สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง สำนักพิมพ์มติชน

สรุปหนังสือก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ในชุดหนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 ของคุณต้อง กวีวุฒิ หรือเจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่งที่คุ้นเคย ผมในฐานะแฟนหนังสือคุณต้องมานานตั้งแต่ก่อนจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว บอกตามตรงว่าชอบสไตลด์การเขียนของคุณต้องไม่แพ้พี่ตุ้ม หนุ่ม เมืองจันท์เลย เพราะรู้สึกว่าอยากเขียนบรรทัดละสั้นๆ แล้วขึ้นบรรทัดใหม่ได้บ่อยแบบนี้บ้างจัง แต่ บก. ผมไม่ค่อยยอมเท่าไหร่

หนังสือธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 เล่มนี้ก็ยังคงคอนเซปเดิมที่คุ้ยเคย คือการเล่าเรื่องราวของโลกธุรกิจที่เน้นจากมุมมองของคนที่เป็นลูกน้องหรือคนนอก ไม่ใช่มุมมองของคนที่นั่งหัวโต๊ะหรือคนที่เป็นหัวหน้า เพราะคนเหล่านี้มักจะมองโลกจากมุมบนและมุมกว้าง จนลืมมุมมองจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนแทน ทำให้หลายครั้งเกิดการ lost conntection หรือขาดการเชื่อมต่อทางใจในการทำงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง

หัวหน้าก็สั่งไปเรื่อยโดยไม่ได้เอาใจมาดูเลยว่าหน้างานที่ลูกน้องคนทำงานต้องเจอนั้นมีอุปสรรคแบบใดบ้าง หรือหลายครั้งคนเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารมักจะไปอบรมหลักสูตรเท่ห์ๆ เก๋ๆ หรืออ่านเจอในหนังสือบทความถึงเทรนด์การทำงานแบบคูลๆ แล้วรีบเอามาสั่งให้ลูกน้องทำตามโดยไม่ได้สำรวจบริบทในองค์กรเราว่าเหมาะกับสิ่งนั้นไหมมากน้อยแค่ไหน

หรือที่หนักไปกว่านั้นคืออ่านแต่ชื่อและคำอธิบายก็รีบเอามาสั่งให้ลูกน้องต้องใช้ โดยขาดความเข้าใจบริบทจริงๆ หรือความรู้ในเชิงลึกว่ามันสามารถทำได้จริงขนาดไหน แล้วเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเดิมที่ทำอยู่อย่างไรบ้าง

ปัญหาที่ผมเจอจากประสบการณ์ที่เคยเป็นลูกจ้างมาสิบกว่าปี บวกกับเป็นลูกน้องมาก็ร่วมสิบปี จนมาวันนี้ก็เพิ่งจะเป็นเจ้านายหรือเจ้าของบริษัทได้สักสองปี ทำให้มีความเข้าใจที่อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เคยเป็นลูกน้องมาก่อนได้มากกว่า และก็ทำให้มีความเข้าใจคนที่เป็นแต่ลูกจ้าง หรือต่อให้เป็นลูกจ้างบริหารก็จะไม่มีทางเข้าถึงใจมุมมองของคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือคนที่เป็นเจ้าของเงินที่ต้องควักเงินจ่ายเงินเดือนลูกน้องทุกเดือนว่าพวกเขามีความคิดและรู้สึกอย่างไร

สิ่งที่ผมพบเจออย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ซ้ำซาก ที่เป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้องค์กรส่วนใหญ่ไม่ก้าวหน้าไปไหนนั่นก็คือ “การเพิ่มงานใหม่เข้าไปโดยไม่ลดงานเก่า”

คนเป็นเจ้านายมักจะมอบหมายงานต่างๆ ให้ลูกน้องทำเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ให้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ จนลืมว่างานที่เรามอบหมายให้ลูกน้องนั้นล้นมือที่เขาจะรับผิดชอบได้แล้วหรือยัง

และนั่นเองก็ทำให้ผลงานที่ลูกน้องทำออกมาไม่ค่อยดีอย่างที่ทั้งสองฝ่ายตั้งใจ เพราะผมเชื่อว่าคนทำงานที่ดีส่วนใหญ่ก็อยากทำผลงานให้ออกมาดีเสมอ เพียงแต่อุปสรรคหลักคือมันมีสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันมากเกินไป

