สรุปหนังสือ The Bitcoin Standard บิทคอยน์ ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง สำนักพิมพ์ ซีเอ็ด พิริยะ สัมพันธารักษ์ พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว

สรุปหนังสือ The Bitcoin Standard ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเงินตราไปจนถึงบิทคอยน์ หรือคริปโท หรือที่เราชอบเรียกกันว่าคริปโตกัน บรรดาเหรียญคริปโตทั้งหลายนั้นถ้าจะบอกว่ามีบิทคอยน์เป็นพ่อแม่ต้นแบบผู้ให้กำเนิดก็ว่าได้

หนังสือเล่มนี้อาจพูดถึงเรื่องของบิทคอยน์ที่หลายคนอยากรู้มากๆ ไว้น้อยกว่าที่คิด แต่หนังสือเล่มนี้จะเน้นหนักไปทางประวัติศาสตร์ของเงินตราตั้งแต่อดีตกาล เพื่อฉายภาพให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วเงินตราคืออะไร มีวิวัฒนาการมาอย่างไร และทำไมบิทคอยต์ถึงจะกลายระบบการเงินทางเลือกใหม่แทนเงินตราแบบเดิมได้

จุดกำเนิดเริ่มต้น Bitcoin

Bitcoin ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2008 ว่าไปก็ตรงกับช่วงวิกฤตการเงินสหรัฐอเมริกา Bamburger Crisis อย่างน่าแปลกใจ ในวันที่หุ้นล่วงระเนระนาด และทางรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาก็ต้องพิมพ์เงินป้อนเข้ามาใระบบเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่อง

ในวันนั้นบุคคลลึกลับนามว่า Satoshi Nakamoto ส่งอีเมลหากลุ่มเพื่อนนักเข้ารหัสว่าได้สร้าง “ระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ที่ทำงานแบบ P2P ขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลกและตั้งชื่อให้ว่าบิทคอยน์เรียบร้อย”

สิ่งที่น่าสนใจคือระบบเงินนี้ไม่ต้องใช้บุคคลที่ 3 อย่างสถาบันยักษ์ใหญ่หรือธนาคารมาเป็นผู้ยืนยันการชำระเงิน แต่ใช้วิธีให้ทุกคนในวง Blockchain Bitcoin เข้ามาช่วยกันยืนยันการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นแทน และนั่นก็คือการวางโครงสร้างพื้นฐานของโลก Decentralize ที่ไร้ศูนย์กลางรวมอำนาจที่เคยมีมาช้านานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผ่านมา 14 ปีจนถึงวันนี้ ต้องบอกว่าปีทองของ Bitcoin ที่ก้าวจากสกุลเงินดิจิทัลเฉพาะกลุ่มมาสู่สกุลเงินดิจิทัลที่ใครๆ บนโลกก็ต้องการในปีที่ 11 อย่างเป็นทางการ หรือในปี 2019 ปีที่เริ่มการทำสถิติ All Time High มูลค่าของบิทคอยน์พุ่งขึ้นสูงไปเป็นหลักล้านบาทไทยก็ว่าได้

แต่การจะทำความเข้าใจบิทคอยด์ให้ลึกซึ้ง ต้องกลับมาทำความเข้าใจนิยามของ “เงิน” ที่เราใช้กันทุกวันนี้ให้ดีก่อน เพราะนั่นคือแก่นของหนังสือเล่มนี้ที่จะทำให้เราเข้าใจว่า แท้จริงแล้วเงินคืออะไร เพื่อที่เราจะได้เห็นภาพว่า บิทคอยน์ จะเข้ามาแทนที่หรือเป็นส่วนหลักหรือส่วนหนึ่งของระบบการเงินโลกได้อย่างไรครับ

Money is Medium เงินคือสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน

นิยามที่แท้จริงของ “เงิน” ไม่ใช่เหรียญ ไม่ใช่โลหะ ไม่ใช่ธนบัตร หรือไม่ใช่ทอง แต่คืออะไรก็ตามที่ผู้คนในสังคมให้การยอมรับและใช้เป็นสื่อกลาง หรือตัวกลางของการแลกเปลี่ยน เพื่อทำให้การแลกเปลี่ยนระหว่างกันง่ายขึ้น

