สรุปหนังสือ The Art of Innovation IDEO

สรุปหนังสือ The Art of Innovation เคล็ดลับนวัตกรรม IDEO

IDEO ไม่ใช่ชื่อคอนโดแต่เป็นชื่อบริษัทที่สร้างนวัตกรรมอยู่เบื้องหลังให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมากมายนับไม่ถ้วน จะเรียกว่า Innovation Agency ก็ไม่ผิดนัก เพราะ IDEO ไม่ได้ออกแบบแค่ตัวผลิตภัณฑ์อย่างชื่อหนังสือว่า แต่ยังเป็นผู้ที่ออกแบบประสบการณ์กู้ชีวิตบริษัทรถไฟอเมริกา หรือเป็นผู้ที่ค้นแบแนวโน้มการใช้โทรศัพท์มือถือตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อนว่าคนจะหันมาใช้ข้อมูลบนโทรศัพท์แทนการโทรเข้าโทรออกรับสาย

ในวันที่โทรศัพท์ส่วนใหญ่ยังใช้แค่ส่ง sms กับยิงหากันอยู่เลย แต่ Nokia ผู้ว่าจ้างกลับไม่สามารถพาความคิดนั้นไปได้ตลอดรอดฝั่ง กลายเป็น Facebook และ iPhone ที่เปลี่ยนตลาดการใช้โทรศัพท์มือถือไปตลอดการ

Design Thinking คือแนวคิดแนวทางของบริษัทที่อาจคุ้นหูกันทุกวันนี้ แต่รู้มั้ยว่าแนวคิดนี้ IDEO เอามาใช้หลายสิบปีแล้ว เพราะการจะสร้างนวัตกรรมได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญของนวัตกรรมคือการ “เข้าใจ” ทั้งเข้าใจปัญหา เข้าใจผู้ใช้ เข้าใจสิ่งแวดล้อม ถ้าภาษาไทยก็คงเป็นคำว่า “ใจเขาใจเรา” การจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ก็ต้องเข้าใจเค้าจริงๆก่อนว่าปัญหาที่แท้จริงเค้าคืออะไร

เหมือนนิทานเรื่องหนึ่งที่บอกว่า ทีมงานได้รับโจทย์ให้เข้าไปพัฒนาชีวิตชาวบ้านนอกเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำให้ดีขึ้น ทีมงานชุดแรกเข้าไปหาชาวบ้านหญิงสาวคนหนึ่งแล้วถามว่าต้องการอะไรมากที่สุด

หญิงสาวคนนั้นตอบว่า “สะพาน” ทางทีมงานชุดแรกเลยรีบหาทางสร้างสะพานให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

จากนั้นทีมที่สองเข้ามาแล้วถามว่า “ต้องการสะพานไปทำไม” หญิงสาวเลยตอบว่าเพราะอยากจะไปเยี่ยมแม่ชราที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลในเมืองให้บ่อยที่สุด

พอทีมงานที่สองได้ยินแบบนี้ก็เลยรีบประชุมกันหาทางสร้างโรงพยาบาลให้กับเธอ

จากนั้นทีมงานที่สามก็เข้ามาถามเธอต่อว่า “ทำไมแม่เธอถึงป่วย” จึงได้คำตอบที่แท้จริงว่าป่วยเพราะน้ำบาดาลที่ดื่มกินมานานมีสารพิษเจือปน ไม่สามารถใช้งานได้เหมือนก่อน

ทีมที่สามเลยเสนอทางออกง่ายๆที่กรองน้ำที่สามารถทำให้น้ำสะอาดจนกลับมาใช้อุปโภคบริโภคได้เหมือนเดิม ไม่ต้องเสียเงินสร้างสะพาน ไม่ต้องสร้างโรงพยาบาลและจ้างหมอเพิ่ม เพียงแค่ใช้ใจฟังจนเกิดเป็นนวัตกรรมขึ้นมา

หัวใจสำคัญของนวัตกรรมคือการ “ลงมือทำ” ไม่ใช่เอาแต่นั่งคิด เหมือนกับคำว่า “ความคิดสร้างสรรค์”

คำวา “ความคิดสร้างสรรค์” นั้นถ้ามองให้ดีมันคือการรวมสองคำเข้าด้วยกันคือคำว่า “ความคิด” กับคำว่า “สร้างสรรค์”

