สรุปหนังสือ Digital Darwinism Tom Goodwin

“นวัตกรรมไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาทำให้เราเปลี่ยน สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนคือการที่ผู้บริโภครับเอานวัตกรรมนั้นมาใช้ต่างหาก” ประโยคนี้มาจาก Jeff Bezos ผู้ก่อตั้งบริษัท Amazon ที่บอกให้เรารู้ว่า Digital ในวันนี้ไม่ใช่แค่ Tools หรือ Technology แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเราทุกคนไปถึงพื้นฐานทั้งหมดแล้ว และนั่นก็ย่อมส่งผลต่อธุรกิจทั้งหมดที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนด้วย นี่คือใจความสำคัญของ สรุปหนังสือ Digital Darwinism ปรับธุรกิจให้รอดในยุคดิจิทัล

ปัญหาคือธุรกิจส่วนใหญ่ในวันนี้ยังคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่รากฐาน ยกตัวอย่างง่ายๆ จากการเข้าเช็คอินที่โรงแรม ที่เราอาจไม่รู้ว่าวิธีการเช็คอินเพื่อเข้าพักที่โรงแรมนั้นไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 150 ปีก่อนเลย

ลูกค้า พนักงาน โต๊ะกั้น และข้อมูล

สมัยก่อนลูกค้าเดินเข้ามา บอกชื่อที่จองไว้หรือสอบถามห้องพัก จากนั้นพนักงานจะดูจากสมุดให้ว่ายังมีห้องว่างมั้ย แล้วก็ค่อยยื่นกุญแจให้แขก จากนั้นพอทันสมัยหน่อยก็เปลี่ยนจากสมุดเป็นคอมพิวเตอร์ แต่ขั้นตอนทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม คือเราต้องเดินไปที่เคาเตอร์ แล้วก็บอกพนักงานให้ตรวจสอบข้อมูล แล้วค่อยส่งกุญแจให้เรา และแม้แต่ยุคดิจิทัลเต็มตัว ที่เราสามารถจองโรงแรมผ่านมือถือได้แม้อยู่ในห้องส้วม แต่เราก็ต้องไปติดอยู่ตรงเคาเตอร์ต้อนรับที่โรงแรมเหมือนเมื่อ 150 ปีก่อน

ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาล คุณคงพอนึกภาพออกได้ไม่ยากว่าเสียทั้งเวลาและอารมณ์มากขนาดไหน

นี่คือปัญหาของธุรกิจ บริษัท หรือองค์กรส่วนใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะบริษัทส่วนใหญ่ในวันนี้ยังคงทำธุรกิจด้วยวิธีเดิมๆ แค่อัพเกรดเครื่องมือให้ใหม่ขึ้น แต่หาได้อัพเกรดวิธีการทำงานตั้งแต่พื้นฐานให้ใหม่ตามเทคโนโลยีไปด้วย

ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออกว่าเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนพื้นฐานการใช้ชีวิตเราขนาดไหน ผมมีตัวอย่างสองเรื่องจากหนังสือเล่มนี้เล่าให้ฟังครับ

เริ่มที่หลอดสีโลหะเปลี่ยนโลก

ภาพวาดงานศิลปะในสมัยศตวรรษที่ 19 หรือก่อนหน้านั้น จะเป็นภาพที่ถูกวาดในสตูดิโอ หรือพื้นที่ indoor ในร่ม ในบ้าน ภายใต้ชานหลังคา ส่วนใหญ่จะเป็นภาพ portrait ของคน ไม่ก็ภาพสิ่งของที่จัดวางให้พอมาแสงสาดเข้ามา เราจะไม่ค่อยเห็นภาพวิวทิวทัศน์ซักเท่าไหร่

นั่นก็เพราะในสมัยนั้นภาชนะบรรจุสีก็คือกระเพาะปัสสาวะหมู ใช่ครับ จิตรกรในยุคศตวรรษที่ 19 และก่อนหน้านั้นต้องเอาสีใส่ไว้ในกระเพาะปัสสาวะหมู ทำให้การพกสีไปไหนมาไหนนั้นเป็นเรื่องลำบาก ทำให้จิตกรต้องวาดภาพในบ้าน ในสตูดิโอของตัวเอง เพราะเกิดถือกระเพาะปัสสาวะหมูที่บรรจุสีออกไปนอกบ้านแล้วเกิดขาดหรือแตกขึ้นมา ก็เป็นอันว่าจบเห่ครับ

