สรุปหนังสือทำแบบญี่ปุ่น สำเร็จแบบญี่ปุ่น การดำเนินกิจการ 100 ปีที่ยั่งยืน รวมเคสธุรกิจในญี่ปุ่นที่มีอายุร้อยปีขึ้นไป รวมหาเหตุผลให้เข้าใจว่าทำไมธุรกิจเหล่านั้นถึงยังคงอยู่ได้นานกว่า 100 ปี และที่สำคัญกว่านั้นคือธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่เต็มไปด้วยเงินทุนหนุนหลัง แต่เป็นธุรกิจรายเล็ก รายย่อย ธุรกิจครอบครัวชาวบ้าน หรือที่เราเรียกคุ้นปากว่าธุรกิจ SME ครับ
ถ้าเป็นธุรกิจ SME บ้านเราจะทำให้เกิน 10 ปีแรกยังยาก ทำให้ส่งต่อถึงรุ่นลูกหลานยิ่งเหลือรอดได้น้อยนิดมากอย่างไม่น่าเชื่อ แต่กับที่ประเทศญี่ปุ่นมีอะไรต่างจากเรา ทำไมธุรกิจส่วนใหญ่บ้านเขาถึงมีอายุหลักร้อยปีขึ้นไปเยอะมากจนดูเป็นเรื่องปกติ
งั้นเรามาเริ่มต้นจากรู้จักไปทีละธุรกิจในหนังสือเล่มนี้ ที่ผมขอหยิบบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจมาสรุปเล่าให้ฟังครับ
ยามานิ โชยุ เมืองริกุเซ็นทากาตะ จังหวัดอิวาเตะ ผู้บริหารรุ่นที่ 4
จากผู้ผลิตโซยุชื่อดังแต่ต้องมาโรงงานพังเพราะพิษสึนามิ แต่นั่นกลายเป็นว่าทำให้ตัวเขาได้ปลดล็อคจากสิ่งเดิมที่เคยทำสืบต่อกันมา ได้ค้นพบ New S Curve ใหม่ของธุรกิจที่ได้แต่คิดแต่ไม่เคยทำ เมื่อทุกอย่างถูกล้างกระดานจากสึนามิ ก็เลยได้โอกาสเริ่มต้นทำสิ่งที่คิดไว้สักที นั่นคือการขายใบอนุญาตผลิตโซยุที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
เดิมผู้ผลิตโซยุในญีปุ่นจะเป็นเจ้าของโรงงานที่ทำการผลิตเอง แล้วก็จะหวงสูตรของตัวเองมาก ไม่ยอมปล่อยให้คนนอกได้ล่วงรู้เด็ดขาด เพราะอาจทำให้ธุรกิจเสียหายจนเจ๊งได้
แต่กับผู้บริหารรุ่นที่ 4 รายนี้ไม่ เลือกจะปฏิวัติการทำธุรกิจโซยุของตัวเองใหม่ ด้วยการหาโรงงานที่ยังพอผลิตโซยุได้ จากนั้นก็ขายใบอนุญาตการผลิตโซยุสูตรนี้ แล้วคิดเงินตามยอดขายหรือส่วนแบ่งที่ผู้ผลิตขายได้ เรียกว่าตัวเองไม่ต้องเหนื่อย แถมยังได้ขยายแบรนด์ตัวเองออกไปด้วย
ความน่าสนใจเล็กๆ ที่แทรกอยู่ในธุรกิจนี้คือตั้งแต่ยุคแรกเริ่มธุรกิจ กลุ่มครอบครัวเจ้าของจะออกไปรับออเดอร์หรือคำสั่งซื้อด้วยตัวเอง จากลูกค้าที่มีอยู่หกพันครัวเรือนชัดเจน ทำให้ผลิตแค่เท่าที่ต้องขาย และก็ส่งให้ลูกค้าแค่เท่าที่ต้องใช้ พวกเขาทำวิธีนี้มานานกว่า 140 ปีแล้ว ทำให้พนักงานมีดาต้าหรือข้อมูลในหัวชัดเจนว่าบ้านไหนใช้โซยุมากน้อยแค่ไหน วันไหนต้องเตรียมเอาไปส่งบ้านไหนเพราะใกล้หมดแล้ว รู้กระทั่งว่าบ้านนี้ส่งของให้แล้วต้องไปเก็บเงินที่ใคร เพราะบางครั้งคนใช้กับคนจ่ายเงินก็เป็นคนละคนกัน
นี่คือการตลาดแบบใส่ใจ Customer Relationship Marketing ขั้นสุด
