สรุปหนังสือ AI Super Powers ฉบับแปลไทย KAI-FU LEE โลกในยุค AI จะไปทางไหนระหว่างจีนกับอเมริกา Startup จีนวันนี้ใช้ AI เทียบกับอเมริกาเป็นอย่างไร

หนังสือ AI Super Powers เล่มนี้ที่เขียนโดย Kai-Fu Lee ทำให้เราเข้าใจภาพอนาคตของ AI ในสังคมโลกด้วยบริบททางธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเมืองต่างๆ ถ้าใครอยากจะเข้าใจว่า AI จะส่งผลกระทบต่อสังคมมนุษย์และชีวิตเราทุกคนอย่างไร หนังสือมีคำตอบที่ดีให้เลยครับ

และในขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ยังมีเกริ่นถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ AI ในอดีตเล็กน้อยแต่จะเน้นหนักมาตรงปัจจุบัน ว่าการนำเอา AI ไปใช้งานนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบไหนบ้างที่เราอาจจะนึกไม่ถึง หรือใช้อยู่ทุกวันแต่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่านั้นคือ AI

แต่สิ่งสำคัญที่สุดของหนังสือเล่มนี้คือการฉายภาพให้เห็นว่าการเมืองระดับโลกระหว่างจีนกับอเมริกานั้นจะออกมาในรูปแบบไหน ประชาธิปไตยเสรีนิยม หรือสังคมนิยมแบบเศรษฐกิจเสรี รูปแบบการเมืองการปกครองแบบใดกันที่จะกลายเป็นผู้นำโลกในยุค AI

เริ่มต้นต้องบอกว่าหัวใจของ AI ยุคใหม่ทุกวันนี้ไม่ใช่การคิดค้นสิ่งใหม่ของ AI ขึ้นมา แต่เป็นยุคของการประยุกต์ใช้ ว่าใครจะสามารถเอา AI ไปต่อยอดใช้งานให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจมากที่สุดครับ

เพราะตั้งแต่เทคนิค Deep learning ถือกำเนิดขึ้นมา บวกกับ Neural network และด้วยส่วนผสมพื้นฐานของ Hardware นั้นพร้อมในการประมวลผลที่รวดเร็วและซับซ้อน บวกกับโลกเราก้าวเข้าสู่ยุค Digital แบบเต็มตัวส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Big data หรือเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของการทำให้ AI เกิดขึ้นได้และใช้งานได้จริงและทำให้เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวมากขึ้นทุกวัน

และจีนก็เป็นชาติหนึ่งในโลกที่กำหนดให้ AI เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาชาติอย่างจริงจัง ซึ่งจุดกำหนดสำคัญที่ทำให้จีนจริงจังเรื่องนี้ก็คือตอนที่ Alpha Go ของ Google แข่งหมากล้อมหรือโกะ ชนะแชมป์โลกจนกลายเป็นข่าวดังในสายเทคโนโลยีในตอนนั้น

ซึ่งการเอาชนะหมากล้อมหรือเกมโกะของ AI อย่าง Alpha Go ในตอนนั้นก็เปรียบได้กับตอนที่โซเวียตส่งดาวเทียมขึ้นไปยังอวกาศแล้วโคจรรอบโลกได้เป็นครั้งแรก

จากการจุดเล็กๆ นั้นเองทำให้อเมริกาตื่นตัวกลัวอย่างมากจนตั้งเป้าภารกิจว่าพวกเขาจะต้องออกไปนอกโลกให้ได้เช่นกัน แต่ไม่ได้แค่เอาอะไรไปโคจรรอบโลกแล้วส่งสัญญาณวิทยามาแบบที่อเมริกาทำนะ แต่พวกเขาจะพาคนอเมริกาไปเดินบนดวงจันทร์ให้ได้

จากจุดนั้นทำให้ทรัพยากรทั้งชาติถูกระดมมาเพื่อภาระกิจนี้เป็นการณ์หลัก และจากการพยายามจะไปเดินบนดวงจันทร์ทำให้อเมริกาได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นนวัตกรรมมากมายที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับผู้คนและภาคธุรกิจ และนั่นก็ส่งผลให้อเมริกากลายเป็นชาติมหาอำนาจของโลกต่อมาหลังจากนั้น

