สรุปหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย

สรุปหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย เล่มนี้ เป็นหนังสือที่ผมดองไว้นานมาก มากจนไม่คิดว่าจะได้หยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ด้วยเล่มที่ดูใหญ่โตกว่าปกติ แถมความหนาก็ไม่น้อย ทำให้แอบกลัวๆว่า “อย่างเราอ่านแล้วจะเข้าใจมั้ยนะ?” แต่ต้องบอกว่าที่ผมเปลี่ยนความคิดนี้ไปเพราะเล่มก่อนหน้าที่ผมอ่านคือ สงครามที่ไม่มีวันชนะ ของผู้เขียนคนเดียวกัน โดย นพ. ชัชพล เกียรติขจรธาดา ที่น่าจะเขียนหนังสือขายดีจนเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองได้ ขอคาราวะตรงนี้เลยครับ

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่าคุณหมอท่านนี้สามารถเขียนหนังสือเล่าเรื่องได้อย่างสนุกมาก มากจนคิดว่าถ้าคุณหมอมาเป็นครีเอทีฟโฆษณาคงสามารถสร้างผลงานที่เป็นที่จดจำได้มากมายแน่ๆ เพราะสามารถเปลี่ยนเรื่องยากให้กลายเป็นง่าย และก็ทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ทำให้เรื่องอย่างร่างกายของเราที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด อยู่กับผมมาตั้งสามสิบกว่าปี กลายเป็นเรื่องใหม่ที่มีอะไรให้น่าเรียนรู้และอ่านตามจนไม่อยากให้จบเลยทีเดียว

ผมว่าหนังสือเรื่องนี้เหมือนหนังสือประวัติศาสตร์สิ่งมีชีวิตและมนุษยชาติ ที่ไม่ต้องออกไปขุดหินดำน้ำเพื่อสำรวจหาซากประวัติศาสตร์จากไหน แค่สำรวจร่างกายของเราให้ดี แล้วเราจะพบว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องมหัศจรรย์พันลึกกว่าที่คิดและจินตนาการได้เลยครับ

เพราะคุณรู้มั้ยว่ามนุษย์โลกเราทุกคนในวันนี้นั้นต่างมีบรรพบุรุษร่วมกันทั้หมด หรือถ้าจะให้พูดว่าเราทุกคนล้วนกำเนิดมาจากพ่อแม่เดียวกันก็ไม่ผิดนักครับ แต่ที่น่าสนใจคือพ่อของเราทุกคนมีอายุอยู่เมื่อราวๆ 70,000 ปีที่แล้ว แต่แม่ของเราทุกคนนั้นมีอายุราวๆ 200,000 ปีที่แล้ว

ตอนนี้พวกคุณอาจสงสัยว่า “เฮ้ย!? มันจะเป็นไปได้ยังไง คนจะผสมพันธุ์กันให้มีลูกออกมาได้มันก็ต้องมีอายุใกล้ๆกันซิ แต่นี่มันห่างตั้งแสนกว่าปี จะบ้าหรอ!?”

ไม่บ้าหรอกครับ แต่ที่เราไม่เคยรู้กันมาก่อนเลยคือ ผู้หญิงคนที่ได้มาผสมพันธุ์จากพ่อคนแรกของมนุษยชาตินั้นเป็นเหลของเหลนของเหลนของเหลนของเหลน(ที่จะไม่รู้ต้องพิมพ์ซ้ำอีกกี่รอบให้ย้อนกลับไป 130,000 ปีได้)ของผู้หญิงที่เป็นแม่ของเราทุกคนในวันนี้ยังไงล่ะครับ

ที่นักวิทยาศาสตร์รู้ก็เพราะพวกเขาได้สำรวจ DNA ของมนุษย์มากหน้าหลากตาบนโลก แล้วพอสำรวจจากผู้คนที่หลากหลายชาติพันธุ์และภูมิลำเนาก็พบว่า เราทุกคนล้วนเกี่ยวดองเป็นญาติกันย้อนหลังไปได้ตามเวลาที่เล่าไปด้านบน เพราะทุกครั้งที่เราเกิดขึ้นมา เราจะได้ยีนมาจากพ่อครึ่งหนึ่ง มาจากแม่อีกครึ่งหนึ่ง และในแต่ละครึ่งของพ่อและแม่เรานั้นก็ได้มาจากพ่อและแม่พวกเขามาอย่างละครึ่งหนึ่ง นั่นหมายความว่าเราสามารถสืบหาบรรพบุรุษของเราได้จากยีนนี่แหละครับ

