Karl Marx หรือ คาร์ล มาร์กซ ชื่อที่ใครบางคนน่าจะคุ้นหูหรือคุ้นตา และถ้าเคยอ่านพวกหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองมาบ้างก็ยิ่งน่าจะคุ้นขึ้นไปใหญ่ และยิ่งถ้าบอกว่า มาร์กซ คนนี้ คือหนึ่งในผู้ทำให้แนวคิดการปกครองแบบสังคมนิยมเป็นที่ถูกอกถูกใจบรรดาผู้นำประเทศทั้งหลาย ก็คงจะร้องอ๋อกันเลยทีเดียว

สิ่งที่ผมเข้าใจมาก่อนหน้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้คือ มาร์กซ คนนี้คือผู้ที่ก่อสร้างแนวคิดสังคมนิยมให้กับโลก แต่ความจริงแล้วสังคมนิยมมีมาก่อนเค้า แต่ มาร์กซ คนนี้ทำให้แนวคิดเรื่องสังคมนิยมเป็นที่ตราตรึงใจของบรรดาผู้นำประเทศ หรือผู้นำที่มาจากการปฏิวัติทั้งหลาย จากหนังสือสองเล่มสำคัญที่เค้าเขียน คือ Das Kapital (หรือ Capital ในภาษาอังกฤษ) กับ Communist Manifesto

หนังสือที่ชื่อ Communist Manifesto ไม่เป็นที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้เท่าไหร่ ผมเลยไม่มีความรู้ที่จะมาเล่าอะไรให้ฟังต่อ แต่กับหนังสือเล่มที่ชื่อว่า Das Kapital หนังสือเล่มนี้พูดถึงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เจาะลึกมากแต่พูดกว้างๆให้พอเข้าใจว่า มาร์กซ คนนี้ถ่ายทอดความคิดว่าด้วยเรื่องของ “ทุน” ที่เป็น “เงินตรา” ที่ควรต้องได้รับการ “ปฏิวัติ” เสียใหม่ เพราะ “ทุนเอกชน” ทำให้ความเป็นคนนั้นถูกลดค่าไปเหลือแค่ “แรงงาน” เพื่อแลกกับ “ทุน” ที่เป็น “เงินตรา”

มาร์กซ มองว่าด้วยเหตุผลความเชื่อมโยงที่ว่ามานี้ ทำให้มนุษย์เหลือค่าเพียงแค่ชั่วโมงการทำงานเพื่อแลกกับเงินตรา ทำให้มนุษย์ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือของนายทุนอีกชิ้นหนึ่ง มนุษย์ควรได้ทำเพื่อตนเอง ไม่ใช่เพื่อแลกกับเงินตราค่าจ้างจากนายทุน ที่จะทำให้บรรดานายทุนร่ำรวยยิ่งขึ้น และจากความร่ำรวยของนายทุนนั้นก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจให้นายทุน และกดค่าแรงงานของชนชั้นกรรมกร หรือ คนงานให้ยิ่งด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น มาร์กซ เลยคิดว่าต้องทำการปฏิวัติ “ทุนเอกชน” หรือความเป็น “เจ้าของส่วนบุคคล” ในเรื่องต่างๆให้กลายเป็น “สาธารณะ” เพื่อให้ทุกคนได้เท่าเทียมที่จะสร้างสรรค์ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ไม่ใช่ทำเพื่อคนอื่นอีกต่อไป

ในมุมนึง ถ้ามองจากช่วงเวลานั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าอยู่ในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมของประเทศตะวันตกโดยเฉพาะยุโรปทั้งหลาย ทำให้ยังเกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นมากอยู่ ในตอนนั้นยังไม่มีชนชั้นกลางมากมายเหมือนทุกวันนี้ มีแค่ชนชั้นสูงที่เป็นขุนนาง หรือชนชั้น “กระฎุมพี” เพียงแค่หยิบมือนึง ส่วนที่เหลือก็เต็มไปด้วยแรงงานในโรงงาน หรือไพร่ติดที่ดินเจ้าศักดินาทั้งหลาย ทำให้มาร์กซมองว่าการสลายไปของปัจเจก จะเป็นหนทางสู่สังคมที่สูงส่งขึ้น

เลยเป็นที่มาของแนวคิดสังคมนิยม หรือ Communist ยอดนิยมในหลายประเทศจนถึงทุกวันนี้

มีเนื้อหาท้ายเล่มที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพที่ชัดเจนระหว่าง ส่วนรวม กับ ส่วนตัว ในสถานการณ์ปัจจุบัน เรื่องการขับรถใช้ท้องถนน