คนไม่เคยเป็นลูกน้องจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำไม่ได้ ก็เลยได้แต่พาลคิดว่าลูกน้องเราไม่มีความสามารถเหมือนพนักงานบริษัทอื่นที่ดูเก่งๆ ฉลาดๆ แต่เมื่อเอาคนเก่งๆ ฉลาดๆ นั้นมาใส่ระบบเดิมก็พบว่าผิดหวังไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีเหมือนที่บริษัทเก่าก่อนเขามาได้

ข้อนี้สำคัญผมอยากฝากให้คนเป็นเจ้าของธุรกิจได้ลองกลับมาสำรวจตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้งว่า ณ ตอนนี้เรามอบหมายให้ลูกน้องเราทำอะไรบ้าง แล้วในแต่ละวันพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง แล้วผมอยากให้คุณลองมาทำงานแบบพวกเขาดูเต็มวันเป็นอย่างน้อยคุณจะได้เข้าใจว่าอุปสรรคหน้างานที่พวกเขาต้องเจอคืออะไร เพราะนี่ก็คือการ Empathy หรือเข้าอกเข้าใจคนทำงานจริงๆ ว่าเพราะเหตุใดพนักงานของเราจึงไม่สามารถทำอย่างที่เราคาดหวังได้

ส่วนในมุมของลูกน้องผมคงไม่ขอพูดมากเพราะเดี๋ยวจะโดนลูกน้องจริงๆ ตามมาด่า ผมบอกได้แค่ว่าในมุมของคนเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจนั้นห่วงอย่างเดียวคือกลัวไม่มีรายได้มาจ่ายเงินเดือนลูกน้อง

เจ้าของที่ธุรกิจที่ดีมักมองล่วงหน้าไปไกลว่าเราจะทำให้บริษัทในปีหน้ามีรายได้พอจะจ่ายเงินเดือนทุกคนได้ครบได้อย่างไร แล้วก็จะคิดไปต่อว่าเราจะหารายได้จากไหนมาเพิ่มเพื่อจะได้สามารถขึ้นเงินเดือนให้ลูกน้องรู้สึกภูมิใจที่เลือกทำงานกับเรา ไปจนสามารถหาโบนัสมาให้พวกเขารู้สึกอวดคนในครอบครัวได้ว่าทำงานที่นี่แล้วมีโบนัสด้วยนะ

พูดเรื่องตัวเองมาก็เยอะขอตบกลับมาที่หนังสือก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม เล่มนี้สักหน่อย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่ผมแนะนำให้คนเป็นหัวหน้าทุกคนต้องอ่าน คนเป็นผู้บริหารทุกคนต้องห้ามพลาด โดยเฉพาะคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้ทุกหน้าจากหนังสือเล่มนี้

ผมขอหยิบเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาเล่าสรุปสั้นๆ ให้คุณฟังแล้วกันว่าทำไมคุณถึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้ครับ

การจะทำ Business Transformation ที่แท้ทรูคือการเปลี่ยนรูปแบบโมเดลธุรกิจ ไม่ใช่แค่เอาเทคโนโลยีเพิ่มเข้ามา

สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง สำนักพิมพ์มติชน

ดิสนีย์เปลี่ยนไป บทนี้พูดถึงการที่ดิสนีย์เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ หรือถ้าจะให้ถูกกว่านี้คือการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาที่เป็น Disney+ ที่กำลังเป็นที่นิยมในบ้านเรา หลายองค์กรบอกว่าตัวเองอยากทำให้ไดแบบดิสนีส์ อยากมีรายได้จากการที่ลูกค้ายอมมาสมัครสมาชิกรายเดือนหรือรายปีกับเรา แล้วก็ทำเว็บขึ้นมาใหม่ เอาเทคโนโลยีใส่เข้ามา แต่กลับไปไม่ถึงฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจกันสักเท่าไหร่

