Hit Refresh พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ Satya Nadella

สรุปหนังสือ Hit Refresh พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ เล่มนี้ถ้าให้สรุปสั้นๆ นี่คือบันทึกเรื่องราวของ CEO คนล่าสุดของ Microsoft นั่นก็คือ Satya Nadella คนที่ขึ้นมารับตำแหน่ง CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกแห่งนี้เป็นคนที่ 3 ในตอนที่บริษัทมีอายุ 40 ปีพอดี ที่เล่าถึงเรื่องราวของตัวเขาเล็กน้อยว่าต้องผ่านอะไรมาบ้างจากที่เป็นเด็กอินเดียมีฐานะค่อนข้างดีคนหนึ่ง จนถึงตอนที่ได้คอมพิวเตอร์เครื่องแรก แล้วก็ต้องตระเวนย้ายที่อยู่ไปทั่วตามพ่อของเขาที่เป็นข้าราชการระดับสูงของอินเดีย

จนมาถึงช่วงที่เขาเลือกเส้นทางเดินชีวิตเพื่อเรียนต่อ โดนต้องเลือกว่าจะเรียนต่อที่อินเดีย หรือจะหนีกรอบความคิดของครอบครัวแล้วมาที่อเมริกา แน่นอนว่าเขาเลือกที่จะเรียนต่อที่อิเมริกาจนสามารถเข้าทำงานที่ Microsoft ได้ในที่สุด

จากนั้นเนื้อหาก็จะเกริ่นอีกเล็กน้อยในช่วงแรกของการทำงานของเขาที่ Microsoft จนมาถึงในช่วงที่เป็นเนื้อหาหลักนั่นก็คือในช่วงก่อนที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่ง ที่ได้รับมอบหมายงานที่ท้าทายขององค์กรอย่างมาก นั่นก็คือการสร้างธุรกิจใหม่ให้ Microsoft ที่เป็นธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ที่บอกว่าท้าทายมากก็เพราะในตอนนั้นรายได้หลักของ Microsoft ยังมาจากการขาย Software โปรแกรมแบบลิขสิทธิ์ขาดให้ลูกค้าอยู่เลย ดังนั้นการสร้างธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตเท่ากับเป็นการทำร้ายธุรกิจเดิมไม่น้อยในแง่ของรายได้ เพราะถ้า Software ถูกเปลี่ยนจากการซื้อขาดมาเป็นการให้ใช้งานในรูปแบบรายเดือนเหมือน Office 365 อย่างวันนี้นั่นย่อมส่งผลต่อไมโครซอร์ฟอย่างมาก

เพราะคุณรู้มั้ยครับว่าจริงๆ แล้วค่าลิขสิทธิ์ของโปรแกรมอย่าง Windows หรือ Microsoft นั้นมีราคาแพงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไปเสียอีก แต่ก่อนถึงได้มีการจับลิขสิทธิ์ Windows เถื่อนกันอย่างมากมาย เพราะค่าโปรแกรมแผ่นนึงราคาหลายหมื่นบาทครับ

แต่ในช่วงแรก Satya Nadella ยังไม่ได้ถูกให้คิดค้นอะไรแบบนั้น แต่โจทย์ที่ได้นั้นท้าทายยิ่งกว่ามาก นั่นก็คือให้สร้างระบบสืบค้นบนอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Search engine ที่จะเอามาแข่งกับ Google นั่นเองครับ

เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่ Microsoft จะเริ่มสร้าง Bing ขึ้นมา แน่นอน Google กลายเป็นเจ้าตลาดในแบบที่ไม่เหลือที่ว่างให้คู่แข่งแต่อย่างไร แล้วไหนจะต้องสร้างธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี Cloud ตอนปี 2008 แบบเริ่มต้นใหม่หมดจรดสำหรับ Microsoft แต่ตอนที่ Amazon Web Service เป็นเจ้าตลาดให้บริการ Cloud service แบบมีกำไรไปแล้ว

หรือบอกได้ว่า Microsoft เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อุ้ยอ้ายเสียเหลือเกิน เพราะจะเริ่มอะไรก็ช้ากว่าชาวบ้านไปหมด เพราะเริ่มตอนที่ตลาดแทบจะเรียกว่าถูกผูกขาดไปแล้วก็ว่าได้

