สรุปหนังสือ The Visual MBA ฉบับแปลไทย เข้าใจ MBA อย่างทะลุปรุโปร่งด้วยภาพ ประหยัดเวลาเรียนสองปีให้เหลือแค่สองชั่วโมงจบ

สรุปหนังสือ The Visual MBA เข้าใจ MBA อย่างทะลุปรุโปร่งด้วยภาพเล่มนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจเนื้อหาในหลักสูตรราคาแพงหลักแสนแถมยังต้องใช้เวลาเรียนนานเป็นปี ให้เหลือแค่หลักร้อยแถมยังอ่านจบได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงถ้าตั้งใจ เรียกได้ว่าเป็นที่สุดของการสรุปที่หาได้ยากยิ่งจริงๆ ครับ

Jason Barron ผู้เขียน…หรือจริงต้องเรียกว่าผู้วาด เพราะทั้งเล่มมีแต่ภาพประกอบเนื้อหาที่ผู้เขียนไปลงทุนร่ำเรียนมาแล้ววาดสรุปหลักการสำคัญของแต่ละวันที่เรียนให้เราเข้าใจง่ายๆ เนื้อหาบางส่วนในเล่มนี้อาจเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยถ้าอยู่ในแวดวงการตลาดหรือการบริหาร เนื้อหาบางส่วนเราอาจคุ้นแต่พอได้อ่านอีกทีก็เหมือนได้รีเฟรชความรู้ใหม่ หรือบางเรื่องเราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อนก็เหมือนได้เรียนหลักสูตรลัด ที่ถ้าอยากรู้ลึกก็แค่เอาหัวข้อดังกล่าวไปเสิร์จหาใน Google ต่ออีกสักหน่อย

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 20 บทสำคัญ เริ่มจากภาวะผู้นำที่พูดถึงแง่มุมของการเป็นแบรนด์ที่นำแล้วคนอยากตาม พูดถึงการสร้างความประทับใจแรกหรือ First impression ที่เกิดขึ้นภายใน 7 วินาทีแรกนั้นต้องทำอย่างไร

ปรับทัศนคติรอไว้ ปรับท่าทาง ยิ้ม สบตา เลิกคิ้ว จับมือ และอย่าลืมโน้มตัวเข้าหา ง่ายๆ แค่นี้คุณก็สามารถสร้าง First impression ที่มีเวลาให้แค่ 7 วินาทีแรกได้ไม่ยาก

พูดถึงพลังของบริบทว่าถ้าอยากให้คนเปลี่ยนวิธีการทำงานหรือใช้ชีวิต อย่าทำแค่สั่งแต่จงสร้างบริบทให้เอื้อต่อการนั้น เช่น ถ้าอยากให้คนคุยกันมากขึ้นก็เอาคอกกั้นระหว่างกันออก หรือถ้าอยากให้คนคุยกันน้อยลงก็แค่ทำให้บริบทแวดล้อมนั้นยากต่อการคุยกัน

บทที่ 2 รายงานทางการเงินของบริษัท บอกให้รู้งบประเภทต่างๆ แบบที่เคยเข้าใจยากให้แสนจะง่าย ยอดขาย ต้นทุนขาย กำไรขั้นต้น ค่าใช่จ่ายในการดำเนินงาน ในการบริหาร กำไรจากการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายที่เหลือ ภาษี ดอกเบี้ย จึงค่อยตกผลึกออกมาเป็นกำไรสุทธิที่อาจจะเหลือน้อยนิดหรือติดลบก็ได้ครับ

เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคนทำธุรกิจ เรียกได้ว่าผมเองก็ต้องมาเรียนรู้เรื่องนี้แบบเบสิคเริ่มต้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครสอนมาก่อนเลยจริงๆ

บทที่ 3 การจัดการการประกอบการ พูดถึงการมองหา Pain point ของผู้คนให้ออกเพื่อจะได้เอาไปทำธุรกิจ

เมื่อพบ Pain point แล้วก็ต้องมีวิธีแก้ปัญหาให้ผู้คนที่ชาญฉลาด ในราคาที่คนต้องเข้าถึงได้ด้วย แล้วก็ต้องขายให้ได้ในราคาที่เราทำกำไรได้

