The Happiness Manual พฤติกรรมความสุข

หนังสือ The Happiness Manual หรือ พฤติกรรมความสุขเล่มนี้บอกให้รู้ว่า แท้จริงแล้วความสุขของคนเรานั้นไม่ได้ยุ่งยาก ลำบาก หรือมีราคาแพงแต่อย่างไร และที่คุณณัฐวุฒิ เผ่าทวี พูดไปก็ไม่ได้คิดเองเออเองแบบโค้ชไลฟ์มากมาย แต่มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นการทดลองแบบวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าความสุขแบบวิทยาศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร

แต่จะบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ก็ไม่ถูกนัก เพราะหนังสือเล่มนี้ออกไปทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม จิตวิทยา และการทดลองทางด้านสังคมวิทยาควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากรู้จักความสุขในแบบวิทยาศาสตร์ ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยครับ เพราะคุณจะได้รู้ว่าความสุขหรือความทุกข์ของเรานั้นเกิดจากความคิดเปรียบเทียบของตัวเราเองเป็นหลัก

เพราะมีการทดลองหนึ่งที่พบว่า คนยอมได้เงินเดือนที่มีตัวเลขน้อยลงแต่สูงกว่าคนรอบตัวทั้งหมด ดีกว่าได้เงินเดือนเยอะขึ้นแต่น้อยกว่าคนรอบตัวทั้งหมด

ดังนั้น การที่บริษัทไม่ยอมบอกเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนให้ทุกคนได้รู้ถ้วนหน้า ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับเราทุกคนแล้ว

หรือปัญหาบางอย่างถ้าใช้เหตุผลก็แก้ง่ายมาก แต่พอใช้อารมณ์เป็นตัวนำในการตัดสินใจก็ทำให้ยากอย่างไม่น่าเชื่อ อย่างปัญหาที่มีชื่อว่า The Trolley Dilemma

The Happiness Manual พฤติกรรมความสุข

The Trolley Dilemma หรือปัญหารถราง เมื่อได้ลองถามคนส่วนใหญ่ว่าถ้ามีรถรางคันหนึ่งเบรกแตกแล้วข้างหน้ามีคน 5 คนถูกมัดติดรางไว้ แล้วใกล้ๆ คุณมีคนอ้วนๆ หนึ่งคนที่ถ้าคุณผลักเขาตกลงไปบังรถรางคนทั้ง 5 คนที่ถูกมัดอยู่จะรอดตายทันที คุณจะตัดสินใจอย่างไร?

คนส่วนใหญ่ตอบว่าตัวเองจะไม่ผลักคนอื่นลงไปตายเพื่อทำให้อีก 5 คนรอดเด็ดขาด แต่เมื่อปัญหาเดียวกันที่เปลี่ยนคำถามนิดหน่อยกลับได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันไปโดยชิ้นเชิง ก็คือพอถามว่า ถ้ารถรางที่เบรกแตกกำลังวิ่งมาด้วยความเร็วสูงเหมือนเดิม ถ้าคุณไม่สับคันโยกให้รถรางเบี่ยงออกไปอีกทางหนึ่ง คนทั้ง 5 ที่ถูกมัดติดรางไว้จะตาย แต่ถ้าคุณสับคันโยกให้รถรางไปอีกทางหนึ่ง จะมีแค่คนตายคนเดียว คุณจะตัดสินใจอย่างไร?

The Happiness Manual พฤติกรรมความสุข

พอเป็นคำถามแบบอย่างหลังเชื่อมั้ยครับว่าคนส่วนใหญ่ตอบว่าจะสับรางเพื่อให้คนๆ เดียวตายแต่ 5 คนรอด ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของคำถามไม่ได้ต่างจากคำถามแรกเลย คือมีคนตายระหว่าง 1 คนกับ 5 คนเหมือนกัน

นั่นก็เพราะว่าคนเราไม่อยากรู้สึกผิดที่ต้องเป็นต้นเหตุให้คนอื่นตาย แต่ถ้ายังไงก็ต้องมีคนตายอยู่แล้ว การตัดสินใจให้ใครตายก็ไม่ใช่เรื่องยาก

