ถ้าถามว่า ปรัชญการเมือง ต่างกับ การเมือง ปกติอย่างไร ผมคงสรุปหลังจากอ่านจบได้ว่า การเมืองโดยทั่วไปคือผลลัพธ์หรือวิธีการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้น

.

เช่น นักการเมืองอาจมีเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ด้วยการทำให้เกิดการจ้างงานเต็มอัตรา เอาง่ายๆก็คือทุกผู้ทุกคนมีงานทำนั่นเอง แต่ไม่ใช่แค่ทุกคนมีงานทำเท่านั้น เพราะนั่นอาจหมายถึงว่ามีอาชีพที่คนไม่ได้อยากทำ หรือไม่ตรงกับความรู้ความสามารถที่มี ทำให้ไม่สามารถทำงานออกมาได้เต็มที่ เช่น ถ้านักการเมืองสร้างงานในตำแหน่งเสมียน หรือพนักงานกวาดถนน (ที่เอ่ยถึงสองอาชีพนี้ไม่ได้ดูถูก แค่ยกเป็นตัวอย่างง่ายๆให้เห็นภาพเร็วๆ) ก็ไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริงได้

.

นี่คือ การเมือง

.

ส่วนปรัชาการเมืองหมายถึงการคิด คิดไปยังความจริงแท้ของเป้าหมายทางการเมืองนั้น เช่น อาจคิดต่อไปว่าถ้าการทำให้ทุกคนมีงานทำอย่างที่ตัวเองอยากทำ หรือมีงานทำที่ทำให้ตัวเองมีความสุขตามความรู้ความสามารถและใจรัก นักปรัชญาการเมืองอาจเสนอว่า ทำไมถึงต้องสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาให้ตรงกับความต้องการที่แตกต่างกันมากมาย ทำไมรัฐถึงไม่ใช้วิธีแจกเงินให้กับทุกคนดำรงชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องทำงาน และปล่อยให้ผู้คนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ

.

เป็นการต่างกันอย่างสุดโต่งจริงๆครับ

.

หนังสือเล่มนี้เปิดเรื่องและดำเนินเรื่องผ่านรูปภาพรูปหนึ่งที่เมือง Siena ประเทศ Italy ที่วาดขึ้นเมื่อปี 1337-1339 โดยศิลปินที่ชื่อ Ambrogio Lorenzetti อยู่ในสภาเมืองของผู้ปกครองในยุคนั้น เป็นภาพที่เล่าถึงการปกครองที่ดีและเลวในรูปเดียวกันแต่อยู่กันคนละฝั่งของภาพ

ภาพในส่วนของการปกครองที่ดีนั้น จะเห็นว่าประชาชนมีความสุขอยู่รวมกับเหล่าผู้ปกครองอย่างมีความสุข ส่วนในส่วนที่เป็นการปกครองที่เลวนั้นจะเห็นความแตกต่างชัดเจนว่า ประชาชนและผู้ปกครองต่างอยู่กันอย่างไม่เป็นสุข ทุกคนทุกฝ่ายต่างหวาดระแวงแอบทำร้ายซึ่งกันและกัน

.

ถ้ามองเผินๆเราอาจจะคิดว่าภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทำตัวดีๆ เคารพเชื่อฟังกฏระเบียบหรือผู้ปกครอง เพื่อจะได้มีความสุขในชีวิต แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งจากบริบทของภาพ ภาพนี้ถูกวาดอยู่ในสถาที่เหล่าผู้ปกครองในตอนนั้นทำงาน

วาดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดความโกลาหลจากการปกครองของหลายรัฐ และวาดขึ้นหลังจากระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐถือกำเนิดได้ไม่นาน และเมือง Siena เองก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐนี้

.

ดังนั้นเมื่อมองจากบริบททั้งหมดนี้อาจจะบอกได้ว่า ภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาเพื่อ “เตือนใจเหล่าผู้ปกครอง” ว่าถ้าไม่ดูแลผู้คนใต้ปกครองให้ดี ก็จะทำให้แผ่นดินลุกเป็นไฟ จนตัวเองต้องกลับมาเดือดร้อนด้วย

.

