สรุปหนังสือ ทะยาน Transform 10 กลยุทธ์การเปลี่ยนตัวเองก่อนออกไปเปลี่ยนโลก โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เขียน สำนักพิมพ์ อะไรเอ่ย

สรุปหนังสือทะยาน Transform เล่มนี้เขียนโดยคุณโธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เจ้าของแบรนด์ Anitech หรือปลั๊กไฟที่เชื่อว่าทุกบ้านต้องมีครับ จากหนังสือเล่มแรก ทะยาน คิดแบบ STARTUP ทำอย่าง SME มีระบบอย่างมหาชน ที่อ่านแล้วบอกได้เลยว่าดีมาก มากจนทำให้ผมรู้สึกว่าเสียดายที่เพิ่งหยิบมาอ่านตอนนั้น ทั้งที่มีหนังสือดองอยู่บ้านมานาน รู้งี้น่าจะหยิบมาอ่านตั้งนานแล้ว

และด้วยความที่ตอนหลังเริ่มสนิทกับคุณโธมัส มากขึ้น พอรู้ว่าเล่มสองจะออก ผมเลยเฝ้ารอที่จะอ่าน แถมยังได้รับเกียรติให้เขียนคำนิยมของหนังสือเล่มนี้ด้วย พอได้มาปุ๊บรีบลัดคิวขึ้นมาอ่านปั๊บ และผมขอสรุปเนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้ ที่เป็นความประทับใจส่วนตัวเพื่อเรียกน้ำย่อยให้เพื่อนๆ คนทำธุรกิจนักอ่านได้ไปหาเล่มเต็มมาอ่านกันครับ

5 แนวทางเริ่มต้นธุรกิจ

ผมช่วยพาร์ทนี้มาก ทั้งที่ฟังดูเรียบง่ายไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา แต่มันเป็นการสรุปแก่นของการเริ่มต้นทำธุรกิจให้เราได้เห็นภาพแบบง่ายๆ ซึ่งประกอบด้วย 5 ข้อการเริ่มต้นธุรกิจดังนี้ครับ

1. Pain Point ทำของที่มีคนอยากได้

หลักคิดของ Startup หรือธุรกิจส่วนใหญ่ที่จะไปต่อได้ต้องเริ่มต้นจากข้อนี้ มันคือการหาความห่วยในปัจจุบันให้เจอ แล้วก็ทำให้มันดีกว่าที่มันเป็นอยู่ เช่น คนอยากได้บริการจัดการ Data ที่ดีพอ แต่ไม่เคยมีใครทำให้ ผมก็เลยออกมาทำบริษัทที่รับทำเรื่องนี้ ทำให้ผมมีตลาดรองรับหรือว่ามีลูกค้าตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำ

ดังนั้นการจะเริ่มต้นธุรกิจไม่ต้องไปคิดที่ไหนไกล เอาแค่ทำให้มันดีกว่าสิ่งที่มันมีแล้วห่วยอยู่ ธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการต่อยอดและทำให้ดีขึ้น แต่ก็อย่าลืมไปสำรวจตลาดด้วยว่ามีคนที่มีปัญหาแบบนี้มากขนาดไหน เพราะถ้ามีน้อยไปอาจเป็นแค่งานอดิเรก แต่ถ้ามากพอมันก็มีโอกาสจะสเกลได้ในอนาคตครับ

ส่วนตัวผมให้ข้อสรุปเพิ่มเติมแบบนี้ เอาราคาความยากหรือน่าเบื่อ น่าหงุดหงิดของปัญหานั้นมาคำนวน คุณอาจเจอช่องว่างทางธุรกิจใหม่ตรงที่ บาง Pain Point อาจมีน้อยคนมากที่มีปัญหา แต่มันดันเป็นปัญหาที่คนพร้อมจ่ายแพงมาก จนทำให้คุณเริ่มต้นธุรกิจและอยู่ได้โดยไม่ลำบากครับ

2. Unfair-Competitive Advantage มีข้อได้เปรียบที่คนอื่นยากจะเลียนแบบได้

ซึ่งข้อนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้นนะครับ แต่มันหมายถึงอะไรก็ตามที่คุณมีแต่คนอื่นไม่มี คนส่วนใหญ่ไม่มี หรือถ้าจะมีตามแบบไล่ทันได้ก็ยากเกินไปจนดูไม่คุ้ม

เช่น ผมมีความรู้ด้านการตลาดพอประมาณ นั่นถือเป็นพื้นฐานของการทำบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด แต่ข้อได้เปรียบที่เป็น Unfair-Competitive Advantage ของผมกลับเป็นความสนใจเรื่อง Data ที่มีมานานกว่านักการตลาดคนอื่นพอควร จึงทำให้ผมเป็นที่จดจำว่าถ้าจะเป็นเรื่อง Data-Driven Marketing นักการตลาดจำนวนไม่น้อยจะคิดถึงผมเป็นคนแรกๆ

