สรุปหนังสือขายดีเพราะขึ้นราคา อิชิฮาระ อากิระ เขียน สำนักพิมพ์ We Learn กลยุทธ์การขึ้นราคาให้ลูกค้ายอมรับ พร้อม case study มากมาย

หนังสือขายดีเพราะขึ้นราคาเล่มนี้เปิดให้นักการตลาด ผู้บริหาร และเจ้าของธุรกิจได้เห็นภาพว่าการขึ้นราคาไม่ใช่เรื่องต้องห้ามหรือน่ากลัวอย่างที่คิด เพราะถ้าเราสามารถอธิบายลูกค้าได้ชัดเจนว่าเหตุผลที่ต้องจ่ายเราแพงกว่าสินค้าคล้ายๆ กันในท้องตลาดคืออะไร หรือแม้แต่การสร้างเกมการแข่งขันขึ้นมาใหม่ที่ทำให้ลูกค้าไม่สามารถหยิบเราไปเทียบกับสินค้าหรือบริการที่คล้ายกันได้แบบง่ายๆ

หนังสือเล่มนี้อธิบายการขึ้นราคาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แถมยังเต็มไปด้วยตัวอย่างธุรกิจที่ผู้เขียนเข้าไปให้คำปรึกษาและสามารถทำให้ขึ้นราคาได้สบายๆ ซึ่งขั้นตอนการขึ้นราคามีทั้งหมด 4 ลำดับ

  1. ขึ้นราคา
  2. เปลี่ยนฐานลูกค้า
  3. ใส่ข้อมูล
  4. ขยายธุรกิจ

การขึ้นราคาเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะทำให้ธุรกิจได้กำไร ทำให้พนักงานภูมิใจที่ได้ทำงานบริษัทที่กล้าขายแพงกว่า ฐานลูกค้าก็จะเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ เพราะพวกเขาคือลูกค้าชั้นเยี่ยมหรือลูกค้าตลาดบน การขึ้นเวลาทำให้เรามีเวลาเหลือคิดถึงอนาคตมากกว่าการลดราคา เพราะขายน้อยลงแต่ได้เงินเพิ่มขึ้นเวลาว่างจึงเหลือ

ไม่ใช่ทุกคนอยากได้ของถูกเสมอไป ตั่วอย่างจากตุ๊กตาฮินะที่มีหน้าตาน่ารักเหมือนทารก และตุ๊กตาฮินะของร้านนี้ก็ขายแพงกว่าร้านอื่นมาก แต่คนก็ยังแห่มาซื้อทุกปี เดิมทีตลาดนี้เชื่อกันว่าถ้าขายแพงจะไม่มีคนซื้อ แต่ร้านนี้ตั้งราคาสวนทางและเปิดโอกาสให้คนได้จองล่วงหน้าไม่สามารถเดินเข้ามาแล้วซื้อได้แบบร้านปกติ นี่คือการเพิ่มคุณภาพจนทำให้ขายแพง

รถไฟขบวน 7 ดาวในคิวชู ค่าตั๋วแพงมหาศาลแต่คนก็ยังแห่จองกันถล่มทลาย เดิมทีตั้งราคาไว้เพื่อขายประสบการณ์หรูหราให้คนรวย แต่นานวันเข้าคนธรรมดาก็อยากเก็บเงินมาสัมผัสประสบการณ์แบบนี้สักครั้ง

ถ้าอยากขึ้นราคาก็ต้องขึ้นราคาเลย!