นี่เป็นภาพวาดที่มีแนวคิดน่าสนใจ ปกครองให้ดีเพื่อชีวิตที่ดีของตัวเอง อยากให้มีภาพวาดแบบนี้อยู่ในสภาบ้านเราจัง นักการเมืองจะได้ไม่เหลิงไปว่าตัวเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประชาชน

.

ปรัชญาการเมืองตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยแท้จริงคืออะไร แล้วประชาธิปไตยใช่ดีที่สุดแล้วหรือ

.

ประชาธิปไตยโดยจุดกำเนิดจากกรีก เอเธนส์ ที่เปิดให้พลเมืองทุกคนเข้ามามีส่วนแสดงความคิดเห็น ถกเถียงอย่างเปิดกว้างร่วมกัน จนได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดออกมา

.

แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริงแล้วพลเมืองทุกคนของเอเธนส์นั้น ไม่ใช่คนทุกคนในเมือง

.

คนที่ถูกนับว่าเป็นพลเมืองของเอเธนส์ที่สามารถมีส่วนร่วมกับระบอบประชาธิปไตยจริงๆนั้นมีน้อยมาก จนเรียกว่าเป็นชนชั้นผู้มั่งคั่งส่วนน้อยก็ว่าได้

.

และประชาธิปไตยเองต้องการให้พลเมืองทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐและส่วนรวม ส่วนพวกที่เอาแต่เรื่องของตัวเอง ไม่สนใจเรื่องบ้านเมืองในเวลานั้นเค้าเรียกว่า idiotes ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า idiot ทุกวันนี้

.

ดังนั้นอาจบอกได้ว่า ใครที่เอาแต่ใส่ใจในปัญหาชีวิตของตัวเองนั้นคือคนโง่เง่าในมุมมองของประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้นก็ไม่รู้ว่าทุกวันนี้เราเป็นพวกหน้าโง่หรือ idiot มากน้อยขนาดไหนแล้ว

.

ประชาธิปไตยในอุดมคติแบบต้นกำเนินนั้นเป็นได้เพราะสังคมมีขนาดเล็ก เมื่อสังคมมีขนาดเล็กการจับตาตรวจสอบกันและกันก็เกิดขึ้นได้ง่าย ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะละทิ้งหน้าที่ทางการเมืองของตัวเอง

.

แล้วขอบเขตอำนาจของประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน?

.

ทุกวันนี้อาจบอกได้ว่าเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก จากหมู่บ้านกลายเป็นชาติ จากชาติกลายเป็นนานาชาติ ประชาธิปไตยเลยเปลี่ยนรูปจากที่ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมก็ไม่อาจทำได้ง่าย กลายเป็นการถ่ายโอนอำนาจจากคนส่วนมากเลือกคนส่วนน้อยเข้ามาปกครองดูแลตัวเอง

.

และในทางเดียวกันถ้าประชาชนเห็นว่าอำนาจที่ตัวเองมอบให้ผู้แทนคนนั้นไปแล้วไม่เวิร์ค ก็จะมีการเรียกอำนาจดังกล่าวกลับคืนมาได้ ดังนั้นถ้าจะบอกว่าประชาธิปไตยทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องของประชานิยมก็คงไม่ผิดนัก

.

แล้วเสรีภาพมีจุดกำเนิดที่มาที่ไปอย่างไร?

.

เสรีภาพมีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างคริสตจักรโรมันคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ ว่าบุคคลแต่ละคนควรมีสิทธิแสวงหาหนทางของตัวเองไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ธุระกงการอะไรที่รัฐหรือคริสตักรจะเข้ามายุ่งย่ามอีกต่อไป

.

และจากเสรีภาพทางศาสนาในจุดนั้น นานวันเข้าก็เลยขยายเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลต่อไปด้วย

.