และความต่างอีกอย่างของ AI คือ แม้จะเป็น AI เหมือนกันแต่ก็ถูกนำไปใช้ไม่เหมือนกัน บางที่ยังคงค้นคว้าเรื่อง AI เพิ่มเติม แต่สำหรับจีนไม่ได้ทำแบบนั้น เพราะพวกเขากำลังหาทางประยุกต์ใช้ AI ที่มีให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจและเศรษฐกิจมากที่สุดครับ

ก็เหมือนกับไฟฟ้าเมื่อกำเนิดขึ้นมาแล้วก็ไม่ได้มีใครคิดค้นไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมแต่อย่างไร แต่หลังจากไฟฟ้าถือกำเนิดขึ้นมาก็ทำให้เกิดนักนวัตกรรมมากมายที่หาทางประยุกต์ใช้ไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นที่จีนกำลังทำอยู่ทุกวันนี้ครับ

สมัยก่อนความได้เปรียบใดๆ ล้วนมาจากการมีบุคคลากรที่เก่งกาจในขนาดที่เก่งกว่าคนเก่งทั่วไป แต่พอเป็นยุค AI นั้นเปลี่ยนไปครับ เพราะคุณเอาแค่วิศวกรด้านข้อมูลที่เก่งแบบกลางๆ ก็พอ สิ่งสำคัญที่จะทำให้เก่งกว่าคือ Data ที่มีที่จะเอามาใช้เทรน AI ให้เก่งกว่ากันครับ

ทำให้แม้จีนจะไม่มีคนที่เก่งขั้นเทพในเรื่อง AI เหมือนฝั่งอเมริกาโดยเฉพาะที่กระจุกตัวอยู่ใน Google แต่ทางจีนก็มีกองทัพคนเก่งมากมายที่จะมาช่วยกันทำให้ AI ของตัวเองบวกกับ Data มหาศาลที่ทางรัฐบาลเตรียมปูพื้นฐานไว้ให้ มาทำให้ AI ของตัวเองเก่งล้ำจนสามารถแซงอเมริกาได้ในเร็ววันครับ

แถมวันนี้จีนยังแซงหน้าอเมริกาไปแล้วในฐานะชาติผู้ผลิต Data มากที่สุด แถม Data ที่ผลิตขึ้นมาก็ถูกออกแบบเอาไว้ให้กลับไปป้อนให้ AI ฉลาดยิ่งๆ ขึ้น

จีนเองเป็นชาติที่ผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อทำทุกสิ่งทุกอย่างมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกมานานแล้ว จะกินจ่ายอะไรก็สแกน QR Code มาก่อนบ้านเรานานมาก ทำให้พวกเขามี Data มากมายป้อนกลับไปสอน AI กลายเป็นจุดได้เปรียบจากความด้อยพัฒนาที่ทำให้สามารถแซงหน้าได้สบายๆ ในวันนี้

และนั่นก็คือความน่ากลัวของผู้นำด้าน AI เพราะถ้า AI คุณฉลาดแซงหน้าคนอื่นแล้วก็ยิ่งจะทำให้คนอยากเข้ามาใช้งาน และนั่นก็จะเป็นการสร้าง Data ใหม่ๆ เข้ามาป้อน AI ตัวเดิมให้เก่งยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เรียกได้ว่าเป็นวงจรความได้เปรียบของ AI แบบยกกำลังเท่าทวีคูณไปเรื่อยๆ เลยครับ

ทีนี้พอมี AI ที่ฉลาดมากพอบรรดาประเทศพัฒนาแล้วที่ค่าแรงแพง ที่จากเดิมจะส่งงานผลิตออกนอกประเทศเพื่อลดต้นทุนก็จะสามารถดึงการผลิตกลับเข้ามาในประเทศ แต่จะไม่ได้เป็นการจ้างงานเพิ่มอย่างที่นักการเมืองคาดหวัง เพราะเค้าสามารถเอา AI มาช่วยในการผลิตหรือเอาหุ่นยนต์ต่างๆ มาใช้ ผลคือเกิดแต่โรงงานขึ้นแต่ไม่มีคนในโรงงาน ก็ยิ่งเป็นการทำร้ายประเทศกำลังพัฒนาที่เคยมีจุดได้เปรียบตรงค่าแรงถูกในวันวาน กลายเป็นไม่มีงานจากต่างประเทศให้ทำอีกต่อไป

