สรุปรีวิวหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก จากสรุปหนังสือ Mawa Way เล่มแรก Start Up เปลี่ยนโลก ที่อ่านแล้วสนุกจนไม่อยากวาง เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท Softbank บริษัทญี่ปุ่นที่ก่อตั้งโดยคนเกาหลี ที่โด่งดังระดับโลกจากการเข้าไปลงทุนใน Startup ดังๆ มากมายทั่วโลก ทำให้จากงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปี 2022 นี้ ผมบังเอิญเห็นเล่มนี้จากบูทสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ ทำให้หยิบมาจ่ายเงินโดยไม่ลังเล เพราะเชื่อจากเล่มแรกว่าต้องสนุกมากแน่นอน
ซึ่งภาพรวมของหนังสือเล่มนี้คือไม่ได้เล่าประวัติอะไรที่สนุกโลดโผนแบบเล่มแรก แต่เป็นเรื่องราวของปัจจุบันและค่อนข้างเน้นไปยังวิกฤตล่าสุดที่ Softbank ไปลงทุนใน WeWork ที่ตัวบริษัทเองกำลังมีปัญหาอยู่ ไปจนถึงการอธิบายวิธีการลงทุนของ Softbank เป็นส่วนใหญ่ ว่าแตกต่างจากบริษัท Holding อย่างไร ซึ่งค่อนข้างเหมาะกับผู้บริหารจ๋าๆ ที่อยากจะหาวิธีการบริหารจัดการบริษัทและการเงินให้คล่องตัว
ซึ่งเมื่อ WeWork เกิดข่าวฉาวในแวดวง Startup ส่งผลให้มูลค่าบริษัทหายไปมหาศาล หลายคนก็มองว่านี่อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ Softbank กระอักหรือล้มได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็อธิบายว่า WeWork ไม่ใช่ทั้งหมดของเงินที่ Softbank เอาไปลงทุน แต่เป็นแค่หนึ่งในหลายสิบบริษัทที่ Softbank เลือกลงทุนด้วย ดังนั้นแม้ WeWork จะเกิดปัญหาใหญ่ แต่ปัญหานั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ของ Softbank หรือ Masa แต่อย่างไร
เพราะมีถึง 15 บริษัทที่ Softbank เข้าไปลงทุนแล้วเข้า IPO เรียบร้อย นั่นหมายความว่ามูลค่าหุ้นที่ Softbank ถืออยู่จะมีมูลค่าสูงขึ้นมหาศาล และบริษัทอื่นๆ ที่ Masa เข้าไปลงทุนก็ยังทำกำไรได้ดี
ในบริษัทที่กองทุนแรกเข้าไปลงทุน ทำผลตอบแทนได้มากถึง 260% ส่วนกองทุนที่สองของ Softbank เองก็สามารถทำผลตอบแทนได้สูงถึง 470% ครับ
ดังนั้นในช่วงโควิด19 เองที่คาดว่าถ้ากองทุน Softbank ทำเงินได้สัก 950,000 ล้านเยนก็เก่งแล้ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อปิดปีสามารถทำรายได้มากถึง 1.35 ล้านล้านเยน เรียกได้ว่าทะลุเป้าไกลจนน่าอิจฉาทีเดียว
แต่อ่านดูก็รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายเคส WeWork ที่ดูเหมือนจะส่งผลย่ำแย่ต่อ Softbank อย่างหนักตามสื่อต่างๆ ไม่ค่อยส่งผลมากสักเท่าไหร่ แถมทาง Softbank เองก็หากลยุทธ์ที่จะกู้คืนการลงทุนกลับคืนมา ตั้งแต่ลงทุนเท่าเดิมแต่ได้หุ้นเพิ่มขึ้น แล้วก็ใช้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นใหญ่เอาคณะกรรมการเข้าไป แล้วก็เปลี่ยนตัวผู้บริหารบริษัทหรือ CEO เป็นคนที่ Masa ไว้ใจแทน