เพราะเราจะเสรีได้ก็ต่อเมื่อเรามีทางเลือก เลือกได้ว่าจะนับถืออะไรจากเสรีภาพทางศาสนา หรือเลือกได้ว่าจะประกอบอาชีพอะไรจากเสรีภาพส่วนบุคคล แต่การมีตัวเลือกมากๆก็ไม่ได้หมายความว่าคนๆนั้นจะมีเสรีภาพที่แท้จริง

.

เพราะบางทีเรามีตัวเลือกแต่เราไม่เข้าใจในตัวเลือกอย่างถ่องแท้ ก็เท่ากับว่าเลือกก็เหมือนไม่ได้เลือก อย่างเช่น เราอาจเลือกได้ว่าเราจะสอบเข้ามหาลัยในคณะอะไรหรือที่ไหน แต่ในความเป็นจริวแล้วตัวเลือกของเด็กนักเรียนคนนั้นอาจถูกกำหนดมาจากพ่อแม่ให้ตั้งแต่เค้ายังเด็ก โดยที่เค้าถูกป้อนข้อมูลแต่ในคณะที่พ่อแม่อยากให้เป็น ไม่ได้พบและรู้จักตัวเลือกที่หลากหลายจริงๆเลย

.

หรือการเลือกอย่างเสรีด้วยตัวเองนั้นอาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบของตัวเองด้วย

.

ปรัชญาการเมืองบอกว่า คนที่เลือกดื่มเหล้าเมามายทุกวันสามารถทำได้เพราะเค้ามีเสรีภาพที่จะเลือกในสิ่งที่ต้องการ แต่มันถูกต้องแล้วหรือที่รัฐจะต้องเจียดงบประมาณที่มีอย่างจำกัดไปรักษาสุขภาพของคนที่ทำลายสุขภาพขนาดไหน เมื่อเทียบกับการเอางบประมาณไปรักษาคนที่ป่วยใข้ด้วยความไม่ตั้งใจของตัวเองดีกว่ามั้ย เช่น เด็กที่บังเอิญเกิดมาลิ้นหัวใจรั่ว หรือคนที่ประสบอุบัติเหตุแข้งขาหัก

.

ความยุติธรรมเลยเป็นอีกหัวข้อที่ชวนให้ถกเถียงกันในเล่มนี้

.

ความยุติธรรมอาจไม่ใช่การจัดสรรให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า แต่ต้องดูบริบทแวดล้อมด้วยว่าความยุติธรรมนั้นยุติธรรมจริงแล้วหรือ

เช่น เราอาจบอกว่าความยุติธรรมคือการที่ทุกคนยอมรับว่าใครขึ้นรถเมล์ก่อน ย่อมได้เลือกที่นั่งก่อน หรืออย่างน้อยก็ได้นั่งก่อนคนที่เลือกที่หลัง

.

โอเค ฟังแบบนี้แล้วดูแฟร์ดีใช่มั้ยครับ

.

แต่เราก็ยังมีความยุติธรรมกว่าที่เรามีที่นั่งสำรองสำหรับคนท้อง คนแก่ และคนพิการด้วย นี่คือความยุติธรรมแบบสัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียม

.

และความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมนั้นอาจหมายถึงการยอมรับได้ว่าบางคนรวยกว่าเพราะทำงานหนัก หรือบางคนสะดวกสบายกว่าในการนั่งรถเมล์เดินทางเพราะยอมจ่ายมากกว่าในการนั่งรถแอร์

.

และกระบวนการสู่ความยุติธรรมนั้นก็สำคัญไม่แพ้ผลลัพธ์

.

มีคนบอกว่าถ้าผู้พิพากษาคนหนึ่งใช้วิธีโยนหัวก้อยตัดสินคดีมายาวนานเป็นพันคดีแล้ว แต่ทุกครั้งที่โยนหัวก้อยออกมาก็ตัดสินได้ถูกต้องทุกคราว แบบนี้คือกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม แม้ผลลัพธ์จะยุติธรรมแต่ผู้คนก็ไม่ยอมรับ

.