เหมือน Apple ดึงการผลิตจากจีนกลับไปสู่อเมริกาบางส่วน แต่พอเอาโรงงานกลับไปก็ใช้คนจริงๆ น้อยมาก เพราะหุ่นยนต์ต่างๆ สามารถทำงานแทนคนได้เกือบหมดแล้ว เคยเห็นตัวอย่างโรงงานผลิตอาหารจากหุ่นยนต์หรือสายพานการผลิตทั้งโรงงานได้ไหมครับ เกี๊ยวที่เราชอบกินตามร้านสะดวกซื้อก็ล้วนแต่ทำจากหุ่นยนต์หรือ AI หรือบริษัทญี่ปุ่นบางรายเริ่มดึงการผลิตกลับไปยังญี่ปุ่น และก็เช่นเดียวกันครับใช้หุ่นยนต์ทำหมดไม่ได้ใช้คนอีกต่อไป ดังนั้นการดึงงานกลับไปในวันนี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มเท่าเดิมในยุคก่อน AI แต่อย่างไร

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า ชาติที่เอาแต่ก๊อปปี้คนอื่นจะกลายมาเป็นผู้นำโลกในด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจครับว่า แม้วันวานพวกเขาจะเก่งเรื่องการก๊อป แต่รู้ไหมครับว่าเพราะการก๊อปนั้นแหละทำให้พวกเขาได้ค้นพบการเอามาประยุกต์ใช้ในแบบของตัวเอง

หรือที่หลายคนชอบเรียกว่า “เลียนรู้”

หรือเรียนรู้ผ่านการเลียนแบบในช่วงแรก พวกเขาไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรใหม่ แค่ลองเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วและคิดว่าดีมาลองทำดู จากนั้นก็เอามาปรับปรุงให้กลายเป็นสไตล์ของตัวเอง จนวันนี้หลายอย่างที่ดูเหมือนจะก๊อปปี้ไอเดียฝั่งอเมริกามามากมาย กลับล้ำหน้าไปไกลต้นแบบในจุดเริ่มต้นของการก๊อป จนหลายบริษัทมีมูลค่ามหาศาลแซงหน้าวันแรกที่ก๊อปไปไกลแล้วครับ

Taobao ของ Alibaba เองตอนแรกก็เหมือนจะลอก eBay มา แต่ผ่านมาสักพักก็ค่อยๆ ถูกนำมาปรับให้เข้ากับสไตล์จีนที่ไม่เหมือนกับอเมริกา มีทั้งการแชทคุยกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย มีทั้งการสร้างระบบความน่าเชื่อถือแบบจีนๆ ไปจนถึงระบบการจ่ายเงินมาไว้กับ Alibaba เพื่อป้องกันการโกง มาวันนี้ Taobao ของจีนนั้นแซงหน้า eBay ไปคนละเรื่องกันเลย

Baidu เองที่ดูเหมือนจะลอง Google มาก็ต่างกับ Google ต้นตำรับอเมริกาโดยสิ้นเชิง เพราะพฤติกรรมการท่องอินเทอร์เน็ตของคนจีนนั้นไม่เหมือนกับคนอเมริกาแต่อย่างไร Google อเมริกาพอกดแล้วจะออกจากหน้า Google ไป เพราะคนอเมริกาต้องการคำตอบที่ใช่แล้วมุ่งหน้าสู่คำตอบนั้นที่ดีที่สุด

แต่ Baidu นั้นต่างเพราะถูกปรับการทำงานให้เข้ากับพฤติกรรมการใช้ของคนจีนมากกว่า คนจีนเวลาเล่นเน็ตไม่ได้ต้องการคำตอบสุดท้ายคำตอบเดียว แต่พวกเขาชอบจะค้นหาคำตอบไปเรื่อยๆ ด้วยตัวเอง ทำให้เวลาคลิ๊กผลลัพธ์จากการ Search ของ Baidu ระบบจะไม่เปลี่ยนหน้าการค้นหาเห็นหน้าที่คลิ๊ก แต่จะเปิด pop-up หน้าเว็บใหม่ขึ้นมาเป็นอันที่คลิ๊ก เพราะคนจีนชอบคลิ๊กไปเรื่อยๆ แล้วก็ค่อยมาไล่ดูพิจารณาด้วยตัวเองว่าจะเชื่ออันไหนครับ