นั่นเพราะคนเราส่วนใหญ่ใช้ System 1 ในการตัดสินใจ หรือที่เรียกว่า Thin-slicing หรือการตัดสินใจอย่างรวดเร็วโดยผ่านประสบการณ์ในอดีต เช่นเดียวปัญหาของลินดา หรือที่เรียกว่า The Linda Problem

The Linda Problem บอกให้รู้ว่าคนเราใช้อารมณ์หรือความรู้สึกในการคิดและตัดสินใจมากขนาดไหน เพราะโจทย์ของปัญหานี้ถามว่าลินดาน่าจะทำงานอะไรมากที่สุด ถ้าวันนี้เธอเป็นสาวโสดอายุ 30 มีการศึกษา หน้าที่การงานดี เธอเคยไปร่วมขบวนประท้วงโรงงานไฟฟ้าถ่านหินสมัยเรียนมหาวิทยาลัย คุณคิดว่าเธอในวันนี้ทำงานอะไร ระหว่าง เป็นพนักงานธนาคาร กับ เป็นพนักงานธนาคารและเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี

คุณคิดว่าลินดาเป็นอย่างแรกหรือย่างหลังครับ?

คำถามนี้คนส่วนใหญ่ตอบว่าเธอน่าจะทำงานอย่างหลัง นั่นก็คือทำงานธนาคารและเป็นสมาชิกของกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีไปด้วยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่รู้มั้ยครับว่าถ้าเราคิดดีๆ ด้วยเหตุผลให้รอบคอบจะพบว่า คำตอบนี้น่าจะเป็นคำตอบที่มีโอกาสถูกน้อยกว่าคำตอบแรก

The Happiness Manual พฤติกรรมความสุข

เพราะถ้าดูจากภาพคุณจะเข้าใจว่า โอกาสที่ลินดาจะทำสองอย่างพร้อมกันนั้นน้อยกว่าทำแค่อย่างหนึ่งอย่างใดมาก เห็นมั้ยครับว่าความคิดของเราแท้จริงแล้วไม่ค่อยได้คิดซักเท่าไหร่

หรือการทดลองที่ชื่อว่า The Stanford Mashmellow ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะเค้าพบว่าผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตคือคนที่รู้จักอดทน หรืออดเปรี้ยวไว้กินหวานมากกว่าครับ

เพราะในการทดลองคือเค้าพาเด็กๆ เข้ามากลุ่มหนึ่ง แล้วให้เด็กนั่งรออยู่ในห้องซัก 15 นาทีต้องออกไปเอาของนิดหน่อย ในห้องมีขนมมาร์ชเมลโล่อยู่หนึ่งชิ้น โดยผู้ทำการทดลองบอกว่าจะกินตอนนี้เลยก็ได้ แต่ถ้ารอจนกลับมาแล้วค่อยกินจะมีให้กินอีกหนึ่งชิ้น

การทดลองนี้ไม่ได้จบแค่การกินขนมทันทีหรือรอกินอีกชิ้น ตอนนักทดลองกลับมาหลังจาก 15 นาทีผ่านไป แต่พวกเขาติดตามเด็กที่เข้ารับการทดลองในครั้งนี้นานถึง 30 ปีเพื่อดูว่าแต่ละคนมีสภาพชีวิตเป็นอย่างไร จนได้พบว่าคนที่สามารถอดทนรอจนนักทดลองกลับมาเพื่อจะได้ขนมอีกชิ้นมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่อดทนรอไม่ได้ นั่นบอกให้รู้ว่าความสามารถในการอดทนอดกลั้นเพื่ออนาคตอันใกล้ พอบอกได้ถึงความสำเร็จในอนาคตครับ