เพราะสมัยก่อนจะเกิดนวัตกรรมที่เรียกว่า “เงิน” นั้น เราใช้วิธีการแลกเปลี่ยนหรือ Barter กันโดยตรง เช่น ผมมีหมู ผมก็ต้องหาคนทีอยากได้หมูให้เจอก่อน แล้วจากนั้นก็ดูว่าเขามีอะไรที่เราต้องการบ้าง และบางคนก็อาจให้ค่ากับหมูไม่เท่ากัน กับคนที่ไม่ค่อยชอบหมูอาจไม่ให้ค่าสักเท่าไหร่ แต่กับคนที่ชอบกินหมูมากๆ อาจให้ค่ากับหมูตัวเดียวกันมาก เห็นไหมครับว่าสมัยโบราณกาลนั้นการจะแลกเปลี่ยนกันแต่ละทียุ่งยากวุ่นวายขนาดไหน

แต่พอมีนวัตกรรมที่เรียกว่า “เงิน” นั้นเราก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายกว่าเดิมมาก เราไม่ต้องหาคนที่มีความต้องการของที่เรามี แต่เราสามารถเอาของที่มีไปแลกกับใครก็ได้ที่มีเงิน แล้วเอาเงินนั้นไปแลกกับคนที่มีของที่เรามีอีกที ซึ่งเจ้าสิ่งที่เรียกว่าเงินนี้จะเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่ว่าผู้คนในสังคมนั้นให้ค่าอะไรกับ เช่น เปลือกหอยหายาก หินบางชนิด เกลือ โลหะ กระดาษ ทอง ลูกแก้ว หรือแม้แต่เกลือ (สมัยก่อนใช้เกลือจ่ายค่าแรง จึงเป็นที่มาของคำว่า Salary ที่มาจากคำว่า Salt ครับ)

วันนี้เงินแทบจะไม่มีตัวตน เพราะเราไม่น้อยใช้เงินในรูปแบบออนไลน์ มีแค่ตัวเลขบนหน้าจอ แล้วเราก็สะสมตัวเลขบนหน้าจอไว้ เรียกได้ว่าหลายร้านวันนี้ก็เลือกที่จะให้โอนผ่านแอปแทนรับเงินสด ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการลดการสัมผัสเชื้อไวรัสโควิด19 ด้วยนี่แหละครับ

เงินบรรพกาล

https://www.tripadvisor.com/LocationPhotoDirectLink-g311332-d1465964-i19630354-Stone_Money-Yap.html

หนังสือเล่มนี้ยกเรื่องราวบนเกาะแยป หรือ Yap Island เงินบรรพกาลบนเกาะแห่งนี้มีความไม่เหมือนที่ไหน เพราะเป็นแท่งหินขนาดหนักมากถึง 4 ตันบางก้อน จึงทำให้วิธีการใช้งานเงินเหล่านี้มีความเหมือนกับบิทคอยน์ทุกวันนี้มาก

เพราะบนเกาะแยป หรือ Yap Island แห่งนี้เวลาจะใช้เงินที่ตัวเองมีต้องตะโกนป่าวประกาศให้ทุกคนบนเกาะ หรืออย่างน้อยก็ให้ทุกคนโดยรอบพื้นที่ชุมชนได้ยินโดยทั่วกันว่า ตัวเองประกาศยกหินกลมแท่งนี้ให้กับใคร และทุกคนก็จะรับรู้ร่วมกันว่าหินกลมๆ แท่งนี้ถูกครอบครองโดยใครแล้ว

หลักการของบิทคอยน์ก็เหมือนกัน คือใช้หลักการให้คนที่ร่วมเข้ามาร่วมกัน Proof of Work หรือยืนยันและบันทึกการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนบิทคอยน์ เมื่อคนนึงบอกว่าจะสละเงินดิจิทัลสกุลนี้ให้กับคนอื่นครอบครองต่อ ก็ต้องทำการประกาศออกไปบนระบบ จากนั้นทุกคนที่อาสาตัวเข้ามาช่วยกันยืนยันธุรกรรมก็จะช่วยกันสร้างกล่องข้อมูลถัดไป แถมยังได้รางวัลจากการเข้ามาช่วยยืนยันธุรกรรมครั้งนี้

แต่ข้อดีของ Blockchain คือเราสามารถย้อนตามเส้นทางการเงินไปถึงจุดแรกเริ่มที่เงินเหรียญนี้ถูกสร้างขึ้นมาได้ครับ