ถามว่าคนอื่นเลียนแบบได้มั้ย ได้ครับ แต่ยาก เพราะกว่าผมจะเป็นที่จดจำได้ในเรื่องนี้ ผมต้องสื่อสารหรือถ่ายทอดออกมาทุกวันผ่านเพจการตลาดวันละตอน แม้ผมจะไม่ได้มีความเก่งกาจเรื่อง Data Science แบบคนในสายนี้โดยตรง แต่ผมก็มีความเข้าใจว่าคนทำธุรกิจหรือนักการตลาดต้องการใช้ Data-Driven Decision แบบไหน

นี่แหละครับคือ Unfair-Competitive Advantage หรือข้อได้เปรียบที่ยากจะเลียนแบบได้ ย้ำนะครับ ไม่ใช่จะเลียนแบบเลยไม่ได้ แต่มันยากที่คนอื่นจะเลียนแบบเราครับ

3. Product Founder Alignment เก่งอะไรเริ่มต้นจากอย่างนั้น

ข้อนี้คือการใช้ทักษะ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ของเราเป็นตัวตั้งต้นเวลาจะเริ่มทำธุรกิจ เช่น ผมมีประสบการณ์เรื่องการทำ Marketing Strategy มาหลายปี ตอนผมเริ่มทำธุรกิจก็เอาจุดนี้เป็นตัวตั้ง ก่อนจะเสริมกับ Unfair-Competitive Advantage เรื่อง Data มาเป็นตัวเสริม

ทำให้ผมเริ่มต้นธุรกิจได้ง่าย คนกล้าจ้างผมไปเป็นที่ปรึกษาช่วยเรื่องการตลาดและกลยุทธ์ก่อน ส่วนคนที่สนใจเรื่องดาต้าก็ติดต่อผมเข้ามาเพิ่ม ดังนั้นใครถนัดทำอะไรมานานพอจนชำนาญ ก็เอาความชำนาญมาเป็นตัวเริ่มต้นธุรกิจก็ได้ครับ

4. Swot Analysis รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

การทำ Swot Analysis ดูเป็นเรื่องง่ายเพราะได้ยินมาตั้งแต่สมัยเรียน แต่ในความเป็นจริงกลับมีน้อยคนมากที่ทำมันได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถ้าเราทำ Swot Analysis ดีๆ เราจะสามารถรู้ด้วยตัวเองได้เลยว่าควรทำอะไรต่อ หรืออะไรที่ไม่ควรเสียเวลาทำ

เราจะเข้าใจจุดขายหรือจุดแข็งของแบรนด์ที่เราทำ เราจะรู้ว่าจุดอ่อนของเขาคืออะไร เราจะรู้ว่าโอกาสที่สามารถต่อยอดได้คือตรงไหน และจะมีอะไรเป็นอุปสรรคในอนาคตได้บ้าง

ก็เปรียบได้กับคำของซุนวู รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ส่วนใหญ่รบแพ้เพราะไม่ทันรู้ดีพอแต่กระเหี้ยนกระหืออยากออกรบ ทำเอาเสียหายงบการตลาดหลายล้าน สรุปง่ายๆ ว่ารู้ให้จริงก่อนลงมือ หรือไม่ถ้าจะลงมือก็ต้องรู้ก่อนว่าจะลงมือเพื่อให้รู้อะไรครับ (Data Collection Strategy)

5. By Chance บางทีก็เป็นเรื่องของดวง

ข้อนี้ไม่ได้บอกให้งมงาย ไม่ได้บอกให้เริ่มต้นธุรกิจจากการดูหมอ แต่บางครั้งการที่เราทุ่มเทลงมือทำอะไรด้วยความตั้งใจแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อย่ารีบท้อ ให้มองว่าโอกาสยังไม่มี ดวงดียังไม่มา

แต่ในอีกแง่นึงก็หมายความว่า จงมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุดเพื่อสะสมโอกาสสร้างดวงที่ดีในอนาคตไปเรื่อยๆ วันนึงเมื่อโอกาสมาฟ้ามองเห็น หลายๆ สิ่งที่เคยทำมาก็จะส่งผลดีจนที่เราเรียกกันว่าดวงดีนั่นแหละครับ

จงทำงานเพื่อให้โชคดีอยากวิ่งเข้าหาเรามากกว่าคนอื่นนะครับ

นอกจากนี้หนังสือทะยาน Transform ยังพูดถึงเรื่องอื่นๆ ของการเริ่มต้นทำธุรกิจ ไปจนถึงทำ Transform ธุรกิจให้โตขึ้น มีแง่มุมที่ผมคิดว่าน่าสนใจดังนี้ครับ

เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วน คนละบาทบาทกัน

บางคนอาจคิดว่าเพื่อนเราน่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีได้ง่าย หรือเป็นหุ้นส่วนที่ดีต่อกันได้เมื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่จากประสบการณ์ผมอยากบอกว่า เพื่อนที่ดี อาจเป็นเพื่อนร่วมงานที่แย่ได้ ส่วนเพื่อนที่ดีมาก อาจเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่เข้ากันไม่ได้เลยก็มี

และจากประสบการณ์ผมก็พบว่า เพื่อนร่วมงานที่ดี และหุ้นส่วนที่ดี สามารถกลายเป็นเพื่อนได้ง่ายกว่า

คิดถึงตอนจบธุรกิจตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งบริษัท

ต่อจากเรื่องหุ้นส่วน หลายครั้งเราเอาเพื่อนสนิทมาร่วมสร้างบริษัทกัน เพราะคิดว่าเพื่อนกันน่าจะคุยกันง่าย ซึ่งจริงครับ ตอนเริ่มต้นมันคุยกันง่าย แต่ปัญหาคือตอนจบหรือตอนจะแยกทางต่างหาก ที่มันเลิกกันยากเหลือเกิน

เพราะตอนเริ่มมันเริ่มด้วยใจ ทุกคนไม่ได้มองตัวเงินเป็นหลัก แต่พอทำไปสักพักแล้วเวิร์ค เริ่มมีเรื่องเงินเข้ามา ผลตอบแทนเข้ามา จากเงินหลักหมื่น แสน กลายเป็นหลักล้าน หรือหลายสิบหลายร้อยล้าน จังหวะนั้นแหละที่มักเจอคือ คนนึงอยากขายหุ้นออกจากบริษัทไปทำอย่างอื่น แต่เพื่อนๆ หุ้นส่วนเดิมไม่เห็นด้วยกับราคาที่ผู้ขายตั้ง

กลายเป็นว่าเกิดความคาราคาซัง หุ้นค้างไว้แบบนั้น จะบริหารจัดการก็ลำบาก คนไม่ทำงานต่อกลับได้ส่วนแบ่ง ดังนั้นคำแนะนำก่อนเริ่มต้นทำบริษัทกับใคร คิดถึงจุดจบไว้ตั้งแต่วันแรกครับ

จะ Transform ได้ ต้องถอดรูปแบบการทำงานหรือ Process ออกมาก่อน

การจะทำ Business Transformation หรือ Digital Transformation หลายครั้งที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดกันคือเราต้องมีเครื่องมือเทคโนโลยีล้ำหน้าก่อน ถึงจะทำการเปลี่ยนแปลง Transform ได้

แต่ในความเป็นจริงแล้วเครื่องมือหรือเทคโนโลยีเป็นเรื่องสุดท้ายเลยครับ แต่เรื่องแรกคือการเข้าใจรูปแบบหรือวิธีการทำงานของบริษัทเราก่อน เราจะต้องถอด Process การทำงานออกมาให้เป็นขั้นเป็นตอน รู้ว่ากว่าจะเกิดงานนึงได้ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง ผ่านคนทำงานตำแหน่งไหนบ้าง

จากนั้นงานจะไม่ผูกติดกับคนมากเกินไป แต่จะยึดโยงกับระบบ นั่นหมายความว่าถ้าคนนั้นหายไป เราก็สามารถหาคนใหม่มาทำในตำแหน่งนั้นได้ครับ

และหนังสือทะยาน Transform เล่มนี้ยังเปิดอีกมุมมองหนึ่งให้ผม นั่นคือการบอกให้รู้ว่า Process Innovation ก็นับเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งของธุรกิจได้

หลายครั้งเมื่อพูดถึงคำว่า Innovation เรามักคิดถึงสิ่งที่จับต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน หรือคิดถึงโปรแกรมซอร์ฟแวร์อะไรพวกนั้น แต่ไม่ทันได้คิดว่าแค่สร้างระบบขั้นตอนการทำงานใหม่ ก็นับเป็นนวัตกรรมของธุรกิจหรือ Process Innovation ได้เหมือนกัน

ดังนั้นลองถอด Workflow ของการทำงานในบริษัทคุณมีทีละส่วน แล้วค่อยเอามาดูว่าตรงไหนที่มันเยิ่นเย้อเกินจำเป็น ตรงไหนที่มันทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ ตรงไหนมีการทำงานซ้ำซ้อนวุ่นวาย สรุปง่ายๆ มันคือการทำให้ LEAN และเร็วขึ้น จนนำมาสู่การสร้างกำไรที่มากขึ้นนั่นเองครับ

