สรุปหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2

สรุปหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2 ว่าด้วยเรื่องของวิทยาศาสตร์ของอารมณ์ความรักและความเกลียดชัง ถ้าใครเคยอ่าน 500 ล้านปีของความรักเล่มแรกแล้วจะรู้ว่ามันสนุกมาก มากจนไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเล่มที่ดูใหญ่ๆ หนาๆ จะอ่านจบได้เร็วมากกว่าที่คิดไว้ตอนจะหยิบอ่าน เล่มที่สองนี้ก็เหมือนภาคต่อของเล่มแรก แต่ถ้าใครยังไม่เคยอ่านเล่มแรกผมก็คิดว่าคุณสามารถเริ่มอ่านจากเล่มสองแล้วค่อยย้อนกลับไปอ่านเล่มแรกตอนที่อ่านเล่มนี้จบก็ได้ครับ

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจประวัติศาสต์ที่มาที่ไปของมนุษย์ ที่สามารถหาคำมาอธิบายได้ว่าทำไมมนุษย์เราถึงชอบนินทา ทำไมมนุษย์เราถึงชอบดูกีฬา หรือแม้กระทั่งทำไมมนุษย์เราบางคนถึงเจ้าชู้ได้มากกว่าปกติ หรือแม้แต่เรื่องที่ดูเป็นเหตุและผลอย่างศีลธรรมในมนุษย์เรานั้นแท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องของพันธุกรรมที่ไม่ต้องมีใครมาสอนว่าอะไรถูกหรือผิด แต่มนุษย์เราก็สามารถเข้าใจถูกหรือผิดได้เองตั้งแต่ยังเป็นทารกครับ

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนเป็นคู่มือในการเข้าใจตัวเรา จิตใจเรา ความคิดและการตัดสินใจของเรา ว่าทำไมเราถึงทำแบบนี้ ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ดังนั้นถ้าคุณอ่านหนังสือ 500 ล้านปีของความรักทั้งสองเล่มจบผมว่าคุณจะเป็นมนุษย์ผู้เข้าใจมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์ทั่วไปเลยล่ะครับ

ถ้าอย่างนั้นผมขอเริ่มการสรุปหนังสือ 500 ล้านปีของความรักเล่มที่สองนี้ไปเรื่อยๆ แบบเล่าสู่กันฟัง แล้วถ้าใครอ่านสรุปนี้แล้วอยากสั่งซื้อผมก็จะมีลิงก์ให้ตอนท้ายครับ

ทำไมมนุษย์ถึงชอบเรื่องน้ำเน่า?

เพราะเรื่องน้ำเน่าเป็นอะไรที่สามารถอินร่วมกันข้ามเพศและวัยได้ไม่ยาก เหมือนธรรมชาติของมนุษย์สร้างเรามาให้มีอารมณ์ร่วมกับเรื่องน้ำเน่าได้ดีตั้งแต่เกิด ดังนั้นถ้าใครอยากหาทางผูกสัมพันธ์กับคนอื่นที่ต่างเพศหรือต่างวัย ผมแนะนำว่าให้ลองเปิดหนังน้ำเน่าดูร่วมกัน แล้วคุณจะเกิดความสนิทสนมกันเร็วกว่าที่คิดไว้ครับ

น้ำหยดลงหินไม่ใช่แค่คำพังเพยเชยๆ แต่เป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์มาแล้ว

น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน ประโยคนี้บอกให้รู้ว่าอะไรก็ตามที่มีความสม่ำเสมอเป็นประจำนั้นย่อมสามารถพิชิตใจอีกฝ่ายได้แน่นอน และเรื่องนี้ก็มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วว่าเป็นจริงครับ จากการทดลองพบว่าเมื่อคนเราได้เห็นหรือได้ยินอะไรบ่อยๆ เราก็จะเกิดความคุ้นเคยขึ้นมาโดยอัตโนมัติ และนั่นก็ส่งผลไปต่อความรู้สึกชอบของเราต่อสิ่งนั้นไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนกันเพลงที่คุ้นเคยแม้ช่วงแรกจะไม่ชอบเลยแต่สักพักก็กลับร้องได้คล่องปาก