ขึ้นราคาไม่ได้หมายถึงการเพิ่มคุณภาพหรือฟีเจอร์ เพราะแบบนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการทำงานเพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้ขึ้นราคา แม้คนจะซื้อน้อยลงแต่ก็มียอดขายไม่ได้ลดลงมาก ผลคือกำไรดีขึ้นกว่าเดิมโดยเหนื่อยน้อยลง หรือบริษัทรับตรวจสอบคุณภาพที่เลือกงานมากขึ้นและก็ขึ้นราคาขึ้นอีกสิบเท่า สุดท้ายลูกค้าก็ยอมใช้บริการต่อไป แม้จะมีลูกค้าน้อยรายลงแต่ก็มีมากพอจะทำรายได้เพิ่มขึ้นจากการขึ้นราคา

ขึ้นราคาเพื่อเลือกลูกค้า บริษัทขนส่งที่ยิ่งปฏิเสธลูกค้ามากเท่าไหร่ กลับยิ่งทำกำไรได้มากเท่านั้น เจ้าอื่นแข่งกันลดราคาแล้วก็ลดคุณภาพ แต่เจ้านี้ไม่ขอทำงานที่ได้เงินที่ดีกว่า เพราะจะได้ดูแลลูกค้าได้เต็มที่ที่ยอมจ่ายแพงกว่าแม้จะเป็นแค่ธุรกิจขนส่งเหมือนกัน พองานน้อยลงก็สามารถทุ่มเทได้มากขึ้น ด้วยการขึ้นราคาจึงทำให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้

หรือร้านอาหารที่ขายหมดแล้วหมดเลยไม่ยอมทำเพิ่ม ด้วยเหตุผลว่าถ้าต้องขายเพิ่มก็จะเสียคุณภาพรสชาติความอร่อยไป เลยเลือกที่จะขึ้นราคาและขายเท่าเดิม จากราคาที่ขึ้นมาก็ทำให้พอดีกับความต้องการส่วนเกินที่ลดไป

สรุปการขึ้นราคาก็คือแค่ขึ้นราคา แต่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นราคาเพื่อคัดกรองความต้องการส่วนเกินที่ไม่ใช่ของจริงออกไป แล้วเราจะสามารถโฟกัสกับงานเดิมที่ทำได้อย่างเต็มที่จนคนรู้สึกว่าช่างคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปแพงกว่าเจ้าอื่นเสียจริง

เมื่อขึ้นลูกค้าลูกค้าก็จะเปลี่ยนไป เป็นกลุ่มใหม่ที่พรีเมียมขึ้น

หลายคนกังวลว่าขึ้นราคาแล้วลูกค้าจะหายไหม? แน่นอนว่าลูกค้าจะหายไป แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะจะยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อด้วยราคาอย่างเดียว และในขณะเดียวกันเราก็จะได้ลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งลูกค้าหรือผู้บริโภคแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้

  1. ซื้อเพราะถูก (กลุ่มนี้จะหายไป)
  2. ยอมซื้อแพงเพราะต้องการความเชื่อมั่น
  3. ไม่ได้ซื้อของแต่ซื้อประสบการณ์
  4. ซื้อความเป็นตัวเอง

การตั้งราคาไม่ใช่แค่เรื่องของข้อมูลในท้องตลาด แม้สินค้าแบบเดียวกันจะขายกันประมาณเท่านี้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องตั้งราคาให้ใกล้เคียงกับเขา เพราะการตั้งราคาเป็นเรื่องของศิลปะ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และกลวิธีของเราว่าสามารถทำให้ของที่ราคาแพงรู้สึกคุ้มค่าหรือตอบโจทย์ 3 กลุ่มที่ยอมจ่ายแพงกว่าให้กับอะไรบางอย่างที่มากกว่าแค่สินค้าหรือบริการขั้นพื้นฐาน

เพราะถูกหรือแพงเป็นเรื่องของความรู้สึก รู้สึกเมื่อเทียบกับอะไรบางอย่าง ถ้าเทียบผิดจุดของถูกก็กลายเป็นแพงได้(เพราะไม่คุ้มค่า) แต่ถ้าเทียบได้ถูกจุดสามารถทำให้ของราคาแพงรู้สึกถูกและคุ้มค่าขึ้นมาทันที