New Normal, New Demand และ New Standard
หัวข้อนี้ไม่มี แต่ผมสรุปสร้างขึ้นมาเอง ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าเวลาเกิดวิกฤตครั้งสำคัญ มันจะก่อให้เกิด New Demand ใหม่ๆ ขึ้นมา และนั่นก็จะนำไปสู่มาตรฐานใหม่ของผู้คนที่จะเป็นการยกระดับไปอย่างไม่มีวันหวนคืน เหมือนที่เจ้าเชื้อร้ายโควิด19 กำลังทำอยู่
หนังสือเล่มนี้บอกว่า ในช่วงปี 1832 เกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดหนักในอังกฤษ ส่งผลให้มีคนตายหลายล้านคนเพราะดื่มน้ำไม่สะอาดมีเชื้อโรคเจือปน ทำให้ความต้องการน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นสูงมาก (เทียบได้กับความต้องการอากาศสะอาดที่ไม่มีเชื้อโรคในวันนี้ เราจึงต้องใส่แมสเพื่อกันเชื้อโรคจะหลุดลอยมาเข้าจมูกเรา) แรกๆ ก็มีสินค้าออกมาบรรเทาปัญหาชั่วคราว
แต่ท้ายที่สุดก็เกิด New Standard มาตรฐานใหม่ ทางการอังกฤษยกระดับระบบชลประทานใหม่ ทำให้น้ำสะอาดเป็นที่เข้าถึงได้ง่ายทุกครัวเรือน และก็ไม่มีตายด้วยโรคอหิวาตกโรคอีกต่อไป
แต่…กว่าจะมีระบบชลประทานใหม่ ก็ปาเข้าไปปี 1859 เรียกได้ว่าเกือบ 30 ปี ที่คนอังกฤษต้องทนเผชิญกับน้ำปนเชื้อโรค แต่พอระบบชลประทานถือกำเนิดขึ้น ปัญหานี้ก็หมดไป
ถ้าให้สรุปง่ายๆ New Normal, New Demand และ New Standard คือ
New Normal > แหล่งน้ำในเมืองเต็มไปด้วยเชื้อโรค ผู้คนต้องการน้ำสะอาดอย่างเร่งด่วน
New Demand > รายได้ถูกนำไปใช้กับการซื้อน้ำสะอาดมาเพื่อดื่มกิน ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มาเพื่อตอบความต้องการนี้
New Standard > ระบบชลประทานถูกยกระดับให้ทุกคนเข้าถึงน้ำสะอาดได้แค่เปิดก๊อกน้ำในบ้าน ไม่มีใครต้องกังวลว่าน้ำที่ดื่มจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนหรือไม่
ชนะ AI ชนะโลก
แม้เรื่องราวของ AI จะดูไม่ได้ถูกเน้นน้ำหนักเท่ากับการบริหารจัดการบริษัท และเคสของ WeWork เท่าไหร่ แต่ก็พอสรุปได้ว่าที่ Masa ให้ความสำคัญกับเรื่องของ AI มากก็เพราะว่า เขาเห็นภาพว่าเทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยปฏิวัติมนุษยชาติไปอีกมากกว่าที่คนส่วนใหญ่จินตนาการออก
ตัวอย่างง่ายๆ คือรถยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Vehicle
ส่วนตัวผมเองก็คิดเหมือน Masa เพราะตั้งแต่ได้ลองใช้ระบบช่วยขับของรถยนต์ใหม่ๆ หลายรุ่นมา สุดท้ายผมก็มาจบที่ Tesla แม้ราคาจะสูงกว่าหลายๆ แบรนด์ทั้งที่ไม่หรูหราเท่าแบรนด์ยุโรป แต่ระบบช่วยขับที่เหนือกว่าหลายๆ รุ่นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่ผมจ่ายไปทั้งหมดให้กับ Tesla ก็เพราะผมต้องการระบบช่วยขับที่ทำให้ผมไม่ต้องขับรถเป็นหลักครับ