ดังนั้นถ้าใครอยากให้อีกฝ่ายรู้สึกชอบเราเหมือนกันก็ต้องพยายามทำให้เขารู้สึกว่าคุ้นเคยด้วยการได้เห็นหรือได้คุยกับเราทุกวันนะครับ

และจากความคุ้นเคยก็ไปอีกขั้นที่ความคล้ายๆ เชื่อมั้ยครับว่าคนเรามักจะชอบคนที่มีความคล้ายคลึงกับเราโดยไม่รู้ตัวและสิ่งนี้ก็เรียกว่า Mirroring

Mirroring ถ้าอยากให้คนอื่นชอบก็แค่เลียนแบบท่าทางให้คล้ายเค้า

จากการทดลองพบว่าถ้าบริกรคนไหนทำท่าทางเลียนแบบลูกค้าคนนั้นได้ ทำสำเนียงหรือการพูดจาให้คล้ายลูกค้าคนนั้นได้ ก็มักจะได้รับทิปมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับคนที่เราไม่ได้พยายามเลียนแบบเค้า

และนั่นก็ส่งผลไปถึงว่าทำไมคู่รักที่อยู่ด้วยกันมักมีใบหน้าคล้ายกันมากกว่าวันแรก ก็เพราะความคุ้นเคยทำให้เรารู้สึกชอบ พอเราชอบเราก็มักจะเลียนแบบกันและกันโดยไม่รู้ตัว และนั่นก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อบนใบหน้าที่จะเกิดการเปลี่ยนรูปทรงและรูปร่างให้คล้ายกับคู่ของเราโดยอัตโนมัติครับ

Misattribution ใช้ปฏิกิริยาทางร่างกายหลอกสมองให้เกิดอารมณ์

อารมณ์ที่ผมพูดถึงไม่ใช่อารมณ์สองแง่สองง่าม แต่เป็นอารมณ์รู้สึกดีกับใครคนหนึ่งเป็นพิเศษครับ นักวิจัยค้นพบว่าถ้าร่างกายเรามีอาการเหมือนอารมณ์ใด เช่น หัวใจเต้นแรง เลือดสูบฉีดดี ก็สามารถเอาปฏิกิริยานี้ไปหลอกอารมณ์ว่าเขาคนนั้นน่าจะรู้สึกตามปฏิกิริยาของร่างกายได้

เช่น การพาคนไปออกกำลังกายให้หัวใจสูบฉีดเต้นแรง หรือพาไปดูหนัง Action เร้าใจให้ตื่นเต้นตลอดเวลา ส่งผลให้เหมือนกำลังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้อยู่กับคนข้างๆ และนั่นก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้เค้ารู้สึกดีกับเราไปโดยไม่รู้ตัวครับ

ดังนั้นถ้าคุณจะจีบใครอย่าพาเธอไปดูหนังรัก แต่ให้พาไปดูหนังแอคชั่นที่ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเต้นแรงเสมือนว่าเขาคนนั้นกำลังรู้สึกตื่นเต้นที่ได้อยู่กับคุณนะครับ

ความเชื่อผิดๆ เรื่องสมองทำงานแยกส่วน

ความเป็นจริงแล้วสมองไม่ได้ทำงานแยกส่วน ไม่ใช่สมองซีกขวาที่ทำหน้าที่เรื่องอารมณ์เพียงอย่างเดียว และการคิดหรือเรื่องเหตุและผลก็ไม่ใช่หน้าที่ของสมองซักซ้ายเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วสมองทุกส่วนทำงานร่วมกัน เปรียบเสมือนกับทีมฟุตบอลที่ต้องเล่นด้วยกันสนามให้ชนะครับ

แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีสมองแต่ละส่วนที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลักๆ หรือเปรียบเสมือนกับหัวหน้างานก็ว่าได้ ซึ่งมันก็ต้องไปทำงานร่วมกับส่วนอื่นถึงจะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างลุล่วง ฉะนั้นสมองไม่ได้ทำงานแบบแยกขาดจากกันอย่างที่เคยเชื่อ แต่ทำงานสอดประสานกันเป็นวงออเครสต้า ที่อาจจะมีเครื่องดนตรีบางชิ้นเด่นขึ้นมาในบางครั้ง แต่ถ้าเล่นชิ้นเดียวก็จะไม่กลายเป็นเพลงที่น่าฟังครับ

ใครเจ้าชู้ให้โทษฮอร์โมน

หนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่าแท้จริงแล้วนิสัยที่เรียกกันว่า “เจ้าชู้” นั้นไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความผิดของฮอร์โมนตัวหนึ่งที่ชื่อว่าเวโซโทซิน หรือ Vasotocin ซึ่งนักวิจัยเค้าคนพบแล้วว่าเจ้าฮอร์โมนในสมองตัวนี้มีความสัมพันธ์กับความเจ้าชู้ในแต่ละคน ถ้ามีมากก็จะเจ้าชู้มาก จะเป็นคนที่รักใครได้ไม่นาน ซื่อสัตย์ได้ไม่นาน และก็มักจะมีปัญหาในชีวิตคู่บ่อยๆ หรือมักจะเป็นพวกที่เรียกว่า “เผลอเป็นไม่ได้” ดังนั้นถ้าใครเจ้าชู้ขอให้รู้ว่าไม่ใช่ความผิดคุณ แต่เป็นเพราะเจ้าฮอร์โมน Vasotocin ครับ

แต่ไม่รู้ว่าถ้าคุณเอาไปแก้ตัวกับแฟนแบบนี้เขาจะฟังมั้ย ระวังเขาจะโมโหจนขอผ่าหัวคุณออกเป็นสองส่วนแล้วเพื่อขอล้างเจ้าฮอร์โมนนี้ออกไปให้หมดแล้วประกอบกลับให้นะครับ

ความอ่อนโยนสำคัญกว่าอาหาร

จากการทดลองในลูกลิงพบว่าเมื่อต้องเลือกระหว่างแม่ลิงจำลองที่ตัวนึงถูกห่อด้วยผ้าขนหนูนุ่มๆ ทั้งตัวแต่ไม่มีนมให้กิน แต่แม่ลิงจำลองอีกตัวนึงเป็นลวดแข็งๆ ทั้งแต่แต่มีนมให้กิน ผลปรากฏว่าลูกลิงเลือกเกาะติดอยู่กับแม่ลิงตัวนุ่มทั้งวัน มีแค่ตอนที่หิวเท่านั้นที่จะเอี้ยวตัวไปดูนมกินจาแม่ลิงตัวแข็ง

นั่นบอกให้รู้ว่าสิ่งมีชีวิตอย่างเลือกชอบความอ่อนนุ่ม อ่อนโยน ที่สื่อถึงความอบอุ่นมากกว่าจะเลือกอาหารเพื่อความอยู่รอดอย่างเดียว ดังนั้นพยายามทำมือให้นุ่มนิ่มกันเข้าไว้เพื่อที่อีกฝ่ายจะได้ประทับใจเมื่อได้จับมือเราครับ(เกี่ยวมั้ย?)

การนินทาเป็นสัญชาตญาณในการควบคุมของคนในกลุ่ม

ใครที่บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่ชอบการนินทา บอกได้เลยครับว่าไม่จริง เพราะแต่เดิมทีการนินทานั้นคือกฏหมายของกลุ่มที่เอาไว้ควบคุมไม่ให้คนในกลุ่มทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แล้วสังคมมนุษย์แต่ไหนแต่ไรมาก็มักจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่แบบทุกวันนี้ ดังนั้นเมื่อมีใครทำตัวออกนอกลู่นอกทางก็จะถูกคนในกลุ่มเอาไปนินทา และนั่นก็หมายความว่าคนๆ นั้นจะอยู่ในกลุ่มนี้ลำบาก ทุกวันนี้เราก็ยังคงเห็นได้ในหมู่เด็กๆ ที่ถ้าเมื่อไหร่ถูกนินทาก็ต้องเปลี่ยนกลุ่ม ดังนั้นสรุปได้ว่าการนินทาคือสัญชาตญาณของมนุษย์เรามาแต่ไหนแต่ไรครับ