ลูกอมคันโระ เขตนากาโนะ กรุงโตเกียว
ลูกอมที่มี Unique Selling Point ได้ง่ายๆ แค่คิดใช้กระดาษห่อ ท่ามกลางลูกอมรายอื่นที่ขายแบบไม่ห่อ ขายแบบเทใส่โหลรวมกัน อยากหยิบเท่าไหร่ก็หยิบไปแล้วจ่ายเงินในยุคแรกเริ่มลูกอมถูกวางขายในท้องตลาดประเทศญี่ปุ่น
ลูกอมคันโระแบรนด์นี้คิดหาจุดต่าง ทำอย่างไรที่เราจะต่างจากคู่แข่งคนอื่นได้ ก็เลยเป็นที่มาของการเอากระดาษมาห่อด้วยความปราณีต ทำให้จากเดิมลูกอมทั่วไปขายกันเม็ดละ 1 เยนในวันนั้น ลูกอมคันโระสามารถตั้งราคาขายได้ถึงเม็ดละ 2 เยน
คิดง่ายๆ ก็ขายได้แพงกว่าคู่แข่งในท้องตลาดเท่าตัว ถ้าคนอื่นขายล้านเม็ดได้ล้านเยน ลูกอมคันโระขายล้านเม็ดเท่ากันแต่ได้เงินถึงสองล้านเยนครับ
ตอนแรกใช้พนักงานเป็นคนห่อลูกอมทีละเม็ดด้วยความปราณีต แต่ผ่านไปไม่นานลูกอมแบบห่อของคันโระกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก จะขายได้วันละพันเม็ดขยับไปถึงวันละหลักหมื่นเม็ด จึงต้องทำเข้าเครื่องห่อลูกอมขึ้นมาเป็นที่แรกในประเทศญี่ปุ่น
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าถ้าอยากต่างก็แค่ทำให้มากกว่าคู่แข่งอีกหน่อย ไม่ต้องคิดอะไรซับซ้อนเป็นนวัตกรรมล้ำโลกครั้งแรกของโลก แค่เอากระดาษมาห่อลูกอมที่ทุกคนไม่ห่อกันก็กลายเป็นจุดต่างจุดขายสำคัญได้แล้ว
โรงหมักเหล้าคุมาซาวะ เมืองจิงาซากิ จังหวัดคานากาวะ เจ้าของรุ่นที่ 6
ความน่าสนใจไม่ใช่โรงหมัก แต่เป็นกฏหมายข้อบังคับที่เปิดกว้างทำให้ธุรกิจสุราในญี่ปุ่นได้เติบโต ในสมัยเมจิมีการยกเลิกข้อบังคับการผลิตเหล้า ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นสามารถเข้าสู่วงการการผลิตเหล้าได้ บริษัทต่างๆ ก็เริ่มเกิดขึ้นในจุดนั้น จากที่เคยปลูกข้าวเพื่อขายเป็นอาหาร ก็สามารถนำมาหมักเป็นเหล้าหรือสาเกในแบบของตัวเองจนนำไปสู่การสร้างแบรนด์และยอดขายที่มีมูลค่าต่อผลผลิตมากกว่าเดิม
และไม่น่าเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล้าเองในวันที่รุ่งเรืองมากๆ ก็สร้างผลผลิตรายได้ GDP สูงกว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นเลยทีเดียว กลายเป็นว่าสุราคือแรงขับเคลื่อนประเทศญี่ปุ่นให้เจริญก้าวหน้า ในขณะที่ประเทศไทยยังคงล็อคตายการผลิตเหล้าให้กับเจ้าสัวรายใหญ่ไม่กี่คนเท่านั้น ช่างเป็นประเทศที่เน้นการผูกขาดทางเศรษฐกิจจริงๆ
และอุตสาหกรรมการผลิตเหล้าในสมัยเมจิเคยถูกเทียบกับอุตสาหกรรมไอทีในยุคปัจจุบัน เพราะในวันนั้นมันดูว้าว ดูทันสมัย ดูน่าสนใจจากคนรุ่นใหม่หนุ่มสาวมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เติบโตสูงแบบสุดๆ เมื่อคนทำงานออฟฟิศเยอะขึ้นก็ต้องการเครื่องดื่มผ่อนคลายหลังเลิกงานมากขึ้น