มีการพูดถึงหลักการ Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าผู้ประกอบการคนไหนสามารถเข้าถึงเรื่องนี้ได้ดี รับรองว่าหนทางทำกำไรย่อมสบายกว่าคนอื่นแน่นอน

บทที่ 4 การบัญชีเพื่อการจัดการ พูดถึงเรื่องรายละเอียดเรื่องการเงินเพิ่มเติมจากบทก่อนหน้า

Cost, Volume และ Profit ต้นทุนคือเท่าไหร่ ต้องขายให้ได้ปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะเหลือกำไรให้เรา

เรื่องต้นทุนก็มีรายละเอียดของมัน ตั้งแต่ต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร เรียกได้ว่าครบรอบด้านหลักของการทำบัญชีที่คนทำธุรกิจต้องรู้ครับ

บทที่ 5 การเงินธุรกิจ ทำให้เรารู้มิติของคำว่าเงินหรือทุนมากขึ้น เงินมีประโยชน์อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเวลา บางครั้งการเอาเงินไว้เฉยๆ ไม่ลงทุนทำอะไรขึ้นมาก็อาจจะกลายเป็นขาดทุนกลายๆ โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ครับ

เมื่อเอามาคำนวนกับอัตราเงินเฟ้อแล้วอาจจะรู้สึกว่าเงินก้อนเดิมนั้นมูลค่าลดลงไปทุกวัน ดังนั้นถ้านักธุรกิจเข้าใจข้อนี้ก็จะได้รู้หลักการบริหารเงินให้เป็น หรือรู้วิธีการบริหารทุนที่มีให้งอกเงยถึงขีดสุด

บทที่ 6 การตลาด ว่าด้วยเรื่องของ STP ที่อาจจะฟังดูคุ้นเคย แต่ก็ทำให้กลับมาโฟกัสเรื่องของใครคือคนที่เป็นลูกค้าของเราจริงๆ เพราะถ้าเราบอกว่าทุกคนมีสิทธิ์เป็นลูกค้าเรา ก็เท่ากับว่าทุกคนมีสิทธิ์ไม่เป็นลูกค้าเราเช่นกัน

ฉะนั้นยิ่งเรากำหนดกลุ่มเป้าหมายลงไปได้เฉพาะเจาะจงมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้ว่าจะใช้ทุนที่มีจำกัดไปยังคนกลุ่มไหนที่จะทำให้ผลิดอกออกผลมากที่สุด

บทนี้น่าสนใจตรงทำให้ผมเข้าใจเรื่องของ Personal Purpose ต้องเชื่อมโยงกับ Product Purpose

เราต้องถาม Super Fan ตัวยงของเราว่าพวกเขาชอบอะไรในตัวเรามากที่สุด ทำไมถึงชอบ ทำไมถึงสำคัญ นั่นแหละคือจุดที่จะกลายเป็นจุดขายพิเศษในแบบที่ยากจะมีใครเลียนแบบและตามเราได้ทันครับ

แล้วการวางตำแหน่งกลุ่มเป้าหมายก็ยังพูดถึงการขยายจากกลุ่มที่รักออกไปยังกลุ่มที่ลังเล แต่จำไว้ว่าอย่าเสียเวลาไปยังกลุ่มที่เกลียด เพราะจะสิ้นเปลืองทรัพยากรหรือทุนที่เรามีอย่างจำกัดไปโดยไม่เกิดประโยชน์นั่นเอง

ข้อสำคัญของการตลาดคือต้องทำให้เกินความคาดหมายของลูกค้าอยู่เสมอ พยายามหาให้เจอว่าลูกค้าคาดหวังจากเราไว้เท่าไหร่ และก็ทำให้เกินเส้นความคาดหวังนั้น รับรองว่าต่อให้แพงแค่ไหนก็ยอมจ่าย ต่อให้คู่แข่งหั่นราคาลงไปก็ยากที่จะทำให้ลูกค้าเราเปลี่ยนใจไปได้ทั้งหมด

บทนี้ยังพูดถึงหลักการพื้นฐานของคำว่าแบรนด์ นั่นก็ทุก Experiene ที่คนได้จากเราล้วนเป็นการหล่อหลอมความเป็นแบรนด์เราไปเรื่อยๆ ดังนั้นความรู้สึกที่คนมีต่อธุรกิจเรานั่นแหละคือคำว่าแบรนด์ การสร้างแบรนด์เลยไม่ใช่แค่การสร้างหนังโฆษณา แต่เป็นการสร้างทุกๆ ช่องทางให้คนรู้สึกอย่างที่เราต้องการออกมาให้ได้ครับ