เพราะถ้าเรามียีนที่คล้ายกันมาก นั้นแปลว่าเราเป็นญาติที่ใกล้ชิดกันมาก แต่ถ้าเรามียืนที่คล้ายกันน้อย นั่นก็เพราะเราเป็นญาติที่ห่างกันมากครับ

แล้วยีนนี้ก็ไม่ได้มาจากไหนก็ได้ แต่ยีนของพ่อที่เราได้รับนั้นมาจากโครโมโซม ส่วนยีนของแม่ที่เราได้รับนั้นมาจากสิ่งที่เรียกว่าไมโทคอนเดรีย ดังนั้นถ้าจะบอกว่าไมโทคอนเดรียเป็นของแม่ ส่วนโครโมโซมเป็นของพ่อก็ถูกต้องเลยครับ (เสียดาย ผมน่าจะรู้จักหนังสือเล่มนี้สมัยที่เรียนวิชาชีววิทยา ไม่งั้นผมคงรักวิชาชีววิทยาจนไม่ต้องตกติดศูนย์มาจนถึงทุกวันนี้ครับ)

แล้ว Charles Darwin ผู้โด่งดังพบว่า แท้จริงแล้วแขนหรือขาของสัตว์ทุกชนิดล้วนมีวิวัฒนาการมาจากสิ่งมีชีวิตเดียวกัน นั่นก็คือ “ปลา”

เพราะ ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาซึ่งเป็นพระนักบวชในสมัยนั้นพบว่า โครงสร้างของกระดูกแขนมนุษย์ นั้นช่างเหมือนกันขาของม้า และก็เหมือนกับปีกของค้างคาว จนไปเหมือนกับครีบของปลา!

คุณอาจจะบอกว่า “บ้าหรอ! ดูยังไงก็ไม่เห็นจะเหมือนกัน ตาถั่วหรือเปล่าฟะ!” คุณซิครับตาถั่ว ก็เค้าบอกว่า “โครงสร้างเหมือนกัน” ไม่ใช่ “รูปร่างเหมือนกัน” นิครับ เพราะจากโครงสร้างที่ชาลส์ ดาร์วิน ค้นพบก็คือ กระดูกส่วนแขนและขาของสัตว์ทุกชนิดไปจนถึงครีบปลานั้นมีโครงสร้างดังนี้ “หนึ่ง-สอง-เม็ดๆ-ซี่” นั่นก็คือกระดูกหนึ่งชิ้น ตามด้วยกระดูกสองชิ้น จากนั้นก็เป็นกระดูรูปร่างเม็ดๆ แล้วก็เป็นรูปทรงซี่ๆ

ถ้านึกไม่ออกก็ลองนึกถึงกระดูกแขนเราก็ได้ครับ ช่วงต้นแขนเราจะมีกระดูกหนึ่งชิ้นใช่มั้ยครับ จากนั้นช่วงท่อนแขนล่างเราจะมีกระดูกสองชิ้น จะมีชิ้นที่เล็กกว่าขนานกันมา แล้วก็เป็นกระดูกรูปทรงเม็ดๆบริเวณข้อมือและฝ่ามือ จากนั้นก็เป็นกระดูกทรงซี่ๆที่ออกมาเป็นนิ้วมือเราครับ

ชาลส์ ดาร์วิน ค้นพบ pattern หรือรูปแบบของกระดูกแบบเดียวกันนี้ที่ขาของม้า หรือขาของหมา หรือขาของแมว และก็พบ pattern แบบนี้ในปีกของนก หรือปีกของค้างคาว และก็พบ pattern แบบนี้ที่ครีบของปลา นี่เลยทำให้ชาลส์ ดาร์วิน พบว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายน่าจะมีวิวัฒนาการออกมาจากโครงสร้างเดิมจนมีรูปร่างที่หลากหลายมากในวันนี้

