สรุปหนังสือ Child Psychology จิตวิทยาเด็ก

สรุปหนังสือ Child Psychology จิตวิทยาเด็ก หนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจว่าแท้จริงแล้วทารกแรกเกิดนั้นฉลาดเฉลียวกว่าที่ผู้ใหญ่อย่างเราคิดมากเพียงใด เพราะเค้าสามารถเข้าใจเหตุผลความเชื่อมโยงได้ตั้งแต่ 3 เดือน ไปจนถึงสามารถแยกเสียงแม่ออกจากเสียงผู้หญิงอื่นตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ด้วยซ้ำ ยังไม่นับอีกว่าทารกที่กำลังหัดเดินนั้นเป็นนักสู้มากกว่าผู้ใหญ่อย่าเราขนาดไหน เพราะเค้าล้มถึงชั่วโมงละ 17 ครั้งแล้วลุกขึ้นมาเดินต่ออย่างไม่ย่อท้อ แถมยังเดินเป็นระยะทางกว่า 700 เมตรในทุกๆชั่วโมงที่ตื่น ซึ่งรวมๆกันในหนึ่งวันเค้าเดินมากกว่า 5 กิโลเมตรด้วยซ้ำครับ

มหัศจรรย์ของเด็กที่ผู้ใหญ่อย่างเราควรเรียนรู้ แล้วเราจะรู้ว่าไม่มีใครอัจฉริยะแต่กำเนิด แต่อัจฉริยะนั้นเกิดจากจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กครับ

เพราะสังคมแวดล้อมสำคัญกว่ากรรมพันธุ์

เด็กที่มีความสุข และรู้สึกอบอุ่นมั่นคงท่ามกลางสมาชิกครอบครัว เพื่อนฝูง และสภาพแวดล้อมทางสังคม มีแนวโน้มที่จะพัฒนาศักยภาพด้านสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ ส่วนเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เป็นกังวลหรือหวัดกลัว จะประสบปัญหาด้านการเจริญเติบโต ทั้งในด้านสติปัญญาและอารมณ์

ปริมาณถ้อยคำที่เด็กได้ยินได้ฟัง นั้นมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก

เด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้สูง ได้ยินคำพูดโดยเฉลี่ย 487 คำต่อชั่วโมง เมื่อเทียบกับเด็กที่อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ ได้ยินคำพูดเฉลี่ย 178 คำต่อชั่วโมง 4 ปีผ่านไป ถ้อยคำที่เด็กได้เรียนรู้นั้นแตกต่างกันมหาศาล เพราะเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้สูงนั้นได้ยินคำพูดรวมกันประมาณ 44 ล้านคำ ส่วนเด็กที่อยู่ในครอบครัวรายได้ต่ำจะได้ยินประมาณ 12 ล้านคำ ยิ่งเด็กได้เรียนรู้ถ้อยคำปริมาณมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีผลต่อพัฒนาการของสมองเด็กมากเท่านั้น

มนุษย์เราเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 6 ทารกในครรภ์ก็สามารถได้ยินเสียงของแม่แล้ว และน้ำคร่าในมดลูกก็จะคอยกรองเสียงผู้หญิงอื่นออกไปพร้อมกัน เพื่อให้ทารกคุ้นเคยกับเสียงของแม่ได้

ทารกชื่นชอบที่จะจ้องมองใบหน้าและดวงตาของคนมาก ทารกไม่ชอบใบหน้าที่เฉยเมย ถ้าทารกเห็นหน้าแม่ที่มีใบหน้าเฉยเมย ทารกจะหันไปทางอื่นและร้องให้งอแง

Parentese หรือรูปแบบการพูดกับทารก (infant-directed speech) คือสิ่งที่คนเราเป็นโดยธรรมชาติทุกคนเมื่อเวลาจะพูดคุยกับทารก ซึ่งจะคล้ายกับการร้องเพลงที่ดึงดูดความสนใจได้มากกว่าบทสนทนาทั่วไป มันคือการพูดด้วยระดับเสียงพิเศษ มีสูงต่ำ มีเน้นเสียงคำต้น ไม่ใช่การใช้น้ำเสียงเรียบๆเหมือนคนปกติคุยกัน