บทที่ 7 การจัดการการดำเนินการ บทนี้สำคัญต่อเรื่องการ Operation ที่พูดถึงการแตกรายละเอียดของงานออกมาเป็นลำดับขั้นตอนต่างๆ ให้เห็นภาพชัดๆ

เช่น การทำน้ำมะนาวหนึ่งแก้วต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง เริ่มตั้งแต่มีคนสั่ง สั่งแล้วเทน้ำใส่เหยือก แล้วใส่แก้ว แล้วหั้นมะนาว แล้วคั้นออกมา แล้วเติมน้ำตาล แล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นค่อยส่งให้ลูกค้าที่สั่ง การจัดการการดำเนินการหรือ Operation นี้จะทำให้เรารู้ว่าจุดไหนที่ยังปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ การลดการทำงานแต่ละขั้นตอนลงได้แค่ 1 วินาที เมื่อเอาทุกขั้นตอนมารวมกันก็อาจจะกลายเป็นนาที เมื่อเอาทุกๆ ครั้งที่ลดลงมารวมกันก็จะกลายเป็นการลดเวลาการทำงานที่ตีมูลค่าเป็นเงินได้มหาศาล และเมื่อเอาการดำเนินงานทั้งหมดที่ดีขึ้นมารวมกันในระยะเวลาหนึ่งปี เพียงแค่นี้ก็สามารถทำกำไรได้จนแทบไม่ต้องหาลูกค้าเพิ่มได้สบายๆ

บทที่ 8 การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลุยทธ์ เมื่อมนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดกำไร ดังนั้นการบริหารจัดการเรื่องคนจึงเป็นการสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่ง

บทนี้พูดถึงการสร้างระบบการจ้างคนที่มีรูปแบบการให้คะแนนแยกเป็นส่วนๆ เข้ามา ลดการใช้อคติในการจ้างงานแบบเดิม หันมาให้คะแนนแบบแยกส่วนประกอบกัน

พูดถึงวิธีการให้รางวัลและลงโทษเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากทำผลงานได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือการเข้าใจว่ามนุษย์นั้นถูกอารมณ์ชี้นำได้ง่ายทุกคน ดังนั้นถ้าเรารู้จักวิธีควบคุมอารมณ์คนอื่นให้ตรงตามเป้าหมายเราได้ ก็เท่ากับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งโดยไม่ต้องทำอะไรแล้วครับ

บทที่ 9 การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ บทนี้บอกให้เรารู้จักฟังเพื่อจะได้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของอีกฝ่าย พูดถึงเรื่องการเข้าใจที่มาที่ไปของอำนาจแต่ละคนที่เราต้องต่อรองด้วย แล้วก็พยายามคิดถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ของการต่อรองเอาไว้หลายๆ แบบ

จะว่าไปบทนี้ก็เหมือนศาสตร์แห่งการขายนิดๆ กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ แตกสิ่งที่ต้องทำออกมาเป็นทีละขั้นตอนเพื่อเป็นการพิชิตเป้าหมายก้าวเล็กๆ ได้ง่ายๆ แต่เดินหน้าไปเรื่อยๆ อย่าข้ามขั้นตอนเพราะมันจะยากที่จะพิชิตเป้าหมายได้และจะเป็นการบั่นทอนกำลังใจเรามากเกินไป

บทที่ 10 กลยุทธ์ หรือ Strategy เราจะแข่งขันอย่างไรให้ฉลาด จะสร้างความแตกต่างอย่างไรให้เกิดขึ้นได้มากที่สุดในใจผู้บริโภค

บทนี้พูดอย่างน่าสนใจว่าต่อให้สินค้าที่ไม่มีอะไรจะต่างอย่าง น้ำ มันฝรั่ง หรือเนื้อไก่ ถ้าเรามีกลยุทธ์เราก็สามารถต่างจากคู่แข่งที่มีมากมายได้ไม่ยาก