ทารกไม่กี่เดือนก็รู้จักจริยธรรม

จากการทดลองให้ทารกดูละครสมมติระหว่างการแบ่งปันสิ่งของกัน กับการแย่งชิงสิ่งของกัน ผลปรากฏว่าทารกให้ความสนใจกับการแย่งชิงหรือขโมยสิ่งของระหว่างตัวการ์ตูนที่ได้ดูมากเป็นพิเศษ มีท่าทางไม่พอใจ จนถึงขั้นทารกบางคนแอบเอามีตัวหัวเจ้าลิงตัวการ์ตูนที่ได้เห็นว่าขโมยสิ่งของจากสัตว์อื่นมาด้วยแหละครับ

ดังนั้นทารกเขารู้จักผิดชอบชั่วดีตั้งแต่ยังพูดไม่ได้แล้ว แล้วผู้ใหญ่อย่างเราๆ ที่พูดได้คล่องขนาดนี้รู้จักผิดชอบชั่วดีกันเท่าทารกมั้ยนะ เห็นชอบอ้างกันบ่อยๆ ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” เวลาทำอะไรผิดแต่ละทีเป็นประจำ

เหตุผลที่คุณควรตัวหอม

ที่ผ่านมาเคยสงสัยมั้ยครับว่าเราจะต้องฉีดน้ำหอม ฉีดสเปรย์ดับกลิ่นเตา หรือทาโลออนไปทำไม แต่วันนี้ผมมีเหตุผลมาบอกแล้วครับ เพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้รู้ว่ากลิ่นเหม็นโดยทั่วไปนั้นจะไปกระตุ้นอารมณ์หรือความรู้สึกรังเกียจในตัวมนุษย์เราขึ้นมา ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากให้ใครรังเกียจนอกจากควรทำตัวให้หอมน่าดมแล้ว ยังต้องทำรถ ทำบ้าน ทำโต๊ะทำงานให้มีกลิ่นหอมๆ ไว้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกดีของอีกฝ่ายได้ด้วย

และจากกลิ่นก็ต่อมาที่ความรู้สึกสะอาด เชื่อมั้ยครับว่าความสะอาดนั้นมีผลต่อความคิดและการกระทำของเรามาก

Lady Macbeth effect จิตวิทยากับความสะอาดที่แสนจะลึกซึ้ง

Lady Macbeth เป็นชื่อตัวละครในวรรณกรรมสุดคลาสสิค ที่เธอมีอาการติดการล้างมือให้สะอาดตลอดเวลา นั่นก็เพราะในเรื่องเธอเป็นผู้ลงมือฆ่าสามีด้วยตัวเอง แล้วนั่นก็ทำให้เธอรู้สึกว่ามือเธอยังคงสกปรกมากกว่าปกติอยู่เสมอ แล้วความรู้สึกนั้นก็ไปกระตุ้นให้เธอคอยล้างมือให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นถ้าใครพบเห็นคนใกล้ตัวล้างมือบ่อยเป็นพิเศษ พึ่งสงสัยไว้เลยว่าเขาอาจจะทำอะไรผิดมาหรือเปล่านะ แต่เช่นเดียวกันการล้างมือให้สะอาดก็ทำให้เรารู้สึกรังเกียจหรือต่อต้านความสกปรกทั้งสิ่งของและการกระทำของคนด้วยกันมากขึ้น

มีการทดลองพบว่าเมื่อแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มให้ตัดสินความผิดของนักโทษคนเดียวกันด้วยข้อมูลเดียวกันตรงหน้า ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ต้องล้างมือก่อนทำการตัดสินความผิดมีแนวโน้มจะตัดสินให้นักโทษคนนั้นได้รับโทษสูงกว่า นั่นก็เพราะว่าเมื่อคนเรารู้สึกว่าตัวเองสะอาดแล้วก็จะไม่ชอบอะไรที่สกปรกหรือผิดนั่นเองครับ