ความผูกพันระหว่างทารกกับผู้เลี้ยงดูในช่วงวัยเด็กแบ่งออกได้เป็นสองแบบ ความผูกพันแบบมั่นคง และความผูกพันแบบไม่มั่นคง

ความผูกพันแบบมั่นคงคือทารกสามารถคาดเดาและคาดหวังจากผู้เลี้ยงดูได้ เช่น รู้ว่าถ้าทำแบบนี้แล้วผู้เลี้ยงดูจะพอใจ หรือรู้ว่าทำอะไรแล้วผู้เลี้ยงดูจะโกรธ ถ้าอารมณ์ของผู้เลี้ยงดูคงเส้นคงว่าก็จะทำให้ทารกนั้นเกิดความผูกพันแบบมั่นคง และส่งผลให้เมื่อโตไปก็จะเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคงตาม

ส่วนความผูกพันแบบไม่มั่นคงนั้นกลับกัน นั่นคือทารกไม่สามารถคาดเดาความต้องการของผู้เลี้ยงดูได้ เช่น เมื่อก่อนเคยทำแบบนี้แล้วไม่โกรธ แต่อยู่ดีๆอีกวันก็กลับโกรธเมื่อทำขึ้นมา แล้วก็กลับไปเป็นไม่โกรธอีกครั้ง สิ่งนี้ทำให้ทารกเกิดความผูกพันแบบไม่มั่นคงกับผู้เลี้ยง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมสองอย่างเมื่อโตขึ้น 1. หลีกเลี่ยงความผูกพันแบบไม่มั่นคง คือเด็กจะพยายามไม่เข้าหา เพราะกลัวที่จะผิดหวัง กับ 2 ยึดติดกับความผูกพันที่ไม่มั่นคง คือมักจะทำตัวเป็นลูกแหง่ และไม่ยอมแยกจากผู้เลี้ยงดู ราวกับจะบังคับให้ผู้เลี้ยงดูตอบสนองในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้ได้

ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อพัฒนาการที่ไม่ดีในระยะยาว ส่งผลต่อพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ ส่งผลต่อการมองเห็นค่าของตัวเอง หรือการรู้จักควบคุมตนเอง และยังส่งผลต่อสติปัญญาอีกด้วย

ทารกนั้นฉลาดกว่าที่คิด เพราะเข้าใจในเจตนาของผู้ใหญ่ตั้งแต่ยังเป็นทารก จากการทดลองเมื่อให้นักวิจัยคนนึงพยายามเอาของเล่นในกล่องให้ทารก แต่ไม่สามารถเอาของเล่นนั้นออกมาจากกล่องได้ ทารกไม่ได้เกิดอาการไม่พอใจหรืองอแงแต่อย่างไรที่ไม่ได้รับของเล่นเมื่อเทียบกับทารกอีกคนที่ออกอาการชัดเจนว่าไม่พอใจ ที่นักวิจัยสามารถเอาของเล่นออกมาได้ แต่ไม่หยิบยื่นให้ทารกโดยตรง แต่เอาของเล่นวางไว้ที่ไกลออกไปจากมือทารก

ดังนั้นใครจะแกล้งทารกขอให้รู้ไว้ว่าเค้าเข้าใจในเจตนาคุณนะครับ

การชี้ของทารกก็มีความหมายกว่าที่เราคิด เพราะการชี้ของทารกนั้นหมายความว่าเค้าอยากให้คุณสนใจบางอย่างร่วมกัน และยังหมายความว่าทารกอยากทดสอบว่าเค้าเองมีอิทธิพลต่อคุณ หรือสามารถขี้นำคุณได้หรือไม่ แต่ถ้าทารกคนไหนไม่มีพฤติกรรมการชี้นำแบบนี้ นั่นอาจหมายถึงสัญญาณเบื้องต้นที่บ่งบอกว่า ทารกคนนี้อาจมีอาการออทิสติกได้ครับ