น้ำอัดลมเหมือนกันแต่มีกลยุทธ์ในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการไม่เหมือนกัน Coke ไม่ได้ขายกลุ่มเป้าหมาย Pepsi ต่างคนต่างมีกลยุทธ์ของตัวเองถ้าดูดีๆ จะเข้าใจ

กลยุทธ์เป็นการตั้งคำถามว่า “ทำไมเขาถึงต้องซื้อเรา?” อย่าโฟกัสผิดว่าเราขายอะไร เพราะนั่นคือการผลิตไม่ใช่เกมกลยุทธ์หรือการสร้างแบรนด์

เมื่อกลยุทธ์เราชัดเจนก็ยากที่ใครจะไล่ตามหรือลอกเลียนแบบได้ทัน ต่อให้สายการบินราคาถูกต้นทุนต่ำ แต่ละแบรนด์ต่างก็มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนของตัวเอง

จนเมื่อลูกค้าคลั่งไคล้เราก็ทำให้การแข่งขันไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป เหมือนที่ Disney เองก็มีกลยุทธ์ในการสร้างประสบการณ์ที่แสนวิเศษ ส่วน Universal เองก็สร้างประสบการณ์ความสนุกระดับโลกที่ชัดเจนไม่ล้ำเส้นกัน

บทที่ 11 จริยธรรมทางธุรกิจ เปิดบทได้เข้าใจง่ายแต่ลืมไม่ลง นั่นก็คือถ้าคุณไม่แน่ใจว่าถ้าเรื่องนี้รั่วไหลออกไปแล้วจะรับได้ ก็จงอย่าได้ตัดสินใจทำในสิ่งนั้น

ถ้าไม่พร้อมเป็นข่าวทางทีวีภาคเช้าหรือเป็นโพสแรกที่คนจะแห่แชร์ ก็อย่าได้ตัดสินใจทำลงไปทีเดียวครับ

บทที่ 12 การเงินสำหรับผู้ประกอบการ 88% ของความสำเร็จของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตสูง เป็นผลมาจากการนำความคิดธรรมดาๆ ไปปฏิบัติอย่างไม่ธรรมดา ดังนั้นการนำไปปฏิบัติจึงสำคัญมากกว่าไอเดีย

ต้องมีแผนการเงินล่วงหน้า 5 ปี ว่าบริษัทจะยังอยู่ดีและอยู่รอดได้ ต้องมีการเข้าใจว่าแหล่งเงินทุนของบริษัทจะมาจากตรงไหนได้บ้าง จากผู้ประกอบการเอง ธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือนักลงทุน

ประเภทของธุรกิจก็มีแยกย่อยออกไปอีก ตั้งแต่กิจการเจ้าของคนเดียว บริษัทจำกัด S Corp และ C Corp

แล้วก็พูดถึงเรื่องเกณฑ์การให้สินเชื่อแบบ 5 C ที่คนทำธุรกิจต้องรู้

  1. Character
  2. Capacity
  3. Capital
  4. Collateral
  5. Conditions

เรียกได้ว่าเป็นบทสำคัญที่คนทำธุรกิจมือใหม่ต้องรู้จริงๆ

บทที่ 13 การชั่งใจและการตัดสินใจ บอกให้รู้ว่าถ้าเรามีปัญหาเกิดขึ้นเราควรจะมีแนวทางในการประเมินปัญหาก่อนตัดสินใจอย่างไรได้บ้าง

Problem ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร
Objective วัตถุประสงค์คืออะไร
Alternatives มีทางเลือกอะไรบ้าง
Consequences ผลลัพธ์ที่จะตามของแต่ละทางเลือกเป็นอย่างไร
Trade offs เอาทั้งหมดลิสออกมาเป็นรายการเพื่อทำการประเมินด้วยเหตุและผลให้ได้มากที่สุดครับ

แล้วก็พยายามมองหากรอบความคิดเพื่อใช้ตัดสินใจจากคนอื่นๆ เพิ่มเติม เพราะแต่ละคนก็มีประสบการณ์และมุมมองต่อปัญหาไม่เหมือนกัน ยิ่งเราได้มุมมองใหม่ๆ มากเท่าไหร่ กรอบความคิดต่อปัญหานั้นก็จะยิ่งกว้างใหญ่และหลากหลายมากขึ้น