ดังนั้นถ้าคุณเอาแต่ใช้ “ความคิด” โดยไม่ยอม “สร้างสรรค์” มันขึ้นมา ความคิดนั้นก็ไม่เกิดประโยชน์เป็นรูปเป็นร่างซักที

ที่ IDEO เลยมีแนวคิดที่เร่งสร้างต้นแบบหรือความคิดออกมาให้จับต้องได้เร็วที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสำเร็จ แต่เพื่อที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว เพราะไม่มีคำว่าสมบูรณ์แบบในครั้งแรกที่ทำ มีแต่การต้องปรับปรุงต่อยอดไปจนดีที่สุดในเวลาที่มีได้

ทำให้นวัตกรรมที่ออกมาจาก IDEO ล้วนผ่านการทดสอบและทดลองมามากมาย มีการปรับปรุงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสามารถใช้งานได้จริง สมกับคำว่า “นวัตกรรม” จริงๆแบบไม่มีใครเหมือน

IDEO เน้นการออกไปดูออกไปสำรวจ ไปพบปะผู้คน ไม่เน้นการถามด้วยปาก เพราะคำตอบที่ได้มักไม่ใช่ความจริงเสมอไป อย่างเวลาเราไปกินอาหารแล้วถ้าเชฟหรือเจ้าของร้านเดิมมาถามว่า “อาหารอร่อยมั้ยครับ” พวกเราส่วนใหญ่คงไม่วายตอบแบบขอผ่านๆไปว่า “ก็ดีครับ” หรือ “โอเคเลย” ทั้งที่ความจริงเราอาจคิดว่าไม่น่ากินเลยซักนิด แต่ก็ต้องตอบไปตามมรรยาท

ทาง IDEO เลยเน้นการฟังด้วยตา คือสังเกตผู้คนอย่างละเอียดยิบแทนการถาม ดูสีหน้า ท่าทาง การกระทำ ถ้าเป็นร้านอาหารที่ว่า ชาว IDEO ก็จะสังเกตว่าพอคนตักปลาเข้าปากแล้วทำหน้ายังไง พอคนตักข้าวตามไปแล้วสีหน้าดีหรือแย่

นวัตกรรมอาจไม่ใช่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่น่าทึ่ง หรือไม่เคยมีมาก่อนในโลก แต่บางครั้งอาจเป็นการหยิบยืมสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่อยู่คนละฝากของโลก เอาเข้ามาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นนวัตกรรมได้ เหมือนครั้งนึงที่ IDEO เคยถูกขอให้ช่วยออกแบบขวดน้ำดื่มสำหรับนักปั่นจักรยานทางไกล

ชาว IDEO เลยออกไปสังเกตและทดสอบดูเองมากมายพบว่าขวดน้ำดื่มในตอนนั้นชอบลื่นหลุดมือนักปั่น และนักปั่นใช้มือได้แค่ข้างเดียวในการดื่ม แต่ขวดน้ำสมัยก่อนนั้นมีจุกปิดไว้กันน้ำกระฉอก ทำให้นักปั่นต้องใช้ปากกัดจุกนั้นออกก่อนจะดื่ม แล้วก็พยายามปิดมันกลับไปแล้วเสียบใส่อานจักรยานเหมือนเดิม

ชาว IDEO ค้นพบวิธีที่จะทำให้การดื่มน้ำของนักปั่นนั้นง่ายขึ้นมากด้วยการเอาวาล์วสำหรับอุปกรณ์หัวใจเทียมที่เคยทำมาประยุกต์ใช้ เพราะหลักการทำงานก็เหมือนกันคือป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ เมื่อถูกเอามาใช้กับขวดน้ำดื่มคือป้องกันไม่ให้น้ำกระฉอกออกถ้าไม่ได้รับแรงบีบหรือดูดจากนักปั่น

เห็นมั้ยครับว่านวัตกรรมนั้นไม่ใช่อะไรที่ใหม่ขนาดนั้น แต่เป็นการเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ที่ถูกต้องจริงๆ

และการเน้นให้ความสำคัญกับบรรยายกาศ หรือสถานที่ทำงานก็ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมให้เกิดขึ้น