หรือเชื่อมั้ยครับว่าคนที่มีความสุขมากกว่าก็ส่งผลให้มีอายุยืนยาวกว่า เพราะนักทดลองได้เอาสมุดบันทึกของแม่ชีหลายคนมาสำรวจดูว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมาพวกเธอเขียนบรรยายความรู้สึกไว้ว่าอย่างไร จนได้พบว่าบรรดาแม่ชีที่เขียนว่าตัวเองมีความสุขมากกว่าแม่ชีที่ไม่ได้เขียนถึงเรื่องความสุขเท่าไหร่นั้น มีอายุยืนยาวถึง 85 ปีขึ้นไปมากกว่าถึง 3 เท่าทีเดียวครับ

รู้แบบนี้แล้วพยายามคิดบวกและพูดถึงความสุขให้มากเข้าไว้ แล้วคุณจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวเหมือนแม่ชีเหล่านี้ครับ

เรื่องเงินกับความสุขก็มีอะไรที่ย้อนแย้งอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเราเคยเชื่อกันว่าเงินคือแหล่งบันดาลความสุข แน่นอนครับผมไม่เถียง และหนังสือเล่มนี้ก็ไม่เถียง เพราะถ้าเราไม่มีเงินพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเราจะต้องเป็นทุกข์อย่างมากแน่นอน

แต่จากการสำรวจพบว่า เมื่อคนเรามีเงินมากว่าที่จะมีชีวิตที่สะดวกสบายได้ระดับหนึ่ง ปริมาณความสุขที่มีกลับไม่ได้เพิ่มตามจำนวนเงินที่มากขึ้น และจำนวนเงินที่ว่านั้นก็อยู่ที่ 75,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือสรุปง่ายๆ ได้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งเงินที่เพิ่มมากไปกว่านี้จะไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นนั่นเองครับ ดังนั้น ต้องรู้จักทำงานให้พอดี แต่ไม่ใช่เอาแต่ขี้เกียจจนเป็นทุกข์นะครับ

และก็มาถึงคำถามสำคัญที่หลายคนคงอยากรู้ว่า เราควรใช้เงินกับอะไรดีถึงจะทำให้มีความสุขมากที่สุด และคำตอบที่ได้ก็น่าสนใจ เพราะตรงกับแนวโน้มของเศรษฐกิจยุคใหม่สมัยนี้ นั่นก็คือ Experience Economy ครับ

เพราะการทดลองพบแล้วว่า การใช้เงินกับสิ่งของนั้นทำให้เรามีความสุขแค่ชั่วคราว พอซักพักเราก็ชินกับมัน ไม่ว่าจะเป็นรถใหม่ โทรศัพท์มือถือใหม่ เสื้อผ้าใหม่ แต่การใช้เงินซื้อประสบการณ์ต่างๆ จะทำให้เรามีความสุขมากกว่า เพราะทุกครั้งที่ได้นึกถึงประสบการณ์ที่ดีไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อพิเศษ การไปเที่ยวสุดโรแมนติค หรืออะไรก็ตามที่เป็นประสบการณ์จะทำให้เรามีความสุขทุกครั้งที่นึกถึงครับ

ว่าแล้วผมก็แทบจะจองร้านอาหารที่อยากกินมานาน เพื่อจะได้ลองกินมันซักทีเพื่อให้ตัวเองมีความสุขทุกครั้งที่ได้นึกถึงอาหารมื้อนี้ไปนานๆ ครับ

แล้วเมื่อเอาความสุขมาเทียบกับช่วงอายุก็พบว่า คนเรามีความสุขเป็นรูปตัว U ครับ นั่นหมายความว่าเราจะมีความสุขมากตอนที่ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น แต่พอเข้าวัยทำงานเราก็เริ่มจะสุขลดน้อยลง จนช่วงชีวิตที่มีความสุขน้อยที่สุดของคนทั้งโลกจะอยู่ที่ประมาณ 40 ปี จากนั้นก็จะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในตอนแก่

อารมณ์ก็เหมือนพอเรา 40 เรากลับคิดว่าชีวิตเราไม่ได้น่าตื่นเต้นเหมือนตอนที่เคยฝันไว้ในวัยรุ่นเลย แล้วซักพักเราก็เริ่มปรับตัวกับชีวิตความเป็นจริงได้มากขึ้น แล้วพอเราแก่ตัวขึ้นและเรายังมีชีวิตอยู่ก็พบว่าพอคนใกล้ตัวเราจากหายไปทีละคนเราก็จะยิ่งรู้สึกดีว่าเราช่างโชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ครับ