ไม่แน่นะครับว่าในยุค COVID-19 ที่ผมกำลังสรุปหนังสือเล่มนี้อยู่ ผู้คนอาจจะมีการกระทำผิดลดลงเพราะต้องล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันโรค และก็คงจะดีถ้าให้บรรดา ส.ส. ทั้งหลายได้ล้างมือทุก 5 นาทีตลอดระยะเวลาการประชุมหรือทำงาน เชื่อว่าการโกงกินน่าจะน้อยลงก็ได้ครับ

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีตาขาวมากที่สุด

ถ้าสังเกตุสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะไม่มีสิ่งมีชีวิตไหนเลยที่มีตาขาวอย่างเห็นได้ชัดเท่ากับมนุษย์เรา สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ดวงตาจะเต็มไปด้วยตาสีดำ ที่มนุษย์เราต้องมีพื้นที่สีขาวในดวงตาเยอะอย่างเห็นได้ชัดเพราะเราใช้สายตาในการสื่อสารด้วยครับ

เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่เราแค่มองไปทางด้านใดด้านหนึ่ง พออีกคนหนึ่งเห็นก็จะเกิดอาการมองตามทิศทางของสายตาเรา แต่กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่เป็นแบบนั้น พวกมันจะไม่มีอาการเหลือบตามอง แต่พวกมันจะต้องหันมองตามทิศทางของหัว ดังนั้นถ้าม้าลายสักตัวจะเหลือบตามองไปด้านข้าง ม้าลายตัวอื่นก็จะไม่มีทางรู้เลยว่ามันกำลังมองไปทางไหนอยู่ ยกเว้นว่าม้าลายตัวนั้นจะหันหัวไปทางขวา ทีนี้ม้าลายตัวอื่นๆ ถึงจะรู้ว่าทางขวาน่าจะมีอะไรบางอย่างอยู่เจ้าม้าลายตัวนั้นถึงได้หันหัวไปทิศทางนั้นครับ

ดังนั้นถ้าต่อไปนี้ใครถูกด่าว่าตาขาว ก็บอกไปเลยว่าก็เป็นปกติของมนุษย์นะที่มีตาขาวมากกว่าตาดำ

และพลังของสายตามนุษย์เรานั้นก็มีพลังมาก เพราะจากการทดลองพบว่าแค่มีภาพดวงตาจับจ้องมาตรงๆ ก็ส่งผลให้คนเราโกงกันลดลงด้วย

แค่เห็นว่ามีคนมองอัตราการโกงก็ลดลง

จากการทดลองพบว่าเมื่อเอาขนมไปวางพร้อมกับป้ายบอกราคาของขนมให้คนที่หยิบไปจ่ายเงินด้วยตัวเอง ระหว่างบูทนึงมีแค่ป้ายบอกราคากับบอกว่าให้หยอดเงินที่กระปุก แต่อีกป้ายหนึ่งมีแค่รูปใบหน้าคนหรือดวงตาของคนจับจ้องมาตรงๆ ยังคนที่หยิบขนมไป ผลปรากฏว่าบูทที่มีภาพสายตาของคนจับจ้องมาส่งผลให้อัตราการโกงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่รู้ว่าอีกหน่อยในรัฐสภาจะเอาภาพดวงตาไปติดให้เต็มสภาจะโกงกันน้อยลงบ้างมั้ยนะ

เรื่องสุดท้ายที่จะสรุปของหนังสือเล่มนี้ก็คือทำไมมนุษย์เราถึงอินเวลาดูกีฬา

Teamwork คือหัวใจของมนุษย์

สงสัยมั้ยครับว่าทำไมเวลาเราเชียร์ทีมที่เราชอบถึงได้รู้สึกอินและกระโดดโลดเต้นดีใจมากเหลือเกินเวลาทีมที่เราเชียร์ทำคะแนนได้ และในขณะเดียวกันเราก็เป็นเดือดเป็นร้อนมากเวลาทีมเราถูกอีกทีมโกงโดยที่กรรมการจับไม่ได้