แต่เมื่อหลอดสีโลหะถือกำเนิดขึ้นมา ทำให้จิตกรสามารถพกสีออกไปนอกบ้าน และก็จะออกไปวาดภาพที่ไหนก็ได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่นี้ทำให้เกิดศิลปินใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย และทำให้เกิดศิลปะแนวใหม่อย่าง Impressionism ขึ้นมา ทำให้เกิดศิลปินอย่าง Claude Monet ครับ

บันไดเลื่อนสลับโลก

สมัยก่อนที่กรุงปารีส ห้องพักที่แพงที่สุดจะอยู่ชั้น 1 เพราะถือเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทดี ส่วนห้องพักของคนรับใช้จะอยู่ชั้นบนสุด เพราะต้องลำบากเดินขึ้นไป แต่พอบันไดเลื่อนถือกำเนิดขึ้นมาก็ทำให้เกิดการแบบสลับด้านที่สุดขั้ว เพราะห้องพักชั้นบนกลายเป็นห้องพักของคนรวยหรือเจ้าของตึก ที่จะสามารถรับชมความงามของวิวทิวทัศน์ได้ดี และห้องพักชั้นล่างสุดก็กลายเป็นของคนรับใช้ หรือคนที่จนที่สุดในตึกนั่นเอง

นี่เป็นแค่ตัวอย่างง่ายๆ ของการเปลี่ยนแปลงจากขั้นพื้นฐานที่เกิดจากเทคโนโลยีในอดีต แต่เทคโนโลยีอย่างดิจิทัลและ Big Data ในวันนี้กลับยังไม่ส่งผลต่อภาคธุรกิจอย่างที่ควรจะเป็น นั่นก็เพราะมีอยู่ 3 เหตุผล

  1. โลกเปลี่ยนแปลงเร็วแต่องค์กรปรับตัวช้า
  2. ทำให้บริษัทเกิดใหม่นั้นใหญ่แทนที่บริษัทยักษ์ใหญ่เก่าๆ ไปเกือบหมดแล้ว ถ้าไม่เชื่อดูจาก 10 บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกในวันนี้กับเมื่อ 10 ปีที่แล้วครับ
  3. เพราะใหญ่กว่าไม่ได้หมายความว่าจะได้เปรียบอีกต่อไป เพราะด้วยความใหญ่และการปรับตัวช้า แถมยังยึดติดกับกฏกติกาเดิมที่เคยชิน ทำให้บริษัทใหม่ๆ มองข้ามกรอบกติกาเก่าๆ แล้วกำหนดกติกาใหม่ขึ้นมาจนทำให้ตัวเองได้เปรียบ และเข้ามาแทนที่องค์กรใหญ่แต่ก่อนในที่สุด

ตัวอย่างง่ายๆ คือ บริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกวันนี้คือ Facebook ทั้งที่เฟซบุ๊กไม่ได้สร้าง Content ใดๆ ด้วยตัวเองขึ้นมาเลย ถ้า Facebook ถือกำเนิดในยุคก่อนดิจิทัล แล้วถ้า Facebook อยากเป็นบริษัทสื่อที่ใหญ่ที่สุด คงต้องทุ่มทุนมหาศาลเพื่อสร้าง Content มากมายขึ้นมาแข่งกับสื่อเก่าที่เคยทรงอำนาจมหาศาลไม่ว่าจะ Warner, HBO, Disney, New York Times หรือแม้แต่สื่อที่ทรงอิทธิพลมากมาย

แต่เพราะ Facebook เป็นผู้เล่นใหม่ที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจใดๆ ในธุรกิจสื่อ Facebook แค่อยากเป็นตัวกลางระหว่างผู้คน แล้วเปิดพื้นที่ให้ผู้คนสร้าง Content ใดๆ ก็ได้โดยไม่ต้องควบคุม ในระยะเวลาไม่นานก็ทำให้ Facebook กลายเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกทุกวันนี้

แน่นอนว่า Tesla ก็เหมือนกัน เริ่มจากไม่มีความรู้ใดๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์เลย ไม่รู้ว่าเขาต้องทำกันอย่างไร แต่ด้วยความไม่รู้นี่แหละที่ทำให้ Elon Musk กล้าตั้งคำถามใหม่ๆ ว่า “ทำไม ทำไม และทำไม” จนทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ของการสร้างรถยนต์ขึ้นมา

แน่นอนว่า Tesla ไม่ใช่บริษัทแรกที่ทำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่รถยนต์ Tesla ทำให้ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นจริงขึ้นมาได้ครับ