แล้วถ้าดูดีๆจะพบว่าตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิตเมื่อแรกผสมพันธุ์นั้นมีหน้าตาเหมือนกันหมด แต่ระหว่างที่ค่อยๆเติบโตก็ค่อยๆแตกต่างออกไปเรื่อยๆ เช่น ปลาโลมานั้นจะมีเนื้อเยื่อขาหลังในช่วงอายุครรภ์ 24 วัน (ปลาโลมาไม่มีขาหลังครับ) แต่พออายุครบ 48 วัน เนื้อเยื่อขาหลังก็หายไป

นั่นบอกให้รู้ว่าเมื่อก่อนปลาโลมาอาจจะเคยมีขา แล้วตอนหลังขาที่มีก็ไม่ได้ใช้จนถูกธรรมชาติริบคืนไป มนุษย์ก็เหมือนกันครับ ตอนแรกสร้างอัณฑะที่บริเวณตับ แต่พอซักพักก็ค่อยๆเคลื่อนที่ลงล่างไปอยู่ตรงกลางหว่างขา

หรือมนุษย์เราตอนอายุครรภ์ 6 เดือนในท้องแม่นั้นมีขนเต็มตัวเหมือนลิง แต่พออายุครรภ์ถึง 8 เดือนขนเหล่านั้นก็หลุดหายไปตามวิวัฒนาการของเรา ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าเวลาเราเห็นทารกคลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์ 8 เดือนว่าทำไมถึงมีขนดกและหน้าตาเหมือนลิง ก็เพราะเราเคยเป็นลิงมาก่อนจะเป็นคนยังไงล่ะครับ

แล้วพอผ่านไปซักพักขนที่เคยเต็มตัวของทารกคลอดก่อนกำหนดคนนั้นก็จะหลุดล่วงไปเมื่อ DNA ได้ทำหน้าที่ของมันให้ร่างกายมีวิวัฒนาการอย่างที่ควรจะเป็นครับ

เพราะวิวัฒนาการคือการต่อยอดจากสิ่งเก่าที่มีให้ดีขึ้น จะไม่ใช่การรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่แบบที่เราคุ้นเคย สมองของเราก็เหมือนกันครับ ถ้าผ่าสมองดูเราจะพบว่าเรามีสมองส่วนของกิ้งก่าหรือสัตว์เลื้อยคลานอยู่ชั้นในสุด ที่ทำหน้าที่ว่าจะสู้หรือหนีกับสถานการณ์ตรงหน้า จากนั้นก็เป็นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ทำหน้าที่แสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆ

เช่น เศร้าเวลาลูกมันตายได้ และจากนั้นก็เป็นสมองของลิง ที่มีวิวัฒนาการมาเพื่อการอยู่กันเป็นกลุ่มสังคมที่ดีกว่าสัตว์อื่นๆ เพราะลิงเป็นสัตว์ที่มีระบบชนชั้นการปกครองในกลุ่ม ดังนั้นการที่จะเข้าใจได้ว่าใครเป็นจ่าฝูง ต้องมีสมองที่จะแยกแยะและจดจำลำดับความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ครับ

และสุดท้ายก็เป็นสมองของมนุษย์ ที่อยู่ในส่วนหน้าสุดของสมองในวันนี้ สมองส่วนนี้ทำหน้าที่สามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ยังไม่เกิด ทำให้เราสร้างสิ่งต่างๆที่ยังไม่เคยมีอยู่จริงให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ตัวอย่างง่ายๆก็คือการเริ่มต้นทำขวานหินในยุคหินนั่นเอง

ขวานหินถือว่าเป็นนวัตกรรมที่บอกให้รู้ว่ามนุษย์ตั้งแต่หลายแสนปีก่อนนั้นแตกต่างจากลิงและสิ่งมีชีวิตอื่นแล้ว

เพราะการจะทำขวานหินขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่การเอาหินสองก้อนมาทุบๆกันให้มันบิ่นหรือแตกจนกลายมีคม แต่มนุษย์ในตอนนั้นต้องสามารถจินตนาการล่วงหน้าได้ว่าถ้าเอาหินกระแทกตรงไหนแล้วมันถึงจะมีเหลี่ยมมีคมขึ้นมา จากนั้นก็ทำตามที่จินตนาการไว้ จนสามารถสร้างอาวุธขวานหินที่มีคมเป็นเครื่องทุ่นแรงได้ครับ

แล้วคุณรู้มั้ยว่าทำไมคนเราถึงชอบ “คนที่ดูดี” เพราะเรื่องนี้มีเบื้องหลังครับ

จริงๆแล้วความดูดีของชายและหญิง ไม่ว่าจะเป็น อกผาย ไหล่ผึ่ง กล้ามเป็นมัด หน้าอกตูม ก้นเด้ง เอวคอด ไม่ได้มีผลดีต่อร่างกายนะครับ เพราะฮอร์โมนเพศที่ทำให้ชายหญิงนั้นดูดีส่งผลเสียต่อภูมิคุ้นกัน เพราะฮอร์โมนเพศไปกดภูมิคุ้มกันให้ต่ำลงตามธรรมชาติของร่างกาย แต่ความย้อนแย้งของร่างกายก็คือ ยิ่งฮอร์โมนเพศมากไม่ว่าจะในคนหรือสัตว์ ถ้าในสัตว์ก็จะเป็นตัวผู้ประเภทที่มีสีสันสดใสเกินเพื่อน นั้นเป็นสัญญาณบอกว่า “ภูมิคุ้มกันในร่างกายข้าดีนะเว้ย เพราะถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีข้าไม่มีทางมีฮอร์โมนเพศได้มากจนดูดีขนาดนี้หรอก”

เป็นยังไงล่ะครับ จะเห็นว่าการชอบคนที่ดูดีสมชายสมหญิงนั้นมาจากสมองและสัญชาติญาณแบบสัตว์ป่า หรือมนุษย์เมื่อยุค 200,000 ปีก่อนแท้ๆ ซึ่งในวันนี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อขยายพันธุ์เลยทีเดียว

เพราะภูมิคุ้มกันและระบบสุขภาพของมนุษย์เราในวันนี้นั้นพัฒนาล้ำหน้าไปกว่าเมื่อ 200,000 ปีที่แล้วมาก เพราะเราสามารถเติมวัคซีนได้ครบถ้วนตั้งแต่เด็ก และเราก็สามารถไปหาหมอรักษาให้หายจากอาการป่วยไข้ได้มายาก แต่ทั้งนี้ก็ยังกลายเป็นว่า สัญชาติญาณแบบเก่านั้นยังคงอยู่ในตัวเราทุกคนไม่หมดไปครับ

แล้วอีกหนึ่งความลับที่คุณอาจจะไม่รู้ ว่าทำไมผู้ชายถึงชอบผู้หญิงที่มีนมและมีสะโพกมากกว่าปกติครับ

เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่บอกสัญชาติญาณเราแต่โบราณให้รู้ว่า ผู้หญิงที่มีนมหรือมีสะโพกนั้นเป็นผู้หญิงที่มีไขมันเยอะดี และผู้หญิงที่มีไขมันเยอะดีก็บอกให้รู้ว่าผู้หญิงคนนั้นพร้อมจะมีลูก เป็นที่หมายตาให้เราขยายพันธุ์ เพราะการที่ผู้หญิงจะมีลูกได้นั้นต้องมีไขมันสะสมในร่างกายไม่น้อยกว่า 20%

ดังนั้นถ้าผู้หญิงคนไหนดูผอมแห้งแรงน้อยแล้วยังนมไม่มี อย่าไปโทษหนุ่มๆเลยนะครับที่เค้าตาไม่ถึง ต้องไปโทษที่ยีนหรือพันธุกรรมของผู้ชายเรายังพัฒนาไม่เท่าทันกับวิวัฒนาการทางสังคมทุกวันนี้ต่างหากครับ

