สรุปหนังสือที่สอนให้เราคิดไม่เหมือนชาวบ้าน เพราะชื่อก็บอกแล้วว่าคิดพิลึกแบบนักเศรษฐศาสตร์ครับ เพราะบางทีปัญหาที่เราคิดแทบหัวแตก พอเราลองคิดเล่นๆแบบแปลกๆกลับคิดออกแบบง่ายๆ

ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Steven D. Levitt ที่เขียนร่วมกับ Stephen J. Dubner นักเขียนจากหนังสือพิมพ์ชื่อดัง The Newyork Time มาร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์พร้อมเรื่องสนุกๆจากการคิดพิลึก หรือการคิดให้ลึกกว่าที่คนทั่วไปคิด

อย่างบางช่วงที่เคยมีกระแสข่าวของโรคเส้นประสาทบริเวณข้อมือถูกกดทับ แต่พอซักพักกระแสข่าวนั้นก็หายไป ถ้าคิดแบบคนทั่วไปก็อาจคิดว่า “อ้อ คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรคนี้แล้ว” แต่ในความเป็นจริงแล้วถ้าคิดให้พิลึกลงไปแบบนักเศรษฐศาสตร์ คุณอาจพบว่าคนที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ในช่วงนั้นอาจมีแค่กลุ่มนักเขียนข่าวก็เป็นได้ แล้วพอพวกเค้าหายจากโรคนี้ก็แค่เลิกเขียนหรือพูดถึงมันไปเท่านั้นเองครับ

เห็นมั้ยครับว่าถ้าคิดแบบทั่วไปก็คงไม่สามารถคิดแบบนี้ได้ ต้องคิดแบบพิลึก และคิดให้ลึกลงกว่าคนปกติแบบนักเศรษฐศาสตร์เท่านั้นจริงๆครับ

หรือจากข่าวฆ่าตัวตายเราอาจหลงคิดว่ากลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนจนที่ลำบากลำบนกับชีวิตมากแน่ๆ แต่เมื่อมีการศึกษาจากข้อมูลย้อนหลังพบว่ากลุ่มคนที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่ใช่คนจนอย่างที่เคยคิด แต่กลับเป็นคนรวยซะส่วนใหญ่

พอคิดให้พิลึกไปก็พบเหตุผลว่า เพราะคนจนอาจมีหลายสิ่งในชีวิตให้โทษ ไม่คิดว่าเป็นความผิดของตัวเอง ก็เลยไม่คิดจะฆ่าตัวตาย แต่พอคนรวยหรือคนที่ชีวิตดียู่แล้วชีวิตมีปัญหา และด้วยชีวิตดีอยู่แล้วก็เลยไม่มีอะไรให้โทษนอกจากตัวเอง ก็เลยไปลงเอยด้วยการฆ่าตัวตาย

ฟังแล้วน่าเศร้าแต่ก็ฟังดูพิลึกแบบมีเหตุผลใช่มั้ยครับ

เหมือนเรื่องราวของแชมป์กินฮอตด็อกโลกชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Takeru Kobayashi ผู้ที่มีร่างกายเล็ก ท้องเล็ก และก็ดูกระเพาะเล็กกว่าแชมป์เก่าชาวอเมริกันคนอื่นๆ แต่เค้ากลายเป็นแชมป์กินฮอตด็อกโลกได้หลายปีติดต่อกันนานมากด้วยการตั้งคำถามแบบพิลึกๆว่า “ในเวลา 12 นาทีเท่ากัน ทำยังไงถึงจะกินได้เร็วขึ้น”

ด้วยการตั้งคำถามแบบพิลึกก็เลยพาไปสู่คำตอบที่พิลึกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการหักใส้กรอกให้เป็นสองท่อนก่อนกรอกเข้าปาก เพื่อให้ใส่กรอกพุ่งตรงสู่กระเพาะโดยไม่ต้องเคี้ยวให้ยุ่งยาก และก็พาไปสู่คำตอบที่สองของการกินก้อนขนมปังฮอตด็อกให้เร็วขึ้น ด้วยการเอาก้อนขนมปังที่แสนอร่อยจุมลงไปในน้ำ จากนั้นก็บีบให้เล็กที่สุดก่อนจับยัดใส่ปากแล้วกลืนลงไปเลย

ผลคือจากเวลา 12 นาทีเท่ากัน แชมป์โลกคนเก่าเคยกินไว้ได้ราว 24-25 ชิ้น แต่ Takeru Kobayashi ผู้นี้ทำไปได้ถึง 50 กว่าชิ้น เรียกได้ว่าทำเอาฝรั่งร่างใหญ่ต้องอึ้งในเทคนิคการกินขั้นเทพไปตามๆกันเลยครับ