ร้านขนมโอซุมิ ทามะยะ เขตชินจูกุ กรุงโตเกียว ผู้บริหารรุ่นที่ 3
ขนมไดฟูกุหรือโมจิที่ใส่สตรอว์เบอร์รี่ทั้งลูกเริ่มต้นจากร้านนี้เป็นที่แรกในญี่ปุ่น ช่วงแรกที่ทำก้มีคนถามว่า “มันกินได้จริงหรือ ?” ครั้งแรกๆ คนก็ซื้อเพราะรู้สึกว่ามันแปลกใหม่ แต่หลังจากนั้นคนกลับมาซื้อซ้ำเพราะติดใจด้วยความที่มันอร่อยจริง
และหลายคนก็นิยมซื้อไปเป็นของฝากให้คนอื่น คนได้รับก็ทั้งแปลกใจและบอกว่าอร่อยมากเลย ผลคือมีคนมาซื้อไดฟูกุหรือโมจิที่ใส่ใส้สตรอว์เบอร์รี่ทั้งลูกจากร้านนี้ล้นทะลักมาก สักพักไม่นานร้านข้างเคียงก็เริ่มทำตามกัน จนกลายเป็นของที่หาซื้อได้ทั่วไป แต่ความน่าสนใจคือเจ้าของร้านผู้คิดค้นกลับบอกว่าไม่เป็นไร กลับดีใจด้วยซ้ำที่มีคนทำตาม
จากนั้นกระแสขนมไดฟูกุใส่ใส้สตรอว์เบอร์รี่ทั้งลูกก็เริ่มออกสื่อมากมาย มีทั้งวิทยุรายการโทรทัศน์มาขอถ่าย จากเดือนมีนาคมช่วงแรกทำยอดขายได้แค่สามสิบลูก จากนั้นก็เพิ่มไปเป็นหกสิบ หนึ่งร้อย สองร้อย ไปจนถึงหนึ่งพัน
แล้วแทนที่จะหวงสูตรหรือวิธีทำขนมขายดีของตัวเองไว้ กลับเอาไปให้ร้านอื่นได้ดูและทำขายด้วยกัน เพราะเขามองว่าถ้าร้านอื่นก็ทำจะช่วยให้ยอดขายวัตถุดิบทั้งหมดเพิ่มขึ้นกว่าการแค่ร้านของเขาทำคนเดียว และจากการแบ่งปันความรู้ขนมไดฟูกุใส่ใส้สตรอว์เบอร์รี่ทั้งลูกก็ทำให้ยอดขายรวมของร้านขนมในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 30% จนได้รับคำยกย่องจากสมาคมมากมาย
นี่คือผู้นำที่ใจกว้าง ยิ่งแบ่งปันออกไปยิ่งมีแต่ได้ อยากเห็นคนทำธุรกิจทั้งหลายมีใจแบ่งปันความรู้ให้กับเพื่อนร่วมธุรกิจ จะเป็นการช่วยยกระดับธุรกิจทั้งหมดขึ้นมาที่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
โรงงานแปรรูปกระดาษคาโมอิ เมืองคุราซิกิ จังหวัดโอกายามะ
จากบริษัทผู้ผลิตกระดาษจับแมลงวัน สู่การผลิตกระดาษเครื่องเขียนมาส์กกิ้งเทปมากคุณค่าและมูลค่า ความน่าสนใจในบทนี้ไม่ใช่สินค้าสำหรับผม แต่เป็นแนวคิดของผู้บริหารที่บอกว่า อย่าคิดว่าสิ่งที่เราทำมานานเป็นร้อยปีจะดีที่สุด เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมจนห้ามเปลี่ยนแปลง ห้ามแตะต้อง แต่เราต้องคิดพร้อมรับมือสิ่งใหม่ๆ ปรับตัวเข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปด้วย
เมื่อเห็นแล้วว่าจะต้องทำอะไร และจะต้องทำอย่างไร ก็ลงมือทำให้เต็มที่ เพื่อที่ผู้ที่บุกเบิกทำมาร้อยปีก่อน จะได้ชื่นชมเราว่าทำได้ดีมากไม่ใช่เอาแต่หยุดนิ่งกับสิ่งที่เคยทำมาตั้งแต่ร้อยปีที่แล้ว