สองสิ่งที่ทารกให้ความสนใจมากที่สุด คือกุญแจรถยนต์และโทรศัพท์มือถือครับ

ทารกยังเรียนรู้จากการสังเกตท่าทีของผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่นๆ เพื่อค้นหาสัญญาณว่าเค้าควรตอบสนองต่อสิ่งนั้นอย่างไร หรือที่เรียกว่า social referencing จาการทดลองที่ชื่อว่า Magic Mike ที่ใช้หุ่นยนต์หน้าตาน่ากลัวเล็กน้อย แล้วแบ่งผู้เป็นแม่ออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มนึงให้แสดงออกเมื่อเจอหุ่นยนต์นี้ว่าน่ากลัวจังเลย ส่วนอีกกลุ่มให้ทำท่าทีให้ทารกเห็นว่า หุ่นยนต์ Magic Mike นี้น่ารักจังเลย

ทารกในกลุ่มที่เห็นว่าแม่ทำท่าทีกลัวเจ้าหุ่นยนต์ Magic Mike จะไม่เข้าหาหุ่นยนต์นี้เลย ส่วนทารกในกลุ่มที่เห็นว่าแม่ชื่นชมหรือสีหน้าเรียบเฉยกับหุ่นยนต์ ทารกก็จะพุ่งเข้าหาของเล่นชิ้นใหม่อย่างเต็มที่

ดังนั้นถ้าคุณอยากให้ทารกกลัวอะไรตั้งแต่เด็ก ก็ต้องแสดงออกว่าคุณเองก็กลับสิ่งนั้นตั้งแต่แรก หรือถ้าคุณอยากให้ทารกกล้าในเรื่องไหน คุณก็ต้องแสดงออกให้ชัดเจนในเรื่องนั้น

ในการทดสอบที่เรียกว่า “หน้าผามายา” หรือ Visual Cliff ที่ใช้เสื่อน้ำมันลายตารางหมากรุกวางไว้บนพื้นมันสีดำ เพื่อทำให้ดูหลอกตาเหมือนว่ามันเป็นหน้าผาลึกลงไป เมื่อให้ทารกคลายไปจนถึงปลายเสื่อน้ำมันที่หลอกว่าเป็นหน้าผา ทารกจะมองมาที่แม่เพื่อตรวจสอบว่าแม่จะให้ทำอย่างไร ถ้ากลุ่มไหนที่แม่ห้ามหรือทำหน้าตาหวาดกลัว ทารกจะไม่ก้าวข้ามไป แต่ถ้าทารกกลุ่มไหนที่เห็นแม่พยักหน้าหรือส่งสัญญาณว่าอนุญาต ทารกก็จะก้าวข้ามหน้าผามายานั้นไปครับ

ทารกไม่ใช่ฝ่ายที่รอรับข้อมูลการเรียนรู้อย่างเดียว แต่ยังเลือกที่จะรับข้อมูลเพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการด้วยครับ

จากการทดลองหนึ่งที่เปิดวิดีโอสองเรื่องให้ทารกดู วิดีโอเรื่องแรกเป็นแม่ที่ยื่นของเล่นให้ทารก วิดีโอเรื่องที่สองเป็นแม่ยื่นของเล่นให้ชายผู้เป็นพ่อ ผลปรากฏว่าทารกเลือกที่จะดูวิดีโอแรก เห็นมั้ยครับว่าทารกก็รู้จักเลือกในสิ่งที่ตัวเองอยากดูเป็นด้วย