และเต้านมนี่แหละก็เป็นอวัยวะโฆษณาให้ผู้ชายต้องหันมาสนใจตั้งแต่โบราณ แต่เดิมนั้นตอนเรายังเป็นลิง ลิงจะสนใจลิงที่ก้นแดงว่าเซ็กซี่ แต่พอเราไม่ได้เดินสี่ขาโชว์กันเหมือนลิงให้เด่นชัด เต้นนมเลยต้องมาเด่นชัดแทนก้นแดงๆของลิง ลองคิดถึงภาพสมัยก่อนว่าพอผู้หญิงวิ่งแล้วเต้านมเด้งไปเด้งมา ก็เหมือนกับป้ายโฆษณาว่า “ชั้นไม่ธรรมดานะหนุ่มๆ”

แล้วคุณรู้มั้ยครับว่า พอมนุษย์เราเดินสองขานั้นมีข้อดีถึง 3 อย่างสำคัญเกิดขึ้น

  1. เราเดินทางได้ไกลขึ้น จากการเดินด้วยความเร็วปกติ 4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การเดินสองขานั้นจะประหยัดพลังงานกว่าการต้องเดิน 4 ขาที่ยังเหมือนลิงหรือสัตว์อื่นอยู่มากครับ
  2. เราระบายความร้อนได้ดีขึ้น และมีพื้นที่ร่างกายที่ดูดซับความร้อนน้อยลง ลองคิดดูง่ายๆก็ได้ว่าการที่เราเดินสองขาตัวตรงได้ทำให้แดดโดนร่างกายเราแค่บางส่วน แต่ถ้าเราต้องเดินสี่ขาเหมือนลิงนั้นหลังเราจะต้องรับแดดที่ร้อนแรงเหมือนแผงโซลาเซลล์เลยล่ะครับ
  3. สองมือเราก็ว่างขึ้น ทำให้เราสามารถหยิบจับอะไรได้ง่าย และเราก็สามารถประดิษฐ์สร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้อีกมากมายตามมายังไงล่ะครับ

และที่สำคัญที่ทำให้เราต่างจากลิงทั่วไปคือ มนุษย์เราพูดได้เพราะเราเดินสองขาครับ

แล้วคุณรู้มั้ยครับว่า แท้จริงแล้วมนุษย์เรานั้นคลอดก่อนกำหนดที่ควรจะเป็นถึง 9 เดือน แต่พอเราเดินสองขาทำให้กระดูกเชิงกรานมนุษย์เรานั้นแคบลง พบแคบลงก็ทำให้ทารกในท้องไม่สามารถอยู่ในครรภ์ได้นานพอจนสามารถคลอดออกมาแล้วสามารถเดินหรือเอาตัวรอดเองได้เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ

ถ้าสังเกตุเราจะเห็นว่า ช้า ม้า หมา แมว หรือแม้แต่ลิง พอคลอดมาแล้วสัตว์เหล่านี้มักจะพอเดินหรือเอาตัวรอดเองได้ในระดับหนึ่ง ไม่ต้องถึงขั้นเกาะติดพึ่งพาแม่ของมันมากเหมือนมนุษย์เรา

และแม้แต่เราจะคลอดเร็วกว่ากำหนดถึง 9 เดือนแล้ว (เพราะจริงๆเราต้องอายุซัก 18 เดือนครับ) ก็ยังพบว่าหัวของเราที่มีสมองใหญ่โตกว่าสัตว์อื่นั้นเป็นปัญหา ทำให้การคลอดแต่ละทีก็ยากเย็นเหลือเกิน แต่มนุษย์เราก็มีวิวัฒนาการที่ทำให้รอดมาถึงทุกวันนี้ได้ นั่นคือตอนแรกเกิดนั้นกะโหลกศีรษะของทารกนั้นจะไม่เชื่อมเป็นชิ้นเดียวกัน แต่จะเป็นแผ่นๆเกาะปิดสมองแบบหลวมๆ ทำให้หัวของทารกสามารถยืดหยุ่นพอที่จะออกมาจากช่องเชิงกรานได้ไม่ยากจนเกินไปครับ