เห็นมั้ยครับว่าการตั้งคำถามแบบพิลึก ก็พาไปสู่ผลลัพธ์ที่อัศจรรย์ใจจริงๆ

หรือบางครั้งเราก็สร้างลิมิตของตัวเองขึ้นมาด้วยตัวเราเองโดยไม่รู้ตัว จากการทดลองพบว่าพอให้นักกีฬาปั่นจักรยานกลุ่มหนึ่งลองปั่นด้วยความเร็วสูงสุดครั้งแรกแล้วอัดวิดีโอไว้ พวกเค้าก็บอกว่านี่คือสถิติที่ดีที่สุดและคงทำมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว แต่พอโค้ชและทีมงานลองเอาคลิปวิดีโอการปั่นของพวกเค้ามาปรับให้เร็วขึ้นแล้วฉายซ้ำให้พวกเค้าดูระหว่างปั่นรอบใหม่

ผลออกมาคือพวกเค้าปั่นได้เร็วขึ้นตามวิดีโอที่ฉาย เพราะเค้าเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่เค้าเคยทำได้มาแล้ว แล้วทำไมจะทำเหมือนเดิมไม่ได้

ผลการทดลองนี้บอกให้รู้ว่า กำลังไม่ได้ไม่จากกล้ามเนื้อ แต่มาจากสมองครับ

เรื่องนี้ผมก็เคยเจอกับตัว ตอนผมตั้งเป้าว่าจะไปลงวิ่งมาราธอน ผมสามารถวิ่งถึงสิบกิโลเมตรได้สบายๆทุกครั้ง แต่พอผมชะล่าใจตั้งเป้าเหลือแค่วิ่งให้ได้ครั้งละ 10 กิโลเมตรเหมือนเดิม พอวิ่งจริงกลับได้แค่ 5-6 หรือเต็มที่ก็ 8 กิโลเท่านั้น

ตอนนี้ผมเลยกลับมาตั้งเป้าว่าจะวิ่งให้ได้เท่าระยะมาราธอนให้ได้ ผลคือกลับมาวิ่งได้สิบกิโลเมตรเท่าเดิมแบบไม่ยี่หระเลยครับ

หรือการที่ยุโรปสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อนชาติยุโรป อาจไม่ใช่เพราะแค่เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรไอน้ำ แต่พอคิดให้พิลึกก็พบอีกแง่มุมว่า อาจเป็นพระศาสนาที่ช่วยผลักดันให้ยุโรปก้าวเข้ามาเป็นชาติพัฒนาแล้วก่อนใคร

เพราะศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์นั้นสอนว่า การทำงานหนักคือพันธกิจต่อพระเจ้า ประเทศที่พัฒนาก่อนใครเลยกลายเป็นประเทศในกลุ่มโปสเตสแตนต์ที่คนมุ่งโหมงานหนักเพื่อให้ได้บุญอย่างไรอย่างนั้นครับ

หรือการตั้งคำถามที่สุดพิลึกว่า ผลการเรียนของนักเรียนในพื้นที่หนึ่งแย่เพราะครูผู้สอน หรือความไม่พร้อมของโรงเรียนจริงหรือ ด้วยการคิดพิลึกทำให้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจว่า ที่เด็กเรียนไม่ดีไม่ใช่เพราะครูหรือโรงเรียน แต่เพราะเด็กในพื้นที่นี้กว่า 1 ใน 4 สายตาสั้นแต่ไม่มีใครรู้ พอตัดแว่นให้ทุกคนเท่านั้นแหละ ผลการเรียนกลับมาพุ่งปรื๊ดทันทีครับ

หรือคิดให้พิลึกไปอีกแบบนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าปัญหาโรคอ้วนที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลกนี้อาจมาจากอาหารในวันนี้ราคาถูกกว่าเมื่อยุค 1970 หลายเท่านัก

ค่าอาหารในวันนี้มีสัดส่วนแค่ 6.5% ของคนสหรัฐเท่านั้น เลยส่งผลให้คนสหรัฐบริโภคสูงเกินความจำเป็น และอาหารที่ราคาแพงก็กลายเป็นอาหารที่มีไฟเบอร์สูงแทนอาหารราคาถูกที่ให้พลังงานสูงแต่ไฟเบอร์ต่ำ ดังนั้นถ้าอยากให้คนอ้วนน้อยลงอาจต้องเพิ่มราคาอาหารให้สูงเหมือนเดิม คิดว่ายังไงครับข้อนี้

