สรุปหนังสือ Thinking Fast and Slow คิดเร็วและช้า Daniel Kahneman แปลไทย สำนักพิมพ์ We Learn เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม System 1 System 2

หลังจากสรุปหนังสือ Thinking Fast and Slow คิดเร็วและช้า ตอนแรกไปที่เน้นโฟกัสกับประเด็นสำคัญอย่าง มนุษย์เรานั้นสามารถถูกชักจูงและชี้นำได้ง่ายกว่าที่คิดไว้มาก แค่ให้เรียงคำที่เกี่ยวกับคำว่าแก่ ก็ทำให้คนกลุ่มนั้นเดินไปอีกฝากของอาคารช้าลงกว่ากลุ่มแรกที่ถูกให้เรียงคำเกี่ยวกับคำว่าหนุ่มสาว

ตอนนี้ยังเหลืออีกแง่มุมหนึ่งที่สำคัญของหนังสือ Thinking Fast and Slow เล่มนี้ที่ผมอยากจะเล่าให้ฟังต่อ นั่นก็คือประเด็นของเรื่อง ด่วนตัดสินใจ โดยเรื่องตัวอย่างที่น่าสนใจนั่นก็คือการตัดสินว่าจะให้อภัยโทษนักโทษคนไหนบ้างของศาล ซึ่งเป็นไปตามความเหนื่อยล้าของสมองครับ

มีการเก็บข้อมูลการให้อภัยโทษของศาลพบว่า ในช่วงเวลาที่ผู้พิพากษากำลังอิ่มท้องหลังจากเพิ่งกินข้าวมา ผู้พิพากษามักจะใช้สมองได้ดีกว่า และก็มีอารมณ์ที่ดีกว่า ทำให้แนวโน้มการตัดสินอภัยโทษนักโทษนั้นมีสัดส่วนสูงกว่านักโทษที่ถูกตัดสินในช่วงเวลาใกล้มื้ออาหารถัดไป เช่น ช่วงประมาณ 11 โมงก่อนกินข้าวเที่ยง หรือช่วงราวๆ 3-4 โมงเย็นหลังจากทำงานอย่างเคร่งเครียดมาทั้งวัน

ดังนั้นถ้าใครอยากให้หัวหน้าหรือลูกค้าตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่ต้องใช้สมองมากๆ แนะนำให้พยายามเข้าไปหาตอนเช้าไม่ก็บ่าย อย่ามัวรอให้ตกสายหรือเย็นเพราะเค้าจะไม่เหลือพลังสมองและสมาธิไว้ใช้กับเรื่องสำคัญของคุณครับ

หรืออย่างโจทย์ง่ายๆ แต่คนส่วนใหญ่กลับตอบผิดง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อถามว่า ถ้าไม้เบสบอลกับลูกเบสบอลมีราคารวมกัน 1.10 ดอลลาร์ แล้วไม้เบสบอสมีราคาแพงกว่าลูกเบสบอลอยู่ 1 ดอลลาร์ คุณคิดว่าไม้เบสบอลจะมีราคาเท่าไหร่

ผมให้เวลาคุณคิด 3 วินาที

1

2

3

คนส่วนใหญ่ตอบว่าไม้เบสบอลราคา 1 ดอลลาร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วจากโจทย์บอกว่าไม้เบสบอลมีราคาสูงกว่าลูกเบสบอล 1 ดอลลาร์ ถ้าไม้เบสบอลราคา 1 ดอลลาร์ ลูกเบสบอลจะไม่สามารถมีมูลค่าใดๆ ได้ แต่โจทย์นี้ในความเป็นจริงแล้วต้องตอบว่าไม้เบสบอลมีราคา 1.05 ดอลลาร์ เมื่อรวมกับลูกเบสบอลที่มีราคาถูกกว่าไม้เบสบอลอยู่ 1 ดอลลาร์ ลูกเบสบอลก็จะมีราคา 0.05 ดอลลาร์โดยทันที