ไม่แน่ปัญหาที่คุณคิดว่าใหญ่ อาจจะเล็กนิดเดียวเมื่อเจอกรอบความคิดที่นึกไม่ถึงของบางคนครับ

บทที่ 14 บทบาทของผู้จัดการทั่วไป การแก้ปัญหายิบย่อยประจำวันเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การทำงานของคนในองค์กรราบรื่น บางทีเราต้องแตกปัญหาออกมาเป็นส่วนๆ เพื่อทำความเข้าใจมัน หรืออาจจะแตกเป็นทางเลือกออกมาเรื่อยๆ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจต้นตอของปัญหาที่แท้จริงนั่นเอง

ดังนั้นเป้าหมายของผู้จัดการทั่วไปที่คอยแก้ปัญหาคือ แก้ปัญหาที่ให้ประโยชน์มากที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดครับ

เมื่อเราเข้าใจปัญหา เราต้องเข้าใจถึงแรงจูงใจที่ทำให้ปัญหานั้นเกิดให้ได้ เช่น การลดความอ้วน บางทีอาจไม่ใช่เพราะเราอยากกินเยอะ แต่เพราะจานมันใหญ่เลยทำให้เราเผลอตักเยอะไปไม่รู้ตัว

บทนี้มีการพูดถึงเรื่องการทำ Transformation ขององค์กรในแง่มุมต่างๆ ว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะเจอกับผลกระทบอะไร คนแบบไหนในองค์กรบ้างที่ไม่อยากจะเปลี่ยน แล้วจะมีวิธีทำอย่างไรให้คนข้างในอยากเปลี่ยน

เคล็ดลับง่ายๆ คือทำให้การไม่เปลี่ยนเป็นปัญหาของพวกเขา เพราะทุกคนต่างคิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก ถ้าเราทำให้เป็นเรื่อง Personal หรือเป็นประโยชน์ส่วนบุคคลได้ คนส่วนใหญ่ก็พร้อมใจเปลี่ยนกันได้ทั้งนั้นครับ

บทที่ 15 การคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Thinking ปัญหาหลายเรื่องแก้ไม่ได้ไม่ใช่เพราะยากเกินไป แต่เพราะไม่เข้าใจที่มาของปัญหานั้นดีพอ เช่น ทำไมเราสั่งลูกน้องแล้วเค้าไม่ทำตาม อาจจะต้องมาดูว่าปัญหาที่ลูกน้องไม่อยากทำตามคืออะไร

แล้วในฐานะผู้นำเราก็ต้องพร้อมที่จะปรับตัวต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ไปเรื่อยๆ อย่ามี Fixed Mindset ต้องมี Growth Mindset อยู่เสมอ แล้วเป้าหมายที่ต้องการจะค่อยๆ ใกล้เราเข้ามาเรื่อยๆ ครับ

บทที่ 16 ความคิดสร้างสรรค์กับนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้จากวิธีการทำงานและบริบทสิ่งแวดล้อมรอบข้าง ดังนั้นถ้าคุณอยากให้องค์กรคุณมีแต่คนที่ฉลาดๆ ในการแก้ปัญหา คุณต้องสร้างสภาพแวดล้อมเหล่านั้นขึ้นมาครับ

เริ่มจากการหาความคิดให้ได้มากที่สุด แล้วค่อยคัดให้เหลือไอเดียที่ดีที่สุดออกมา

หรือการที่เรามีความรู้ลึกสักเรื่องแล้วเอามาประกอบกับความรู้กว้างที่มีมากมายรอบตัว ก็สามารถก่อให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ได้แล้วครับ

นวัตกรรมเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง และหลายครั้งนวัตกรรมก็ไม่ได้เกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่เป็นการทำขึ้นมาเพื่อแก้ Pain point ลูกค้าที่เรามองไม่เห็น

คำหนึ่งที่ผมชอบมานานก็คือ Job to be done หาให้เจอว่าตกลงแล้วลูกค้าต้องการอะไรจากการใช้สินค้าหรือบริการของเรา

เหมือนกับ Milk shake ที่พบว่าคนไม่ได้กินเพราะรสชาติอะไรมากมาย แต่คนชอบซื้อ Milk Shake กินขณะขับรถเพราะพวกเขาเบื่อการรถติด เลยต้องการดูดอะไรเย็นๆ ระหว่างทางไปเรื่อยๆ