และคุณรู้มั้ยครับว่า ร่างกายของมนุษย์เราทุกวันนี้ไม่แตกต่างจากมนุษย์เมื่อ 200,000 ปีก่อนเลย เรียกได้ว่าเราแทบไม่มีวิวัฒนาการทางร่างกายใดๆเลย ทั้งที่สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของเรานั้นเปลี่ยนไปมาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าเราเป็นด้วยวิวัฒนาการทางชีววิทยาอย่างล้าหลังมากในวันนี้ครับ

เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกวันนี้มาก โดยเฉพาะความเครียดแบบยุคหินโบราณที่ไม่ควรมี แต่เดิมความเครียดเราเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังจะโดนสิงโตหรือเสือดาวล่า ทำให้เรากายเราต้องเตรียมทุกอย่างเพื่อให้พร้อมต่อการวิ่งหนือหรือสู้เพื่อเอาชีวิตรอด

และระหว่างความเครียดที่จะสู้หรือหนีนั้นก็ทำให้ร่างกายหลั่งสารฮอร์โมนต่างๆออกมาที่ไม่ดีต่อการใช้ชีวิตในวันนี้ เพราะแต่เดิมร่างกายหลั่งฮอร์โมนออกมาเพื่อให้เราเร่งสปีดวิ่งหนีได้ในไม่กี่นาทีแล้วฮอร์โมนความเครียดเหล่านี้ก็จะละลายหายไป

แต่กับมนุษย์ในวันนี้ความเครียดไม่ได้มาจากสิงโตหรือเสือดาว แต่มาจากที่ทำงานไม่ว่าด้วยลูกค้า หัวหน้า หรือเพื่อนร่วมงานก็แล้วแต่ พอเราเครียดร่างกายก็เข้าสู่สภาวะเตรียมพร้อมว่าจะสู้หรือหนี แต่พอร่างกายเราไม่ได้ออกวิ่งหนีไปเสมือนสมัยก่อนทำให้ฮอร์โมนต่างๆยังคงอยู่ในร่างกายไปอีกนาน แล้วฮอร์โมนเหล่านั้นก็ค่อยๆกลับมากัดกร่อนสุขภาพร่างกายเราทีละน้อย

ไม่ว่าจะเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือเส้นเลือดในสมองอุดตันก็แล้วแต่ครับ

เห็นมั้ยครับว่าร่างกายเรานั้นมีวิวัฒนาการที่ช้ากว่าสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตคนเมืองในวันนี้เสียเหลือเกิน

แล้วรู้มั้ยครับว่าการที่แม่ให้นมลูกเล็กอยู่นั้นก็เป็นการทำให้ร่างกายเป็นหมันชั่วคราว หรือร่างกายไม่พร้อมที่จะมีลูกอีกคนนั่นเองครับ

เพราะในระหว่างที่ร่างกายอยู่ในช่วงให้นมลูก แม่ก็จะมีฮอร์โมนอะไรบางอย่างที่หลั่งออกมาแล้วทำให้ร่างกายไม่ติดลูกง่ายๆ เพราะธรรมชาติต้องการให้แม่ให้นมลูกคนแรกผ่านพ้นไปก่อน เพื่อเป็นสัญญาณว่าการตั้งครรภ์ในครั้งหน้าแม่จะพร้อมด้วยร่างกายและพลังงานที่ต้องใช้ในการให้กำเนิดลูกนั้นรอดจนคลอดออกมาได้ครับ

เพราะการตั้งครรภ์หนึ่งครั้งต้องใช้พลังงานประมาณ 80,000 กิโลแคลอรี่เชียวนะครับ วันนึงเราใช้อย่างมากก็ 2,000 เรียกได้ว่าต้องใช้พลังงานตลอด 40 วันเต็มทีเดียว