และเมื่อเอาราคาของ 1.05 + 0.05 ก็จะเท่ากับ 1.1 ดอลลาร์พอดิบพอดี แต่ถ้าใครที่ตอบว่าไม้เบสบอลราคา 1 ดอลลาร์ ก็จะเท่ากับว่า 1 + 0 ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลย

ใครที่ตอบโจทย์ข้อนี้ผิดก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะแม้แต่คนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ฉลาดอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Harvard ยังตอบโจทย์ง่ายๆ ข้อนี้ผิดถึง 50% แต่กับมหาวิทยาลัยอื่นนั้นมีอัตราการตอบผิดที่สูงถึง 80%

เห็นมั้ยครับว่าแม้แต่กลุ่มคนที่ฉลาดมากกว่าตนอื่น ก็ยังพลาดด่วนตัดสินใจด้วย System 1 ไม่ยอมคิดแบบช้าๆ ด้วย System 2 อย่างถี่ถ้วนก็ว่าได้

เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้อดทนที่จะพยายามใช้ความคิดและความตั้งใจอย่างที่ควรจะเป็น แต่จากการเฝ้าสังเกตกว่า 10-15 ปีของนักทดลองกลุ่มหนึ่งพบกุญแจสำคัญของความสำเร็จในชีวิตที่น่าสนใจ นั่นก็คือการอดทนอดกลั้นครับ

การอดทนอดกลั้น หรือการอดเปรี้ยวไว้กินหวานของคนเราคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จตอนเป็นผู้ใหญ่ จากการทดลองดูว่าเด็กคนไหนสามารถอดทนไม่กินขนมตรงหน้าได้จนกว่านักทดลองจะกลับมา แล้วจะได้ขนมเพิ่มอีกชิ้นเป็นสอง เมื่อติดตามดูใน 15 ปีต่อมาพบว่าเด็กกลุ่มที่สามารถอดทนอดกลั้นเพื่อรับขนมสองชิ้นได้มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จชีวิตได้ดีกว่าเด็กกลุ่มแรกที่อดทนรอให้นักทดลองกลับมาไม่ได้ครับ

เรื่องนี้สะท้อนไปถึงสมองที่สามารถเอาเป้าหมายในอนาคตมาเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน นั่นก็คือการพยายามคิดแบบเป็นระบบ คิดแบบมีเหตุมีผลเพื่อบอกให้รู้ว่าทำไมการอดทนนั้นถึงคุ้มค่า แต่ในขณะเดียวกันนั่นก็เป็นการคิดตาม System 2 ที่ใช้พลังสมองและพลังใจอย่างหนัก ว่าไปแล้วก็น่าทดสอบดูนะครับว่าเด็กในบ้านเราหรือใกล้ตัวนั้นจะอดทนรอเรากลับมาแล้วรับขนมเพิ่มอีกชิ้นได้มั้ย

การด่วนตัดสินใจยังรวมไปถึงมนุษย์เราพยายามมองหา Pattern อยู่เป็นประจำ เช่น ถ้าเราเห็นว่าคนๆ หนึ่งสะดุ้งเมื่อซดซุปที่เพิ่งเสริฟ แล้วเค้าจะมองดูว่าคนถัดไปที่ซดซุปนั้นมีอาการสะดุ้งเหมือนกันหรือไม่ ถ้าสะดุ้งคนจะรีบด่วนตัดสินใจไปแล้วว่าซุปนั้นร้อน แต่ถ้าคนถัดไปไม่สะดุ้งเค้าก็จะรีบด่วนตัดสินใจเหมือนกันว่าคนแรกนั้นเรื่องมากกว่าปกติ

หรือแม้แต่การรับฟังความเห็นของเราก็มักจะเป็นไปอย่างด่วนตัดสินใจ ด่วนหาข้อสรุปจนมักหลงลืมที่จะรับฟังข้อมูลจากทุกด้านให้มากขึ้น ทำให้หลายครั้งคนส่วนใหญ่มักด่วนตัดสินใจไปทั้งที่เพิ่งฟังเรื่องราวแค่สั้นๆ หรือแค่ด้านเดียวเท่านั้น