ธุรกิจต้องมีวิวัฒนาการ สังคมต้องมีวิวัฒนาการ การเมืองการปกครองก็ต้องมีวิวัฒนาการเช่นกัน สิ่งใดถูกแช่แข็งไว้ไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามบริบทใหม่ ย่อมเสื่อมสลายแตกหักพังไปในท้ายที่สุด
ดินสอทมโบะ TOMBOW เขตคิตะ กรุงโตเกียว ผู้บริหารรุ่นที่ 6
หน้าตาของดินสอและยางลบทมโบะ หรือ TOMBOW คงคุ้นเคยคนไทยหลายคนไม่น้อย ด้วยคุณภาพที่ดีมากๆ ของยางลบที่ลบอะไรก็ได้ ลบอะไรก็ง่าย แม้จะราคาสูงกว่ายางลบทั่วไป แต่บรรดาเด็กส่วนใหญ่สมัยผมล้วนอยากได้เป็นเจ้าของทั้งนั้น
ความน่าสนใจคือแม้วันนี้การผลิตข้าวของแม้แต่เครื่องเขียนจะถูกผลิตขึ้นในจีนแล้วถูกส่งออกมาขายยังประเทศอื่นเป็นหลัก ในประเทศญี่ปุ่นก็โดนไม่แพ้กัน ในวันที่เครื่องเขียนจากจีนขายถูกแค่ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของเครื่องเขียนที่ผลิตในประเทศ แต่ด้วยความตั้งใจที่จะทำสินค้าให้ดีที่สุดจนข้ามการแข่งเรื่องราคาไป ไม่ว่าจะเป็นเขียนง่าย หมึกออกสม่ำเสมอ ทำให้ลูกค้าติดใจจนยอมจ่ายในราคาแพงกว่า
หรือแม้แต่การเพิ่มจุดขายเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปจากความใส่ใจที่มากกว่า ทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจว่า “เอ๊ะ มีตรงนี้ด้วยหรอ” หรือ “คิดมาขนาดนี้เลยหรอ” ทำให้ลูกค้ากลุ่มที่ยอมจ่ายเพื่อของดียังคงเป็นลูกค้าของแบรนด์ไม่หนีหายไปซื้อสินค้าจากจีนที่แม้จะมีราคาถูกกว่าร่วมสิบเท่า
ดังนั้นการจะทำสินค้าหรือบริการให้ต่างไม่ยากอย่างที่คิด แค่คิดและทำให้มากกว่าที่คนอื่นทำอยู่สักหน่อย ถ้าอยากได้ใจลูกค้ามากขึ้นก็แค่ใช้ใจในการทำธุรกิจให้มากหน่อยเท่านั้นเอง
ไดนิฮงโจะชูงิกุ เขตนิชิ จังหวัดโอซากา
จากบริษัทผู้ผลิตธูปสู่ผู้เริ่มต้นผลิตยากันยุงแบบขด ยากันยุงแบบขดที่เราเห็นกันจนคุ้นตาสำหรับใครบางคน ใครจะรู้ว่ามีจุดกำเนิดที่มาจากบริษัทนี้ มันคือการเอาดอกไพรีทรัมตากให้แห้ง แล้วนำมาบดเป็นผงละเอียด จากนั้นก็ใส่ผงกาวผสมน้ำนวดจนเหมือนน้ำมันดิบ แล้วก็กดเหมือนกดวุ้นให้ได้เส้นหนาประมาณเส้นอุด้งสองเส้นยาวประมาณ 60 เซนติเมตร
แล้วก็ใช้มือม้วนเป็นขดกลมแล้วทำให้แห้ง พอน้ำมันระเหยออกก็จะเกิดช่องว่างระหว่างสองเส้นที่ขดเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นยาจุดกันยุงแบบขดที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยเรื่องการขนส่ง ประหยัดพื้นที่ ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่มากในเวลานั้น