หรือการตั้งโจทย์แบบพิลึกๆในเล่มก็น่าสนใจ อย่างที่วงร็อคชื่อดัง Van Halen เขียนคำขอแปลกๆไว้ในสัญญาว่า ถ้าจะให้ไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหน ต้องขอช็อคโกแลต m&m ห้ามมีเม็ดสีน้ำตาลด้วย

พอผู้จัดและคนนอกรู้ข่าวเข้าก็โวยวายบอกว่าวง Van Halen เรื่องมากเพราะถือว่าตัวเองดัง แต่เหตุผลเบื้องหลังนั้นไม่ใช่เลยครับ เพราะการจะเล่นคอนเสิร์ตให้ดีอย่างที่วง Van Halen ตั้งใจ นั้นต้องมีเงื่อนไขมากมายของพื้นที่ ของเวที ของเครื่องเสียง ของระบบไฟ และอื่นๆอีกมาก ดังนั้นสัญญาการจ้างเล่นคอนเสิร์ตก็เลยหนามาก จนทางวงกลัวว่าผู้จัดจะทำงานแบบลวกๆไม่ครบตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ก็เลยใส่ข้อ m&m ไว้หน้าท้ายๆ เพื่อเช็คว่าผู้จัดคนไหนบ้างที่อ่านสัญญาแบบละเอียด หรือผู้จัดคนไหนที่ไม่อ่านแล้วจัดแบบลวกๆครับ

เป็นยังไงครับ เหตุผลที่เหมือนไม่มีเหตุผล แท้จริงแล้วกลับเต็มไปด้วยเหตุผลใช่มั้ยครับ

หรือบริษัทขายรองเท้าออนไลน์ชื่อดัง Zappos ที่ยื่นข้อเสนอให้ว่าที่พนักงานใหม่ว่า ถ้ายอมลาออกตอนนี้แล้วทำสัญญาว่าจะไม่กลับมาสมัครงานที่ Zappos อีก จะได้รับเงินทันที 2,000 เหรียญ ถ้าคิดแบบพื้นๆอาจว่าบ้า แต่ถ้าคิดแบบพิลึกจะพบว่า Zappos ตั้งใจทำเพื่อกรองคนที่ไม่ใช่ออกไป ยอมจ่ายแค่ 2,000 ในวันนี้ ดีกว่าเสียค่าฝึกพนักงานใหม่ที่ใช้ทั้งเงินและเวลาแพงกว่านี้มาก

และสุดท้ายของเล่มเป็นข้อคิดที่น่าสนใจ เราถูกสอนมาให้ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เราถูกสอนมาให้อดทนฟันฝ่าเพื่อชัยชนะ แต่ถ้ามองอีกมุมนึงการยอมแพ้อาจเป็นการช่วยให้เราประหยัดทรัยากรไม่ว่าจะเงิน แรงงาน หรือเวลา การยอมแพ้ในบางครั้งก็ทำให้เราได้พบโอกาสใหม่ๆในชีวิต และการยอมแพ้ในบางครั้งก็ทำให้เรากลับมาชนะใหม่ได้อีกครั้งครับ

สุดท้ายแล้วจะเห็นว่า การคิดแบบพิลึกอย่างนักเศรษฐศาสตร์นั้น แท้จริงแล้วคือการคิดให้ลึก คิดให้แปลก คิดให้ใหม่ คิดแบบไร้กรอบ คิดแบบไม่มีอคติ คิดแบบเด็กที่มองโลกโดยไม่เอาความรู้เดิมมาปิดกั้นหรือเป็นกรอบในการมอง

เพราะสิ่งสำคัญของการแก้ปัญหาไม่ใช่คำตอบ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งคำถามกับปัญหานั้นอย่างไร เพราะคำถามที่ผิดคิดยังไงก็ไม่ได้คำตอบที่ถูกครับ

อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือเล่มที่ 35 ของปี 2019
Think Like A Freak
คิดพิลึกแบบนักเศรษฐศาสตร์
เพราะการมองโลกแบบเป็นเหตุเป็นผล อาจทำให้คุณไม่เห็นอะไรเลย
Steven D. Levitt และ Stephen J. Dubner เขียน
วิโรจน์ ภัทรทีปกร แปล
สำนักพิมพ์ WE LEARN

อ่านครั้งที่หนึ่งเมื่อ 2019 06 09

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/