ดังนั้นผลผลิตล้ำค่าจากยุคก๊อปปี้ของจีนคือตัวผู้ประกอบการนักสู้ทั้งหลาย และนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่พร้อมทุ่มสุดตัวเพื่อความร่ำรวยนั่นเอง

เพราะยักษ์ใหญ่จากอเมริกามักจะคิดว่าทุกคนในโลกล้วนต้องการของที่เหมือนกัน พวกเขาเลยไม่คิดจะปรับ Products ของตัวเองให้เข้ากับผู้คนในแต่ละประเทศที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันไป แล้วบังเอิญผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนก็ใหญ่มากจนชาวจีนรู้สึกว่าแม้ฉันจะเอาไอเดียตั้งต้นจากเธอมา แต่พอผ่านไปสักปีของฉันกับเธอก็ไม่เหมือนกันอีกต่อไป

เพราะฉันรู้ว่าคนบ้านฉันเขาใช้สิ่งนี้แบบไหน ในเมื่อเธอไม่ทำให้ฉันก็ขอทำในแบบของฉันแล้วกัน

เจอแบบนี้เข้าไปไม่กล้าเรียกว่าก๊อปอีกเลยครับ เพราะการก๊อปคือการเอามาใช้ทั้งดุ้นหรือทำให้เหมือนมากที่สุด จากนั้นพอต้นฉบับปรับอย่างไรก็ต้องรีบปรับตามให้เหมือนตลอดเวลา แต่วิธีการทำธุรกิจของจีนคือถ้าสิ่งไหนดีหรือน่าสนใจก็จะลองสร้างเลียนแบบขึ้นมาทุกอย่าง จากนั้นก็จะเฝ้าดูว่าคนจีนในประเทศเอาของสิ่งที่ทำขึ้นมาไปใช้แบบไหน แล้วก็ค่อยๆ ปรับให้เข้ากับพฤติกรรมไลฟ์สไตล์ไปเรื่อยๆ ครับ

อีกข้อที่น่ากลัวของจีนคือนิสัยการทำงานแบบคำว่าบ้างานยังฟังดูน้อยไป Kai-Fu Lee บอกว่าคนจีนทำงานกันแบบหนักมาก 4 ทุ่มเลิกงานเป็นเรื่องปกติ แม้กลับมาบ้านแล้วเจ้านายก็ยังสามารถส่งข้อความมาตามเรื่องงานได้โดยไม่รู้สึกเสียมรรยาท แถมถ้าส่งข้อความเรื่องงานไปตอนสองทุ่ม ถ้าสามทุ่มไม่ตอบเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานจะถือว่าผิดปกติแล้ว

และนั่นก็ทำให้คนอเมริกาหรือชาวตะวันตกยากจะเข้าใจวัฒนธรรมนี้ พวกเขามีเวลาเข้างานและเลิกงานชัดเจน แถมวันหยุดบริษัทก็ไม่สามารถตามงานได้ ทำให้คนอเมริกาไม่สามารถทำงานตามคนจีนได้ทันแล้วในวันนี้ ถึงขนาดคนอเมริกาที่ทำงานกับคนจีนบอกว่า เราทำงานแบบ Silicon Valley นะไม่ใช่แบบ China นั่นคือบอกให้รู้ว่าพวกเขามีเวลาเลิกงานที่ไม่ต้องการพูดคุยเรื่องงานอีกต่อไป

เรื่อง Culture การส่งข้อความเสียงแทนการพิมพ์แชทของจีนก็น่าสนใจ แม้ WeChat ในตอนแรกจะดูเหมือนเป็นแอปที่ก๊อปแอปส่งข้อความเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ในฟีเจอร์ต่างๆ ของ WeChat นั้นก้าวล้ำไปไกลกว่าแอปอื่นๆ มากในวันนั้น โดยเฉพาะการส่งข้อความเสียงผ่าน WeChat ที่ดูเหมือนคนจีนช่างเป็นชาติที่โหวกเหวกโวยวายในสายตาชาติอื่นนั้นก็เพราะการพิมพ์ตัวอักษรจีนในมือถือนั้นไม่ง่าย ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะส่งข้อความเสียงไปตรงๆ นั้นสะดวกกว่า