อยากขายแพงด้วยการขึ้นราคา ก็ต้องมาจากการเพิ่มคุณค่าให้คนรู้สึกว่าคุ้มค่า

ยิ่งลูกค้าได้ข้อมูลมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นคุณค่าที่เพิ่มขึ้นจนส่งผลต่อราคาที่เพิ่มขึ้นมากเท่านั้น

หลายครั้งคนทำธุรกิจมักไม่ยอมบอกสูตรลับของสินค้าหรือบริการตัวเอง เพราะกลัวว่าจะถูกคู่แข่งลอกได้เร็วขึ้น เลียนแบบแล้วพัฒนาได้ดีกว่า แต่การเก็บสูตรลับไว้เป็นความลับนั้นก็ทำให้ว่าที่ลูกค้าจำนวนมากไม่รู้ว่าสินค้าหรือบริการเราต่างจากคู่เทียบในท้องตลาดมากมายอย่างไร

กลยุทธ์การขึ้นราคาขั้นตอนที่ 3 นี้คือการบอกเล่าข้อมูลที่เป็นจุดเด่นของเราออกไปให้คนรับรู้มากที่สุด อย่างธุรกิจที่ผลิตแจกันสำหรับใส่ร่มหน้าบ้าน เมื่อบอกเล่าเรื่องราวให้ลูกค้ารู้ว่าแจกันใส่ร่มของตัวเองนั้นเป็นผลงานของช่างฝีมือชื่อดังสมัยเอโดะที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้สินค้าถูกยกระดับจากแจกันใส่ร่วมธรรมดากลายเป็นแจกันประดับบ้านราคาแพงในแบบที่คู่แข่งก็ยากจะเลียนแบบหรือไล่ตามได้ทัน

ผู้เขียนยังเปรียบเทียบว่ามีร้านอาหารมากมายในย่านกินซ่า Ginza ที่ต้องล้มหายตายจากไปเพราะไม่กล้าบอกเล่าคุณค่าที่เป็นสูตรลับในอาหารตัวเองออกไปให้ใครรู้ เหตุผลหลักอย่างหนึ่งก็คือกลัวจะถูกลอกสูตรหรือเลียนแบบจากคู่แข่ง แต่ก็ลืมไปว่ายิ่งเก็บไว้กับตัวมากเท่าไหร่ว่าที่ลูกค้าเรามากมายก็จะไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเลือกร้านเราแทนร้านอื่น

แล้วคุณค่าในบทนี้ก้ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ อย่างแรกคือคุณค่าสามัญ อย่างที่สองคือคุณค่าเฉพาะตัว

คุณค่าสามัญก็ยังถูกแบ่งแยกย่อยออกได้เป็น 14 ข้อดังนี้

  1. งานแฮนด์เมด
  2. ของที่มีน้อย หายาก ไม่ค่อยมีใครทำได้ หรือต้องใช้เวลานานมากในการทำ
  3. มีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ทำหรือคัดเลือกมันขึ้นมา
  4. มีประวัติความเป็นมายาวนาน
  5. เป็นของที่คนดังหรือคนสำคัญให้การยอมรับ
  6. ไม่มีขายทางออนไลน์
  7. ต้องเสาะแสวงหาด้วยความยากลำบาก
  8. มีการจดสิทธิบัตร
  9. มีความลับเบื้องหลังที่ได้ฟังแล้วจะอึ้ง
  10. ได้รับการยอมรับจากองค์กรระดับโลก
  11. ทนทานมากๆ
  12. ผ่านการทดสอบอย่างหนักหน่วง
  13. กล้ารับประกันแบบที่ไม่มีใครกล้า
  14. เป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้

ส่วนคุณค่าเฉพาะตัวคือการทำให้เป็น Personalization ปรับตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เมื่อเป็นแบบนี้ก็กลายเป็นคุณค่าที่ลูกค้ายากจะหาได้จากที่ไหน และก็เป็นเหตุผลให้เขายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อความสะดวกสบายมากกว่าคนธรรมดา