แต่ก็นั่นแหละครับ อย่างที่เรารู้กัน Bing ก็พอแย่งส่วนแบ่งจากตลาดการเสริชหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมาได้บ้าง ส่วน Microsoft Azure ก็ทำรายได้ในระดับหนึ่งจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจเดิมของ Microsoft ไม่น้อยเหมือนกัน

แต่ทั้งหมดนั้นไม่ใช่หมากสุดท้ายของ CEO คนที่ 3 ของ Microsoft อย่าง Satya Nadella เพราะทั้งหมดที่เขามองคือการเข้าไปยังธุรกิจ 3 ส่วนที่จะกลายเป็นหัวใจหลักอันใหม่ขององค์กร นั่นก็คือ

  1. Cloud service
  2. AI
  3. Quantum computer

ซึ่งทั้งสามส่วนนี้จะเข้ามาปรับพื้นฐานของสังคมทั้งหมดไปโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ในแง่ของธุรกิจหรือผลกำไร แต่เป็นแง่ของชีวิตมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้

ขอย้อนกลับไปที่ก่อนหน้านี้อีกหน่อย ก่อนที่ Sayta Nadella จะได้ขึ้นเป็น CEO ของ Microsoft เขาเคยได้ Green Card ที่คนต่างด้าวในอเมริกาอยากได้มาก แต่เขาก็ยอมยกเลิกสถานะพลเมืองถาวรจาก Green Card เพราะความรักที่ต้องการให้แฟนสาวมาอยู่ด้วย

จากสถานะพลเมืองถาวรกลายเป็นวีซ่าทำงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่สามารถพาคู่สมรสมาอยู่ด้วยได้

Satya Nadella ก็เรียนรู้จากการเล่นกีฬาคริกเก็ตตอนเด็กว่า เราสามารถนับถือคู่แข่งที่เก่งกว่าเราได้ แต่อย่าเอาแต่มัวยืนตะลึกจนไม่ทำอะไรเลย เราต้องออกไปแข่งกับเขาต่อ และเขาก็เรียนรู้จากการเล่นกีฬาชนิดนี้อีกว่า คนเก่งที่ไม่ให้ความสำคัญกับทีมจะสามารถทำลายได้ทั้งทีม

และเข้าก็เรียนรู้จากกัปตันทีมที่เก่งกาจที่ยังเป็นบทเรียนมาถึงทุกวันนี้ว่า ผู้นำต้องดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวทุกคนออกมาให้ได้ และผู้นำที่หลักแหลมต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรเข้าแทรกแซง และเมื่อไหร่ที่ควรจะสร้างความมั่นใจให้กับทีม หรือให้กับใครในทีมเป็นพิเศษ เพราะสิ่งสำคัญคือผู้นำต้องเพิ่มความมั่นใจให้ทีมที่ตัวเองกำลังนำอยู่

และนี่ก็คือบทเรียนชีวิตจากกัปตันที่เป็นผู้นำทีมคริกเก็ตของเขาในตอนนั้น

และจากการที่ Satya Nadella ได้รับผิดชอบให้เป็นหัวหน้าทีมธุรกิจใหม่ที่หาโอกาสจากอินเทอร์เน็ตในช่วงปี 2008 ก่อนหน้านี้ผลงานของ Satya Nadella คือการทำระบบ Window NT ที่เป็นรากฐานหัวใจการทำงานของระบบปฏิบัติการ Windows เกือบทั้งหมดตั้งแต่ Windows 98 หรือ Windows XP ที่โด่งดัง แต่เมื่อเขาต้องเข้ามาดูธุรกิจใหม่ที่เป็นออนไลน์ก็พบว่าทุกสิ่งที่เคยรู้มาแทบใช้การอะไรไม่ได้ ต้องเรียนรู้ใหม่เกือบหมดเพื่อสร้าง Bing และ Azure ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้