แล้วแต่เดิมเราก็ไม่ต้องร่วมเพศเพื่อสืบพันธุ์กันนะครับ สมัยก่อนสิ่งมีชีวิตไม่มีเพศ และสามารถแบ่งตัวออกมาเองได้ หรือตั้งท้องได้ด้วยตัวเอง แต่การสืบพันธุ์แบบใช้เพศนั้นเกิดขึ้นมาเพื่อให้ลูกที่ออกมานั้นมีภูมิคุ้มกันที่หลากหลายมากขึ้นครับ เพราะถ้าเราแค่แบ่งตัวเองออกมา ก็เท่ากับว่าลูกที่เกิดออกมานั้นมีภูมิคุ้มกันเหมือนเราเป๊ะ แล้วถ้าวันนึงเราเกิดแพ้เชื้อโรคแบคทีเรียอะไรบางอย่างขึ้นมา ก็เท่ากับว่าลูกหลานเราก็จะแพ้เหมือนกันหมดจนสูญพันธุ์ไปในที่สุดครับ

แล้วเพศก็ถือกำเนิดมาจากการเห็นแก่ตัว แต่เดิมการสืบพันธุ์แบบใช้เพศคือเอาส่วนแบ่งของแต่ละฝ่ายมาคนละครึ่งใช่มั้ยครับ แต่พอนานวันเข้าเริ่มมีสิ่งมีชีวิตที่สามารถทำให้เซลล์สืบพันธุ์ของตัวเองเล็กกว่าตัวอื่นได้ มันก็เลยเริ่มกลายมาเป็นเพศผู้และเพศเมียในวันนี้ครับ

เพราะอสุจิในวันนี้นั้นเล็กมาก และไม่มีสารอาหารอะไรเลยนอกจากยีนของตัวมันเอง แต่ไข่ของเพศเมียนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารมากมาย แถมยังใหญ่กว่าอสุจิเป็นแสนเท่า

และด้วยเหตุนี้เองที่เพศเมียลงทุนไปมากกับการสร้างรังไข่และไข่ขึ้นมา ทำให้เพศเมียต้องเป็นฝ่ายอุ้มท้องต่อเพราะตัวเองลงทุนไปมากตั้งแต่ต้น ถ้าจะให้อีกฝ่ายท้องก็เท่ากับเสียเปรียบครับ

และที่น่าสนใจคือ รู้มั้ยครับว่าสิ่งมีชีวิตในโลกนี้มีแค่ 3% เท่านั้นที่เพศผู้ช่วยเลี้ยงลูก ส่วน 97% ที่เหลือเพศผู้ไม่เคยเลี้ยงลูก หรือไม่เคยทำหน้าที่พ่อแต่อย่างไรเมื่อลูกเกิดครับ ดังนั้นจงภูมิใจเถอะครับ ที่มนุษย์เราเป็นแค่ 3% ที่หายากเหลือเกินในโลกนี้

แต่เรื่องนี้ก็มีเหตุผลลึกๆว่า เพราะสิ่งมีชีวิตเพศผู้ 3% ที่ช่วยเลี้ยงลูกนั้น กลับว่าถ้าทิ้งเพศเมียไปแล้วจะไปหาตัวเมียตัวใหม่ผสมพันธุ์ไม่ได้ จนทำให้ตัวเองเสียโอกาสที่จะขยายพันธุ์ ก็เลยยังต้องช่วยตัวเมียเลี้ยงลูกเพื่อรักษาโอกาสในการมีลูกเพิ่มในอนาคตครับ

แล้วที่เคยเชื่อกันว่าในความสัมพันธุ์นั้นมักจะมี 7 ปีอาถรรพ์ ที่ว่ากันว่าคู่รักส่วนใหญ่จะเลิกกันตอนปีที่ 7 ใช่มั้ยครับ แต่จากการสำรวจจากมนุษย์หลายเผ่าทั่วโลก และสิ่งมีชีวิตที่อยู่เป็นคู่คล้ายมนุษย์จากทั่วโลกก็พบว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่ 7 แต่เป็น 4 ปีต่างหากครับที่มีโอกาสเลิกกันมากที่สุด