สิ่งสำคัญคือการขึ้นราคาจากการเพิ่มคุณค่าคือลูกค้าต้องรับรู้และรู้สึกได้ หากไม่พวกเขาก็ไม่รู้ว่าจะจ่ายแพงขึ้นเพื่ออะไร ดังนั้นเราต้องหาทางทำให้ลูกค้ารับรู้ว่าของเราดีกว่าของทั่วไปอย่างไร ลองเลือกจาก 14+1 ข้อที่บอกไปว่าธุรกิจเราจะเพิ่มคุณค่าด้วยข้อไหนบ้าง ง่ายๆ เท่านี้ลูกค้ากลุ่มที่ต้องการความพิเศษก็จะยอมจ่ายให้เราแพงขึ้นในราคาที่พิเศษครับ

เรื่องราวที่ล้ำค่าทำให้บริษัทรับสร้างบ้านเก่าแก่ได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นแบบปุบปับ!

หลายคนกังวลว่าถ้าขึ้นราคาแล้วลูกค้าจะไม่หนีหายไปจริงๆ หรือ? แล้วลำพังแค่การบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างก็สามารถทำให้เราเพิ่มราคาขายโดยลูกค้ายังยอมรับได้จริงๆ หรอ?

ผู้เขียนเล่าว่าได้พบเจอกับบริษิทรับสร้างบ้านเก่าแก่แห่งหนึ่งที่เดิมดีไม่ได้มีจุดขายใดๆ ให้คิดราคาแพงกว่าคู่แข่งในตลาด ก็เลยต้องจำใจทำธุรกิจในราคาตลาดมานานแถมยังพยายามลดราคาลงเพื่อให้ลูกค้าอยากเลือกตัวเองมากกว่าคู่แข่ง

จนกระทั่งผู้เขียนได้พบว่าบริษัทรับสร้างบ้านแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยเอโดะ แถมยังได้รู้ว่าเจ้าของบริษัทรุ่นแรกๆ คือผู้บริจาคไม้สร้างศาลเจ้าที่ดังที่สุดในภูมิภาคนี้

ผู้เขียนเลยแนะนำให้เจ้าของบริษัทแห่งนี้ก่อนจะนำเสนองานครั้งใดให้บอกเล่าเรื่องนี้กับว่าที่ลูกค้าทุกรายก่อน จากนั้นก็เอาหลักฐานประกอบให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง แล้วก็ขึ้นราคาให้แพงกว่าตลาด 30% อย่างน้อย

ผลคือลูกค้ามากมายรู้สึกชื่นชมจุดเริ่มต้นของบริษัทรับสร้างบ้านเก่าแก่แห่งนี้ พวกเขารู้สึกภูมิใจที่ได้บริษัทนี้เป็นผู้สร้างบ้านให้มากกว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั่วไปที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกภูมิใจถ้าเลือกใช้บริการ

หนังสือเล่มนี้ยังบอกว่าการจะขึ้นราคาให้ขึ้นกับลูกค้าใหม่ไปก่อนแต่ขณะเดียวกันก็ให้แจ้งลูกค้าเก่าไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ลูกค้าเก่าได้รู้สึกว่าตัวเองพิเศษกว่าลูกค้าใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมกับปรับตัวรับราคาใหม่ที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

โดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 ปีสำหรับขั้นตอนนี้ แน่นอนว่านั่นก็ทำให้ลูกค้าเก่ายังอยู่กับเราไปอีกนานพอที่เราจะให้บริการหรือสร้างคุณค่าจนลูกค้ารู้สึกว่าราคาที่จะปรับขึ้นนั้นคือราคาปกติที่ทุกคนจ่ายกัน