และก็ทำให้ผมคิดถึง Airbnb ที่ไม่ได้มีเนื้อหาเจาะลึกในหนังสือเล่มนี้ แต่ Airbnb กลายเป็นธุรกิจจองห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่ไม่มีโรงแรมเป็นของตัวเองซักนิดเดียว (แต่ได้ยินว่าตอนนี้เริ่มจะทำแล้วนะ) แถม Airbnb ยังก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกได้ว่า Airbnb-Ecosystem ขึ้นมา เพราะทำให้เกิดธุรกิจฝากกุญแจบ้าน ธุรกิจรับทำความสะอาดบ้านหลังแขกออกไป หรือแม้แต่เกิดธุรกิจทัวร์ท้องถิ่นที่ Airbnb ลงมาทำเองแล้วในวันนี้

คุณอาจสงสัยว่า “อ้าว ก็เห็นบริษัทใหญ่ๆ ออกข่าวว่าสร้างโน่น ประดิษฐ์นี่ ร่วมลงทุนกับที่นั่นเป็นประจำ?” แต่นั่นก็เป็นแค่ข่าวเพื่อ PR เพราะบริษัทส่วนใหญ่ทำ Innovation ไว้แค่นั้น ไม่ได้ตั้งใจทำมาเพื่อจะเปลี่ยนแปลงรากฐานธุรกิจที่แท้จริงครับ

ถ้าถามว่าทำไมองค์กรส่วนใหญ่ถึงยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะในแง่จิตวิทยานั่นคือคนเราให้คุณค่ากับอะไรที่ลงทุนลงแรงไปเสมอครับ และยิ่งลงทุนลงแรงไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากจะยอมรับว่าสิ่งนั้นไร้ค่าขึ้นมา เหมือนบริษัทฟาสต์ฟู้ดใหญ่ๆหลายแห่งที่ลงทุนไปมากมายกับการสร้างระบบ Delivery ขึ้นมา แต่มาวันนี้ที่ Food Delivery ถูก Disrupt โดยแอปเรียกรถอย่าง Lineman หรือ Grab หรือ Get ก็ยากที่จะทำใจยอมรับได้ว่าต้องปล่อยทิ้งไป

เข้าทำนอง เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย หรือ เสียเท่าไหร่ไม่ว่า ไม่เสียหน้าเป็นพอ

หรือแม้แต่การวางสายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำรอบโลกเพื่อให้อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อกันข้ามทวีปได้ด้วยความเร็วสูง แต่เมื่อเทคโนโลยี 5G ก้าวเข้ามาก็จะทำให้การวางสายเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำหมดความสำคัญอีกต่อไป หรือที่ลงทุนไปทั้งหมดกลายเป็นสูญ (เปล่า) ขึ้นมาทันที

ยังไม่พูดถึงล่าสุดที่บริษัท Space X ของ Elon Musk ปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำทั่วโลกเพื่อปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายให้โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องใช้ได้ทันที แน่นอนว่าเทคโนโลยีนี้จะเปลี่ยนพื้นฐานของบริษัทการสื่อสารทั่วโลกทั่งหมดพร้อมกันแบบพลิกกระดานทันทีครับ

อีกหน่อยคู่แข่ง AIS จะไม่ใช่ Dtac หรือ True แต่จะเป็นบริษัทที่เป็นเจ้าของดาวเทียมวงโคจรต่ำที่พร้อมให้บริการอินเทอร์เน็ตจากทั่วโลกครับ

หรือที่ประเทศด้อยพัฒนาอย่าง Tanzania กำลังทดสอบการจัดส่งสินค้าด้วย Drone เนื่องจากปัญหาถนนหนทางที่ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเพียงพอในประเทศ แน่นอนว่าเมื่อการทดสอบส่งสินค้าด้วย Drone สำเร็จ จนสามารถก้าวไปสู่การเดินทางด้วย Drone ได้ การพัฒนาถนนหนทางที่ต้องใช้งบประมาณมหาสารก็จะไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป

เห็นมั้ยครับว่าเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตเราตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจริงๆ นั่นหมายความว่าถ้าเทคโนโลยีการเดินทางด้วย Drone พัฒนาไปจนถึงขีดสุด แน่นอนว่าอีกหน่อยเราก็คงไม่รู้ว่าจะต้องมีถนนไปทำไม และทุกถนนก็อาจจะกลายเป็นสวนสาธารณะ หรืออาจจะเป็นพื้นที่ปลูกบ้านให้ความเป็นเมืองแออัดยิ่งขึ้นกว่าเดิม