แม้จะเอาวิธีการทำงานแบบ Agile เข้ามาเพิ่ม บอกว่าตัวเองจะเป็นธุรกิจที่ทำเรื่อง Customer Centric ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แต่กลับพบว่าฝ่ายบัญชีหรือฝ่ายดูแลลูกค้านั้นเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากกว่าจะเน้นไปที่ลูกค้าในท้ายที่สุด

เวลาประชุมในกลุ่มผู้บริหารมักจะมีวิสัยทัศน์มากมาย แต่วิสัยทัศน์เหล่านั้นกลับต้องพังสลายเพราะไม่มีใครกล้าเข้าไปปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานที่แท้จริง แล้วก็บ่ายเบี่ยงโยนไปการประชุมในครั้งหน้าให้สักทีมหนึ่งไปทำแผนงานกลับมาเสนอ

ช่วงนี้ผมรับงานเป็นที่ปรึกษาหรือ Advisor ตรงให้กับ CEO ก็หลายที่ องค์กรขนาดใหญ่ก็มีบ้าง ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าอุปสรรคของการ Transformation ที่แท้จริงไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็น Mindset ของผู้บริหารเดิม และ Culture วิธีการทำงานขององค์กรที่ทำสืบต่อกันมา

เมื่อจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างจริงๆ ผู้บริหารก็มักจะบอกว่า “แต่เราไม่เคยทำแบบนี้นะครับ” หรือ “แต่ที่ผ่านมาเราทำแบบนี้ก็เวิร์คมาตลอดนะครับ” ถ้า Mindset เจ้าของธุรกิจยังคงเชื่อว่าสิ่งที่เราทำนั้นดีอยู่แล้วก็ไม่ควรเสียเวลาประชุมเรื่องการทำ Digital Transformation หรือ Business Transformation แต่อย่างไร

หรือเวลาผมจัดคลาส Service Design ให้กับองค์กรที่ผมเข้าไปเป็นที่ปรึกษาโดยมีวัตถุประสงค์ว่าพวกเขาจะได้เข้าใจว่าแผนกอื่นหรือฝ่ายอื่นนั้นมีวิธีการทำงานอย่างไร

เชื่อไหมครับว่าหลายปัญหาที่คาใจบางฝ่ายมานานนั้นสามารถแก้ไขได้ง่ายมากด้วยการหันหน้าคุยกันไม่กี่คำของสองฝ่าย หรือบางเนื้องานที่ซ้ำซ้อนกันมานานก็ถูกเอามาวางเคลียร์บนกระดานเดียวกันหลังจากทำโดยไม่รู้ว่าแต่ละคนทำซ้ำซ้อนกันมาหลายปี นี่คือการกางข้อมูลที่ทุกฝ่ายมีเพื่อจะได้ทำให้ทุกคนได้เห็นภาพเดียวกันสักที

เมื่อทำ Service Design ออกมาเป็น Service Blueprint ของธุรกิจแล้วเราก็รู้ว่าใครจะต้องปรับตรงไหน ใครจะต้องลดงานอะไร หรือใครจะต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แล้วการจะหาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดจะค่อยเข้ามาตอบตรงส่วนนั้น เข้ามาเพื่อทำให้การทำงานเราง่ายขึ้น ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่เกิดประโยชน์ลงไป เพื่อทำให้เนื้องานเรามีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Disney เองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยช่องทางการจัดจำหน่ายจากคนอื่นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะธุรกิจโรงหนัง ไม่ว่าจะธุรกิจร้านเช่าหนัง หรือธุรกิจแพลตฟอร์ม Streaming อย่าง Netflix และอื่นๆ

แต่พอวันนึง Disney บอกว่าพอแล้วฉันจะติดต่อกับลูกค้าตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางแล้ว และนั่นก็เปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจใหม่เกือบหมดเพื่อให้ตอบกับเป้าหมายทางธุรกิจที่เป็น Disney+ ที่ทำเงินจาก Subscription model ทุกวันนี้

จากเดิมเคยทำหนังเรื่องหนึ่งทำเงินได้หลายร้อยล้านเหรียญหรืออาจจะกระโดดไปหลักพันล้านเหรียญเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนต์ ต้องมาเปลี่ยนเป็นการทำเงินทีละน้อยแต่นานๆ แน่นอนว่าก็สร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงให้กับ Disney วางแผนธุรกิจต่อไปได้ง่ายขึ้น

