สรุปหนังสือ ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น พิชชารัศมิ์

สรุปหนังสือผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น เป็นเรื่องราวของเส้นทางชีวิตของ 14 ผู้หญิงแกร่งแดนปลาดิบในหลากหลายสาขาอาชีพ ที่บุกเบิก สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอด ทำให้ความฝันกลายเป็นความสุขของชีวิต อ่านแล้วคุณจะทึ่งกับพลังและความสามารถของพวกเธอเหลือเกิน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าที่ผมสนใจหนังสือเล่มนี้ก่อนจะเลือกอ่านเพราะเดิมทีด้วยคำว่าญี่ปุ่นจากที่เคยรู้มาคือมีการกีดกันเรื่องเพศสภาพค่อนข้างสูงถึงสูงมาก ดังนั้นการที่ผู้หญิงจะขึ้นมาเป็นใหญ่และประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน

หรือถ้าพูดตรงๆ ก็คือว่าเกิดเป็นผู้ชายในญี่ปุ่นน่าจะง่ายกว่ามากด้วยซ้ำ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้จึงทำให้ผมสนใจว่ากว่าพวกเธอจะประสบความสำเร็จได้นั้นเส้นทางชีวิตของพวกเธอต้องผ่านอะไรมาบ้างครับ

จากผู้หญิง 14 คนที่ถือว่าสุดยอดเรื่องความเก่งและแกร่งแล้ว ผมขอหยิบ 3 คนในเล่มมาเล่าให้ฟังสั้นๆ ในฐานะที่มีความประทับใจส่วนตัวเป็นพิเศษแล้วกันครับ

ฮิโรโกะ คนโด ผู้ที่สร้างโรงอาหารสำหรับเด็กยากจนขึ้นมาจนกระจายออกไปทั่วประเทศญี่ปุ่น

ต้องบอกว่าในญี่ปุ่นเองก็ยังมีคนยากจนและคนที่ลำบากอยู่ไม่น้อย แต่ที่ลำบากกว่าคนอื่นมากก็คือกลุ่มเด็กๆ ทั้งหลายไม่ว่าจะถูกพ่อแม่ทอดทิ้งหรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม ฮิโรโกะ คนโด เลยสร้างโรงทานที่เป็นโรงอาหารสำหรับเด็กขึ้นมาเป็นคนแรกๆ แต่สิ่งที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คือเธอบอกว่าโรงทานของเธอไม่ใช่โรงทาน แต่เป็นโรงอาหารที่เปิดโอกาสให้เด็กที่ลำบากยากจนสามารถเข้ามาหาซื้ออาหารกินได้อิ่มท้องด้วยราคาเท่าไหร่ก็ได้ครับ

ดังนั้นไม่ว่าเด็กคนไหนจะมีเงินแค่หนึ่งเยน (ประมาณ 30 สตางค์) หรือหนึ่งร้อยเยน (สามสิบบาท) ก็สามารถเข้ามากินข้าวในโรงอาหารของเธอได้จนอิ่มเสมือนว่าราคาที่จ่ายไม่มีผลต่อปริมาณและคุณภาพอาหารแต่อย่างไรเลย

เธอบอกว่าที่เธอเลือกจะเก็บเงินแม้จะมีแค่เหรียญเยนเดียวก็เพราะเธออยากจะช่วยเด็กๆ เหล่านั้นได้รักษาศักดิ์ศรีของตัวเองไว้ ให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เข้ามาขอข้าวใครกินฟรี แต่พวกเขาเข้ามาซื้อกินด้วยตัวเองได้แม้จะมีเงินแค่เหรียญเยนเดียวก็ตาม

ฟังดูเล็กน้อยแต่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งนะครับ เพราะด้วยการรักษาศักดิ์ศรีของเด็กๆ เหล่านี้ไว้นี่แหละ ทำให้พอเมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้นและสามารถจ่ายได้มากขึ้น พวกเขาก็จะเข้ามาจ่ายในราคาที่สูงขึ้นและสูงขึ้น จนสามารถครอบคลุมอาหารที่ตัวเองกิน จนถึงขั้นจ่ายเผื่อคนที่ไม่มีเงินจะกินด้วยซ้ำครับ

นอกจากจะใจบุญอยากช่วยเหลือเด็กๆ ให้อิ่มท้องแล้ว ยังคิดเผื่อถึงใจเด็กๆ เหล่านั้นอีกต่างหาก บอกตรงๆ ผมไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นผู้ชายอย่างผมจะสามารถคิดได้ละเอียดอ่อนเหมือนเธอมั้ยด้วยซ้ำครับ

คนโด มาริเอะ ทุ่มเทให้กับการจัดระเบียบด้วยใจรักจนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

มาริเอะ คนโด หรือ Marie Kondo ชื่อนี้แฟน Netflix คงคุ้นหูกันดี เพราะเธอคือผู้หญิงตัวเล็กที่รักการจัดระเบียบข้าวของต่างๆ ภายในบ้านมาก จนถึงขั้นมีซีรีส์เป็นของตัวเองบน Netflix เชื่อมั้ยว่าตอนที่ผมดูผมรู้สึกอยากจัดบ้านให้เป็นระเบียบและทิ้งข้าวของที่ไม่เคยหยิบมาใช้มากมายออกไปจากชีวิตเลยจริงๆ

ไม่น่าเชื่อเลยนะครับว่าแค่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะสามารถทำให้เธอมีรายได้มากกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากหนังสือสอนการจัดบ้านของเธอที่ถูกตีพิมพ์ไปทั่วโลกนั่นเอง