เจ้าระบบช่วยขับนี้มันจะเข้ามาเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมนุษยชาติอย่างมากในแบบที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง คุณลองคิดภาพว่าคุณไม่ต้องขับรถ รถยนต์สามารถพาคุณไปยังจุดหมายปลายทางได้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือในแต่ละวันคุณจะมีเวลาว่างมากขึ้นถึง 2-3 ชั่วโมง และเจ้าเวลาว่างนั้นเองที่จะถูกแปลงไปเป็น Productivity ที่จะเข้ามาเร่งการพัฒนาของธุรกิจหรือสิ่งต่างๆ แล้วแต่เราจะจินตนาการออก
คนที่ชิลๆ อาจจะเลือกเล่นอินเทอร์เน็ตไปตลอดระยะเวลาที่รถยนต์ไร้คนขับกำลังพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง ส่วนคนที่ขยันมากๆ ก็จะมีเวลาทำงานหาเงินมากขึ้นในระหว่างการเดินทางนั้น ดังนั้นบอกได้เลยว่าทันทีที่เรามีเวลาว่างมากขึ้น เวลาว่างนั้นจะถูกนำไปใช้กับการเพิ่ม Productivity เป็นส่วนใหญ่ครับ
เหมือนกับที่เราสามารถ Work from Home ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แต่เราก็ไม่ได้สบายขึ้นแต่อย่างไร กลายเป็นว่าเรามีหัวข้อต้องประชุมออนไลน์กันทั้งวัน จนหลายคนบ่นว่าขอกลับไปเข้าออฟฟิศเถอะ อย่างน้อยมันก็มีเวลาเลิกงานที่ชัดเจน
จากการทำงานแบบ 9 เลิก 6 กลายเป็น ทำงานทั้งวันทั้งคืนของจริง
Masa บอกว่าที่เค้าทุ่มเทให้ความสำคัญกับ AI ไม่ใช่เพราะ AI คือเป้าหมายของตัวเขาหรือธุรกิจเขา แต่ AI คือเครื่องมือที่จะทำให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น เพราะเทคโนโลยี AI สามารถเรียนรู้ได้ไม่เหนื่อย ทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่เราต้องการได้แบบไม่เมื่อย ส่งผลให้รอบการเรียนรู้ของเราเร็วขึ้นมาก และทำให้เราเข้าใกล้คำตอบที่เคยอยู่ไกลได้ในระยะเวลาที่สั้นลง
เช่น จากที่เคยต้องวิเคราะห์หาสูตรยารักษาโรคด้วยเวลาหลายปี พอมี AI ที่เก่งพอเราก็อาจจะทำได้ในระยะเวลาที่เหลือหลักเดือน หรือหลักวันก็เป็นได้
ขอพูดถึงเรื่องรถยนต์ไร้คนขับหรือ Autonomous Vehicle อีกสักหน่อย
Masa บอกว่าเทคโนโลยี 5G หรือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายจะเป็นกุญแจสำคัญ เพราะเมื่อรถยนต์สามารถเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวมาเป็น Data จากนั้นก็ส่งขึ้น Cloud ไปประมวลผล แล้วส่งคำตอบว่าควรขับรถอย่างไรกลับมาภายในเสี้ยววินาที เรียกได้ว่าข้อมูลหลาย Gigabyte สามารถส่งและรับได้ภายในพริบตา
แต่สิ่งสำคัญคือรถยนต์ต้องมีความสามารถที่จะประมวลผลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง หรือที่เรียกว่า EDGE Device
เพราะในพื้นที่อับสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในจุดที่ 5G ใช้ไม่ได้ ซึ่งมีแน่นอน ตัวรถยนต์ต้องสามารถประมวลผลและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเองได้ดีมากพอที่จะปล่อยให้มันทำงานได้ แล้วพอเชื่อมต่อ 5G กับ Cloud ได้เมื่อไหร่ ก็ค่อยส่งงานกลับไปให้ระบบทำงานต่อ