การหยิบจับของทารกก็ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก เพราะการที่เด็กสามารถหยิบจับสิ่งของได้ จะช่วยกระตุ้นให้เรียนรู้ได้ไวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปกติแล้วจะสามารถทำได้เมื่ออายุราว 4 เดือนขึ้นไป แต่ด้วยผลิตภัณฑ์อย่าง “ถุงมือกาว” สำหรับทารกที่มีตีนตุ๊กแกช่วยให้ของเล่นนุ่มนิ่มติดกับฝ่ามือได้ตั้งแต่ 3 เดือน ทำให้ทารกวัย 3 เดือนที่มีถุงมือกาวกลุ่มนี้จะพัฒนาความเข้าใจได้เร็วกว่าทารก 3 เดือนที่ได้แต่ดูผู้ใหญ่หยิบจับของเล่นฝ่ายเดียว เพราะการเคลื่อนไหวหรือกระทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และยิ่งเด็กนั่งได้เองเมื่อไหร่ ก็ยิ่งพัฒนาความเข้าใจสิ่งของต่างๆในรูปแบบสามมิติอีกด้วย

ทารกวัยหัดเดินนั้นเดินเป็นระยะทางถึง 5 กิโลเมตรในแต่ละวัน!  เพราะทารกที่อายุ 11-12 เดือนที่กำลังหัดเดินนั้นจะหัดเดินมากกว่า 2,000 ก้าวในแต่ละชั่วโมง คิดเป็นระยาวทางยาวประมาณ 7 สนามฟุตบอล ระยะทางเฉลี่ยที่เด็กเดินอยู่ประมาณ 700 เมตรต่อชั่วโมง นั่นหมายความว่าตลอดช่วงเวลาที่เด็กตื่น นอกจากกินข้าวและอาบน้ำนั้น พวกเข้าเดินทั้งวันไม่น้อยกว่าวันละ 5 กิโลเมตรเลยทีเดียว

และเด็กทารกที่หัดเดินก็เป็นผู้ไม่ยอมแพ้ยิ่งกว่าใคร เพราะทารกในช่วงหัดเดินนั้นล้มบ่อยมาก ล้มถึง 17 ครั้งต่อชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่การล้มก็ทำให้ทารกนั้นเดินได้ดีขึ้นเรื่อยๆ หรือเรียกว่า “ล้มเพื่อปรับตัว” ผู้ใหญ่อย่างเรารู้แบบนี้ อย่ากลัวที่จะล้มเพื่อปรับตัวเหมือนตอนที่เราเป็นทารกกันนะครับ

อาการจ้างมองแบบยึดติดกับวัตถุ หรือที่เรียกว่า Sticky Fixation ของทารกนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทารกนั้นไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการมองด้วยตัวเองได้ในช่วงแรก ทำให้ต้องร้องเพื่อเรียกความสนใจจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู เพื่ออุ้มหรือขยับตัวทารกให้มองไปยังทิศทางอื่น ดังนั้นถ้าทารกอยู่ดีๆก็ร้องให้ไม่ต้องแปลกใจ บางทีเค้าอาจแค่เบื่อวิวที่มองแต่ยังหันไปมองทางอื่นไม่ได้เท่านั้นเองครับ

ทารกวัย 3 เดือนก็สามารถเรียนรู้เหตุและผล หรือความสัมพันธ์ได้ จากการทดลองพบว่าเมื่อเอาเชือกผูกเท้าทารกวัย 3 เดือนกับโมบายที่ห้อยอยู่บนหัว โดยโมบายแรกจะไม่ขยับเมื่อขยับเท้า ส่วนโมบายอันที่สองจะมีการขยับที่สนุกขึ้นเมื่อขยับเท้า ผลคือทารกกลุ่มที่สองรู้จักขยับเตะเท้าบ่อยขึ้นเพื่อให้โมบายขยับ ต่างกับกลุ่มแรกที่ไม่มีการขยับหรือเตะเท้าแต่อย่างไร