มองที่ภาพรวม ไม่ใช่แค่สัดส่วนหุ้นตัวเอง

ช่วงนี้ของหนังสือก็น่าสนใจ คุณโธมัสแนะนำว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าอยากโตเราจำเป็นต้องหาหุ้นส่วน หรือพาร์ทเนอร์ มาช่วยให้เราโตขึ้นได้ แม้หุ้นส่วนใหม่จะทำให้สัดส่วนเราลดลง แต่เมื่อดูในภาพรวมของขนาดผลตอบแทนที่ใหญ่ขึ้น ก็ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่า

คิดค่าตอบแทนตามผลงาน

อีกหนึ่งหลักการให้ค่าตอบแทนที่น่าสนใจคือการให้ค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามผลงานครับ ใช้ตอนเริ่มต้นธุรกิจได้ดีถ้าอยากให้โตไว เราอาจไม่สามารถจ่ายฐานเงินเดือนสูงๆ ได้ แต่เราสามารถให้โบนัสตามผลงานที่ทำได้เพิ่มเติม

ก็ดูเป็นการวินวินกับทุกคน นายจ้าง ลูกจ้าง ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย แต่ก็ยังมีเงินเดือนพื้นฐานให้ ถ้าอยากโตไวก็ต้องช่วยกันสร้างผลงานนั่นเองครับ

ให้งานเค้าแล้วต้องให้อำนาจเค้าด้วย

ข้อสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือหลายครั้งบริษัทให้งานคนไปทำ แต่กลับไม่ให้อำนาจคนนั้นตัดสินใจว่าควรทำอะไร หรือไม่ควรทำอะไร ทำให้คนทำงานก็ไม่สามารถทำงานอย่างที่ตัวเองคิดว่าดีได้อย่างรวดเร็ว ผลคือต้องรอหัวหน้าอีกลำดับตัดสินใจ ส่งต่อเป็นขั้นบันใดๆ ผลสุดท้ายคือมีแต่งานกองไว้ แต่กลับไม่ได้ผลงานอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

สำคัญมากเลยครับถ้าเมื่อไหร่ผมมอบหมายความให้น้องคนใดคนหนึ่งทำ ผมให้สิทธิ์เค้าเต็มที่ในการทำให้ลุล่วง จะมีก็เข้าไปช่วยดูบ้าง แต่จะพยายามไม่เข้าไปยุ่มยามจุกจิกกวนใจ อยากได้อะไรบอกเดี๋ยวจะช่วยหาให้ ขอแค่ทำงานที่มอบหมายให้ลุล่วงไม่น้อยกว่าที่คาดหวังไว้ก็พอ

สรุปหนังสือทะยาน Transform

สรุปหนังสือ ทะยาน Transform 10 กลยุทธ์การเปลี่ยนตัวเองก่อนออกไปเปลี่ยนโลก โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เขียน สำนักพิมพ์ อะไรเอ่ย

นี่คือหนังสือที่ดี ที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงของเจ้าของธุรกิจตัวจริงที่ผ่านบทเรียนมามากมาย ใครที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจต้องรีบอ่าน ใครที่ทำไปแล้วอยากรู้ว่าตรงไหนที่เราสามารถป้องกันหรือรีบทำให้ดีขึ้นได้ ยิ่งต้องรีบหาเล่มนี้มาอ่านครับ

ตอบในฐานะคนทำธุรกิจเหมือนกัน อยากบอกว่าหนังสือเล่มนี้อ่านง่าย เข้าใจไว นำไปใช้ได้จริง แล้วคุณจะรู้ว่าการ Transform ธุรกิจไม่ได้ยากหรือซับซ้อนอย่างที่คิด ขอแค่เข้าใจแก่นของมันจริงๆ และหนังสือทะยาน Transform เล่มนี้มีคำตอบให้ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 38 ของปี

สรุปหนังสือ ทะยาน Transform 10 กลยุทธ์การเปลี่ยนตัวเองก่อนออกไปเปลี่ยนโลก โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เขียน สำนักพิมพ์ อะไรเอ่ย

สรุปหนังสือ ทะยาน Transform
10 กลยุทธ์การเปลี่ยนตัวเองก่อนออกไปเปลี่ยนโลก
โธมัส พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี เขียน
สำนักพิมพ์ อะไรเอ่ย

อ่านสรุปหนังสือ ทะยาน เล่มแรกในอ่านแล้วเล่าต่อ

สั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์อะไรเอ่ย > https://www.facebook.com/WhatIsItPress

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/