การด่วนตัดสินใจยังครอบคลุมไปถึงการเลือกผู้สมัคร สส จากการแค่เห็นว่าใบหน้าแบบนี้ดูน่าเชื่อถือมากกว่าผลงานหรือความดีที่ทำมา จากการทดลองให้คนอีกประเทศหนึ่งพบว่าเมื่อลองเอาใบหน้าผู้สมัครของอีกประเทศหนึ่งให้เดาว่าคนไหนน่าจะชนะเลือกตั้งโดยไม่เคยรู้จักชื่อ ผลงาน หรือประวัติมาก่อน ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ทายถูกว่าคนไหนจะชนะเลือกตั้ง ทั้งที่เหตุผลในการเลือกของพวกเขาคือบอกว่า ก็หน้าตาดูน่าเชื่อถือดี

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนุกกว่าที่คิดก็คือคนส่วนใหญ่ล้วนด่วนตัดสินใจว่าเรื่องบังเอิญไม่มีจริง

จากที่บอกว่าคนเรามักพยายามมองหา Pattern หรือเหตุผลเบื้องหลังให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง คนส่วนใหญ่กลับไม่คิดว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมันก็แค่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเท่านั้นเอง

เช่น ถ้าโรงเรียนหนึ่งมีผลงานดีผิดปกติกว่าโรงเรียนอื่น มนุษย์เราก็จะพยายามหาคำตอบแล้วว่าทำไม แล้วก็บังเอิญพบว่าโรงเรียนนี้ที่ทำผลงานได้ดีเพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จากนั้นพวกเขาก็เลยพยายามค้นหาต่อว่าโรงเรียนขนาดเล็กที่ทำผลงานได้ดีมากอีกมากมายแค่ไหน

พอพวกเขาเชื่อก็ส่งผลให้นโยบายการศึกษาของอเมริกาเปลี่ยนไปเน้นโรงเรียนเล็ก แต่พอสักพักก็มีคนค้นพบว่าโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมดไม่ได้ทำผลงานได้ดีเสมอไป ประจวบกับช่วงนั้นมีคนค้นพบว่ามีโรงเรียนขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งทำผลงานได้ดี แล้วนโยบายก็กลับมาที่โรงเรียนขนาดใหญ่เหมือนเดิม

นั่นก็เพราะมนุษย์เราชอบด่วนตัดสินใจด้วยการมองหาแบบแผนต่างๆ เพราะมันยากที่จะเชื่อได้ว่าก็แค่โรงเรียนนั้นทำผลงานได้ดีกว่าโรงเรียนรอบข้างเท่านั้นเอง

อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องการด่วนตัดสินใจก็คือทุกอย่างจะกลับคืนสู่มาตรฐาน

ในโรงเรียนนักบินแห่งหนึ่งผู้บัญชาการพบว่าถ้าชมนักบินที่ทำผลงานได้ดีในวันนั้น วันถัดมาพวกเขาจะทำผลงานได้ไม่โดดเด่นเท่าวันก่อน แต่ในขณะเดียวกันถ้าดุด่านักบินที่ทำผลงานได้ดีในวันนั้น วัดถัดมานักบินคนนั้นก็จะทำผลงานได้ดีขึ้น

แต่ครูผู้สอนนักบินลืมคิดไปว่ามันคือการกลับคืนสู่มาตรฐาน ก็เหมือนกับสายกีตาร์ที่ถูกดีดสุดท้ายก็จะกลับมาอยู่ในตำแหน่งเส้นตรงเหมือนกัน

เหมือนค่ามาตรฐานของคนๆ นึงที่ย่อมจะทำผลงานได้ดีบ้างในบ้างครั้ง และแย่ลงในบางวัน ดังนั้นต่อให้ไม่ชมหรือด่าสุดท้ายพวกเขาก็จะขยับกลับมาสู่มาตรฐานการทำงานมากขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากข้อนี้ก็คือเราต้องพยายามยกระดับมาตรฐานทุกวันให้ดีขึ้น อย่าหลงระเริงกับแค่ผลงานชั่วคราวชั่วครู่ ต้องพยายามเอาผลงานทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ยเพื่อจะได้เห็นพัฒนาการจริงๆ ว่าเราดีขึ้นหรือแย่ลงกว่าช่วงเวลาก่อนหน้าครับ