ถ้าเราส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัว แทนที่จะเป็นรถเมล์ ท้องถนนก็จะเต็มไปด้วยรถยนต์อย่างในปัจจุบัน โดยเฉพาะในตอนเช้าเข้างาน และตอนเย็นค่ำเลิกงาน ทำให้ถนนเต็มไปด้วยรถและทำให้รถติดบนถนนมากเกินไป โดยทุกคนส่วนใหญ่ที่เลือกขับรถก็เลือกด้วยผลประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าการเลือกเพื่อตัวเองนั้นกลับเป็นการทำร้ายตัวเองมากที่สุด

แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราทุกคนเลือกที่จะใช้รถเมล์ หรือขนส่งมวลชนสาธารณะร่วมกัน ผลก็คือทุกคนก็จะไปทำงานได้เร็วขึ้น และกลับบ้านได้เร็วขึ้น เพราะท้องถนนก็จะไม่มีรถส่วนตัวให้แน่นอีกต่อไป นี่คือการเลือกเพื่อตัวเองในมุมมองของส่วนรวมแบบร่วมกัน จนกลายเป็นผลประโยชน์ของตัวเองไปเต็มๆ

และก็อาจจะเป็นไปได้ว่า พอคนกลุ่มนึงที่เห็นว่าถนนเริ่มโล่ง ก็เลยอยากเอารถตัวเองออกมาใช้เพื่อจะได้สะดวกและเร็วยิ่งขึ้นกว่าการใช้รถสาธารณะ พอคนนึงใช้อีกคนก็เริ่มใช้ พออีกคนเริ่มใช้ทุกๆคนก็เลยกลับมาใช้รถส่วนตัว แล้วผลลัพธ์ก็กลับไปเป็นแบบเดิมคือทุกคนติดอยู่บนท้องถนนเหมือนเคย

จะเห็นว่าการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น ในการตัดสินใจแบบส่วนตัวจะทำให้เกิดความล้มเหลวในการเลือก แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจแบบร่วมกันจะทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่า

แต่คำถามสำคัญคือ “ใคร” ควรจะเป็นผู้ออกกฏเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมจริงๆที่ว่าล่ะ เพราะบรรดาผู้นำทั้งหลายทั้งจากการปฏิวัติยึดอำนาจเข้ามา หรือได้รับเลือกตั้งเข้ามาแบบเป็นตัวแทน ต่างก็พยายามรักษาสิทธิพิเศษของตัวเองให้เหนือกว่าส่วนรวมคนทั่วไป (คงไม่ต้องยกตัวอย่างเพราะเรารู้เห็นกันดีอยู่แล้ว)

ถ้ามองในแง่เจตนา ผมว่ามาร์กซ เป็นคนที่น่าสนใจ เพราะเค้าคิดมาจากความหวังดีที่อยากให้กรรมกรชีพทุกคนมีความสุขและเท่าเทียมกับนายทุนทั้งหลาย

แต่ด้วยการตีความผิดๆในหลักการของเค้า เพราะมาร์กซไม่ได้มีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรเพื่อจะพาสังคมหรือประเทศไปสู่สังคมในอุดมคติได้ เป็นผลให้ประชากรหลายร้อยหรือพันล้านคนต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหงของบรรดาผู้นำ ที่ใช้หลักสังคมนิยมในการปกครองประเทศ

มาร์กซ​ หรือ แนวคิดสังคมนิยม ไม่ผิด แต่การตีความและนำไปใช้ที่แตกต่างกันตามใจต่างหากที่ผิด เหมือนกับการตีความพระไตรปิฏก หรือคัมภีร์คำสอนในศาสนาต่างๆไปตามใจผู้แปลว่าจะเลือกให้ออกมาแบบไหน

สุดท้ายนี้ผมคิดว่าแนวคิดของมาร์กซ อาจจะกลายเป็นแนวทางถัดไปจากเสรีประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานในหลายประเทศทั่วโลกก็เป็นได้ เพราะเราต่างก็เห็นกันแล้วว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้นก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของสังคม

เพราะสังคมก็เหมือนคน ที่มีวิวัฒนาการอยู่เรื่อยๆไม่หยุดยั้ง ระบบการปกครองที่เคยใช้ได้ดีในวันวาน ไม่อาจเหมาะสมในวันนี้ และระบอบในวันนี้ก็อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการในอนาคต

ท้ายที่สุดนี้ ถ้าผมตีความผิดอย่างไร ก็ช่วยชี้แนะหรือเสนอมุมมองที่น่าสนใจนะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงแค่ A very short introduction หรือ “ความรู้ฉบับพกพา” ผมจึงรู้จัก MARX เพียงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 15 ของปี 2018

MARX, A very short introduction
Peter Singer เขียน
เกษียร เตชะพีระ แปล
สำนักพิมพ์ OpenWorlds

20180211

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/