นอกจากผลลัพธ์จะดีแล้ว กระบวนการก็ต้องดีด้วยครับ

.

กลับมาที่เรื่องสิทธิอีกนิด

.

หนังสือปรัชญาการเมืองเล่มนี้พูดถึงเรื่องของสิทธิที่กำลังเป็นกระแส นั่นคือสิทธิสตรีและพหุวัฒนธรมด้วย

หนังสือเล่มนี้ให้แนวคิดที่น่าสนใจว่าอาจเกิดจากการที่ผู้คนที่เป็นผู้ชายเริ่มเรียกร้องสิทธิของตัวเองให้เท่าเทียมกันระหว่างคนจนกับคนรวย จนพอสิทธิเท่าเทียมกันแล้วผู้หญิงก็เลยขอมีเอี่ยวด้วยในยุคแรก จากนั้นคนดำก็ขอมีเอี่ยวกับคนขาวด้วย อารมณ์หนึ่งว่าถ้าเค้ามีชั้นก็ขอมีด้วย จนวันนี้เรื่องของสิทธิออกจะไปทาง LGBT หรือ ผู้อพยพที่เป็นกระแสไปทั่วโลก

.

ทุกคนต่างต้องการสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตของตัวเองทั้งนั้น เพราะเราต่างต้องการรู้สึกว่าเราควบคุมชีวิตเราเองได้

.

แต่เสรีภาพก็มีวิวัฒนาการของมันอยู่เสมอ เสรีภาพไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปก็เกิดความต้องการใหม่ๆรวมไปถึงปัญหาใหม่ๆขึ้นมา รูปร่างของเสรีภาพในวันนี้ต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้วมาก

.

เมื่อ 20 ปีก่อนคงไม่มีใครคิดว่าการถูกสอดส่องบนอินเทอร์เน็ต หรือการติดตามข้อมูลของเราบนอินเทอร์เน็ตนั้น จะกลายเป็นปัญหาด้านสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลที่สำคัญในทุกวันนี้

.

ดังนั้นเราก็คงยากจะจินตนาการออกว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แม้พระอาทิตย์จะขึ้นทิศเดิมทุกวัน แต่โลกและผู้คนไม่เคยเหมือนเดิมเลยซักวัน

.

สุดท้ายแล้วกับคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า “ชาติ” คืออะไร?

.

William Ralph Inge ศาสตรจารย์มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์เคยกล่าวว่า “ชาติก็คือสังคมที่สามัคคีกันเป็นปึกแผ่นด้วยความหลงผิดเกี่ยวกับบรรพชนของตน และด้วยความชิงชันเพื่อนบ้านตนร่วมกัน” เช่นสมัยหนึ่งคนบริติชก็คือการไม่เอาคนฝรั่งเศส ส่วนคนสกอต์ก็คือการปฏิเสธความเป็นคนอังกฤษ

.

สุดท้ายแล้วปรัชญาการเมืองเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมซื้อมานานมาก นานขนาดไหนก็จำไม่ได้เหมือนกัน แต่ดีใจที่ได้ซื้อเอาไว้เพราะพอได้อ่านรู้สึกว่าคุ้มทั้งเงินและเวลาที่ให้ไป

.

แม้การเมืองจะฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวเรา เราที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพเลี้ยงปากท้องเพื่อเอาชีวิตไปแชร์บนโซเชียล แต่การรู้และศึกษาเรื่องนี้ไว้ก็ทำให้เราเข้าใจว่าสังคมนั้นมีหลายมิติ และเรื่องใกล้ตัวนั้นแท้จริงแล้วคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

.

อย่างน้อยก็อ่านเอาไว้ให้รู้เท่าทันเล่ห์นักการเมืองแล้วกันครับ

.

David Miller เขียน

เกษียร เตชะพีระ แปล

สำนักพิมพ์ Openworlds

.

เล่มที่ 115 ของปี 2018

20181013

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/