวพวกเขาต่างได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญที่มีค่ามาก ที่ทำให้พวกเขาเดินไปข้างหน้าได้ไกลขึ้นแล้วก็ล้มและก็ลุกขึ้นวิ่งใหม่ให้ไกลขึ้นอีกครั้ง

8. ตั้งคำถามที่ยากเพื่อให้ไปได้คำตอบที่ไกลกว่าคำถามที่ง่าย

หลายคนมักตั้งเป้าการปรับปรุงมากกว่าการเปลี่ยนแปลง เรามักตั้งเป้าว่าจะทำปีหน้าให้ดีขึ้นกว่าปีนี้ 10% หรือ 15% ซึ่งเป้าหมายพวกนั้นไม่ต้องคิดอะไรมากแค่ทำงานให้หนักกว่าเดิมหน่อย ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้เกิดขึ้นแต่อย่างไร

แต่ที่ Amazon เค้าจะเริ่มจากการตั้งคำถามยากๆ ที่การคิดแบบธรรมดาไม่สามารถแก้ได้ เช่น จากเดิมอาจจะเคยใช้เวลาในการส่งสินค้าให้ลูกค้าถึงมือได้ภายใน 2 วัน พวกเขาจะไม่ตั้งคำถามว่าเราจะส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าเร็วขึ้นกว่าเดิม 2 ชั่วโมงได้อย่างไร แต่พวกเขาจะตั้งคำถามใหม่ว่า เราจะส่งสินค้าให้ก่อนที่ลูกค้าจะกดสั่งล่วงหน้า 2 วันได้อย่างไร

แน่นอนแม้คำตอบนี้ยากที่จะตอบได้ แต่มันก็พาไปสู่ความเป็นไปได้ที่ดีกว่าการตั้งเป้าหมายง่ายๆ หรือไม่ยากและท้าทายพอให้ต้องคิดนอกกรอบและสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อตอบคำถามนั้น

ดังนั้นจงเริ่มจากการตั้งคำถามถึงสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้ แล้วค่อยขยับลงมาทีละนิดจนเจอจุดที่ทำได้จริง แน่นอนว่าคุณจะต้องแปลกใจกับการค้นพบคำตอบในครั้งนั้น เพราะมันจะทำให้คุณไปได้ไกลในแบบที่คนทั่วไปไม่ตั้งคำถามแบบนี้กันครับ

9. ผู้นำที่ดีต้องเข้าใจเทคโนโลยีมากพอ

คนส่วนใหญ่มองว่าเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องของกลุ่มเนิร์ดหรือ Geek เฉพาะกลุ่ม แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีนี่แหละคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงตลาดและธุรกิจใหม่ เทคโนโลยีสามารถพลิกโฉมให้บริษัทน้องใหม่กลายเป็นยักษ์ใหญ่ได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ

ดังนั้นผู้นำที่ดีต้องหมั่นหาความรู้เรื่องเทคโนโลยีอยู่เสมอ รู้ให้เท่าทันโลกว่าตอนนี้เรามีเครื่องมืออะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง เพื่อจะได้มองให้ออกว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้ามาตอบเป้าหมายหรือทำให้กลยุทธ์เราดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร

ดังนั้นการเข้าใจเทคโนโลยีจึงเป็นการเข้าใจกติกาใหม่ๆ และข้อจำกัด รวมถึงความเป็นไปได้ที่อาจไม่มีใครเคยคิดถึงมาก่อน จำไว้นะครับว่าผู้นำที่ดีในโลกยุค 5.0 ต้องมีความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีมากพอที่จะคุยกับฝ่าย IT หรือ Data ได้แบบเข้าใจวิธีการทำงานที่แท้จริง แม้คุณจะไม่สามารถลงมือทำงานเองได้จริงสักขั้นตอนก็ตาม

10. จงตัดสินใจทำในสิ่งที่ตัวเองจะเสียใจน้อยที่สุดเมื่อยามแก่เฒ่า

คนส่วนใหญ่มักตัดสินใจเพื่อความพึงพอใจในระยะสั้น แล้วก็มักกลับมาบ่นเสียดายในภายหลังว่าทำไมตอนนั้นถึงไม่ตัดสินใจอีกแบบนะ

แต่ผู้นำที่ดีต้องเลือกตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้เขารู้สึกเสียใจน้อยที่สุดเมื่ออายุ 80 แล้วมองย้อนกลับมา และนี่ก็คือหลักคิดที่ตัวผมเองก็นำมาปรับใช้กับชีวิตนานแล้วครับ ทำให้ผมกล้าลาออกจากงานประจำที่เคยมีรายได้หกหลักแถมยังมีลูกน้องเก่งๆ มากมายให้ผมสบายไม่ต้องทำงาน

ผมเลือกที่จะออกมาทำธุรกิจของตัวเองในช่วงโควิด ในช่วงที่วิกฤตสุดๆ มีแต่คนเลือกมองหาความปลอดภัย

แต่ก็นั่นแหละครับ เพราะตอนนั้นผมคิดว่าถ้าผมไม่ตัดสินใจแบบนี้ในตอนนั้นอีก 5 ปีข้างหน้าผมคงย้อนกลับมาเสียดายกว่าการเลือกอยู่ในงานประจำแน่ๆ เลย

และนี่ก็เป็นสรุปหลักคิดทั้ง 10 ข้อที่ผมได้จากหลักคิด 50 ข้อของหนังสือคิดอย่าง Amazon ที่เต็มไปด้วยแง่คิดดีๆ มากมาย

ใครที่เป็นเจ้าของธุรกิจผมอยากแนะนำให้คุณได้อ่าน ส่วนใครที่คิดจะออกมาทำธุรกิจของตัวเองผมบอกได้เลยว่าคุณยิ่งต้องควรอ่านเพราะคุณจะพบกับหลักคิดดีๆ ที่เอาไปเป็นแก่นในการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตต่อจากนี้ได้เลยครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 7 ของปี 2021

สรุปหนังสือ Think Link Amazon คิดอย่าง Amazon
ปรัญชาแห่งชัยชนะในยุคธุรกิจถูกผลักสู่ดิจิทัล
จากอาณาจักร E-Commerce, Digital Platform, Cloud, AI และ Machine Learning มูลค่าสูงสุดของโลก
John Rossman เขียน
วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา แปล
สำนักพิมพ์ Amarin How-to

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับ Amazon ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/?s=amazon

สั่งซื้อหนังสือเล่มนี้ทางออนไลน์ > https://bit.ly/3sWQUpp

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/