ในฐานะที่เคยผลักดัน WeChat ในไทยตอนแรกแต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จทำให้เข้าใจว่า พฤติกรรมการส่งข้อความเสียงแทนการพิมพ์ของคนจีนนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรนำมาผลักดัน และผู้บริหารบางคนในวันนั้นก็ไม่เข้าใจบริบทของการส่งข้อความเสียงของคนจีน ได้แต่บอกว่าเราต้องผลักดันฟีเจอร์การพูดส่งข้อความให้เป็นที่นิยมในไทยให้ได้

จาก Country Insight สู่ Feature ถ้าเราผลักดัน Feature ใดๆ โดยไม่เข้าใจถึงบริบทที่มาที่ไปของมัน ก็ยากที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดได้ในอีกพื้นที่นึงครับ

จุดต่างของ Startup อเมริกากับจีนก็น่าสนใจในแบบที่ไม่เคยรู้มาก่อน

Startup อเมริกา(และก็น่าจะเป็นต้นแบบของ Startup ไทยมากมาย) มักจะทำแค่การเขียนโปรแกรมหรือแพลตฟอร์มออกมาแล้วปล่อยให้ผู้คนเข้ามาใช้ด้วยตัวเอง ส่วน Startup จีนนั้นต่างกันพวกเขาไม่ได้ทำแค่แพลตฟอร์มตัวกลางแต่อย่างเดียว แต่พวกเขาลงไปสร้างทั้ง Ecosystem ขึ้นมา เช่น Didi แอปสตาร์ทอัพเรียกรถในจีนไม่ได้ทำแค่แอปจับคู่ระหว่างคนนั่งกับคนขับแบบ Uber แต่พวกเขายังลงไปส่วนอื่นๆ ของ Ecosystem ของแอปตัวเอง ตั้งแต่อู่ซ่อม ปั๊มน้ำมัน บริการประกัน หรือเงินกู้อื่นๆ

นี่แหละครับความน่าสนใจของ Startup Asia แบบจีนที่ไม่เหมือนใคร ไม่ได้หวังรวยเป็น Unicorn จากการทำแค่แอป แต่พวกเขาเลือกที่จะกินรวบทุกอย่างในห่วงโซ่ธุรกิจของตัวเองจนมีมูลค่ามหาศาลแซงหน้า Startup ดังแบบเงียบๆ ครับ

Kai-Fu Lee ก็บอกว่า AI ในวันนี้กำลังจะแยกออกไปเป็นสองแบบ อันดับแรก AI เป็นเหมือนไฟฟ้า สามารถเสียบปลั๊กใช้ได้แบบเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือคิดถึงการเอา AI สำเร็จรูปไปประยุกต์ใช้ได้แบบง่ายๆ กับอีกแบบคือ AI แบบแบตเตอรี่ ที่ต้องถูกสร้างปรับแต่งให้เหมาะกับแต่ละธุรกิจที่แตกต่างไป

ตัวอย่างใกล้ตัวของ AI ที่เหมือนไฟฟ้าผมนึก AI as a service ของ Microsoft ที่ผมรู้จัก หรือของ Amazon เองก็เริ่มเอาบริการ AI สำเร็จรูปหลายๆ แบบมาเปิดให้คนที่ต้องการเอาไปใช้กับธุรกิจสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้สบายๆ ครับ

ส่วนหลายคนชอบคิดว่า AI จะเข้ามาแย่งงานคนทำงานในปัจจุบันไปผมบอกได้เลยว่าคุณคิดถูกแค่ครึ่งเดียวครับ เพราะในความเป็นจริงแล้ว AI จะไม่ได้แค่เข้ามาแย่งงานใครบางคนในบริษัทคุณไป แต่ AI สามารถเข้ามาทำลายทั้งอุตสาหกรรมนั้นไปได้เลย

เช่น AI ที่เข้ามาช่วยประเมินและคัดกรองการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งงานหลายส่วนของภาค Finance สามารถเอา AI มาใช้ทดแทนหลายตำแหน่งงานได้สบาย ตั้งแต่การประเมินเบื้องต้น การวิเคราะห์เอกสาร การตามทวงหนี้ การคำนวนดอกเบี้ยและอื่นๆ จากที่เคยมีคนทำงาน 10 คนในการปล่อยเงินกู้ อาจจะเหลือแค่คนเดียวหรืออาจจะกลายเป็น AI Business ก็เป็นได้ในอนาคตครับ