เรื่องนี้ไม่ใช่เพราะความเบื่อ แต่เพราะด้วยเหตุผลทางชีววิทยา เมื่อตัวผู้เริ่มมั่นใจว่าลูกของตัวเองโตพอที่จะเอาชีวิตรอดไปและสืบพันธุ์ของพ่อต่อได้ ตัวพ่อก็จะไปหาตัวเมียตัวใหม่เพื่อสืบพันธุ์ต่อไปตามหน้าที่ตามธรรมชาติครับ

ดังนั้นให้ระวังปีที่ 4 ครับ ไม่ใช่ปีที่ 7

แล้วการที่ผู้ชายส่วนใหญ่บ้าเซ็กส์นั้นก็มาจากผู้หญิง เพราะร่างกายผู้หญิงออกแบบมาเพื่อปกปิดสัญญาณความพร้อมในการตั้งท้องหรือตกไข่ ทำให้ผู้ชายต้องพร้อมที่จะร่วมเพศตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าไข่จะตกเมื่อไหร่ ก็เหมือนกับการหว่านออกไปก่อนมันต้องโตเข้าซักเม็ดแหละน่า

ถ้าร่างกายผู้หญิงมีสัญญาณบอกว่าเมื่อไหร่พร้อมตั้งครรภ์เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น เมื่อนั้นผู้ชายก็จะมีเซ็กส์ตามสัญญาตามธรรมชาติครับ..ผมเชื่อว่าแบบนั้น

แล้วที่น่าสนใจอีกอย่างคือ insight ของการนอกใจของแต่ละเพศนั้นไม่เหมือนกัน เพศผู้จะนอกกายไปมีสัมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่นที่พร้อมจะมีลูกให้ แล้วกลับรังของตัวเอง ส่วนเพศเมียจะนอกใจไปผูกพันธ์หาเพศผู้ที่พร้อมจะดูแลใส่ใจได้ดีกว่า

และอีกหนึ่งความลับสวรรค์ที่ผมเพิ่งได้รู้จากหนังสือเล่มนี้คือ ที่เราเคยเชื่อกันว่าเมื่อผู้ชายเสร็จกิจก็หมดแรงนอนแผ่นั้นจะไม่เป็นจริง ที่ผู้ชายนอนแผ่เพราะโดยสัญชาติญาณทางชีววิทยาบอกว่า พอเราพ่นอสุจิไปแล้ว การที่เราจะพ่นซ้ำกับผู้หญิงคนเดิมนั้นไม่ทำให้อัตราการท้องสูงขึ้น แต่ถ้ามีผู้หญิงอีกคนที่ยังไม่ได้มีเพศสัมพันธุ์รออยู่ ตัวผู้ก็พร้อมที่จะลุยต่อโดยอัตโมัติ

เรื่องนี้ไม่ได้พิสูจน์แค่ในคน แต่พิสูจน์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมดครับ เพราะโดยชีววิทยาบอกให้เราต้องแพร่พันธุ์ออกไปให้เยอะที่สุดโดยอัตโมัติ ขอโทษด้วยนะครับต้องไปโทษร่างกายของพวกเราแทนแล้วล่ะ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า นี่เป็นหนังสือชีววิทยาบวกประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องได้สนุกและน่าติดตามมาก เชื่อมั้ยว่าเห็นเล่มหนาๆแบบนี้อ่านแปบเดียวก็จบเล่มแบบไม่รู้ตัว มารู้อีกทีก็ตอนจะจบ ที่ไม่อยากให้จบอยากให้มีเล่มต่อจริงๆครับ

สรุปหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 48 ของปี 2019

สรุปหนังสือ เรื่องเล่าจากร่างกาย
เข้าใจร่างกาย พฤติกรรมและธรรมชาติ ผ่านกระบวนการวิวัฒนาการ
นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา เขียน
สำนักพิมพ์ ชัชพลบุ๊คส์

อ่านครั้งแรกเมื่อ 20190802

อ่านสรุปหนังสือเล่มอื่นของ นพ.ชัชพล ต่อ https://www.summaread.net/category/%e0%b8%aa%e0%b8%b3%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b9%8c-%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%9a%e0%b8%b8%e0%b9%8a%e0%b8%84%e0%b8%aa%e0%b9%8c/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ http://bit.ly/2M2NyQJ

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/