ถ้าใครที่ชอบอ่านแนวเศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง น่าจะคุ้นกับชื่อนี้ดี ผมเองก็คุ้นชื่อ เคนส์ มานานพอสมควรเวลาอ่านหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจทีไร ก็ต้องเจอชื่อ เคนส์ คนนี้เป็นประจำ รู้แต่เพียงคร่าวๆว่า เคนส์ เป็นผู้สร้างแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญเอาไว้ให้รัฐบาลหลายประเทศในโลกใช้เป็นแนวทางอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะรัฐบาลอังกฤษ กับ อเมริกา

เป็นหนังสือที่น่าจะเหมาะกับคนที่กำลังเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรืออยู่ในแวดวงนี้มากกว่าคนทั่วไป เพราะอาจจะทำให้ไม่ค่อยสนุกหรือไม่เข้าใจจากความรู้พื้นฐานที่มีไม่เท่ากับคนที่ร่ำเรียนมา

ที่พูดแบบนี้เพราะสารภาพตรงๆว่าอ่านจบแล้วผมก็ไม่ค่อยเข้าใจหรืออินซักเท่าไหร่นัก แต่พอจับประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างมาเล่าสู่กันฟังได้บ้าง เช่น

คำว่า “การว่างงาน” หรือ unemployment เพิ่งปรากฏใน Oxford English Dictionary เมื่อปี 1888 นี่เอง เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจอังกฤษและยุโรปมีความผันผวนมาก จนเกิดการว่างงานจำนวนมากขึ้นมา

เคนส์เองเดิมทีเคยเป็นชาวรักร่วมเพศ ในช่วงปี 1908-1911 กับจิตกรที่ชื่อ ดันแคน แกรนด์ (Duncan Grant) ก่อนจะพบรักกับหญิงนักบัลเลต์และแต่งงานกันหลังจากนั้น

ทฤษฐีการจ้างงานเต็มอัตราคือสิ่งที่เคนส์ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ด้วยแนวคิดที่ว่ารัฐควรเป็นผู้ลงทุนเพื่อการจ้างงาน หรือสร้างสาณานูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ออกไป เกิดการจ้างงานต่อเนื่องไปเป็นทอดๆ เพราะเมื่อไหร่ที่คนนึงมีงานทำ มีรายได้ให้ใช้จ่าย ก็ย่อมทำให้เกิดงานเพื่อรองรับเงินที่จะใช้นั้นต่อเนื่องไปไม่รู้จบ

แต่ด้วยหลักการเดียวกันนี้เองก็กลับมีจุดอ่อนว่า เมื่อรัฐดำเนินการจ้างงานหรือแทรกแซงมากเกินไป ก็จะทำให้เอกชนเป็นฝ่ายหยุดการลงทุนเพื่อการจ้างงานแข่งกับรัฐ จนทำให้เศรษฐกิจติดขัดในระยะยาว

การว่างงานเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ มีผู้พบว่าถ้าเกิดการจ้างงานเต็มอัตราหรือไม่มีคนว่างงานเลย ทุกคนก็จะมีเงินเพื่อจับจ่ายใช้สอย และสิ่งของหรือบริการที่มีก็จะถีบราคาสูงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือเงินที่ทุกคนมีอยู่นั้นมีค่าลดลงโดยไม่รู้ตัว จนสุดท้ายก็เกิดการว่างงานตามมา ดังนั้นการว่างงานจึงจำเป็นในระบบเศรษฐกิจเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อด้วย

เคนส์จริงแล้วมีความปรารถนาดีกับทุกคนทุกชนชั้น เค้าอยากทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันด้วยการยกระดับ ไม่ใช่ลดระดับ (คำพูดนี้คมและโดนใจมาก)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เคนส์ เป็นผู้เสนอแนวทางที่ทำอย่างไรให้ประเทศเข้าสู่สงครามได้โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจการเงินพังเหมือนอย่างชาติอื่นๆ ด้วยการไม่เอาทุนทั้งหมดไปจมกับการสงครามภายนอก จนไม่เหลือการดำเนินเศรษฐกิจภายใน

จากการคิดค้นอัตราภาษีแบบก้าวหน้าอย่างหนักหน่วง คือเก็บภาษีค่อนข้างสูงสำหรับเอกชนที่มีรายได้มากในช่วงสงคราม และสร้างระบบการออมเงินอัตโนมัติระดับชาติ และเมื่อจบสงครามก็ค่อยๆทยอยคืนเงินส่วนนี้ให้ เพราะส่วนใหญ่แล้วที่เศรษฐกิจพังหลังสงครามเพราะขาดเงินหมุนเวียนในระบบ ดังนั้นระบบที่เคนส์สร้างขึ้นเหมือนจึงทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสามารถเติบโตต่อได้โดยไม่ตกต่ำเหมือนชาติอื่น

เคนส์ เป็นผู้สนับสนุนกฏหมายยุคกลางที่ห้ามการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยมหาโหด ซึ่งเขามองว่าเป็นความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้คนทำเงินได้จากการสั่งสมเงิน เพราะการสั่งสมเงินหมายความว่า ทุนที่เป็นเงิน ที่ควรไปกระตุ้นเศรษฐกิจจะหายไปหรือมีต้นทุนในการเข้าถึงทุนนั้นที่สูงเกินไป และต้นทุนจากดอกเบี้ยมหาโหดนั้นก็เป็นแรงจูงใจให้คนสะสมเงินทุนของตัวเองเอาไว้เพื่อสะสมทุนให้เพิ่มขึ้น สุดท้ายจะส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด

และนี่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ที่มี 312 หน้า

ถ้าคุณเป็นนักศึกษา หรือทำอาชีพด้านเศรษฐศาสตร์ หรือการเมือง ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคุณ หรือเหมาะกับการซื้อเป็นของขวัญให้ในโอกาสพิเศษได้เหมือนกัน

อ่านแล้วเล่า Keynes เคนส์ a very short introduction

Robert Skidelsky เขียน
สฤณี อาชวานันทกุล แปล
สำนักพิมพ์ openworlds

อ่านเมื่อปี 2018

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/