แล้วปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์เราเก่งได้เร็วที่สุดก็คือ Feedback หรือข้อมูลป้อนกลับครับ เช่น ถ้าเราทำปุ๊บแล้วรู้ปั๊บว่าที่ทำไปนั้นดีหรือไม่ดี ได้ผลตอบลับทันที แบบนี้เราจะรู้ว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไรให้ดีขึ้นในครั้งหน้า

แต่ถ้าสิ่งใดที่เราทำแล้วไม่ได้ข้อมูลป้อนกลับหรือ Feedback ในทันที ก็ยากจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นถ้าอยากเก่งขึ้นไวๆ ก็ต้องหาทางทำให้ได้ฟีดแบคกลับให้ไวที่สุด เพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงตัวเองให้เก่งขึ้นเร็วๆ ครับ

และอีกเรื่องที่น่าตลกคือมนุษย์เรามักคิดเข้าข้างตัวเองในแง่ดี มักคิดว่าตัวเองพิเศษกว่าปกติ หรือเหนือกว่าคนอื่นก็นับว่าเป็นการด่วนตัดสินใจ ซึ่งสิ่งนี้ก็มีชื่อเรียกว่า Above-Average Effect ครับ

ถ้าเราจะเอามาประยุกต์ใช้ในการทำงานอาจจะเป็นการชมเขานิดๆ แต่ไม่มากเกินไป แต่ถ้าจะเอามาประยุกต์ใช้กับตัวเองต้องพยายามอย่าหลงเข้าข้างตัวเองมากเกินไปจนทำให้คนอื่นหมั่นใส้เอาได้ครับ

หรือเรามักด่วนตัดสินใจว่าอะไรที่เป็นของเรามักมีค่ามากเกินจริง นั่นก็มีชื่อเรียกว่าอคติจากการครอบครอง เช่นเดียวกันรวมถึงคำว่าต้นทุนจม หรือ Sunk-cost fallacy เพราะเราลงทุนลงแรงกับมันไปแล้วทำให้ยากที่จะยอมถอนตัว หรือเข้าทำนองสุภาษิตที่ว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย นั่นเองครับ

และการด่วนตัดสินใจหรือคิดแบบเหมารวมยังคงครอบคลุมไปถึงเรื่องการประเมินความสุขหรือความเจ็บปวดที่เกินจริง

จากการทดลองบางอย่างที่ต้องเกิดความเจ็บปวดขึ้นต่อร่างกายทำให้พบ insight บางอย่างที่น่าสนใจก็คือ ถ้าระยะเวลาความเจ็บปวดเกิดขึ้นน้อยกว่า คนจะตัดสินว่านั่นคือประสบการณ์ที่แย่มากกว่าอีกเหตุการณ์หนึ่ง นั่นก็คือมีระยะเวลาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเท่ากันแต่นานกว่า ที่คนเลือกบอกว่าเหตุการณ์หลังนั้นดีกว่าเหตุการณ์แรกไม่ใช่เพราะค่าเฉลี่ยของความเจ็บปวดน้อยกว่า แต่เป็นเพราะร่างกายเราเริ่มชิน หรือความเจ็บปวดที่เป็นประสบการณ์จบตอนท้ายนั้นทุเลากว่าแบบแรกครับ

และในขณะเดียวกันกับประสบการณ์ความสุขก็เหมือนกัน ถ้าตอนจบแฮปปี้เอนดิ้งก็จะส่งผลให้คนคิดว่าทั้งหมดนั้นดีแม้ตอนแรกจะแย่มาตลอดก็ตาม