นั่นก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์เราถูกปลูกฝังมาให้เราทำกิจกรรมร่วมกันเป็นทีม เป็นกลุ่ม เป็นเผ่า ดังนั้นการเชียร์ทีมกีฬาก็เหมือนเป็นการกลับไปปลุกสัญชาตญาณของเราอีกครั้งนั่นเองครับ

แล้วเจ้าสัญชาตญาณนี้ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ร่วมกันระหว่างกลุ่มหรือเผ่า เหมือนที่เราเห็นว่าบรรดาชนเผ่าต่างๆ ก็จะมีลายสักหรือลวดลายเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นการบอกให้รู้ว่าคนไหนพวกเรา คนไหนเป็นพวกเขา และนั่นก็ก่อให้เกิดการแบ่งกลุ่มระหว่างกัน แล้วการแบ่งกลุ่มพวกเขาพวกเรานี่ก็มีพลังสูงมากกว่าที่คิดกันนะครับ

เพราะจากการทดลองที่โด่งดันมากในอดีตที่มีชื่อเรียกว่า The Stanford Prison Experiment ที่เอานักศึกษามาแบ่งเป็นสองกลุ่มให้จำลองบทบาทระหว่างผู้คุมกับนักโทษ เชื่อมั้ยครับว่าผ่านไปไม่กี่วันแต่ละคนอินกับบทบาทนั้นมากจนกลายเป็นจริง มีการทำร้ายกันจริงๆ มีการพยายามแหกคุกกันจริงๆ จนในที่สุดต้องถูกยกเลิกการทดลองไปกลางคัน ขนาดนักวิจัยที่เป็นผู้ควบคุมการทดลองยังเผลออินไปกับเค้าด้วยว่าตัวเองเป็นหัวหน้าผู้คุมเรือนจำแห่งนั้นโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเมื่อแบ่งเขาแบ่งเราแล้วจึงเกิดสงครามอันโหดร้ายขึ้นมา เพราะเมื่อไหร่ที่เรามองอีกฝ่ายว่าไม่ใช่พวกเรา เราก็สามารถฆ่าแกงกันได้ไม่ยากเลย

แล้วปัญหาสำคัญอีกอย่างคือเมื่อพอเรารวมกลุ่มกันนี่แหละคือเรื่องอัตรายแบบสุดๆ เพราะการรวมกลุ่มกันจะทำให้เรารู้สึกผิดต่อการทำผิดหนักๆ น้อยลงจนแทบไม่รู้สึกอะไร เหมือนเวลาสงครามเกิดการฆ่ากันอย่างมากมาย แต่พอให้อยู่กันแบบเดี่ยวๆ กลับเปิดใจคุยกันไม่กล้าฆ่าแกงกันครับ

และนี่ก็คือการสรุปหนังสือ 500 ล้านปีของความรักเล่มที่ 2 ของอ่านแล้วเล่า หวังว่าคุณจะสนุกกับการเข้าใจร่างกายของเรา อารมณ์ของเรา ไปจนถึงความรักที่เกิดขึ้นในตัวเรากันนะครับ

สรุปหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 11 ของปี 2020

สรุปหนังสือ 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 2
วิทยาศาสตร์ของอารมณ์ ความรัก และความเกลียดชัง
นายแพทย์ ชัชพล เกียรติขจรธาดา เขียน
แพทย์หญิง ขวัญปีใหม่ พะนอจันทร์ วาดภาพประกอบ
สำนักพิมพ์ ชัชพลบุ๊คส์

20200310

อ่านสรุปหนังสือของผู้เขียนคนนี้ต่อ > https://www.summaread.net/tag/%e0%b8%99%e0%b8%9e-%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%9e%e0%b8%a5-%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%82%e0%b8%88%e0%b8%a3%e0%b8%98%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b8%b2/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > https://bit.ly/2x2kUJs

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/