เดิมทีใครจะไปคิดล่ะครับว่าแค่การชอบจัดระเบียบข้าวของภายในบ้านจะสามารถเอามาทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ กลายเป็นว่าตอนนี้เธอสามารถใช้ชีวิตได้สบายๆ จากการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดบ้านที่ไม่ว่าใครต่างก็หลงรักในสเน่ห์และเสียง “อาหหหหหหหหหหห์” ที่เหมือนเธอดีใจมากเวลาได้เห็นของรกๆ ภายในบ้านของคนที่เธอต้องเข้าไปดูแลช่วยเหลือครับ

เรื่องราวของเธอก็ให้แง่คิดได้อย่างนึงว่า ไม่สำคัญหรอกว่าคุณชอบทำอะไร แต่มันสำคัญที่คุณมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับมันด้วยความไหลไหลและหลงรักจนกลายเป็นที่ยอมรับได้หรือเปล่า

ขนาดความชอบจัดระเบียบข้าวของภายในบ้านยังกลายเป็นอาชีพได้ ผมเชื่อว่าไม่มีความชอบอะไรที่จะกลายเป็นอาชีพไม่ได้แล้วล่ะครับ (ยกเว้นการทำให้บ้านรกล่ะมั้ง)

ยูมิ อิชิดะ ผู้บริหารหญิงที่เข้ามาเปลี่ยนธุรกิจเก่าแก่ของตระกูลด้วยฝีมือจนไร้สิ้นข้อกังขา

เดิมทีตระกูลเธอทำโรงงานผลิตสีพิมพ์ภาพงานศิลปะของญี่ปุ่นมาหลายร้อยปี แต่เมื่อความนิยมในการพิมพ์ภาพศิลปะญี่ปุ่นลดลงอย่างมากในตอนหลัง ทำให้โรงงานของตระกูลเธอต้องกระทบหนักไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

และชีวิตเธอก็ไม่ได้มีแค่อุปสรรคเดียว เพราะด้วยความที่เธอเป็นลูกผู้หญิงแถมยังไม่ใช่คนโต ทำให้ตำแหน่งผู้สืบทอดกิจการตามธรรมเนียมแล้วต้องตกเป็นของลูกชายคนโตกว่า แต่ด้วยความอยากจะเป็นผู้พาธุรกิจครอบครัวที่เปิดมานานให้ไปต่อได้ในโลกใหม่ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ของเธอให้ได้ เธอจึงเลือกที่จะออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อให้เกิดการยอมรับในฝีมือ จากนั้นค่อยกลับมาบริหารธุรกิจของครอบครัวได้อย่างไร้ข้อกังขา

แต่สิ่งที่ผมชื่นชอบเธอสุดๆ ไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่เธอมีวิสัยทัศน์ใหม่ต่อธุรกิจเดิม เดิมทีโรงงานของครอบครัวเธอทำสีเพื่อพิมพ์ภาพศิลปะเก่าแก่ แต่เธอกลับมองเห็นโอกาสใหม่ของการใช้สีเดิมไปกับการตกแต่งเพื่อความสวยงามของผู้หญิงยุคใหม่ด้วยสีทาเล็บนั่นเองครับ

จากสีพิมพ์ภาพงานศิลปะมาสู่สีทาเล็บ ต้องบอกว่าเรื่องนี้น่าจะกระทบต่อจิตใจคนในตระกูลและคนในโรงงานเธอที่ทำงานมานานหลายสิบปีไม่น้อย แต่เธอก็ไม่ย่อท้อเลือกที่จะสู้ฟันฝ่าพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงโอกาสตามวิสัยทัศน์ที่เธอเห็น และในที่สุดจากโรงงานผลิตสีพิมพ์ภาพงานศิลปะก็สามารถ Transformation ไปสู่โรงงานผลิตสีทาเล็บที่เข้ากับความต้องการสีแบบใหม่ๆ ได้ในที่สุด

และนี่ก็คือทั้ง 3 เรื่องราวของผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่นที่ผมประทับใจเป็นการส่วนตัว แต่ไม่ใช่อีกทั้ง 11 คนที่เหลือในเล่มจะไม่น่าสนใจ บอกได้เลยว่ายิ่งอ่านแล้วยิ่งอยากได้อ่านเรื่องราวของคนที่ 15 16 ไปจนถึงไม่รู้จบเลยล่ะครับ

หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน ไม่ว่าจะผู้หญิง หรือแม้แต่ผู้ชาย หรือแม้แต่เพศทางเลือกใดก็ตามให้ได้รับรู้ว่า แม้เราจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะใช้ชีวิตได้เพียงแค่มันไม่ได้ง่ายเสมอไปสักทีเดียว

สรุปหนังสือ ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น พิชชารัศมิ์ เส้นทางชีวิตของ 14 หญิงแกร่งแดนปลาดิบในหลากหลายสาขาอาชีพ บุกเบิก สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอด ให้ความฝันกลายเป็นจริง

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 22 ของปี 2020

สรุปหนังสือ ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น
เส้นทางชีวิตของ 14 หญิงแกร่งแดนปลาดิบในหลากหลายสาขาอาชีพ บุกเบิก สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอด ให้ความฝันกลายเป็นความสุขของชีวิต
พิชชารัศมิ์ เขียน
สำนักพิมพ์ มติชน

20200611

อ่านสรุปหนังสือแนวประสบการณ์ชีวิตต่อ > https://www.summaread.net/category/%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%aa%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%93%e0%b9%8c%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%95/

สนใจสั่งซื้อ > https://www.naiin.com/product/detail/501755

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/