แต่บทนี้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมที่น่าสนใจว่า เงิน จะเป็นเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนได้ดีเหมือนเดิมก็ต่อเมื่อมันหายาก สร้างใหม่ไม่ง่าย เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่มันถูกสร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่ได้ง่าย มูลค่าหรือคุณค่าที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก็จะหายไป จนไม่มีใครในสังคมยอมรับมันอีก

เพราะในตอนหลังผู้คนบนเกาะนี้มีช่างต่างชาติเดินเรือเข้ามาค้าขายด้วย เมื่อชาวต่างชาติพบว่าคนบนเกาะใช้หินนี้ในสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน พวกเขาก็เลยไปขนหินที่หาได้ยากยิ่งบนเกาะนี้มาจากแผ่นดินอื่น สุดท้ายเงินหินก็เพ้อจนไร้ค่าไป ในเมื่อใครๆ ก็มีเงินหินได้ แล้วใครหละจะไปอยากได้ในสิ่งที่ใครๆ ก็มีกัน

เงินเหรียญโลหะ

ในยุคที่เงินเฟื่องฟูจนก่อนให้เกิดการค้าที่กว้างขวาง ก็คือยุคของการใช้โลหะมาทำเหรียญเพื่อใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกบรรดาผู้ปกครองฉ้อโกงเงินประชาชนด้วยการแอบดึงโลหะออกจากเหรียญเดิม เพื่อจะได้เอามาสร้างเป็นเหรียญใหม่ ก่อให้เกิดเงินไหลเวียนมากมายในเมืองหลวง

ส่งผลให้บรรดาช่าวไร่ชาวนานอกเมืองรู้สึกว่าปลูกข้าว ทำสวนไปก็ไม่รวย สู้อพยพเข้าเมืองไปหาเงิน ไปลงทุนเสี่ยงโชคดีกว่า ซึ่งดูไปก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโตวันนี้เหลือเกิน มีแต่เหรียญมากมายแต่กลับขาดความสามารถในการใช้เงินในตัวมันได้จริงๆ และนั่นก็ทำให้ไม่มีใครสร้างผลิตผลใดๆ ขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินที่เป็นสื่อกลาง กลายเป็นว่าทุกคนใช้เงินเพื่อสร้างเงินใหม่ๆ ในที่สุดแล้วก็ส่งผลให้เศรษฐกิจและสังคมพังไปหมด

หนังสือ The Bitcoin Standard เล่มนี้บอกให้รู้ว่าในสมัยก่อนจีนและอินเดียล่มสลายเพราะแร่เงินที่เคยถูกใช้เป็นเงินตราหลักประเทศ ถูกประเทศฝั่งยุโรปผลิตจากข้างนอกในราคาถูกกว่าเอามาจับจ่ายใช้สอยอย่างสบาย จนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

แถมทางยุโรปเองก็เปลี่ยนมาตรฐานการเงินใหม่ จากเคยยึดกับโลหะอย่างเงิน มาสู่การใช้ทองคำหนุนหลังเงินกระดาษแทน และด้วยทองคำนี้เองที่ทำให้การค้าขายเฟื่องฟูจนก่อให้เกิดการค้าระดับโลกได้ เรากำลังเข้าสู่ยุคเงินที่ใช้ทองคำแทนเงินกันแล้วครับ

เงินตรารัฐบาล

นี่คือจุดเริ่มต้นของเงินกระดาษ หรือเงิน Fiat money ที่เป็นบัญญัติจากรัฐบาลของแต่ละประเทศว่าสามารถนำมาแลกกลับคืนเป็นทองคำที่เอามาฝากรัฐบาลไว้เมื่อไหร่ก็ได้ การค้าก็เลยเกิดสภาพคล่องขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงยกเลิกการเอาธนบัตรหรือเงินกระดาษเดิมมาแลกเป็นทองคำไม่ได้อีกต่อไป

แรกเริ่มเดิมทีเงินเฟียต หรือ Fiat money นั้นถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกตอนศตวรรษที่ 10 ที่ประเทศจีนในราชวงศ์ซ่ง เรียกว่า เจียวจื่อ Jiaochao ซึ่งก็คือตั๋วแลกเงินหรือทองของคนจีนในเวลานั้น

ทำให้การจะค้าขายก็สะดวกสบายขึ้นมาก เมื่อเราสามารถพกกระดาษแทนทองหนักๆ ได้ สามารถพับเก็บหรือซ่อนได้ปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ความพินาศก็เริ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุม บังคับห้ามแลกทองคำคืนเหมือนเดิม และก็ผลิตเจ้าตั๋วกระดาษแลกทองนี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองจับจ่ายใช้สอยได้สะดวก ท้ายที่สุดเงิน Jiaochao นี้ก็เสื่อมค่าจนผู้คนเลิกใช้มันแทนสื่อกลางการแลกเปลี่ยนอีกต่อไป