เพราะมนุษย์เองก็มีข้อจำกัดในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่มีทางสู้กับ AI ได้ เราประเมินได้แค่ข้อมูลเบื้องต้นที่เด่นชัดต่อสถานะทางการเงิน แต่ AI สามารถหาความสัมพันธ์ต่อการประเมินว่าคนๆ นี้จะสามารถคืนเงินกู้ได้หรือไม่จากการดูแบตเตอร์รี่ในโทรศัพท์มือถือ จากระยะเวลาในการพิมพ์ชื่อและนามสกุลเวลากรอกข้อมูลเข้าระบบ แม้ AI จะบอกไม่ได้ว่าทำไมสิ่งนี้จึงส่งผลต่อการคืนเงินกู้ในอนาคต แต่จากข้อมูลเป็นล้านๆ ทำให้เราสามารถค้นพบรูปแบบใหม่ๆ ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกันของคนที่จ่ายเงินคืนตรงเวลากับคนที่ไม่จ่ายเงินคืนตรงเวลาหรือแม้แต่เบี้ยวหนี้ไป ผมว่าความสนุกของการทำงานอีกหน่อยคือการที่เราต้องไปตามทำความเข้าใจ Insight จาก Data บางอย่าง การทำ Marketing Research ก็จะสนุกขึ้นอีกมากครับ

O2O นั้นเชยไปสำหรับจีน เพราะคนจีนวันนี้เขา OMO หรืออ่านว่า โอโม่

OMO ย่อมาจาก Online Merge Offline หมายความว่าเราอาจจะกดสั่งอาหารทางออนไลน์ผ่านมือถือตอนกำลังกลับบ้าน จากนั้นอาหารก็จะมาส่งที่บ้านตอนเราอาบน้ำเสร็จพอดี หรือพอเราสั่งสินค้าทางออนไลน์ที่ทำงานตอนเช้า เย็นวันเดียวกันเราอาจจะเดินไปรับสินค้าที่ห้างใกล้บ้านเลยก็ได้

ชีวิตวันนี้ไม่มีการแยกเส้นออนไลน์หรือออฟไลน์ระหว่างกัน เพราะชีวิตเราแทบทุกคนโดยเฉพาะคนเมืองทั่วโลกไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ออนไลน์ หรือขาดอินเทอร์เน็ตครับ

คิดภาพง่ายๆ ว่าเราลืมเอากระเป๋าเงินยังสามารถกดเงินผ่านมือถือหรือโอนเงินผ่านออนไลน์ได้ แต่ถ้าเราเอามือถือออกจากบ้านเราจะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเลยครับวันนี้

ความทุ่มสุดตัวของจีนต่อ AI ไม่ใช่แค่การสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่พวกเขายังถึงขนาดสร้างเมืองใหม่สภาพแวดล้อมแบบใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ตอบรับกับเทคโนโลยี AI

ตัวอย่างเช่นรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองได้ด้วย AI ในอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ นั้นถูกกฏระเบียบกฏหมายเก่าบีบเอาไว้ให้ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงโดยง่าย ทำให้ความก้าวหน้าในเรื่องนี้เป็นไปอย่างช้ามาก

แต่ที่จีนนั้นกลับมองเรื่องนี้ไปอีกแบบ พวกเขาเลือกที่จะสร้างเมืองใหม่เพื่อเอาเทคโนโลยีใหม่มาทดลองใช้ แล้วก็สร้างกฏระเบียบใหม่ให้เข้ากับเทคโนโลยี AI ต่างๆ เช่น สร้างเมืองที่เป็น Smart City ขึ้นมาเพื่อให้รถยนต์บนถนนต้องเป็นรถขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วย AI เท่านั้น จากนั้นถ้าเมืองนี้ประสบความสำเร็จก็จะถูกเอาไปประยุกต์ใช้กับเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีนได้สบายๆ

เรื่องนี้ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่จีนเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่อเมริกาหรือตะวันตกชาติใดจะตามได้ทัน สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อนวัตกรรมนั้นสำคัญมาก ซึ่งทางรัฐบาลจีนนั้นพร้อมจะทุ่มกับเรื่องนี้สุดตัวอยู่แล้วครับ

สุดท้ายนี้หลายคนเริ่มกังวลว่าเมื่อ AI ฉลาดเข้ามามากๆ แล้วมนุษย์เราจะไปอยู่ตรงไหนในสังคม ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางคำตอบให้บางส่วนครับ ในจีนมีแอปหนึ่งที่พัฒนามาเพื่อกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวเพราะลูกหลานไม่มีเวลามาดูแล