ธุรกิจขายขนมมันจูทอดที่สามารถขึ้นราคาได้ถึง 3 เท่าโดยที่ลูกค้าไม่ลดลงกลับมาต่อคิวเพิ่มขึ้นทุกวัน สิ่งที่เจ้าของร้านทำก็คือบอกเล่าเรื่องราวความยากลำบากกว่าจะมาเป็นขนมแต่ละชิ้นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนลูกค้ารู้สึกว่าราคาที่จ่ายไปมันช่างคุ้มค่ากับความทุ่มเทลงแรงของเจ้าของร้านเหลือเกิน

หรืออีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจคือการแตกไลน์สินค้าใหม่ขึ้นมา อาจจะทำให้สินค้าเดิมที่เคยขายกลายเป็นสินค้าระดับล่าง แล้วก็สร้างไลน์สินค้าใหม่ระดับกลางและบนขึ้นมา เช่น ร้านกาแฟเดิมอาจยังขายราคาเก่ากับลูกค้าเดิมอยู่ แต่ก็ออกเมนูใหม่ขึ้นมาให้มีราคาแพงมากเพื่อเรียกลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อยากได้ความพิเศษเพิ่มขึ้นมา แม้จะนานๆ ครั้งกินทีแต่ถ้าแต่ละคนมากินกันคนละทีก็ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้สบาย

แถมดีไม่ดีลูกค้าเก่ายังอยากจะขยับขึ้นมาลองสินค้าใหม่ที่แพงขึ้นเองด้วยซ้ำ แล้วถ้าสินค้านั้นดีจริงเขาก็อาจจะขยับมาเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยอมจ่ายพรีเมียมเพื่อของที่ดีกว่าเดิมได้อีกด้วย

ดังนั้นจะเห็นว่าหัวใจสำคัญของการขึ้นราคาคือการบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่พวกเขาไม่รู้ หรือคู่แข่งไม่มี เพราะถูกหรือแพงเป็นเรื่องของความรู้สึก ถ้าเราสามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าราคาที่จ่ายไปนั้นคุ้มค่าได้ ก็ไม่มีคำว่าแพงเกินไป มีแต่คำว่าจ่ายไม่ไหวในตอนนี้แต่ในอนาคตจะหามาจ่ายให้ได้สักทีครับ (คิดถึงกระเป๋าแบรนด์เนมหรือการบินแบบ First class ก็ได้)

ขึ้นราคา 10 เท่า ต่อให้ขาย 10 พลาด 9 ก็คุ้ม!

ลำพังการจะขึ้นราคาแค่ 10-20% ก็ยากรากเลือดแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้กลับบอกว่าให้ขึ้นไปเลย 10 เท่า! เพราะต่อให้ขายสิบแล้วมีคนซื้อแค่หนึ่งก็นับว่าคุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้มา

แนวคิดนี้ทำให้ผมคิดถึงวิธีคิดแบบ 10X หรือ 100X ของ Google ที่บอกว่าตั้งเป้าให้สูงแบบเป็นไปไม่ได้โดยง่าย เพราะต่อให้ทำไม่ได้ก็ยังได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการตั้งเป้าแบบต่ำๆ เพราะนั่นมันไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแต่อย่างไร

การตั้งเป้าต่ำแค่ 10-20% มันทำให้เราคิดแค่ทำงานให้เยอะขึ้นอีกนิด ขยันขึ้นอีกหน่อย ก็สามารถพิชิตเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ได้แล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจแต่อย่างไร แต่ถ้าเราตั้งเป้าแบบบ้าคลั่งคือ 10x หรือเพิ่มราคาขึ้นจากเดิมไปอีก 10 เท่า นั่นหมายความว่าเราต้องคิดใหม่ทำใหม่ รื้อวิธีการทำงานแบบเดิมออกไปและก็เริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่ปกติไม่คิดจะทำขึ้นมา

แน่นอนว่าแม้การตั้งราคาขาย 10 เท่าจะทำให้เราขายไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนน้อยที่เราขายได้ไม่จะขาย 10 ได้แค่ 1 ก็นับว่าคุ้มค่าแล้วกับที่ลงมือลงแรงทำลงไป