กลับมาที่สมัยก่อนหน้าปัจจุบันไม่นานนี้อีกครั้ง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น แต่เดิมยุโรปเคยใช้มาตรฐานทองคำ เงินกระดาษทุกใบสามารถเอามาแลกทองคำได้ แต่พอเข้าสู่ภาวะสงครามรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกห้ามแลกเป็นทองคำกลับคืนไป และทางรัฐบาลเองก็ผลิตเงินขึ้นมามากมายเพื่อเอาไปใช้ทำสงคราม จนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมหาศาล จนคนเอาเงินไปเผาแทนฟืนด้วยซ้ำ

เพราะการพิมพ์เงินเพิ่มเป็นการขูดรีดเงินจากประชาชนง่ายกว่าการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะเวลารัฐบาลผลิตเงินเพิ่มประชาชนผู้ใช้เงินนั้นไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังจนลงเรื่อยๆ ดังนั้นเงินทุกวันนี้จึงสร้างมากจากอำนาจของรัฐบาล และใครที่มีอำนาจผลิตเงินได้ คนนั้นก็จะยิ่งครองอำนาจต่อไปเรื่อยๆ

Process of Civilization อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

Process of Civilization กระบวนการก่อกำเนิดอารยธรรม หรือการอดทนทำวันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า แม้จะยังจับต้องไม่ได้ในวันนี้ก็ตาม เปรียบกับคนที่จับปลาด้วยมือกับยอมสละเวลาไปสร้างเบ็ดตกปลาครั้งแรก แน่นอนว่าการจับปลาด้วยมือเป็นวิธีการดั้งเดิมที่มนุษย์เริ่มต้นได้ง่ายที่สุด แต่การยอมงดจับปลาในระยะเวลาหนึ่งเพื่อไปสร้างเครื่องมือที่จะช่วยจับปลาในอนาคตนั้นต้องใช้พลังใจสูงมาก

เพราะในการทำครั้งแรกยังไม่มีใครรู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่กับการสร้างเบ็ดตกปลา แต่ถ้าทำได้สำเร็จนั่นหมายความว่ามนุษย์ผู้อดทนคนนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างมากในอนาคต

จากเดิมที่เคยจับปลาได้พอกินไปสองวันต่อครั้ง อาจจะกลายเป็นตกปลาครั้งเดียวเก็บไว้กินได้เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ส่งผลให้เกิดเวลาว่างเหลือเพื่อเอาไปต่อยอดสิ่งอื่น หรืออาจจะไม่ต้องจับปลาเองแต่ผลิตเบ็ดตกปลาแลกกับปลาจำนวนมากกับคนที่ต้องการแทน

และถ้าสังคมใดเอาแต่สร้างเงินไม่สร้างผลิตผล สังคมนั้นก็จะพังลงเพราะไม่มีอย่างอื่นให้แลกนอกจากเงินด้วยกัน แน่นอนว่าเงินจะมีค่าก็ต่อเมื่อมีสินค้าให้แลก แต่เงินในตัวมันเองกินไม่ได้ครับ

ระบบการสื่อสารของระบอบทุนนิยม

เศรษฐกิจจะพังเพราะรัฐบาลสร้างเงินตามใจชอบ โดยไม่มีอะไรที่น่าเชื่อถือพอมาค้ำประกันหนุนหลังการสร้างเงินใหม่ขึ้นมา เทียบกับทุกวันนี้ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถพิมพ์เงินขึ้นมาได้ตามใจชอบ โดยใช้ความน่าเชื่อถืออของประเทศเป็นตัวค้ำประกัน แต่ในขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็เคยชินกับการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนระดับโลกด้วยกันมานานมากแล้ว

นั่นหมายความว่ารัฐบาลมักจะบริหารเงินเพื่อพวกพ้อง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์มากกว่ากระจายผลประโยชน์ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม

เงินที่มั่นคงและมีเสรีภาพในระดับบุคคล

ต้องเป็นเงินที่ไม่ได้สร้างโดยรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เพราะรัฐบาลที่ประกอบด้วยคนล้วนมี Bias หรืออคติอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ธุรกิจธนาคารมีความได้เปรียบกว่าทุกธุรกิจบนโลก โดยบทนี้มีการพูดถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สองสำนัก