เมื่อรู้แบบนี้ Milk Shake เลยปรับให้แก้วใหญ่ขึ้นและดูดได้หมดยากขึ้น ปรากฏว่าถูกใจลูกค้ามากมายจนขายดีถล่มทลายครับ

บทที่ 17 พื้นฐานการตลาดสำหรับ Startup โลกนี้มีผลิตภัณฑ์และบริการมากมายอยู่เต็มไปหมด ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนของที่น่าเบื่อมาทำให้มันสนุกขึ้นให้ได้

หาความน่าเบื่อที่มีอยู่มากมายให้เจอ ทำให้มันว้าวขึ้นสำหรับผู้คน คิดถึงข้อเท็จจริงหลายๆ แง่มุม แล้วก็ทำให้คนอยากพูดถึงมันต่อด้วยตัวเองให้ได้ (หลักการ Viral Marketing)

คิดให้ออกว่าคุณสมบัติแบบไหนหรือฟีเจอร์ใดของผลิตภัณฑ์เราที่จะทำให้คนอยากบอกต่อจนกลายเป็น Viral หรือ Word of Mouth ด้วยตัวเอง

บทที่ 18 ผลการดำเนินงานกับแรงจูงใจ แรงจูงใจอาจจะไม่ใช่เงินเสมอไป แต่แรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนก็คือสิทธิการตัดสินใจ แล้วค่อยเอาการวัดผลดำเนินงานมาใช้ควบคุมทิศทางของคนในองค์กรเรา และต้องมีระบบแรงจูงใจที่จะทำให้คนเดินหน้าไปยังทิศที่เราต้องการ

บทที่ 19 การตัดการระดับโลก บริษัทหนึ่งอาจทำผลงานได้ดีมากในโลกตะวันตก แต่อาจจะง่อยมากในโลกตะวันออก ดังนั้นความสำเร็จในที่นึงอาจใช้ไม่ได้ผลกับอีกบริบทนึง

หัวใจสำคัญคือต้องเข้าใจวัฒนธรรมของผู้คนและสภาพสังคมในพื้นที่นั่นว่าเป็นอย่างไร แล้วผลิตภัณฑ์ของเราจะเข้าไปอยู่ตรงไหนหรือมีหน้าที่อะไรในพื้นที่นั้น

และบทที่ 20 ก็คือเอาทุกอย่างที่รู้มาจากทั้ง 19 บทมาประติประต่อเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาและทำให้ธุรกิจโต

และนี่ก็เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่แนะนำให้คนที่เป็น Management หรือเจ้าของธุรกิจควรต้องมีติดโต๊ะทำงานไว้หยิบขึ้นมาอ่านบ่อยๆ

เพราะหลายเรื่องที่ดูเป็นพื้นฐานและคุ้นหูมานาน เราก็มักจะละเลยหลักการไปแล้วไม่ได้ทำตามเป็นประจำ

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้เข้าใจสิ่งที่หลักสูตร MBA สอนได้แบบกระชับและตรงประเด็นมากๆ สรุปว่าเป็นหนังสืออีกเล่มที่ควรหาเวลาหยิบมาอ่านซ้ำทุกปีแล้วการบริหารจัดการธุรกิจจะไม่ยากเกินที่ควรเป็นครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 43 ของปี 2020

สรุปหนังสือ The Visual MBA ฉบับแปลไทย เข้าใจ MBA อย่างทะลุปรุโปร่งด้วยภาพ ประหยัดเวลาเรียนสองปีให้เหลือแค่สองชั่วโมงจบ

สรุปหนังสือ The Visual MBA
เข้าใจ MBA อย่างทะลุปรุโปร่งด้วยภาพ
เข้าถึงแก่นบริหารธุรกิจที่นักเรียน MBA ต้องใช้เวลาเรียนสองปีในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
Jason Barron เขียน
ลลิตา ผลผลา แปล
สำนักพิมพ์ Amarin How-to

20201103

สนใจสั่งซื้อหนังสือ The Visual MBA ออนไลน์ > https://bit.ly/2IBtvbN

อ่านสรุปหนังสือแนวธุรกิจแบบนี้ในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/business/

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/