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงข่าวเมื่อไม่นานมานี้ที่เด็กรุ่นใหม่งงว่า ทำไมปุ่ม Save ถึงมีหน้าตาเหมือนตู้กดสินค้า นั่นก็เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ได้เกิดมาทันแผ่น Disk แบบคนรุ่นก่อนที่เป็นคนออกแบบปุ่มนี้ให้สื่อถึงการใช้แผ่น Disk เพื่อเซฟไฟล์ใดๆ เพราะวันนี้การเซฟไม่ใช่การต้องบันทึกลงวัตถุใดๆ แต่เป็นการเซฟลง cloud ผ่านอินเทอร์เน็ตโดยอัตโนมัติ หรือพวกเขาไม่จำเป็นต้องกดเซฟอีกต่อไป เพราะทุกอย่าง auto save ไว้หมดแล้ว

เมื่อก่อนการออกแบบสินค้าอาจต้องแข่งขันกันที่ Product design ว่าของใครจะสวยกว่า ดูหรูกว่า แต่วันนี้สินค้าส่วนใหญ่มีเทคโนโลยี Digital เป็นพื้นฐาน นั่นหมายความว่าหน้าตาสินค้าจะไม่สำคัญเท่ากับการใช้งาน ทำให้ความสำคัญของการออกแบบให้ถูกใจคนต้องย้ายมาที่เรื่องของ User Interface Design เพื่อให้เกิด User Experience ที่ดีที่สุดครับ

นึกตัวอย่างง่ายๆ อย่างโทรศัพท์มือถือใกล้ตัวเราก็ได้ เมื่อไม่ถึงสิบปีก่อนโทรศัพท์มีให้เลือกมากมายหลายแบบ แต่มาวันนี้โทรศัพท์ 95% มีรูปร่างหน้าตาและรูปทรงเหมือนกันหมด จะต่างกันก็แค่สีสันตัวเครื่อง หรือวัสดุที่ใช้ หรือตำแหน่งลูกเล่นของกล้องที่ผลุบๆ โผล่ๆ ได้นิดหน่อย

แต่ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าโทรศัพท์มือถือล้วนเหมือนกัน มีแต่หน้าจอ เริ่มไม่มีปุ่มกดที่จอเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นความต่างกลายเป็นเรื่องของ User Interface ว่าใครจะทำให้การใช้งานนั้นดีกว่าจริงๆ ครับ

ดังนั้นเราจะเห็นว่าวิธีคิดขององค์กรยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่ต้องเปลี่ยนเครื่องมือการทำงาน แต่ต้องเปลี่ยนตั้งแต่ขั้นตอนพื้นฐานการทำงานให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนพฤติกรรมเราต่างหากครับ

เมื่อก่อน ประสบการณ์และความสำเร็จในอดีตคือข้อได้เปรียบ แต่ในวันนี้สิ่งเหล่านั้นกลับกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถก้าวผ่านไปข้างหน้าได้

เพราะความสำเร็จทำให้เราเชื่อว่าวิธีการที่เคยใช้มานั้นคือหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอีกครั้ง แต่ในวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก และแน่นอนว่าสูตรสำเร็จแบบเก่าก็หมดอายุเร็วมาก และความรู้ในวันนี้ก็หมดอายุเร็วมากเช่นกัน

สมัยก่อนคนขับ Taxi ที่ลอนดอนนั้นต้องใช้ทักษะในการจดจำทางลัดมากมายให้ได้มากที่สุด แต่พอ Google Maps พร้อมใช้งานออกมา ทักษะที่เคยมีค่าเหล่านั้นก็หมดความสำคัญลงในชั่วพริบตาครับ

และนั่นก็เป็นปัญหาไปถึงภาคการศึกษา เพราะความรู้ตลอด 4 ปีที่เรียนมาแทบจะเอาไปใช้อะไรไม่ได้แล้ว จบออกมาก็ต้องเรียนรู้ใหม่ พอเริ่มเข้าใจและเข้าที่เข้าทางทุกอย่างก็เปลี่ยนไปหมดจนต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่อีกครั้ง

ดังนั้นถ้าองค์กรไหนคิดว่าแค่ทำงานให้เร็วขึ้น ทำงานให้หนักขึ้น โดยไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ก็เปรียบกับคนที่วิ่งพุ่งตรงไปข้างหน้าจนไปเจอทุ่งหญ้ารกร้าง โดยไม่ได้ดูว่าถนนเส้นใหม่เค้าตัดไปทางขวามาพักนึงแล้ว

ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าคนเรายึดติดกับอดีตมากขนาดไหน ดูตัวอย่างง่ายๆ ผ่านโฆษณานาฬิกาดิจิทัล ที่ยังแสดงเวลาเริ่มต้นที่ 10.10 เหมือนสมัยก่อนที่หน้าปัดนาฬิกายังเป็นเข็มอยู่เลย

และในสมัยนั้นที่ต้องแสดงเวลาที่ 10.10 ก็เพราะตัวเข็มจะได้ไม่บังยี่ห้อของนาฬิกาที่อยู่ตรงกลางด้านบนเท่านั้นเองครับ

เราจะเห็นว่าธุรกิจใหม่ๆ ถูกสร้างโดยเปล่า Programmer แทนที่จะเป็นคนจบจากคณะธุรกิจหรือบริหารเหมือนเมื่อก่อน

นั่นทำให้ผมคิดว่าอีกหน่อยผู้ผลิตทีวีอาจไม่ต้องขายทีวีเพื่อให้เกิดรายได้อีกต่อไป แต่ผู้ผลิตทีวีอาจเลือกแจกทีวีให้คนไปดูฟรี แลกกับการเก็บ data พฤติกรรมการรับชมของคนว่าชอบดูรายการอะไร ชอบดูช่วงไหน ชอบดูกับใคร และระหว่างดูพูดอะไรบ้างมั้ย จากนั้นก็อาจจะเลือกที่จะเป็นผู้ขายโฆษณาด้วยตัวเองเลย โดยไม่ต้องผ่านช่อง เช่น ระหว่างที่กำลังดูรายการสดแล้วผ่านเข้าช่วงโฆษณา แทนที่จะเป็นโฆษณาของช่องแบบเดิม ก็อาจถูกแทนที่ด้วยโฆษณาที่มาจากผู้ผลิตทีวีส่งตรงให้คนดูเองเลย

ดังนั้นในยุคดิจิทัลคือการเอา data ไปต่อยอดให้เกิดคุณค่าสูงสุด และโฆษณาในยุคหน้าก็จะกลายเป็นอะไรที่ Personalization สุดๆ จนทำให้เราเห็นโฆษณาน้อยลงกว่าวันนี้มาก แต่โฆษณานั้นจะยิ่งตรงใจเรามากขึ้น และก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับผู้ลงโฆษณา เพราะทำให้เกิดยอดขายมากขึ้นกว่าการโฆษณาแบบหว่านแห หรือ Mass Communication อีกต่อไป

โดยกองทัพ Art Director ผู้สร้างภาพ และ Copy Writer ผู้ประดิษฐ์คำ จะเปลี่ยนจากคนกลายเป็น Algorithm ที่เลือกภาพที่เราน่าจะชอบมากที่สุด เข้ากับคำที่จะส่งผลให้เราอยากซื้อมากที่สุด ด้วยพลังของ Processing Unit ที่จะทำให้การประมวลผลเร็วทันใจในระดับเสี้ยววินาทีครับ

ส่งผลให้การสร้าง Branding ในยุค Digital จะต้องยิ่งชัดเจนมาก จะไม่สามารถหว่านแบบกว้างๆ อีกต่อไป เพราะในวันที่เต็มไปด้วยตัวเลือกมากมาย ความไม่ชัดเจนยิ่งทำให้คนไม่อยากเลือก เพราะแม้ว่าชัดเจนแล้วจะได้กลุ่มเป้าหมายน้อย แต่กลุ่มที่น้อยนั่นแหละที่จะเลือกเราแน่ๆ

สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงต้องเริ่มจากฐานราก ไม่ใช่แค่การทำอะไรนิดหน่อยเพื่อให้เกิดผลทันที หรือเห็นผลลัพธ์ทันตา นั่นเลยทำให้คนส่วนใหญ่เลือกจะเป็นแบบนั้น และต้องการทำด้วยตัวเองให้สำเร็จโดยยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นน้อยที่สุด

ในวันที่เราไม่ได้ดูรายการทีวีผ่านทีวีอีกต่อไป ธุรกิจส่วนใหญ่ก็ควรต้องเริ่มต้นคิดใหม่ก่อนจะทำใหม่จริงๆ เสียทีครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 64 ของปี 2019

สรุปหนังสือ Digital Darwinism
ปรับธุรกิจให้รอดในยุคดิจิทัล
ผู้แข็งแกร่งที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัล
Tom Goodwin เขียน
รัชยา เรืองศรี แปล
สำนักพิมพ์ Post Books

20191031

อ่านสรุปหนังสือแนวอนาคตต่อ > https://www.summaread.net/?s=future

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > http://bit.ly/2Ke1BQT

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/