  1. Keynesian เศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ ที่เน้นการใช้เงินมากกว่าออม เน้นให้รัฐผลิตเงินขึ้นมาใช้จ่ายเยอะๆ ให้เกิดสภาพคล่อง มองว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องดี
  2. เศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย มีแนวคิดว่าเงินไม่ควรถูกสร้างเพิ่มตามใจชอบ หรือควรจำกัดปริมาณเงินสดให้ไม่มากกว่าที่กำหนดไว้ เน้นการเพิ่มมูลค่าของตัวเงินในตัวเอง แต่ก็อาจก่อให้เกิดภาวะเงินฝืดตามมา

ซึ่งแนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียคือแนวคิดเดียวกับ Bitcoin ที่จำกัดปริมาณเหรียญชัดเจน 21 ล้านเหรียญไม่ขาดไม่เกิน ไม่มากไปกว่านี้แต่สามารถแบ่งซอยออกเป็นหน่วยย่อยได้มากมาย

เงินดิจิทัล Cryptocurrency

กว่าหนังสือ The Bitcoin Standard เล่มนี้จะพูดเรื่องคริปโตหรือ Bitcoin ก็เข้าสู่ช่วงท้ายเล่มบทที่ 8 แล้วครับ (บางคนที่ตั้งตาจะได้รู้จักบิทคอยน์เยอะๆ เผื่อว่าจะรวยอาจผิดหวังเล็กน้อย) บทนี้พูดถึงเงินดิจิทัลคือเงินที่เข้ารหัสอย่างดี ทำซ้ำไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ใช้ฉันทามติเท่านั้น ยกเลิกตัวกลางหรือคนที่ 3 ออกไป สามารถใช้ได้เหมือนธนบัตร แต่แค่จับต้องไม่ได้ แต่สาวที่มาที่ไปได้ว่าเงินนี้ผ่านใครมาบ้าง

สรุปหนังสือ The Bitcoin Standard ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง

หนังสือเล่มนี้ออกฉายภาพไปทางเงินที่ถูกสร้างได้ไม่จำกัดดูไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะทำให้เศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล่มสลายไปมากมาย ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จะเน้นภาพของเงินที่มีจำกัด และไม่มีตัวกลางหรือผู้มีอำนาจควบคุมเสกเงินขึ้นได้ตามใจ

แต่เมื่ออ่านรวมทั้งหมดผมกลับเห็นภาพว่า Bitcoin คือทองดิจิทัล สิ่งที่หาได้ยากยิ่ง มีจำกัดชัดเจน ขุดได้แต่วันนี้ก็ดูไม่คุ้มเท่าไหร่นัก เน้นเทรดเป็นหลัก เหมาะกับการซื้อของแพงๆ ขนาดใหญ่ มากกว่าจับจ่ายใช้สอยย่อยๆ ไปซึ่งข้อจำกัดของบล็อกเชนบิทคอยน์ดูไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทำธุรกรรมรายย่อยในชีวิจประจำวันของเราทุกคน

ถ้าอยากรู้จักประวัติที่มาของเงินตรา หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามได้ดี ถ้าอยากรู้ว่าระบบการเงินโลกในปัจจุบันเป็นอย่างไร และมีความเสี่ยงแบบไหน หนังสือเล่มนี้ก็ฉายภาพได้ชัด

แต่อย่างไรผมขอแนะนำให้คุณหาหนังสือด้านการเงินอื่นๆ มาอ่านประกอบ เพื่อให้เห็นภาพรวมหลากหลายมิติมากกว่านี้ เพื่อจะได้ชั่งใจว่าเราควรเข้าไปยุ่งกับคริปโตมากแค่ไหนในวันนี้และวันหน้าครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 32 ของปี 2021

สรุปหนังสือ The Bitcoin Standard บิทคอยน์ ระบบการเงินทางเลือกใหม่ไร้ศูนย์กลาง
Saifedean Ammous เขียน
พิริยะ สัมพันธารักษ์ และ พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว เรียบเรียง
สำนักพิมพ์ ซีเอ็ด

อ่านสรุปหนังสือแนวนี้ต่อ > https://www.summaread.net/?s=bitcoin

สั่งซื้อออนไลน์ > https://bit.ly/3n438wd

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/