เพราะนวัตกรรมนั้นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก และที่ IDEO รู้ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นก็ต้องใช้พลังของบรรยากาศแวดล้อมอย่างมาก

ที่ IDEO เลยเน้นการสร้างที่ทำงานที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ น่าทำงาน ทำให้คนได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันบ่อยๆมากกว่าจะนั่งอยู่กับโต๊ะตัวเองแบบบางทีเค้าก็ไม่มีเหตุผลตลอดเวลาเหมือนออฟฟิศทั่วไป ที่ปากบอกว่าต้องการให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับไม่เคยสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวยเลย

รู้มั้ยครับว่าที่ D School เคยทดสอบและค้นพบว่า แค่การใช้โต๊ะเก้าอี้แบบติดอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ยาก ก็ทำให้กลุ่มนั้นมีไอเดียดีๆน้อยกว่ากลุ่มที่มีโต๊ะเก้าอี้ที่เคลื่อนที่หากันได้ง่ายแล้ว

ในเมื่อคุณจ้างคนเก่งเข้ามาแล้ว ก็ช่วยสร้างพื้นที่ให้เค้าได้เก่งสมกับที่คุณจ้างด้วย

คิดดูซิว่านักกีฬาระดับโลกยังต้องการเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ดีๆเลย แล้วพนักงานเก่งๆที่คุณจ้างมาจะไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้นหรอ

โต๊ะ เก้าอี้ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ล้วนเป็นเหมือนเครื่องมือคว้าเหรียญทองของนักกีฬาเช่นกันครับ

และอีกหนึ่งเรื่องสุดท้ายในเล่มที่อยากจะเล่า ว่าด้วยเรื่องของ “นวัตกรรมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม” ของสิ่งเดียวกันอาจทำยอดขายได้ต่างกันลิบลับเมื่ออยู่กันคนละที่ อย่างเช่นเรื่องของเครื่องดูดฝุ่น

ที่ญี่ปุ่นเครื่องดูดฝุ่นที่นิยมและขายดีมากที่สุดคือเครื่องรุ่นที่เงียบที่สุด ผิดกับที่อเมริการุ่นที่ขายดีที่สุดกลับเป็นรุ่นที่ดังที่สุดเพราะมีแรงดูดมาก ที่ต่างกันก็เพราะวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่อยู่เป็นอพาร์ทเมนผนังกั้นบางๆห้องติดๆกัน ดังนั้นวัฒนธรรมความเกรงใจว่าเสียงจะดังไปรบกวนเพื่อนบ้านเป็นตัวผลักดันยอดขายรุ่นที่แรงดูดน้อยและเสียงเบา ผิดกับอเมริกาที่อยู่บ้านเป็นหลังๆ ทำให้ต้องการเครื่องที่ดูดได้แรงที่สุด และก็ตัดสินความแรงจากเสียงของเครื่องตอนกำลังทำงาน

ผมคิดว่าอาจเพราะแนวคิดนี้ ทำให้รถญี่ปุ่นกับรถจากอเมริกานั้นต่างกัน รถอเมริกามักจะมีเสียงดังเวลาปิดประตู เพื่อให้คนมั่นใจว่ารถนั้นแข็งแรง ส่วนรถญี่ปุ่นนั้นมักปิดประตูแล้วไม่ค่อยมีเสียงดังออกมา บางทีก็อาจมาจากความขี้เกรงใจที่ต้องอยู่รวมกันก็ได้ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 103 ของปี 2018

สรุปหนังสือ The Art of Innovation เคล็ดลับนวัตกรรม IDEO
Lessons in creativity from IDEO, America’s leading Design Firm
เผยกระบวนการสร้างนวัตกรรมของบริษัทผลิตภัณฑ์ชั้นนำของโลก
Tom Kelley และ Jonathan Littman เขียน
นพดล จำปา และ ชีพธรรม คำวิเศษณ์ แปล
สำนักพิมพ์ขวัญข้าว ๙๔

20180819

อ่านสรุปหนังสือเล่มอื่นแนว Innovation เพิ่มเติม https://www.summaread.net/?s=innovation
สนใจสั่งซื้อได้ที่ https://www.kwankao94.in.th/book-catagory/innovation/9789749688007.html

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/