นั่นเลยเป็นเหตุผลว่าทำไมสวนสนุกอย่าง Disneyland ถึงเลือกที่จะทำงานพาเรดตอนจบที่อลังการ รวมไปถึงพลุไฟมหาศาล นั่นก็เพื่อต้องการสร้างความประทับใจตอนจบเพื่อให้คนรู้สึกอยากกลับมาที่สวนสนุกแห่งนี้อีกครั้งครับ

อีกหนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักกอล์ฟมืออาชีพ เมื่อทำการสำรวจพบว่านักกอล์ฟเก่งๆ จะไม่ตั้งเป้าหมายว่าต้องตีให้ได้ Birdie หรือตีให้ได้คะแนนดีแต่แรก แต่นักกอล์ฟเก่งๆ จะเลือกตั้งเป้าหมายว่าจะตีให้ได้แค่ Par ในทุกหลุม เพราะนั่นคือการไม่สร้างความกดดันให้ตัวเองจนทำให้ผิดหวังถ้าทำไม่ได้ตามเป้าหมาย

ก็เลยเลือกใช้วิธีการตั้งเป้าหมายให้พอดีและปลอดภัย ส่วนเกินที่ได้คือรางวัลซึ่งจะย้อนกลับมาเป็นกำลังใจให้เราตีได้ดีขึ้นในหลุมถัดไปนั่นเอง

ข้อคิดข้อสุดท้ายที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ นั่นก็คือมนุษย์เราจะประเมินว่าจะลงมือ ลงแรง หรือลงทุนทำสิ่งใดก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขสำคัญสองข้อนี้ นั่นก็คือ Posibility effect กับ Certainty effect ครับ

Possibility effect คือการทำเพื่อสร้างโอกาสจากที่ไม่มีเลยให้มีความเป็นไปได้ขึ้นมาแม้จะน้อยนิด นั่นคือเปลี่ยนจาก 0 ให้กลายเป็น 1 หรือ 5 โอกาสเล็กๆ แค่นี้เรียกว่าความหวังว่าจะมีโอกาสได้เกิดขึ้นจริง ดีกว่าไม่มีโอกาสได้เกิดขึ้นเลย

Certainty effect คือการทำเพื่อปิดโอกาสเสี่ยงให้เกิดความแน่นอน นั่นเลยเป็นเหตุผลที่สินค้าอย่างประกันถึงขายได้เพราะคนต้องการปิดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิต ส่วนเหตุผลแรกก็ทำให้หวยขายดิบขายดีเพราะคนต้องการความหวังครั้งใหญ่แม้จะมีโอกาสน้อยนิดก็ตาม

สองสิ่งนี้สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับเรื่องการตลาดและธุรกิจได้สบาย ลองดูนะครับว่าสินค้าหรือบริการของคุณจะเข้ามาตอบเรื่องไหนของมนุษย์ ระหว่างสร้างโอกาสจากไม่มีให้เป็นไปได้ กลับการทำให้คนรู้สึกมั่นใจว่าไม่ต้องเสี่ยงอีกต่อไปนั่นเอง

และนี่ก็คือการสรปหนังสือ Thinking Fast and Slow คิดเร็วและช้า ส่วนที่ 2 หนังสือดีๆ ที่แนะนำให้ทุกคนได้อ่าน โดยเฉพาะนักการตลาดและเจ้าของธุรกิจครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 39 ของปี 2020

สรุปหนังสือ Thinking Fast and Slow คิดเร็วและช้า Daniel Kahneman แปลไทย สำนักพิมพ์ We Learn เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม System 1 System 2

สรุปหนังสือ Thinking Fast and Slow คิดเร็วและช้า แปลไทย
สำรวจความบกพร่องในการตัดสินใจของมนุษย์ ผ่านมุมมองของนักคิด และนักจิตวิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค
Daniel Kahneman เขียน
สำนักพิมพ์ We Learn

20201006

อ่านสรุปหนังสือแนวเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/behaviour-economics/

สนใจซื้อหนังสือ Thinking Fast and Slow แปลไทย > https://click.accesstrade.in.th/go/UOtdcHM7

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/