เพราะมันคือการรื้อโครงสร้างและการทำงานทั้งหมดที่จากเคยตั้งโต๊ะกลายเป็นอยู่ในมือถือ และจากที่เคย Stand alone ด้วยโปรแกรมบรรจุแผ่น กลายเป็นต้องทำงานบน Cloud ที่ต้องทำให้สามารถทำงานข้ามอุปกรณ์กันอย่างลื่นไหลสำหรับผู้ใช้อีกด้วย

Satya Nadella ต้องเรียนรู้การสร้างธุรกิจแบบมีคู่ค้าสองด้านตอนทำ Bing นั่นก็คือเรียนรู้ว่าทำอย่างไรให้คนเข้ามาเสริชหาข้อมูลบน Bing และทำอย่างไรที่จะทำให้มีคนมาลงโฆษณากับ Bing ไปพร้อมกัน

เพราะถ้ามีโฆษณามากเกินไปคนก็จะไม่เข้ามาใช้ แต่ถ้ามีโฆษณายากเกินไปฝ่ายธุรกิจร้านค้าก็จะไม่มาลงโฆษณาด้วย เรียกได้ว่าเป็นงานที่ท้าทายมากเพราะใหม่หมดจรดสำหรับ Microsoft นั่นเอง

รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่อง Machine learning เพื่อนำไปสู่การสร้าง AI ของ Microsoft เองในอนาคต และ Machine learning ของ Microsoft ก็มีค่ามาก เพราะอย่างบริษัทที่เป็นลูกค้าของ Microsoft อย่าง Thyssenkrupp บริษัทที่ผลิตบันไดเลื่อนและลิฟต์ชั้นนำของโลกที่ใช้บริษัท Machine learning บน Windows Azure อยู่ บริษัทนี้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าลิฟต์ตัวไหนกำลังจะมีปัญหา แล้วส่งช่างเข้าไปซ่อมแซมแก้ไขหรือเปลี่ยนอะไหร่ก่อนที่จะเกิดปัญหาร้ายแรงจนต้องหยุดให้บริการได้

เป็นอย่างไรครับกับ Machine learning ของ Microsoft ที่สามารถบอกให้ช่างเข้าไปซ่อมก่อนจะเสียได้อย่างแม่นยำ

หรือ Skype ของ Microsoft ที่พัฒนาไปอย่างล้ำมากแต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้เพราะไม่ค่อยได้ใช้ ที่บอกว่าล้ำมากเพราะเราสามารถคุยกับคนต่างชาติผ่าน Skype แล้ว AI จะแปลภาษาอีกฝ่ายให้กลายเป็นภาษาของเราอัตโนมัติในแบบ Real time เลยครับ

นั่นหมายความว่าคนจีนสามารถพูดกับคนอเมริกาที่ไม่รู้ภาษาจีนซักนิดแบบที่เข้าใจกันได้สนิทไร้ช่องว่างทางภาษา เรียกได้ว่า Skype สามารถทลายกำแพงของภาษาลงได้อย่างสิ้นเชิงจริงๆ

แต่แน่นอนว่าเทคโนโลยี AI ของ Microsoft และทั่วโลกยังต้องพัฒนากันไปอีกเยอะ เพราะที่เราดูเหมือนว้าวกันวันนี้แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การเดินทางไม่กี่ไมล์แรก ในระยะทางยาวนานกว่าล้านไมล์

นั่นหมายความว่าถ้าเราเดินทางไปถึงไมล์ที่ล้านเมื่อไหร่ สังคมและโลกที่เรารู้จักในวันนี้ก็คงจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมแน่นอน

และ Satya Nadella ก็บอกอีกว่าโลกออนไลน์ในอนาคตจะสะท้องโลกจริงมากขึ้นจนแทบจะเรียกว่าโลกเสมือนจริงคู่ขนาน ที่เรียกอีกชื่อว่า Digital Twin นั่นก็เพราะเกิดจากการเก็บสะสม Data ไว้ตลอดเวลาจนมีมากมายมหาศาล ตัวอย่างง่ายๆ ก็ย้อนกลับไปที่ Machine learning ของ Microsoft สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าลิฟต์ของลูกค้าตัวไหนใกล้จะเสีย ก็ด้วยการจำลองข้อมูลที่มีถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดล่วงหน้า แล้วก็ทำการป้อนกันก่อนจะเกิดขึ้นจริงอย่างไรล่ะครับ