ทารกนั้นสามารถรับรู้จำนวนหรือการบวกลบได้ตั้งแต่เกิด จากการทดลองที่เอาตุ๊กตาซ่อนไว้หลังม่าน กลุ่มทดลองแรกนักวิจัยเอาตุ๊กตาสองตัวมาให้ทารกเห็นที่หน้าม่าน จากนั้นก็เอาตุ๊กตาทั้งสองตัวค่อยๆขยับเอาไปไว้ด้านหลังม่านที่อยู่ตรงหน้าทารก พอเปิดม่านออกมาทารกเห็นว่ามีตุ๊กตาสองตัวก็ไม่ได้มองอย่างแปลกใจอะไร แต่กับกลุ่มที่สองที่เอาตุ๊กตามาให้ทารกเห็นแต่แรกว่ามีสองตัวเหมือนกัน แต่พอเอาขยับไปไว้หลังม่านแล้วเปิดม่านออกมาพบว่าเหลือตัวเดียว ทารกมีอาการจ้องมองนานกว่าปกติมาก นั่นบอกให้รู้ว่าทารกรับรู้ถึงความผิดปกติจากสองที่เหลือแค่หนึ่ง เพราะการจ้องมองที่นานขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ถึงสิ่งการ “ครุ่นคิด” ของทารก

ทารกที่หูหนวกเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงร้องเพลง จะพูดอ้อแอ้ผ่านการขยับมือ เด็กเหล่านี้จะขยับมือในรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งไม่พบในทารกที่ได้ยินตามปกติ การขยับมือของทารกหูหนวกจะเป็นไปตามจังหวะโครงสร้างทางภาษามือตามธรรมชาติ นี่บอกให้รู้ว่าทารกหูหนวกก็มีภาษามือของตัวเองเหมือนกัน

เด็กเรียนรู้ไวยากรณ์ตามธรรมชาติจากประสบการณ์ทางภาษา ทั้งจากการฟังผู้อื่นพูด และการลองพูดด้วยตัวเองและมีผู้อื่นช่วยแก้ไขให้ เหมือนเด็กเล็กที่อาจจะพูดว่า “แมว แมว ดำ ดำ” ผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆก็จะบอกว่า “แมวสีดำจ้ะ”

การพูดกับตัวเอง เล่นกับเพื่อนในจินตนาการ หรือการเล่นบทบาทสมมติกับเพื่อนหรือคนรอบตัว นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ถึง “สภาวะจิตใจ” ของบุคคลอื่น ความเข้าใจในเรื่องนี้เปิดโอกาสให้เด็กคาดเดาพฤติกรรมของบุคคลอื่นได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎีของจิตใจ” หรือ Theory of Mind ที่จะกลายเป็นทักษะทางสังคมที่ดีเมื่อโตขึ้น

ถ้าพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกฉลาด ต้องรู้จักสอนให้ลูกลงรายละเอียด เพราะการที่เด็กพยายามพูดอธิบายเหตุการณ์โดยลงรายละเอียดส่งผลต่อทักษะทางภาษาที่สำคัญ และยังพัฒนาความจำได้ด้วย เช่น แม่พาลูกไปเที่ยวสวนสัตว์ แล้วแม่คนแรกถามว่า “เห็นสัตว์อะไรบ้าง” พอลูกตอนว่า “เห็นสิงโต” แล้วแม่ควรถามต่อว่า “สิงโตนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร มีขนสีอะไร สิงโตมากี่ตัว” เป็นต้น เพราะยิ่งลงรายละเอียดมาก เด็กก็ยิ่งต้องคิดหาถ้อยคำมาอธิบายและยิ่งต้องดึงความทรงจำมาใช้มากขึ้นครับ

การเล่นตบแปะร้องเพลงของเด็กนั้นก็ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ด้านภาษาเหมือนกัน เหมือนที่เราเล่น “นางเงือกน้อย” หรืออะไรก็แล้วแต่ทำให้เรานั้นใช้ภาษาได้ขึ้นโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการถามว่าที่โรงเรียนร้องเพลงอะไรกันจะทำให้เรากระตุ้นเด็กให้ใช้ภาษาได้ดียิ่งขึ้นครับ

เด็กวัยรุ่นนั้นมีสมองที่เสียเปรียบเด็กเล็ก เพราะสมองของวัยรุ่นนั้นอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนโครงสร้างมาก ทำให้ไม่สามารถใช้งานสมองได้ดีเท่าเด็กเล็กด้วยซ้ำ ก็เหมือนกับพื้นที่กำลังถูกรื้อถอนเพื่อสร้างตึกใหม่ที่ดีขึ้น ก็ย่อมมีพื้นที่ๆใช้งานได้มีประสิทธิภาพไม่เท่าพื้นที่เดิมๆที่ไม่ได้ถูกรื้อถอนเพื่อก่อสร้าง พอนึกภาพออกใช่มั้ยครับ