พอเห็นภาพอนาคตของรถยนต์ไร้คนขับ หรือระบบช่วยขับในรถยนต์ที่จะทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้นไหมครับ
เจ้าสิ่งที่เรียบง่ายนี้แหละจะเข้ามาปฏิวัติการใช้ชีวิตของเราทุกคนไปอย่างมาก เหมือนที่เราไม่เคยเชื่อว่าเจ้าโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กจะทำให้เราทำอะไรต่อมิอะไรได้มากมาย และก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าถ้าเราขาดเจ้ามือถือเครื่องเล็กนี้ไป เราก็จะใช้ชีวิตไม่สะดวกสบายจนถึงขั้นลำบากเอาด้วยซ้ำ
กลยุทธ์ธุรกิจ ถูกเรา แพงเค้า เอาสัญญาณมือถือแลกหุ้น LINE สบายๆ ที่ญี่ปุ่น
ส่วนสุดท้ายของหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก เล่มนี้ที่ผมชอบคือ กลยุทธ์ธุรกิจแบบ ถูกเรา แพงเค้า ตอนที่ NAVER บริษัทแม่ของ LINE ต้องการขยายจำนวนผู้ใช้งานในญี่ปุ่นให้มากพอจนคู่แข่งรายอื่นไม่อยากเข้ามาแข่งด้วย ตอนนั้น Masa ก็เสนอว่าเขามีคลื่นความถี่หรือสัญญาณมือถืออยู่ในมือ เพราะเขาเป็นเจ้าของ Softbank
เขาเลยเอาจุดแข็งนี้ของตัวเองที่เป็นต้นทุนต่ำมากในเวลานั้น ไปใช้ต่อรองขอหุ้นใน LINE ด้วยการเสนอว่าถ้าเขาได้หุ้น LINE มา จะทำให้ลูกค้าในเครือข่ายตัวเองใช้ LINE ได้ฟรี และนั่นจะทำให้ LINE สามารถครองตลอดแอปส่งข้อความ Messenger ในญี่ปุ่นได้เร็วขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่านั่นเป็นวิธีการขยายกลุ่มผู้ใช้งานได้โดยเร็ว และพอชั่งใจดูว่าถ้า LINE จะสร้างสัญญาณมือถือเอง จะต้องใช้เงินลงทุนขนาดไหน แต่ถ้า LINE จับมือกับ Masa ก็จะสามารถทำได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนเอง
ส่วนทาง Masa เองก็รู้ว่าถ้าจะพัฒนาแอปส่งข้อความให้ดีและดังเท่า LINE ได้ก็จะเป็นต้นทุนที่สูงมาก และนั่นก็ทำให้ Softbank ได้ถือหุ้นใน NAVER ไปโดยปริยาย
เป็นอย่างไรครับกับกลยุทธ์การขยายธุรกิจแบบ ถูกเรา แพงเค้า เรียกได้ว่าเป็น Win Win Strategy ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จริงๆ
สรุปหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก
และนี่ก็เป็นหนังสืออีกเล่มที่ผมแนะนำให้นักการตลาด ผู้บริหาร และคนทำธุรกิจต้องอ่าน เพราะคุณจะได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน การบริหารจัดการบริษัทที่หาอ่านได้ยาก แถมที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ยังเขียนด้วยภาษาที่อ่านเข้าใจง่ายครับ
เป็นหนังสือที่ไม่ผิดหวัง กล้าแนะนำให้ทุกคนอ่านจริงๆ
อ่านแล้วเล่า สรุปหนังสือ เล่มที่ 16 ของปี
สรุปรีวิวหนังสือ Masa Way 2 ชนะ AI ชนะโลก
วรพงษ์ ตรีประจำ และ ทักษพร พีรพัฒนโภคิน เขียน
สำนักพิมพ์ บ้านพระอาทิตย์
อ่านสรุปหนังสือ Masa Way เล่ม 1 > https://www.summaread.net/biography/masa-way-start-up-masayoshi-son-softbank/
สั่งซื้อออนไลน์ > คลิ๊ก