เพราะนั่นจะทำให้เรามีเวลาเหลือทบทวนกลยุทธ์และวิธีการทำงานใหม่ ทำให้เราขยับขยายไปสู่ตลาดบนได้เร็วขึ้น แต่เราต้องกล้าตัดลูกค้าบางส่วนที่ไม่ใช่ทิ้งไป แล้วก็เอาเวลามาทบทวนว่าลูกค้าที่ยอมจ่ายแพงขึ้น 10 เท่ากับเรานั้นเพราะอะไร พวกเขาต้องการอะไร แล้วก็ขยายเข้าหากลุ่มลูกค้าแบบนั้นเพิ่มขึ้น

เพราะ “เวลาว่าง” ที่เพิ่มขึ้นคือเป้าหมายของการขึ้นราคา

เป้าหมายสำคัญสุดของการขึ้นราคาคือการสร้างเวลาว่างให้ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารส่วนใหญ่มักเสียเวลามากมายไปกับการดิ้นรนให้ธุรกิจอยู่รอดได้แบบวันต่อวัน หรือปีต่อปี จนทำให้ไม่มีเวลาว่างพอที่จะคิดวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาวว่าเราจะแตกต่างหรือโดดเด่นจนไม่ต้องแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร

หลายธุรกิจอยู่รอดกันแบบปีต่อปี ถ้าเทียบก็เหมือนกับคนหาเงินใช้แบบเดือนชนเดือน แล้วเราจะเป็นคนที่ร่ำรวยได้อย่างไรถ้าไม่สามารถหาเงินได้เหลือพอที่จะเอาไปลงทุนให้งอกเงยให้อนาคต

ธุรกิจก็เช่นกันถ้าเรามัวแต่คิดหาทางรอดแบบวันต่อวัน หรือปีต่อปี เราจะสร้างอนาคตที่ไม่ต้องดิ้นรนแข่งขันได้อย่างไร ดังนั้นการขึ้นราคาจึงเป็นกลยุทธ์แรกที่จะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น ในแง่หนึ่งเราอาจจะขายได้ยอดรวมเท่าเดิมแต่เราใช้เวลาในการดูแลลูกค้าน้อยรายลง นั่นหมายความว่าเราพอจะมีเวลาเหลือมาคิดกลยุทธ์สำหรับอนาคตที่ว่ามา

สรุปหนังสือขายดีเพราะขึ้นราคา

เป็นหนังสือที่จะทำให้เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารเรียนรู้ว่าการขึ้นราคาไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และมีกลวิธีอย่างไรที่เราจะสามารถขึ้นราคาแล้วลูกค้าไม่หนีหายไปทั้งหมด ธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ลืมคิดไปว่าไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะต้องการของราคาถูกเสมอไป

สุดท้ายนี้ธุรกิจและชีวิตคือการเลือก การเลือกที่จะไม่ขึ้นราคายอมรับสภาพการแข่งขันที่ลดราคาไปเรื่อยๆ ก็เป็นการเลือกเช่นกัน แต่เป็นการเลือกที่จะยอมรับความทุกข์ในการทำธุรกิจไปเรื่อยๆ แต่กับคนที่ยอมเลือกขึ้นราคานั้นเลือกที่จะกระโดดออกจากการแข่งขันแบบเดิมๆ แล้วสร้างเกมการแข่งขันใหม่ที่แม้จะมีกลุ่มเป้าหมายน้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีคู่แข่งขันน้อยรายกว่าเช่นกัน

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 20 ของปี

สรุปหนังสือ ขายดีเพราะขึ้นราคา
ศิลปะการตั้งราคาแบบสวนกระแส ยิ่งขายแพง คนยิ่งอยากซื้อ
อิชิฮาระ อากิระ เขียน
ศุภภัทร พัฒนเดชากุล แปล
สำนักพิมพ์ WE LEARN

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/we-learn/

สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/3Dmu1kT

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/