แอปตัวนี้ฉลาดมาก ผู้สูงอายุไม่ต้องกดพิมพ์ใดๆ ที่หน้าจอ แค่พูดว่าตัวเองอยากได้อะไรแล้ว AI จะประมวลผลคำพูดออกมาแล้วก็สั่งการฟีเจอร์ต่างๆ ให้ด้วยตัวเอง แต่ผลปรากฏว่าฟีเจอร์ที่ถูกเรียกใช้ที่สุดของผู้สูงอายุกลุ่มนี้กลับเป็นการพูดคุยกับพนักงาน

ไม่ใช่เพราะพวกเขามีปัญหาใดในการใช้งานแอปหรือการใช้ชีวิตกินอิ่มอยู่ท้องในแต่ละวันนะครับ แต่พวกเขารู้สึกเหงาที่ชีวิตมีครบทุกอย่างแต่ขาดคนสนทนาด้วย

ดังนั้นมนุษย์เราจะได้กลับมาทำหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ด้วยกันมากขึ้น จากที่เคยก้มหน้างกๆ ทำงานเดิมๆ ให้เสร็จไป เราจะได้เงยหน้าขึ้นมาพูดคุยกันมากขึ้นเมื่อ AI ช่วยวินิจฉัยแล้วว่าคนไข้ตรงหน้าป่วยเป็นอะไร แล้วเราควรจะสื่อสารกับเขาในเรื่องนี้อย่างไรดี

ดังนั้นทั้งหมดนี้บอกให้รู้ว่ายิ่ง Technology ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ ความ Empahy ในมนุษย์ก็ยิ่งทวีความสำคัญมากเท่านั้น

นี่คืออนาคตของ AI ในบริบทของสังคมโลกและการใช้ชีวิตเรา จีนหรืออเมริกาจะก้าวมาเป็นผู้นำโลกในยุค AI ก็ยังเป็นแค่การคาดเดา แต่ถ้าดูจากบริบททั้งหมดที่ Kai-Fu Lee กล่าว ก็ดูเหมือนว่าจะโน้มเอียงมาทางจีนมากกว่าอเมริกาพอสมควร

ทีนี้พออ่านจบเล่มนี้ก็ทำให้ผมนึกภาพของเศรษฐกิจและสังคมไทยบ้านเราจะก้าวหน้าไปอย่างไร และก้าวหน้าไปในทิศทางไหนในยุค AI ของศตวรรษที่ 21

บอกเลยว่าเดายากมาก ในเมื่อบ้านเรายังขาด Data ที่มีคุณภาพมากพอที่เปิดกว้างให้นักพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่สามารถหยิบเอาไปต่อยอดใช้งานสร้าง AI เพื่อจะได้สร้างผลกำไรกลับมาจ่ายเป็นภาษีประเทศมากขึ้น

อ่านจบแล้วก็เกิดความคิดอยากจะผลักดัน Open Data ในบ้านเราให้มีคุณภาพและใครๆ ก็สามารถก้าวเข้ามาใช้งานได้ ใครมีความคิดอยากจะทำเรื่องนี้อยากให้ผมช่วยตรงไหนขอให้บอกมา ยินดีจะเอาทุกสิ่งที่รู้มาช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเปิดกว้างเรื่อง Data จะได้เป็นอีกหนึ่งชาติที่ใช้ Data-Driven Everything ครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 2 ของปี 2021

สรุปหนังสือ AI Super Powers ฉบับแปลไทย KAI-FU LEE โลกในยุค AI จะไปทางไหนระหว่างจีนกับอเมริกา Startup จีนวันนี้ใช้ AI เทียบกับอเมริกาเป็นอย่างไร

สรุปหนังสือ AI SUPER POWERS ฉบับแปลไทย
จีน อเมริกา มหาอำนาจ Technology เงินตรา อนาคต
KAI-FU LEE เขียน
วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา แปล
สำนักพิมพ์ Bingo

20210107

อ่านสรุปหนังสือที่เกี่ยวกับจีนในอ่านแล้วเล่าต่อ > https://www.summaread.net/category/china/

สนใจสั่งซื้อ > https://bit.ly/35uLhpd

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/