แถมยังได้ยินมาว่า Disney+ ในต่างประเทศมีเปิดให้ลูกค้าสามารถจ่ายเพิ่ม 30 ดอลลาร์เพื่อดูหนังใหม่ที่เคยแพลนเอาไว้ว่าจะฉายในโรงอย่าง Black Widow แต่สามารถนั่งดูจากที่บ้านได้แทน แว๊บแรกผมคิดในใจ โอ้โห ต้องจ่ายตั้ง 30 ดอลลาร์หรือหนึ่งพันบาทแน่ะ ถ้าไปดูโรงอย่างมากก็คงสองสามร้อยบาท

แต่พอคิดอีกรอบหนึ่งก็พบว่า แต่ถ้าผมดูที่บ้านผมก็สามารถดูกี่คนก็ได้นี่นา แถมระบบ Home Theater ที่บ้านผมก็เพิ่งซื้อชุด 5.1 มา ผมยังสามารถนั่งดูบนโซฟาสบายๆ ที่บ้าน หรือจะนอนดูบนเตียงก่อนนอนก็ได้นี่นะ ที่สำคัญคือผมไม่ต้องออกไปเสี่ยงติดโควิดนอกบ้านด้วย!

พอคิดแบบนี้ผมก็พบว่าบางทีธุรกิจ Streaming ที่มีบริการให้เช่าหนังเรื่องละหลายร้อยบาทที่เคยมีมานานอาจจะถึงจังหวะที่คนจะหันมาใช้บริการอย่างจริงจังก็ในนาทีนี้ หลายคนที่ยังพอมีกำลังซื้อก็คงเบื่อการดูแต่หนังเดิมๆ อยู่บ้านไม่น้อย ถ้าจ่ายแค่ไม่กี่ร้อยหรือพันเดียวแล้วสามารถดูหนังคุณภาพโรงภาพยนต์ได้ทันทีก็เป็นอะไรที่ไม่รู้สึกว่าแพงเกินไป

อีกอย่างบวกกับช่วงเวลานี้ถ้าจะจ่ายแล้วเกณฑ์คนในหมู่บ้านหรือคนนอกบ้านมาดูแบบก่อนโควิดมาก็คงไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาด ผมกลับคิดว่าที่เป็นจังหวะที่ดีที่ธุรกิจภาพยนต์จะหันมาขายหนังเพิ่มบนแพลตฟอร์ม Streaming ที่หลายคนก็เป็นสมาชิกอยู่แล้วครับ

กลับมาที่จุดตั้งต้นของเนื้อหาบทนี้ คือการทำ Business Transformation ไม่ใช่แค่การเอาเทคโนโลยีใส่เข้าไป แต่เป็นการเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ ไปจนถึงรูปแบบ Business model ใหม่ และแน่นอนว่าการทำงานแบบเดิมที่เคยทำมานั้นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป ดังนั้นต่อให้เรามีวิสัยทัศน์ดีแค่ไหนแต่ไม่มีกลยุทธ์ และกลวิธีที่ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ วิสัยทัศน์ก็จะเป็นแค่ฝันกลางวัน เพราะต่อให้คุณหาเทคโนโลยีดีแค่ไหนเข้ามาใส่ แต่ถ้าเราไม่ปรับวิธีการทำงานใหม่ก็เหมือนกับลิงได้แก้ว หรือเอารถซูเปอร์คาร์ไปใช้ไถนาแทนอีแต๋นครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 13 ของปี 2021

สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5 กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง สำนักพิมพ์มติชน

สรุปหนังสือ ก้าวใหญ่ๆ ใช้ใจเริ่ม ธุรกิจพอดีคำ ลำดับที่ 5
จับจุดให้ถูกใจ ก้าวกระโดดไปพร้อมนวัตกรรมความคิด
กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร เขียน (เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง)
สำนักพิมพ์มติชน

สนใจอ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > คลิ๊ก

สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/3rGUGnH

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/