นี่คือหนังสือที่ถูกแนะนำให้อ่านโดยหนังสือ(อ่านตรงนี้แล้วรู้สึก inception มั้ยครับ)ใช้ความสุขทำกำไร Delivering Happiness โดย Tony Hsieh หรือผู้ก่อตั้งเวปไซต์ที่ขายรองเท้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถูกซื้อกิจการไปโดยเวปไซต์ขายของที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน ด้วยราคากว่า 1,000ล้านเหรียญสหรัฐ
เป็นหนึ่งในหนังสือที่ Tony Hsieh บอกว่าพนักงานของเค้าถ้าอยากจะเลื่อนขั้นอัพตำแหน่งต้องอ่านเล่มนี้แล้วมาคุยกันว่าคิดยังไง…เออ เป็นวิธีการประเมินที่น่าสนใจแฮะ อยากเห็นบ้านเราทำแบบนี้บ้างจัง
เรื่องราวในเล่มเป็นเรื่องราวของบุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งที่ชื่อว่า Fred หรือ เฟร็ด พนักงานไปรษณีย์ในรัฐเดนเวอร์ที่ทำงานเกินหน้าที่เสมอมา จน Mark Sanborn นักพูดผู้สร้างแรงบันดาลใจชื่อดังต้องหยิบเอาเรื่องที่ตัวเองได้รับจากเฟร็ดมาเขียนเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม แถมยังติด New York Best Seller และขายดีกว่า 2 ล้านเล่มทั่วโลก
แอบคิดเล่นๆเหมือนกันนะว่าถ้าเฟร็ดเก็บค่าลิขสิทธิ์ด้วยก็คงรวยไปแล้ว
เฟร็ดกลายเป็นหัวข้อที่ Mark Sanborn หรือผู้เขียนต้องหยิบเอาไปพูดตามงานที่เค้าถูกเชิญว่าจ้างให้ไปพูดเป็นประจำ จนทำให้ใครๆก็ต้องสนใจนายเฟร็ดคนนี้ แล้วนายเฟร็ดที่ว่านี้มีดีอะไรให้ต้องน่าสนใจขนาดนั้นล่ะ
นายเฟร็ดคนนี้อย่างที่บอกเป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง แต่ในความพิเศษบนความธรรมดาก็คือการให้บริการที่ไม่เคยธรรมดาเอาซะเลย แน่นอนครับ เฟร็ดไม่ได้กระโดดลอดห่วงไฟมาส่งจดหมายหรือพัสดุใดๆ แต่สิ่งที่ทำให้เฟร็ดเป็นที่ประทับของใครๆก็คือ การให้บริการด้วยหัวใจจริงๆ
การให้บริการด้วยหัวใจของเฟร็ดอยู่บนความคิดที่ว่า ใจเขาใจเรา และทำอย่างไรถึงจะทำให้คนรอบตัวมีความสุขมากขึ้น โดยไม่ได้คาดหวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทนใดๆด้วยใจจริง
ทั้งหมดนี้ทำได้ด้วยแนวคิดของเค้าที่ว่า “รางวัลของการทำดี ตือการได้ทำ”
นี่แหละครับแนวคิดเบื้องหลังที่ทรงพลังของการทำดีเพื่อผู้อื่น การคิดเผื่อผู้อื่น การให้ในสิ่งที่ใครๆไม่เคยคาดคิด เช่น บ้านไหนที่เจ้าของบ้านไม่อยู่นานๆ เฟร็ดจะเอาจดหมายที่ถูกยัดไว้เต็มตู้หน้าบ้านไปเก็บไว้ที่อื่นให้เพื่อป้องกันขโมยขึ้นบ้านนั้น เพราะจดหมายที่ถูกยัดไว้เต็มตู้จนล้นออกมา เป็นสัญญาณที่บอกถึงโจรขโมยว่าเจ้าของไม่อยู่บ้านมานานแล้ว นี่คือการคิดเผื่อของเฟร็ดอย่างที่นึง
หรือแม้แต่การเอาพรมเช็ดเท้าไปคลุมทับกล่องพัสดุหน้าบ้านที่ถูกเอามาส่งแต่ไม่มีคนรับไว้ให้ เพราะไม่อยากให้โดยเด็กมือบอนมาแกะกล่องเสียหาย หรือขโมยของมีค่าไป
สิ่งที่เฟร็ดทำไม่ได้มีอยู่ในการอบรมพนักงาน ไม่มีเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในคู่มือใดๆ แต่เป็นสิ่งที่เฟร็ดทำมันด้วยใจเสมอมา เฟร็ดทำแบบนี้มาตลอดการทำงานส่งจดหมายของเค้าโดยไม่คาดหวังรางวัลใดๆ เพราะอย่างที่บอกไปว่าเค้าทำเพราะเค้าคิดว่า การได้ทำดีคือรางวัลในตัวมันเองแล้ว ถ้าเรามัวแต่ทำดีเพราะหวังจะได้สิ่งอื่นตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นคำชม ไม่ว่าจะเป็นรางวัลใดๆ เราจะยังกล้าบอกว่าเราตั้งใจทำดีเพื่อคนอื่นอยู่อีกหรอ?