เป็นยังไงล่ะครับ สุดท้ายความสุขก็คือการเปรียบเทียบกับอะไรต่างๆ รอบตัวนี่เอง ไม่ว่าจะอดีต หรือคนรอบตัว

และปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุขที่สุดไม่ใช่เงิน ข้าวของ หรือทรัพย์สมบัติ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวครับ ไม่ว่าจะเพื่อน ครอบครัว คู่รัก หรือสุนัขก็ตาม ดังนั้นถ้าคุณอยากเป็นคนที่มีความสุขมากๆ ก็จงพยายามออกไปสังสรรค์กับคนรอบตัวให้บ่อยขึ้นครับ

ส่วนความสุขกับการทำงานนั้นก็น่าสนใจ เพราะหนังสือเล่มนี้บอกให้ฟังว่าคนส่วนใหญ่ลาออกไม่ใช่เพราะเรื่องเงิน แต่เป็นเพราะไม่มีความสุขในการทำงาน ดังนั้นถ้าอยากให้พนักงานดีๆ อยู่กับองค์กรนานๆ ไม่ใช่แค่เอาแต่เพิ่มเงินหรือสวัสดิการ แต่พยายามทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขที่ได้มาทำงานทุกวันครับ

และสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความสุขในการทำงานก็คือการที่เราได้ทำในสิ่งที่มีคุณค่า หรือทำออกมาแล้วมีคนเห็นค่างานของเราครับ

เพราะจากการทดลองหนึ่งพบว่าคนเรายอมจ่ายมากขึ้นให้กับสิ่งที่ตัวเองทำ อย่างการต่อเฟอร์นิเจอร์ IKEA ของตัวเองที่อาจจะทำได้ไม่สมบูรณ์แบบเมื่อเทียบกับมืออาชีพ แต่พอให้จ่ายเงินเพื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์นั้นคนส่วนใหญ่กลับเลือกของที่ตัวเองต่อแม้จะไม่สวยสมบูรณ์อย่างที่ว่า ดังนั้นพยายามให้พนักงานรับรู้ว่างานที่เค้าทำนั้นมีค่า และก็มีคนเห็นค่างานของเค้าเช่นกันครับ

และสุดท้ายนี้หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องความสุขของแม่ที่ส่งผลต่อลูกได้อย่างน่าสนใจ เอาเป็นว่าเด็กคนไหนจะโตมาเป็นคนเก่งคนดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของแม่ ถ้าแม่อารมณ์ดีมีความสุขก็จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีตามไป ดังนั้น จงทุ่มเทให้กับแม่ ทำให้แม่มีความสุขมากๆ ถ้าแม่อยากได้ครีม La Mer คุณพ่อก็ต้องพยายามหาเงินเข้านะครับ

ท้ายที่สุดนี้ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบทำให้ผมคิดถึงประโยคนึงที่พระท่านว่า ปัญหาคือความจริง ความทุกข์คือความคิด เราส่วนใหญ่ล้วนคิดไปล่วงหน้า แต่ไม่ได้มองปัญหาตามที่มันเป็นจริงเท่าไหร่ ถ้าเรามองปัญหาว่าเป็นแค่ปัญหา แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็ช่างแม่ง เราก็จะทุกข์น้อยลงมาก และก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้นอีกบานครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 60 ของปี 2019

สรุปหนังสือ The Happiness Manual
พฤติกรรมความสุข
ค้นหาที่มาของความสุขผ่านการสำรวจพฤติกรรมของมนุษย์
ณัฐวุฒิ เผ่าทวี เขียน
สำนักพิมพ์ Salmon

20191004

อ่านสรุปหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมต่อ > https://www.summaread.net/category/behaviour-economics/

สนใจสั่งซื้อได้ที่ > https://store.minimore.com/salmonbooks/items/the-happiness-manual

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/