แต่ถ้าย้อนกลับมาอีกซักหน่อย Vision ใหม่ของ CEO คนนี้ไม่ได้มาจากไหนไกล แต่นั่นเพราะ Satya Nadella เลือกที่จะกลับไปหาแก่นของ Microsoft ตั้งแต่ตอนตั้งต้นบริษัทเมื่อ 40 ปีก่อนจนทำให้เข้าใจว่า Bill Gates และ Paul Allen ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเพราะอะไร นั่นก็เพราะเขาอยากให้ทุกคนและทุกองค์การทั่วทุกมุมโลกสามารถทำงานได้ดีขึ้น หรือถ้าให้สรุปให้สั้นกว่านั้นอีก นั่นก็คือพวกเขาอยากให้ทุกคนบรรลุผลสำเร็จได้มากขึ้นครับ

และนั่นก็คือสิ่งที่ Satya Nadella ปัดฝุ่นมาใช้เป็นเข็มทิศนำทางให้ Microsoft อีกครั้ง ดังนั้น Microsoft จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้คนบนโลกสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้มากขึ้น นั่นหมายถึงแม้จะต้องร่วมมือกับคู่แข่งยาวนานอย่าง Apple และคู่แข่งใหม่ยักษ์ใหญ่อย่าง Google ครับ

เพราะ Microsoft ทำงานกับ Apple หนักมากในการทำให้โปรแกรมยอดนิยมอย่าง Microsoft Office สามารถทำงานบน iPad ได้อย่างไรที่ติ ถึงขนาดขึ้นเวทีเปิดตัว iOS ใหม่ร่วมกับ Apple ด้วยกันก็ทำมาแล้ว

หรือกับ Google ก็เหมือนกัน ที่ Microsoft พยายามทำโปรแกรม Office ของตัวเองให้ใช้งานบน Andriod ได้ดีที่สุด โดยไม่มีการกั๊กโปรแกรมเก็บไว้รันบน Windows Phone ที่ดูไม่มีอนาคตอีกต่อไปครับ

สำหรับการเป็นผู้นำที่ Microsoft ทาง Satya Nadella ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจ นั่นก็คือเค้าบอกว่าถ้าใครก็ตามที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับ VP ต้องเลิกบ่นโน่นนี่นั่นและต้องลงมือทำเพื่อแก้ไขมันให้ดีขึ้น

เพราะคนเป็นผู้บริหารระดับนั้นแล้วจะมัวมาบ่นว่าลูกทีมไม่เก่ง อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีไม่พร้อม โทษโน่นนี่นั่นไม่ได้ เพราะเค้าบอกว่า “การจะเป็นผู้นำที่ Microsoft คือคุณต้องมาหากลีบกุหลาบในทุ่งที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลให้เจอ” แน่นอนครับ ไม่มีใครอยากทำงานกับผู้บริหารขี้บ่นหรอกจริงมั้ย

และนี่ก็เป็นหลักการ 3 ข้อของผู้นำที่ Microsoft ครับ

  1. นำความชัดเจนไปสู่ทุกคนที่ทำงานด้วย ทำให้ทุกคนเข้าใจหน้าที่และปัญหาที่เจอ ไม่ใช่เข้ามาทำให้งานซับซ้อน ยุ่งยาก และวุ่นวายมากขึ้นครับ
  2. ผู้นำต้องสร้างแรงกระตุ้น ไม่ใช่แค่กับทีมของตัวเอง แต่ต้องเป็นทั้งบริษัท
  3. ผู้นำต้องหาทางทำให้เกิดความสำเร็จ และทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เพราะมีอำนาจที่จะทำแล้ว ต้องใช้อำนาจนั้นให้เกิดผลให้ได้ครับ

หนังสือเล่มนี้พูดเรื่องนิยามความเป็นส่วนตัวแบบใหม่ที่น่าสนใจ เค้าบอกว่าการที่คนสมัยนี้โพสอะไรออกไปมากมายให้โลกรู้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยินยอนให้ใครก็ได้เอาข้อมูลของพวกเขาไปทำอะไรก็ได้ และนั่นบอกให้รู้ว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้ไม่ใส่ใจความเป็นตัวส่วนแบบที่คนรุ่นเก่าคิด แค่พวกเขามีมุมมองกับความเป็นส่วนตัวที่ต่างออกไป