ผู้เขียนแนะนำว่าคนอย่าง “เฟร็ด” นั้นต่างมีอยู่ทุกที่ เพียงแค่เราเปิดตา เปิดใจ หรือบางครั้งเราก็จะพบเจอเขาเหล่านั้นเวลาที่เราเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือ เช่น ครั้งนึงผู้เขียนเคยมีปัญหาไม่มีเงินสดติดตัว และบัตรเครดิตก็ไม่สามารถถอนเงินสดออกมาได้ ขณะที่กำลังโทรศัพท์วุ่นอยู่หน้าโรงแรมนั้น พนักงานคนนึงสังเกตุเห็นว่าแขกของโรงแรมกำลังมีปัญหาอะไรบางอย่างแน่ๆ พนักงานคนนั้นเดินเข้ามาสอบถามจึงได้รู้ปัญหาทั้งหมด เลยเสนอให้ยืมเงินแม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และให้มากกว่าที่ผู้เขียนหนังสือเอ่ยปากขออีกด้วยซ้ำ การให้เงินคนแปลกหน้าที่พบกันครั้งแรก จะมีซักกี่คนที่กล้าให้หยิบยืมโดยไม่หวังว่าจะได้เงินคืนแบบนี้ แต่ชายคนนี้ก็ทำโดยไม่ลังเลเลย
ทั้งหมดของเล่มนี้คือการพูดถึงการทำงานให้เกินหน้าที่ด้วยความสุข ด้วยใจที่อยากแบ่งปันให้คนอื่น ด้วยการคิดถึงใจเขาใจเราเสมอ ในยุคที่เราต่างให้ความสำคัญแต่กับตัวเอง แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อยที่ทำอะไรโดยคิดถึงคนอื่นเสมอ คนแบบนี้แหละครับที่ทำให้โลกน่าอยู่ คนที่เสนอตัวเข้าไปช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่ไม่ได้ร้องขอ คนที่หยิบยื่นน้ำใจเล็กๆน้อยๆให้โดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทนกลับ คนแบบนี้แหละครับคือคนแบบเฟร็ด
บางคนอาจจะบอกว่ามีแต่พวกโลกสวยเท่านั้นแหละที่คิดและทำแบบนั้น…ใช่ครับ แต่ผมว่าคนพวกนี้ไม่น่าจะใช่คนที่แค่โลกสวยเท่านั้น แต่เป็นคนที่จะทำให้โลกสวยด้วยคนต่างหาก ถ้าเรามัวแต่รอให้โลกมันสวย โลกเราก็คงไม่มีวันนั้น แต่ถ้าเราอยากให้สิ่งดีๆเกิดขึ้น ให้มีคนดีๆเพิ่มขึ้นในโลก คนๆนั้นอยู่ไม่ไกลครับ คุณก็รู้จักเค้าดี เค้าก็คือคุณนี่แหละ คุณไม่ต้องเริ่มที่ไหนไกล เริ่มที่ตัวเอง ทำตัวเองให้กลายเป็นคนที่จะทำให้โลกดีขึ้นอีกคน เท่านั้นเอง
The Fred Factor คนที่ทำงานเก่งที่สุดในโลกเขาทำอะไรกัน
Mark Sanborn เขียน
สำนักพิมพ์ WeLearn
อ่านเมื่อปี 2017