เพราะจุดเริ่มต้นของยาจุดกันยุงมาจากธูป ดังนั้นหน้าตาแรกของมันจึงเป็นเสมือนธูปยาวๆ แต่ด้วยความจำกัดของความยาวที่ไม่มากขนาด 60 เซนติเมตร จึงทำให้มันอยู่ได้ไม่นานพอ ลูกค้าก็เริ่มถามหาธูปที่ยาวขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ เลยเกิดไอเดียว่าถ้างั้นทำให้มันยาวขึ้นแต่เราขดหันให้มีขนาดเล็กลงง่ายต่อการขนส่งและใช้งานจะดีกว่า
จนเป็นที่มาของยาจุดกันยุงแบบขดที่ว่าไป แต่รู้มั้ยครับว่าตอนแรกที่คิดค้นขึ้นมากว่าจะสำเร็จจนนำไปขายได้ ต้องใช้เวลาลองผิดลองถูกนานถึง 7 ปี การจะคิดค้นอะไรใหม่ต้องใช้เวลานานกว่าที่คิด ดังนั้นถ้าเราไม่มุ่งมั่นสู้ทนจนถึงวันที่สำเร็จ ก็ยากจะเป็นผู้ให้กำเนิดนวัตกรรมอะไรใหม่ขึ้นมาได้
UK แพลนนิ่ง หมวกทานากะ เมืองคาซุคาเบะ จังหวัดไซตามะ ผู้บริหารรุ่นที่ 5
เริ่มต้นจากการทอฟางแบบซานาดะเมื่อ 130 ปีก่อน ปัจจุบันมาเป็นผู้สร้างหมวกทีละใบด้วยงานฝีมือล้วนๆ โดยหมวกหนึ่งใบทำจากเชือกฟางแค่หนึ่งเส้น นี่คือจุดขายที่หาคนจะลอกเลียนแบบได้ยากเย็น จนกลายเป็นจุดขายของหมวกทานากะในที่สุด
เรื่องนี้ยังคงตกย้ำเรื่องที่ว่า หลายครั้งเราคิดหานวัตกรรมและความซับซ้อนเพื่อนำมาเป็นจุดขายมากเกินไป จนลืมคิดไปว่าการทำสิ่งง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้แต่ไม่มีใครอยากทำก็สามารถกลายเป็นจุดขายที่ไม่มีใครอยากเลียนแบบได้เหมือนกัน
ใครคิดไม่ออกว่าสินค้าหรือบริการของเราจะสร้างจุดขายที่คู่แข่งไม่มีได้อย่างไร ให้ลองดูตัวอย่างหมวกทานากะใบนี้ ที่บรรจงใช้เชือกฟางเส้นเดียวมาเย็บเป็นหมวกทั้งใบ ทำให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจจนอยากเป็นเจ้าของหมวกทานากะของเราสักอัน
ถุงน่องฟุกุชุเกะ เขตชิบูยา กรุงโตเกียว
ผู้ผลิตถุงน่องคุณภาพดีภายในประเทศญี่ปุ่น ที่อยู่มาได้ร้อยกว่าปีจากความตั้งใจว่า “ให้รักษาเนื้อสัมผัส” อย่าให้เปลี่ยนไป ดังนั้นไม่ว่าสินค้าจากต่างประเทศจะนำเข้ามาขายในราคาถูกเท่าไหร่ แต่กับถุงน่องฟุกุชุเกะยังคงรักษามาตรฐานไว้ให้นำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ
และด้วยแนวคิดที่ว่าแม้ต่างประเทศจะผลิตได้มากกว่าในต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ถ้าเราไม่รักษาการผลิตไว้เราก็จะไม่มีนวัตกรรมใหม่ใดเกิดขึ้น เพราะเทคนิคใหม่ที่คิดค้นจากคนในประเทศที่ใส่ใจจริงเท่านั้นจึงจะสามารถส่งต่อให้โรงงานในต่างประเทศผลิตตามได้