เด็กที่เป็นหัวโจกของกลุ่มได้นั้นมาจากความสามารถในการเข้าใจจิตใจของบุคคลอื่นได้ดีกว่าคนทั่วไป เพราะเข้าใจความคิดและจิตใจได้ดีกว่าจึงสามารถควบคุมบงการได้ดีกว่า เด็กบางคนอาจเอาไปใช้ในทางที่ดี หรือเด็กบางคนอาจเอาไปใช้ในทางที่รู้จุดอ่อนคนอื่นและกลั่นแกล้งเพื่อให้ตัวเองเหนือกว่าก็ได้ครับ

สภาพแวดล้อมนั้นสำคัญกว่าพันธุกรรมต่อเด็กมาก ลองคิดดูซิว่าถ้าเด็กคนนึงเกิดมาโดยมีพ่อแม่เป็นนักดนตรีมากพรสวรรค์ แต่ที่บ้านกลับไม่มีเครื่องดนตรีซักชิ้น แต่ถ้าเด็กอีกคนเกิดมาโดยไม่ได้มีพ่อแม่เป็นนักดนตรีแต่อย่างไร แต่ที่บ้านกลับมีเครื่องดนตรีพร้อม แน่นอนว่าเด็กคนที่บ้านมีเครื่องดนตรีพร้อมไม่ได้หมายความว่าจะกลายเป็นนักดนตรีเอกได้เสมอไป แต่เด็กที่อยู่ในบ้านที่ไม่มีเครื่องดนตรีนั้นไม่มีทางจะกลายเป็นนักดนตรีฝีมือดีได้เลย

ดังนั้นอยากให้เด็กโตมาเป็นแบบไหน สร้างสภาพแวดล้อมให้เค้าเป็นแบบนั้นครับ

เรื่องสุดท้าย การอ่านทำให้สมองเราพัฒนามากกว่าที่เราคิด เพราะการอ่านนั้นต้องพัฒนาสมองหลายส่วนมากกว่าที่เรารู้ ทั้งสมองส่วนการมองเห็น สมองส่วนความทรงจำที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นนั้นหมายถึงอะไร จากนั้นก็สมองส่วนการได้ยินเพราะเราจะสร้างเสียงของคำนั้นขึ้นมาในใจอีกครั้ง แล้วไหนจะสมองส่วนการออกเสียงอีกที่ถ้าเราอ่านออกเสียงก็จะยิ่งเป็นการพัฒนาสมองไปมากขึ้น

เห็นมั้ยครับว่าการอ่านนั้นทำให้สมองเราพัฒนาขึ้นมากขึ้นไหน งั้นก็มาอ่านกับเราไปนานๆนะครับ

อ่านแล้วเล่า เล่มที่ 41 ของปี 2019

สรุปหนังสือ Child Psychology จิตวิทยาเด็ก A very short introduction
Usha Goswami เขียน
สุภลัคน์ ลวดลาย และ วรัญญู กองชัยมงคล แปล
สำนักพิมพ์ bookscape

อ่านครั้งแรกเมื่อ 2019 07 09

อ่านสรุปหนังสือชุด A very short introduction เพิ่มเติม https://www.summaread.net/?s=a+very+short+introduction
สนใจสั่งซื้อได้ที่ https://readery.co/top-20/9786168221112

By Nattapon Muangtum

จากนักอ่านที่เริ่มอยากหัดเขียน จากการที่ต้องอ่านเพราะความจำเป็น กลายเป็นอ่านเพราะหลงไหล, สวัสดีครับผมชื่อหนุ่ย ผมทำงานด้าน Digital and Data Marketing ผมยังมีเพจการตลาดอีกเพจที่อยากฝากให้ลองอ่านดูนะครับ https://www.facebook.com/everydaymarketing.co/