นั่นเลยเป็นเหตุผลให้แอปประเภท Snapchat ได้รับความนิยมไม่น้อย เพราะพวกเขารู้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรบ้าๆ ได้มากแค่ไหน โดยมั่นใจว่าอย่างไรมันก็จะไม่หลุดออกไปมากกว่านั้น เพราะทุกอย่างมีเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น เรียกได้ว่าโพสทิ้งๆ อย่างสบายใจโดยที่คนเขาไม่ต้องการให้รู้จะไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวพวกนั้นเลย

และในช่วงท้ายของเล่ม Satya Nadella ก็พูดถึงเรื่องเทคโนโลยีใหม่ที่หลายคนในวันนี้กังวลว่าจะเข้ามาแย่งงานไปหมดจนไม่เหลืออะไรให้ทำ แต่เขากลับมีอีกมุมมองหนึ่งว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น AI หรือ Robotic ล้วนเข้ามาเพื่อทำให้ชีวิตคนเราสะดวกสบายขึ้น แต่แน่นอนว่างานเก่าๆ จำนวนไม่น้อยจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้ที่สามารถทำซ้ำแทนมนุษย์ได้ แต่ก็เช่นกันอีกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนงานเก่าที่หายไป

แต่นั่นก็หมายความว่าคนเราต้องหมั่นเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อตามเทคโนโลยีให้ทันเพื่อที่จะใช้มันให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะอย่างไรก็ตาม AI คงจะไม่สามารถคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ อย่างเช่นคนที่เป็นนักแต่นิยายภาษาอังกฤษ อยู่มาวันหนึ่งก็เกิดนึกคันอยากแต่งภาษาฝรั่งเศสขึ้นมาแทน

แน่นอนว่าเมื่อภาษาเปลี่ยนบริบทก็เปลี่ยน บริบทเปลี่ยนนั่นก็หมายความว่านิยายของผู้แต่งคนนั้นจะทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ เพราะเมื่อ AI ถนัดในการทำซ้ำโดยเรียนรู้จาก Data ที่ป้อนเข้ามาได้ไม่จำกัด แต่มันก็คงจะไม่มีทางนึกทำอะไรใหม่ๆ ในสิ่งที่ไม่ถนัดแน่นอนครับ

และ Satya Nadella บอกว่า สกิลที่จะเป็นที่ต้องการมากที่สุดในอนาคตไม่ใช่ Coding แต่เป็น Empathy ที่เป็นความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างมากที่สุด

เพราะในวันที่มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับ AI อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าเรายิ่งต้องการความเห็นอกเห็นใจแบบมนุษย์ด้วยกันมากยิ่งกว่าเดิม

อย่างไรเสียการทำงานร่วมกับ AI ก็คงไม่อาจหนีพ้นได้ในอนาคต ก็เหมือนกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่เราต้องเปลี่ยนมาฝึกทำงานกับคอมพิวเตอร์ จากเดิมที่เคยทำงานแต่กับกระดาษเป็นส่วนใหญ่

และนี่คือเรื่องราว แนวคิด มุมอง และวิสัยทัศน์ของ Satya Nadella CEO คนที่ 3 ของ Microsoft ครับ

Hit Refresh พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์ Satya Nadella

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 68 ของปี 2019

สรุปหนังสือ Hit Refresh พลิกธุรกิจด้วยวิถีไมโครซอฟท์
ค้นหาจิตวิญญาณของไมโครซอฟท์ เพื่อวาดอนาคตที่ดียิ่งกว่าให้กับทุกคน
Sayta Nadella, Greg Shaw และ Jill Tracie Nichols เขียน
จารุจรรย์ คงมีสุข แปล
สำนักพิมพ์ We learn

อ่านครั้งแรกเมื่อ 20191128

อ่านสรุปหนังสือแนว CEO บริษัทต่อ > https://www.summaread.net/biography/%e0%b8%aa%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b8%9b%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%ad-%e0%b8%84%e0%b8%a1-ceo/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > http://bit.ly/2rgZbdS

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/