ด้วยแนวคิดนี้ผู้บริหารจึงยังรักษาการผลิตในประเทศไว้เหมือนเดิม และก็ยังเน้นการก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ จนทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนญี่ปุ่นที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อสินค้าคุณภาพดีเลือกถุงน่องแบรนด์นี้
และเรื่องนี้ก็ยังคงตอกย้ำว่าการจะรักษาลูกค้าให้ไม่หนีหายไป คือการสร้างของที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมลดคุณภาพลงไปแข่งเรื่องราคา เพราะอย่างไรก็ต้องมีคนที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อของที่ดีกว่า แม้คนจำนวนมากจะชอบของถูกลดราคา แต่ก็ยังมีคนที่ยอมจ่ายมากกว่าเพื่อคุณภาพที่ดีกว่าสินค้าทั่วไป
โรงแรมมัมเป เมืองคารุอิซาวะ เขตคิตาซากุ จังหวัดนากะโนะ
จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 250 ปีก่อน สมัยที่โรงแรมมัมเปยังเป็นแค่จุดพักค้างแรมพร้อมอาหารที่มีชื่อว่า “คาเมยะ” มาวันนี้กลายเป็นโรงแรมที่ได้ใจลูกค้าผู้เคยเข้าพักหลายคนมากมาย ก็เพราะความใส่ใจในการให้บริการของผู้บริหารที่ส่งต่อถึงพนักงานอย่างไม่ตกหล่น
เขาบอกว่าสมัยที่ยังเป็นแค่ที่พักค้างแรม คนงานทำงานเพื่อแลกข้าวเท่านั้น แต่พอมีคนต่างชาติมาพักมากเข้า ก็ขยันทำงานเพราะได้ทิป แต่ตอนนี้พนักงานทำงานแบบเอาเป็นเอาตาย เพียงเพราะต้องการได้ยินคำว่า “ขอบคุณ” จากแขกผู้มาพัก
สำหรับโรงแรมมัมเปแห่งนี้นี่คือสิ่งที่พนักงานถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด และนั่นเองเลยทำให้โรงแรมแห่งนี้มีสเน่ห์มากกว่าโรงแรมอื่นที่มีมากมายให้เลือกพัก แต่คนมากมายก็ยังคงอยากที่จะมาพักโรงแรมมัมเปแห่งนี้
สรุปหนังสือ ทำแบบญี่ปุ่น สำเร็จแบบญี่ปุ่น
หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจที่จะมีอายุเกิน 100 ปีนั้นไม่จำเป็นต้องใหญ่ ต้องรวย ต้องมากสาขา เพียงแค่ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน และมีใจที่ตั้งมั่นว่าจะทำให้ลูกค้ามีความสุขมากกว่าเดิม แต่ก็พร้อมปรับตัวให้เข้ากับบริบทใหม่ๆ ของโลกที่เปลี่ยนไปทุกวัน
ถ้ายังทำแบบเดิมซ้ำๆ ตลอด 100 ปีโดยไม่ปรับตัว ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลง ก็คงไม่ได้อยู่ถึงหนึ่งร้อยปี ดีไม่ดีก็อาจไม่ถึงสิบปีแล้ว
อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 21 ของปี
สรุปหนังสือ ทำแบบญี่ปุ่น สำเร็จแบบญี่ปุ่น
การดำเนินกิจการ 100 ปีที่ยั่งยืน
มากิ ชิโอซาวะ เขียน
ชัยรัตน์ ถมยา แปล
สำนักพิมพ์ Gpyzy
อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ: https://www.summaread.net/category/japan/
สั่งซื้อออนไลน์
https://s.shopee.co.th/50DZwEEWnv